ผ่านพ้นไปแล้วกับ การสรุปสำนวนการสอบสวนคดี ดาราสาว แตงโม-ภัทรธิดา หรือ นิดา พัชรวีระพงษ์ พลัดตกเรือสปีดโบ๊ตจนเสียชีวิต โดยมีผู้ตกเป็นผู้ต้องหาจำนวน 6 คน คือ 1.นายตนุภัทร เลิศทวีวิทย์ หรือ ปอ 2.นายไพบูลย์ ตรีกาญจนานันท์ หรือ โรเบิร์ต 3.นายวิศาพัช มโนมัยรัตน์ หรือ แซน 4.นายนิทัศน์ กีรติสุทธิสาธร หรือ จ๊อบ 5.น.ส.อิจศรินทร์ จุฑาสุขสวัสดิ์ หรือ กระติก และ 6.นายภีม ธรรมธีรศรี

โดย พล.ต.ท.จิรพัฒน์ ภูมิจิตร ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ได้แสดงความมั่นใจในพยานและหลักฐานที่พนักงานสอบสวนรวบรวมมาว่าน่าจะสามารถเอาผิดผู้ต้องหาได้

หากแต่...ประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกต หลังการแถลงสรุปสำนวนคดี คือ “บาดแผล” ที่บริเวณ “ต้นขาขวาด้านใน” ซึ่งมีลักษณะยาวลากลงมาของผู้ตาย ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากใบจักรเรือ ซึ่งมี 3 ใบพัด นั้น มีประเด็นที่น่าตั้งข้อสังเกต 2 ประการ คือ...

...

1. ในเมื่อใบพัดเรือทำให้เกิดบาดแผลที่บริเวณต้นขาขวาด้านใน และผู้ตายน่าจะตกจากท้ายเรือ เช่นนั้นแล้ว "ท่าทางของผู้ตาย" เวลาตกจากเรือ จะเป็นไปในลักษณะของการหงายหน้าลงสู่พื้นน้ำ แล้วใบพัดเรือเกิดไปอยู่ตรงกลางระหว่างขาของผู้ตาย ใช่หรือไม่?

2. แล้วเพราะเหตุใด “ขาซ้าย” ของผู้ตายจึงไม่มีลักษณะบาดแผลที่คล้ายๆ กันเกิดขึ้นบ้าง?

เพราะ...“รัศมีการกางขา” ของผู้ตาย ไม่น่าจะกว้างไปกว่าขนาดของใบพัดเรือ ซึ่งมีลักษณะเป็นวงกลม เวลาหมุนมันก็ย่อมมีการหมุนไปทั้ง “ทางด้านซ้ายและด้านขวา”

หรือเอาล่ะ...หาก บาดแผลที่บริเวณ “ต้นขาขวาด้านใน” นี้ เกิดจากใบพัดเรือ แล้ว “ขาซ้าย” สามารถรอดพ้นจาก “ใบพัดเรือ” ไปได้

สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตคือ...เช่นนั้นแล้ว “ขาซ้าย” ก็น่าจะต้องฉีกออกห่างจาก ”ขาขวามากๆ” ซึ่งท่าทางที่จะนำไปสู่ความเป็นไปได้ในลักษณะนั้น ก็แปลว่า เมื่อผู้ตายตกลงจากเรือแล้วถูกใบพัดเรือทำให้เกิดบาดแผลที่บริเวณต้นขาขวาด้านใน “ขาซ้าย” จะต้องแยกออกห่างจาก “ขาขวา” ในลักษณะตั้งฉากเกือบ 90 องศา เพื่อให้รอดพ้นจาก “ใบพัดเรือ” เช่นนั้นใช่หรือไม่?

ลักษณะบาดแผล ที่เกิดจากใบจักรเรือ:

สิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตในลำดับถัดมา คือ “บาดแผล” ที่เกิดจากใบจักรเรือ ในเมื่อใบจักรเรือมี 3 ใบพัด เวลาที่ใบพัดเรือปะทะเข้ากับร่างของผู้ตาย นั้น “บาดแผล” ที่จะเกิดขึ้นน่าจะมีลักษณะแบบใด?

โดยจากงานวิจัยการใช้หลักนิติวิทยาศาสตร์สำหรับการจำแนกลักษณะของเรือจากบาดแผลที่เกิดขึ้นกับ "แมนนาที" (Manatee) ในรัฐฟลอริดา ประเทศสหรัฐอเมริกา ของ คณะกรรมการอนุรักษ์ปลาและสัตว์ป่าฟลอริดา (The Florida and Wildlife Conservation Commission) ซึ่งถูกตีพิมพ์ลงในวารสารวิทยาศาสตร์ชื่อดังอย่าง Marine Mammal Science เมื่อเดือนมกราคม ปี 2007 ระบุว่า...

...

จากการศึกษาการตายของ “แมนนาที” ซึ่งเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมคล้ายพะยูนแต่มีหางกลมในรัฐฟลอริดา ที่มีการบันทึกเอาไว้ระหว่างวันที่ 1 มกราคม 1973 ถึง 31 ธันวาคม 2004 พบว่ามีจำนวน แมนนาที จำนวนมากถึง 1,253 ตัว หรือคิดเป็น 24.9% จากการตายทั้งหมด 5,033 ตัว มีความเกี่ยวข้อง “การเดินเรือ”

โดยใช้วิธีพิสูจน์จากรูปแบบของบาดแผลและความลึกของขนาดบาดแผลที่ปรากฏบนตัว “แมนนาที” ผ่านการใช้รูปทรงเรขาคณิตทรงกลมที่ขนาดแตกต่างกัน มาทำการทดลองด้วยการ เสียบเข้ากับขนาดรอยบาดแผล เพื่อหาเส้นทางผ่าศูนย์กลางของใบพัดเรือ เพื่อนำไปสู่การประเมินประเภทของเรือที่ชน, ทิศทางของเรือ, ระยะ Pitch (ระยะของการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าต่อการหมุน 1 รอบเครื่องยนต์) และขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางของใบพัดเรือ

และภาพเหล่านี้ คือ ลักษณะบาดแผลภายนอกที่เกิดขึ้นจาก “ใบพัดเรือ” บนตัว “แมนนาที” (Manatee)

...

โดยรายงานวิจัยดังกล่าวระบุเพิ่มเติมว่า แผลที่เกิดจากใบพัดเรือหรือแม้กระทั่งแผลเป็น จะมีลักษณะที่ค่อนข้างขนานกัน, มีระยะเท่าๆ กัน และโดยทั่วไปจะมีลักษณะโค้ง ไม่มีเพียงแผลเดียว นอกจากนี้ความลึกของบาดแผลจะไม่แตกต่างกันมากนัก เนื่องจากการทำงานของ ใบพัดเรือ จะทำความเร็วรอบในลักษณะที่สม่ำเสมอ

ขณะที่ บาดแผลจะแคบหรือจะห่าง ขึ้นอยู่กับ 1.ความเร็วของใบพัดที่กำลังหมุน 2.ความเร็วของเรือ ณ เวลานั้น เพราะหากเรือกำลังวิ่งด้วยเร็ว ระยะห่างของบาดแผลก็จะกว้าง เพราะใบพัดจะหมุนเร็ว แต่กลับกัน หากระยะห่างของบาดแผลแคบ ก็แปลว่า เรือน่าจะวิ่งด้วยความเร็วต่ำ จนกระทั่งทำให้ใบพัดเรือปะทะเข้ากับ “แมนนาที” ได้นานกว่านั่นเอง

อ่านมาถึงบรรทัดนี้ เมื่อ “คุณ” ได้เห็นภาพ “บาดแผล” ที่เกิดขึ้นจากใบพัดเรือบนตัว “แมนนาที” กับ “บาดแผล” ที่ “คุณ” ได้เห็นในวันแถลงสรุปสำนวนคดีแตงโมแล้ว “คุณ” มีความเห็นอย่างไร?

...

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : Sathit chuephanngam

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :