ความพยายามอย่างชนิด “ตั้งอกตั้งใจ” ของ "อีลอน มัสก์" (Elon Musk) เพื่อเข้าครอบครองกิจการ "ทวิตเตอร์" (Twitter) โซเชียลมีเดียที่มีผู้ใช้งานมากกว่า 200 ล้านบัญชี ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ (สักที) ด้วยการใช้เงินทุนมหาศาลถึง 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ พร้อมกับคำมั่นสัญญาที่ว่าจะนำพาองค์กรแห่งนี้ไปสู่ “ความเปลี่ยนแปลง”

หากแต่ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่จะนำ “ทวิตเตอร์ไปสู่ยุคใหม่” ภายใต้การนำ ของ “มิสเตอร์ไอรอนแมน” คนนี้ มันจะมี “ขวากหนาม” อะไรที่รออยู่เบื้องหน้าบ้าง วันนี้ “เรา” ลองไปสังเคราะห์กันทีละประเด็น

1. เสรีภาพในการพูด :

สิ่งที่ต้องการ :

เป้าหมายแรกที่ มนุษย์ผู้ร่ำรวยที่สุดในโลก ยืนยันมาโดยตลอดว่าแรงปรารถนาสำคัญที่นำไปสู่การครอบครองแพลตฟอร์มที่ตัวเขามีผู้ติดตามมากกว่า 87.4 ล้านบัญชี ก็คือ “ปลดปล่อย” ทวิตเตอร์ให้กลายเป็น “พื้นที่แห่งเสรีในการพูดอย่างสมบูรณ์แบบ” และที่ผ่านมา เขาเองก็มักจะพูดอยู่เสมอๆ ว่า ผู้คนจำนวนมากกำลังรู้สึกไม่พอใจอย่างยิ่งกับความพยายามของทวิตเตอร์ ในการใช้เทคโนโลยี “ปิดกั้น” สิ่งที่ตัวเขาเองมองว่า มันคือ “เสรีภาพในการพูด”

...

ขวากหนาม :

หากแต่...ในความเป็นจริงคือ ผลงานวิจัยของ สถาบันเทคโนโลยีแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือ MIT ที่มีการเผยแพร่เมื่อเดือนมีนาคม ปี 2018 ระบุว่า “ข้อมูลเท็จ” ในทวิตเตอร์ สามารถแพร่กระจายได้รวดเร็ว ลึก และเข้าถึงมากกว่า “ข้อมูลที่ถูกต้อง” นอกจากนี้ ผลงานวิจัยดังกล่าวยังระบุด้วยว่า การแพร่กระจายของ “ข้อมูลเท็จ” ที่ว่านี้ โดยพื้นฐานแล้วไม่ได้เกิดจาก บอท (Bots) หรือ โปรแกรมอัตโนมัติ แต่การที่ “ข้อมูลเท็จ” สามารถแพร่กระจายได้อย่างรวดเร็วนี้ เป็นเพราะผู้คนรีทวีต “ข้อมูลเท็จเหล่านี้” อีกด้วย

โดยผลจากการศึกษาดังกล่าวซึ่งใช้วิธีอ้างอิงจากการแชร์ข่าว 126,000 ชิ้น จำนวน 4.5 ล้านครั้งในกลุ่มผู้ใช้ทวิตเตอร์มากกว่า 3 ล้านคน ระหว่างปี 2006-2017 ยังพบด้วยว่า “ข้อมูลเท็จ” มีแนวโน้มที่จะถูก “รีทวีต” มากกว่า “ข้อมูลที่ถูกต้อง” ถึง 70% เนื่องจากคนส่วนใหญ่มองว่า มันสามารถสร้างความเซอร์ไพรส์สำหรับการแชร์ได้มากกว่า ซึ่งไม่ต่างอะไรจากกลไกการทำงานของ Click bait ขณะที่ “ข้อมูลที่ถูกต้อง” กลับต้องใช้เวลานานกว่าถึง 6 เท่า เพียงเพื่อจะได้เข้าถึงผู้คนเพียง 1,500 คนเท่านั้น

และแม้ในระยะหลังๆ มานี้ “ทวิตเตอร์” จะพยายามหาทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับคือ ข้อมูลเท็จ โฆษณาชวนเชื่อ และทัศนะแบบสุดโต่ง ยังคงสามารถ “หลุดรอดการกลั่นกรอง” ของ ทวิตเตอร์ และปรากฏให้เห็นในโลกทวิตภพจนแทบถือเป็นเรื่องปกติ

เช่นนั้น แล้ว หาก อีลอน มัสก์ ตัดสินใจ “ปลดล็อก” การควบคุมต่างๆ ลง คำถามคือ มันจะเกิดผลดีหรือผลเสียกับ ทวิตเตอร์ มากกว่ากัน รวมถึง “เส้นแบ่ง” ที่จะถูกขีดขึ้นใหม่สำหรับ “เสรีภาพในการพูด” ที่ว่านี้ มันจะมีระดับมากหรือน้อยได้เพียงใด?

นั่นเป็นเพราะประเด็นนี้ มีผลอย่างยิ่งต่อการตัดสินใจของแบรนด์ต่างๆ ในการจะลงโฆษณาลงบนแพลตฟอร์ม

2. ปลอดโฆษณา :

สิ่งที่ต้องการ :

เจ้าพ่อเทสลา (TESLA) เคยแสดงความมั่นใจว่า ทวิตเตอร์จะมีความเป็นอิสระในการกำหนดนโยบายมากขึ้น หากพึ่งพารายได้จากค่าโฆษณาให้น้อยลง พร้อมกับสนับสนุนแนวทางการหารายได้ จากระบบเปิดรับสมาชิกให้มากขึ้น ซึ่ง “สวนทาง” กับ แนวคิดในการหารายได้ของ “ปารัก อักราวัล” (Parag Agrawal) CEO คนปัจจุบันของทวิตเตอร์ อย่างสิ้นเชิง

นอกจากนี้ Twitter Blue ระบบสมาชิกรายเดือนของทวิตเตอร์ ซึ่งเปิดตัวไปเมื่อเดือนพฤศจิกายนปีที่แล้ว มีค่าใช้จ่าย 3 ดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน แต่ อีลอน มัสก์ กลับยังคงมองว่า “แพงเกินไป” อยู่ดี

...

ขวากหนาม :

เงินทุนจำนวนมหาศาล 44,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ สำหรับการซื้อ “ทวิตเตอร์” มากกว่าครึ่งหนึ่งเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงิน (ในจำนวนนี้ส่วนใหญ่มาจาก มอร์แกน สแตนลีย์) เพราะฉะนั้น “ดอกเบี้ย” ที่ปัจจุบันกำลังมีแนวโน้ม "ขาขึ้น" เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อในสหรัฐฯ รวมถึงที่ต้องไม่ลืมคือ ทวิตเตอร์ยังมีพนักงานที่ต้องรับผิดชอบอีก 7,500 คน ด้วย นั่นจึงอาจทำให้ อีลอน มัสก์ ต้องลำบากใจไม่น้อย หากคิดจะ “ตัดรายได้ก้อนโตๆ” ของทวิตเตอร์ ในเวลานี้ หนำซ้ำในทางตรงกันข้าม ทวิตเตอร์ อาจจำเป็นต้อง “ผลิตเงิน” ให้มากขึ้นกว่าที่เคยทำได้เสียด้วย

นอกจากนี้ อีกหนึ่งปัจจัยที่ต้องไม่ลืมคือ ความตั้งอกตั้งใจเป็นเจ้าของทวิตเตอร์ ของ อีลอน มัสก์ ที่ออกจะมากเกินไปสักหน่อยในสายตาของนักลงทุน ยังทำให้ มูลค่าของบริษัทเทสลา (TESLA) "ลดลง" ไปแล้วถึง 19% นับตั้งแต่วันที่เขาประกาศสัดส่วนการถือหุ้นในทวิตเตอร์ เนื่องจากนักลงทุนมองว่า เวลาของ อีลอน มัสก์ สำหรับการใส่อกใส่ใจการปั๊มเงินใน บริษัทเทสลา “อาจลดลง” หลัง ได้เป็นเจ้าของทวิตเตอร์

*** หมายเหตุ รายงานผลประกอบการไตรมาสที่ 1 ประจำปี 2022 ของทวิตเตอร์ ที่มีการประกาศออกมาเมื่อวันที่ 28 เมษายนที่ผ่านมา จากรายรับรวม 1,200 ล้านดอลลาร์ (เพิ่มขึ้นถึง 16% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี) เป็นรายได้จากค่าโฆษณาถึง 1,110 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (เพิ่มขึ้นถึง 23% เมื่อเปรียบเทียบแบบปีต่อปี) ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่สูงถึง 92.5% ***

...

บัญชีปลอม Spam bots และ การยืนยันตัวตน :

สิ่งที่ต้องการ :

ปัญหาการสร้างบัญชีปลอม Spam bots ซึ่งนำไปสู่ การคุกคามข้อมูลส่วนบุคคล ที่แม้ปัจจุบัน ทวิตเตอร์ จะพยายามอย่างเต็มที่ในการ “สกัดกั้น” แต่ในสายตาของ อีลอน มัสก์ แล้วมันยังคง “ไม่เพียงพอ” เนื่องจากเขามองว่า วิธีเดียวที่จะแก้ไขปัญหาในเรื่องนี้ได้ คือ "การยืนยันตัวตน"

ขวากหนาม :

ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า “หนึ่งแรงดึงดูดสำคัญ” ที่ทำให้ผู้คนหลงรักการใช้งานทวิตเตอร์ คือ “ไม่ต้องแสดงตัวตนที่แท้จริง” เพราะมันทำให้สามารถทวีตในสิ่งที่ตัวเองคิดได้อย่างเต็มที่ ด้วยเหตุนี้ การยืนยันตัวตน อาจทำให้ แรงดึงดูด ที่เคยมีหายไป

นอกจากนี้ แม้ว่าที่ผ่านมา ทวิตเตอร์ จะยืนยันว่าได้รักษาความเป็นส่วนตัวให้กับผู้ใช้งานทุกคนก็ตาม หากแต่ “ความเสี่ยง” จากการถูกเจาะขโมยข้อมูล ก็ยังคงมีอยู่เช่นกัน

...

เพิ่มปุ่ม Edit :

สิ่งที่ต้องการ :

77% จากผู้ร่วมโหวตทั้งหมด 4.4 ล้านบัญชี เห็นด้วยกับ อีลอน มัสก์ ในการสนับสนุนให้ทวิตเตอร์ มีปุ่ม Edit เช่นเดียวกับแพลตฟอร์มอื่นๆ (สักที)

ขวากหนาม :

การมีปุ่ม Edit สามารถช่วยแก้ไขข้อความที่ผิดพลาดได้ แต่มันย่อมมาพร้อมกับการเปิดโอกาสให้ผู้ไม่หวังดีเข้ามาแก้ไขข้อความที่ปรากฏต่อสาธารณะไปแล้วก่อนหน้านี้ได้เช่นกัน นอกจากนี้ กลุ่มคนที่ชอบสร้างมลภาวะในโลกทวิตภพ อาจฉวยโอกาสนี้ในการเผยแพร่ข้อมูลเท็จต่างๆ เพียงเพื่อหวังเรียกยอดไลค์และรีทวีตที่ตัวเองต้องการ ก่อนจะกลับมาแก้ไขข้อมูลเท็จเหล่านั้นในภายหลังได้

ทั้งนี้ การเข้าซื้อกิจการทวิตเตอร์ ของ อีลอน มัสก์ ยังไม่เสร็จสิ้น และยังต้องรอการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่ของทวิตเตอร์ ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดขึ้นหลังการประชุมผู้ถือหุ้นประจำปี ในวันที่ 25 พฤษภาคม 2022 อย่างไรก็ดีทั้ง ทวิตเตอร์ และ อีลอน มัสก์ สามารถละทิ้งข้อตกลงการเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ได้ หากข้อตกลงครั้งนี้ไม่บรรลุความสำเร็จภายในวันที่ 24 ตุลาคม 2022

โดยในกรณีที่ อีลอน มัสก์ ล้มเหลวเรื่องการจัดหาเงินทุนเพื่อซื้อกิจการครั้งนี้ไม่สำเร็จ จะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมสำหรับการยกเลิกการซื้อกิจการในครั้งนี้ สูงถึง 1,000 ล้านดอลลาร์ และกลับกัน ฝ่ายทวิตเตอร์ เองก็จะต้องจ่ายเงินค่าธรรมเนียมสำหรับการยกเลิกการซื้อกิจการ 1,000 ล้านดอลลาร์ ให้กับ อีลอน มัสก์ เช่นกัน หากผู้ถือหุ้นส่วนใหญ่เกิดมีมติ "ปฏิเสธ" ข้อตกลงนี้

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐ ออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :