จากวันนี้ไป พบกับ “เชื่อ คิด และทำ อย่างวิทยาศาสตร์" ทุกวันเสาร์ที่หนึ่ง และที่สามของทุกเดือน

ศาสนา คือ ศรัทธา และความเชื่อ!

วิทยาศาสตร์ คือ ความรู้ที่เป็นจริง!

เมื่อเริ่มต้น มนุษย์มีเฉพาะศาสนา

ต่อมา..... นานแสนนาน... วิทยาศาสตร์จึงเริ่มเกิด แต่เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว วิทยาศาสตร์ ก็พุ่งพรวดไปข้างหน้า สร้างสิ่งประหลาดมหัศจรรย์ที่เคยมีอยู่เฉพาะในจินตนาการ ตึกสูงเกิน 150 ชั้น การสื่อสารอินเทอร์เน็ตเชื่อมต่อคนทั้งโลกอย่างทันทีทันใด ยานอวกาศอะพอลโล นำมนุษย์สู่ดวงจันทร์ และกำลังจะไปดาวอังคาร

แต่วิทยาศาสตร์ ก็สร้างพลังอำนาจการทำลาย คือ อาวุธนิวเคลียร์ ที่จะนำมนุษย์ให้กลับไปสู่ยุคหิน ยุคถ้ำภายในพริบตา ของ ผู้จุดชนวนสงครามโลกครั้งที่สาม ซึ่งจะเป็น สงครามนิวเคลียร์ อย่างแน่นอน

แล้วทางรอดของมนุษยชาติ ล่ะ?

ศาสนาเท่านั้น ใช่ไหม?

วิทยาศาสตร์เท่านั้น ใช่ไหม?

หรืออย่างไร?

...

เริ่มต้นกันใหม่ ที่ ศาสนา.......!

จุดเริ่มต้นของศาสนา คือ สองสาเหตุใหญ่

หนึ่ง คือ ความสงสัยในสรรพสิ่งรอบตัวมนุษย์ (ทำไมนกจึงบินได้? ทำไม น้ำจึงไหลในลำธาร? ทำไมผลไม้จึงตกจากต้นสู่ดิน?) และที่มองเห็นในท้องฟ้า (ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ดาวดาว คืออะไร?)

สอง คือ การต่อสู้เพื่อความอยู่รอด (จากการหาอาหาร การต่อสู้กับชนเผ่าอื่น โรคระบาด)
ก่อนจะมีศาสนาแรกของโลกที่เกิดขึ้นอย่างเป็นกิจจะลักษณะ คือ ศาสนาพราหมณ์ เมื่อประมาณ สามพันปีก่อน

ในประเทศอินเดีย มนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ (หลังกำเนิดของบรรพบุรุษมนุษย์ยุคใหม่โฮโมเซเปียนส์ ในแอฟริกาใต้ เมื่อประมาณสองถึงสามแสนปีก่อน) ซึ่งมีการรวมกลุ่มกันอยู่เป็นเผ่าต่างๆ ล้วนต้องอยู่กับความสงสัย และการต่อสู้เพื่อการอยู่รอด

แล้วก็เกิดมี "ผู้นำทางความคิด" ของชนเผ่าต่างๆ ที่เฝ้าสังเกต ศึกษา (ด้วยตนเองจริงๆ) เพื่อหาคำตอบ และวิธีการที่จะ "อยู่รอด" 

น่าสนใจว่า ในที่สุด บรรดา "ผู้นำทางความคิด" ของชนเผ่าต่างๆ ทั่วโลก ก็ดูจะได้คำตอบที่ตรงกัน "อย่างไม่ได้นัดหมาย"

คำตอบสำหรับข้อสงสัย ก็ยกให้เป็นเรื่องของ สิ่งมีอำนาจเหนือธรรมชาติ คือ "พระเจ้า" หรือ "เทพเจ้า" ว่า เป็นผู้สร้างโลก สร้างมนุษย์ สร้างสรรพสิ่งในจักรวาล และความเป็นไปต่างๆ ที่ "แปลก" สำหรับมนุษย์ ดังเช่น การบินได้ของนก ก็ยกให้เป็น พระประสงค์ของพระเจ้า

คำตอบสำหรับการต่อสู้เพื่อความอยู่รอด เช่นว่า วันนี้เป็นวันดีหรือไม่สำหรับการล่าสัตว์ ทำอย่างไรจึงจะ "ชนะ" ในการต่อสู้กับศัตรู สิ่งที่จะต้องทำเพื่อให้ปลอดภัยจาก "ความตายที่มองไม่เห็น" (โรคระบาด) ก็คือ "พิธีกรรม" บูชาพระเจ้า ขอให้พระเจ้าช่วย

จากการเริ่มต้นเฉพาะกลุ่มชนเผ่าพันธุ์ต่างๆ ของมนุษย์ทั่วโลก จึงพัฒนาต่อมาเป็น "ศาสนา" เต็มรูปแบบ
ถึงปัจจุบัน มีศาสนาอยู่ทั่วโลก มากกว่าหนึ่งหมื่นศาสนา (นับรวมทั้งศาสนาหลักๆ ของโลก ศาสนาเฉพาะถิ่น และลัทธิต่างๆ) แต่ที่เป็นศาสนาหลัก มีผู้นับถือมากที่สุด 4 ศาสนา คือ......

หนึ่ง : ศาสนาคริสต์ ผู้นับถือประมาณ 2,500 ล้านคน มีพระเยซู เป็นศาสดา
สอง : ศาสนาอิสลาม ผู้นับถือประมาณ 2,000 ล้านคน มีพระมุฮัมหมัด เป็นศาสดา
สาม : ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู ผู้นับถือประมาณ 1,100 ล้านคน ไม่มีศาสดา แต่มีพราหมณ์ เป็นผู้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
สี่ : ศาสนาพุทธ ผู้นับถือประมาณ 500 ล้านคน มี พระพุทธเจ้า เป็นศาสดา

...

แล้วศาสนา เกี่ยวข้องกับทางรอดของ มนุษยชาติ อย่างไร?

ศาสนา นับเป็น "สถาบันสังคม" ยิ่งใหญ่ และยืนยงยาวนานที่สุดของโลก

ถึงแม้แต่ละศาสนา จะมีหลัก มีพิธีกรรมแตกต่างกันไป แต่สิ่งที่ทุกศาสนามีเหมือนกัน คือ พลังของการอยู่ร่วมกันภายในกลุ่ม ที่ผู้เขียนขอตกผลึกเป็น "ศรัทธาและความเชื่อ"

ก็เพราะ "ศรัทธาและความเชื่อ" เราจึงได้เห็น สิ่งมหัศจรรย์ งดงามและสร้างความหวังแก่มนุษยชาติ

ชาวคริสต์ ที่ศรัทธา และเชื่อในพระเจ้า จึงมีพลังในการ "ให้ความรัก" แก่คนอื่น แม้แต่ศัตรู...

ชาวพุทธ ที่ยึดมั่นใน "กฎแห่งกรรม" จึงมุ่งมั่นทำความดี และละเว้นจากการทำบาปทุกรูปแบบ 

ดังนั้น ศาสนา จึงได้มีบทบาทช่วยรักษา และเสริมสร้างสันติสุข แก่มนุษย์ ทั้งส่วนบุคคล และส่วนรวม คือสังคมโลกทุกระดับตลอดมา

แต่ก็ไม่เสมอไป!

เพราะความแตกต่างในหลักของแต่ละศาสนา ก็ได้เป็นสาเหตุ ทำให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง ระหว่างศาสนา เกิดเป็น "สงครามศาสนา" ขึ้นมาได้

******************

จากศาสนา มาดูบทบาทของวิทยาศาสตร์!

โลกทุกวันนี้ ใครก็ตามที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี เป็นอย่างน้อยทางด้านวิทยาศาสตร์ ก็ได้ชื่อเป็น นักวิทยาศาสตร์

...

คนได้ชื่อเป็นนักวิทยาศาสตร์ กำลังทำงานอะไรกันบ้าง?

ที่คุ้นเคยกัน คือ กำลังทำงานเป็นครู-อาจารย์สอนวิทยาศาสตร์ ทำงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ ทำงานการประดิษฐ์คิดค้น สร้างนวัตกรรมใหม่ และเทคโนโลยี

แล้วก็มี คนสำเร็จการศึกษาวิทยาศาสตร์ ที่กำลังทำงานเป็นนักธุรกิจ นักลงทุน นักสื่อสารมวลชน นักเขียน รวมไปถึงศิลปินนักแสดงและนักร้อง

แต่ถ้าถามหาสิ่งที่เป็นภารกิจสำคัญที่สุดของนักวิทยาศาสตร์จริงๆ ผู้เขียนก็จะมองไปที่ความหมายโดยตรงที่สุดของคำว่า "science" เพราะ "science" มีรากศัพท์มาจากคำภาษาละติน "scientia" แปลว่า "ความรู้" 

ผู้เขียนจึงมองว่า ภารกิจสำคัญที่สุดของนักวิทยาศาสตร์จริงๆ คือ การค้นหาที่สุดของ ความรู้จริง

ภารกิจที่ผู้เขียนยกให้เป็น "มิชชัน อิมพอสซิเบิล" เพราะนักวิทยาศาสตร์ไม่มีเครื่องมือ หรือวิธีการใดๆ ที่จะบอกได้ว่า "ความรู้" ที่มีอยู่ ที่ได้มาใหม่ เป็นที่สุดของความรู้จริงหรือยัง

ตัวอย่างคือ คำถามเกี่ยวกับองค์ประกอบพื้นฐานของสสาร ซึ่งแต่แรกเริ่ม เชื่อกันว่า อะตอม เป็นหน่วยเล็กที่สุดของสสาร ต่อมาก็พบว่า อะตอม ยังประกอบด้วย อนุภาคมูลฐานเล็กลงไปอีก คือ โปรตอน นิวตรอน และอิเล็กตรอน แล้วถึงล่าสุด ก็พบว่า อนุภาคจำพวกโปรตอน นิวตรอน ยังประกอบด้วย อนุภาคที่เล็กลงไปอีก คือ ควาร์ก (quark) ซึ่งถ้าถามต่อไปว่า ยังจะมีอนุภาคที่เล็กกว่า ควาร์ก อีกหรือไม่?

คำตอบตรงๆ คือ "ไม่ทราบ!" 

...

ถึงแม้ภารกิจของนักวิทยาศาสตร์ จะเป็น "มิชชัน อิมพอสซิเบิล" แต่ก็เป็นภารกิจที่นักวิทยาศาสตร์ทุกคน ยินดี เต็มใจ ที่จะทำ

เพราะทุกการค้นพบความรู้ใหม่ ก็เป็นอีกก้าวหนึ่ง เข้าไปหาที่สุดของความรู้จริง

แล้วภารกิจของนักวิทยาศาสตร์ ที่เป็น มิชชัน อิมพอสซิเบิล จะเกี่ยวข้องกับเรื่องทางรอดของมนุษยชาติ อย่างไร?

คำตอบตรงๆ ก็คือ ในการปฏิบัติภารกิจมิชชัน อิมพอสซิเบิล ของนักวิทยาศาสตร์ ต้องยึดหลักการพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ คือ หลักของเหตุ (cause) และผล (effect) หรือ หลักของความเป็นเหตุและเป็นผล (causality) อย่างเคร่งครัด

นั่นคือ ในการวิจัยค้นหาความรู้ใหม่ของนักวิทยาศาสตร์ ต้องมีกระบวนการอย่างเป็นวิทยาศาสตร์ ที่ตรวจสอบได้ แสดงให้เห็นได้ โลกวิทยาศาสตร์ จึงเจริญก้าวหน้ามาอย่างต่อเนื่อง

แต่ในความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์ ก็มีผลที่เกิดตามขึ้นมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คือ เทคโนโลยี ซึ่งก็มีทั้งเทคโนโลยีที่ "สร้างสรรค์" และที่ "อันตราย" จนกระทั่งมาถึงวันนี้ นอกเหนือไปจากเทคโนโลยีที่ "สร้างสรรค์" แล้ว ก็มีเทคโนโลยี "ทำลาย" ร้ายแรงที่สุดที่มนุษย์เคยมีมา คือ อาวุธนิวเคลียร์ ดังที่ได้กล่าวเปิดเรื่องของเราวันนี้

แล้วทางรอดของมนุษยชาติ จากวิทยาศาสตร์ล่ะ?

หัวใจสำคัญก็คือ หลักการพื้นฐานของวิทยาศาสตร์ นั่นเอง คือ หลักการของ "เหตุ" และ "ผล" หลักการของ "เหตุ" และ "ผล" มิใช่จะใช้ได้เฉพาะกับกระบวนการวิจัยเพื่อค้นหาความรู้ใหม่เท่านั้น ยังเป็นหลักการสำคัญสำหรับการบรรลุเป้าหมายสูงสุด แห่งการดำรงอยู่ร่วมกันของมนุษยชาติอีกด้วย

แต่จะมี "ผล" เป็นตัวตั้งหรือโจทย์ แล้ว "เหตุ" เป็นแนวทางที่มนุษย์ควรหรือต้องเดิน เพื่อ มิให้ "ผล" ที่ไม่พึงประสงค์ คือ การทำลายล้างมนุษยชาติกันเอง เกิดขึ้น

จากทั้งหมดดังกล่าวมาแล้ว เห็นได้ชัดเจนว่า ลำพัง "ศาสนา" ไม่สามารถเป็นหลักประกันทางรอดของมนุษยชาติได้

ลำพัง "วิทยาศาสตร์" ก็เช่นเดียวกัน ไม่สามารถเป็นหลักประกันทางรอดของมนุษยชาติได้

ทางรอดของมนุษยชาติ สำหรับผู้เขียนแล้ว คือ เรา (มนุษยชาติ) ต้องอาศัย ทั้งศาสนา และวิทยาศาสตร์ จับมือกันเดินหน้าไปด้วยกัน อย่างหนักแน่น!

แล้วท่านผู้อ่านล่ะครับ คิดอย่างไร?