หลังสภาองค์กรของผู้บริโภค เปิดเผยข้อมูลการเสียชีวิตของผู้ขับขี่รถยนต์ เกิดจากถุงลมนิรภัยระเบิด ทำให้เศษวัสดุในถุงลมกระเด็นถูกร่างกาย จนเสียชีวิต พบว่า เป็นถุงลมนิรภัยยี่ห้อ takata ที่ใช้ในรถเก่า ทั้ง 8 บริษัท ได้แก่ ฮอนด้า, บีเอ็มดับเบิลยู, นิสสัน, โตโยต้า, มิตซูบิชิ, มาสด้า, เชฟโรเลต และฟอร์ด เบื้องต้นเปิดให้ผู้ที่ใช้รถยนต์รุ่นดังกล่าว นำรถมาเปลี่ยนถุงลมที่ศูนย์บริการแล้ว
จากข้อมูลสำนักวิศวกรรมยานยนต์ กรมการขนส่งทางบก พบว่า มีการเรียกคืนรถที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยจากผู้ผลิตดังกล่าวในต่างประเทศ ที่มีถุงลมนิรภัยบกพร่อง จำนวนทั้งสิ้น 1,725,816 คัน ในปี 2561 ซึ่งในไทยยังมีรถอีกกว่า 6 แสนคัน ที่ไม่ได้นำมาเปลี่ยน และอาจเกิดอุบัติเหตุซ้ำรอยได้
“พรหมมินทร์ กัณธิยะ” ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายลดอุบัติเหตุ (สคอ.) มองว่า ที่ผ่านมาเวลาซื้อรถยนต์ ผู้บริโภคไม่สามารถรู้ได้เลยว่า ถุงลมนิรภัยทำงานได้หรือไม่ แต่จะรู้ต่อเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น แม้มีใบรับรองคุณภาพของถุงลมนิรภัยในขณะซื้อรถ แต่ไม่ได้การันตีถึงประสิทธิภาพการใช้งานที่แท้จริง จึงเป็นเรื่องสำคัญที่บริษัทผู้ผลิตรถยนต์ต้องมีมาตรฐาน เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับผู้ใช้รถ
การนำผลชันสูตรแพทย์มายืนยันการเสียชีวิต มีต้นเหตุมาจากเศษวัสดุในถุงลมระเบิด ถือเป็นเรื่องดี นอกจากจะทำให้บริษัทผู้ผลิตรถยนต์คำนึงถึงผู้บริโภคแล้ว ยังเป็นการกดดันรัฐบาล ถึงมาตรฐานด้านความปลอดภัยของผู้ผลิตรถยนต์
...
จากการประเมินคาดว่า ชิ้นส่วนที่ทำให้ผู้ประสบอุบัติเหตุเสียชีวิต เป็นอุปกรณ์ที่อยู่ในถุงลม หรือสปริงที่เชื่อมต่อกับถุงลม ที่มีความหนาและแข็ง เพราะการทำงานของถุงลม ต้องได้รับแรงกระแทกอย่างหนัก ดังนั้นตัวชิ้นส่วนจะต้องมีความแข็งแรงทนทาน พอกระเด็นมาถูกร่างกายมนุษย์ในจังหวะที่มีความเร็วสูง ทำให้ทะลุผิวหนัง และทำลายอวัยวะต่างๆ ของคนที่นั่งอยู่ จนเสียชีวิตได้
แม้ผู้ผลิตถุงลมนิรภัยยี่ห้อ takata จะปิดกิจการไปแล้ว แต่การที่รถยนต์หลายยี่ห้อใช้ถุงลมชนิดเดียวกัน ก็หมายความว่า ซัพพลายเออร์ ที่รับผลิตชิ้นส่วนนี้ จะต้องมีส่วนร่วมผิดชอบ ขณะเดียวกันการคัดเลือกซัพพลายเออร์ ที่จะมารับทำงาน ต้องมีความเข้มงวดในคุณภาพมากกว่านี้
"ส่วนตัวมีรถรุ่นที่ระบุไว้ในข่าว จึงได้เข้าไปเช็กในเว็บไซต์ www.checkairbag.com ด้วยการคลิกที่โลโก้ยี่ห้อรถยนต์ที่ใช้ แล้วกรอกเลขตัวถังรถ จากนั้นข้อมูลจะขึ้นว่า รถที่ใช้จะต้องไปเปลี่ยนถุงลมนิรภัยหรือไม่ แต่เท่าที่ดูพบว่ารถที่มีปัญหา ส่วนใหญ่ผลิตช่วงปี ค.ศ.2015-2019"
หากพบเป็นรถรุ่นที่มีปัญหา ควรเข้าไปติดต่อทางศูนย์ เพราะการเปลี่ยนถุงลมนิรภัย จะไปเปลี่ยนตามอู่ซ่อมรถไม่ได้ แต่ต้องไปเปลี่ยนที่ศูนย์ ซึ่งในช่วงนี้อาจต้องใช้เวลาในการรอคิว อยากให้เจ้าของรถใจเย็นๆ ส่วนบริษัทผู้ผลิตรถไม่อยากให้มีการกำหนดวันหมดเขต ในการนำรถมาเปลี่ยนถุงลมนิรภัย เพราะจะยิ่งทำให้ประชาชนตื่นตระหนกไปกันใหญ่
ด้านสาเหตุของการเสียชีวิตของผู้เคราะห์ร้าย จากถุงลมนิรภัยระเบิด “นพ.สมิทธิ์ ศรีสนธิ์” นายกสมาคมแพทย์นิติเวชแห่งประเทศไทย ระบุว่า เกิดจากเมื่อรถชนด้านหน้า แล้วถุงลมนิรภัยทำงานผิดพลาด จะมีเศษชิ้นส่วนขนาดใหญ่แตกกระเด็นด้วยความเร็วสูง เข้าชนผู้ขับรถบริเวณหน้าอกหรือคอ จนทะลุถึงกระดูกสันหลัง ทำให้ตายได้ทันที แม้การชนไม่รุนแรง ซึ่งเรื่องนี้ตรงกับงานวิจัยที่หมอนิติเวชของต่างประเทศ ก็พบลักษณะการตายในแบบเดียวกัน.