ต้องบอกว่านี่คือยุค “ข้าวยาก หมากแพง” อย่างแท้จริง เพราะไม่ว่าสินค้าประเภทไหนก็ทยอยขึ้นราคา ไล่ตั้งแต่ น้ำมัน และก๊าซ จากปัญหาสารพัด รวมไปถึงเรื่องภัยสงคราม
และคราวนี้ก็มาถึงคิว “ลูกชิ้นปลา” เจ้าดัง “ลูกชิ้นปลาบรรทัดทอง ที่ 1 จส.100” ที่ประกาศผ่านเฟซบุ๊ก ว่าต้องหยุดขายเป็นการชั่วคราวทุกสาขา รวม 11 สาขา สาเหตุมาจากสินค้าที่นำมาขายทยอยขึ้นราคาแทบทุกประเภท อาทิ น้ำมันพืช ค่าก๊าซหุงต้ม และ “ปลา” ที่นำมาใช้ทำลูกชิ้น ซึ่งเดิมขึ้นราคาต่อเนื่องมาแล้ว 50% และวันนี้ คือ ขึ้นราคาเป็น 100% แล้ว
นายสุทธิ มะหะเลา นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย กล่าวว่า ช่วงนี้ปลาทะเลทยอยขึ้นราคาตั้งแต่ปีที่แล้ว โดยเฉพาะ “ปลากะพง” สาเหตุเพราะผู้ประกอบการเพาะเลี้ยงปลากะพงเจ๊งไปกว่า 60% สืบเนื่องจากมีการนำปลาเข้ามาจากประเทศมาเลเซีย บวกกับที่ผ่านมา เจอปัญหาโควิด-19 ระบาดอีก ทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากะพงล้มหายตายจากไป...
เมื่อเศรษฐกิจเริ่มคลายตัว เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาที่ตอนนี้เหลือเพียง 30-40% ทำให้สินค้ามีน้อยลงไปมาก มีปลากะพงขาวมาขาย 20-30% จากเดิม ส่งผลให้ราคาปลากะพงเริ่มสูงขึ้น โดยเมื่อเทียบจากปีที่แล้วสูงขึ้นราว 30%
โดยปลากะพงที่เราจับจากบ่อ อยู่ที่ราคาประมาณ 140-150 บาท/กิโลกรัม เมื่อเข้าถึงแพปลาก็จะบวกขึ้นอีก 10 บาท (ค่าน้ำแข็ง-ขนส่ง) ถึงแผงปลาขายทั่วไป ก็จะบวกเพิ่มอีก 20-30 บาท รวมราคา 180-200 บาท
ส่วนราคาปลาทั่วไปที่จับในท้องทะเล สาเหตุที่ขึ้นราคาในเวลานี้มาจากราคาน้ำมันที่ดีดสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนในการออกทะเลสูงขึ้น นอกจากนี้ยังมีประเด็น IUU (กฎควบคุมการลอบทำประมงผิดกฎหมาย) ทำให้เรือออกไปจับปลาได้น้อยลง ซึ่ง “ปลาอินทรี” (ที่นิยมมาแปรรูปทำลูกชิ้น) เป็นปลาที่ไม่สามารถเพาะเลี้ยงได้
...
“เรือประมงหายไปจากท้องทะเลจำนวนมาก ผมไม่กล้าพูดว่าหายไปกี่ลำ แต่รู้ว่าหายไปประมาณ 40% แน่นอน โดยมีเรือที่ขายให้กับภาครัฐ เรือที่จอดนิ่งๆ หรือเรือประมง ที่นำไปขายให้ต่างประเทศก็มี”
อีกปัจจัยหนึ่งที่สำคัญคือ สินค้าบางอย่างไม่ได้ขึ้นจาก “เรือประมง” หรือ “เกษตรกร” แต่มันไปขึ้นช่วงส่งต่อไปยัง “พ่อค้าคนกลาง” ที่ผ่านมากลุ่มพวกเราพยายามทำให้ปลาของเราเข้าถึงผู้บริโภคโดยตรง ซึ่งพยายามปรับเปลี่ยนวิธีการส่ง
ในขณะที่ การส่งไปยังโรงงานอุตสาหกรรม เบื้องต้นแต่ละคนก็มีการทำสัญญาซื้อขายกันอยู่ ซึ่งมีการทำสัญญาล่วงหน้า ก็จะเป็นราคาที่ตกลงกันไว้ เช่น วันนี้ กะพงขาว จับจากบ่อ 130 บาท+ค่าแรง ขนส่ง น้ำแข็ง อีก 10 บาท ไปถึงห้องเย็นก็อยู่ในราคา 140 บาท ซึ่งต้องเป็นราคาที่ทุกฝ่ายรับได้ ทุกฝ่ายถึงจะอยู่ได้ แต่เมื่อไปถึงคนกลาง แผงตลาด ก็จะบวกเพิ่ม 20-40 บาท/กิโลกรัม
นอกจาก ปลากะพง ก็มี ปลาเก๋า ที่ราคาขึ้นจากเดิมเช่นกัน สาเหตุก็คล้ายกับ ปลากะพง เพราะเกษตรกรล้มหายตายจาก
สิ่งที่อยากจะฝากถึงรัฐบาล คือ อยากจะบอกว่า ประเทศไทย เป็นผู้ผลิตสินค้าการเกษตรจำนวนมาก แต่เวลาภาครัฐไปตกลงซื้อขายสินค้าระหว่างประเทศ มักจะลืมคิดถึงฐานรากของเกษตรกร เวลานำสินค้าเกษตรเข้าประเทศก็มักเข้ามาจำนวนมาก ส่งผลกระทบกับเกษตรฐานรากที่มีผลผลิตไม่มาก กดราคาให้ตกต่ำ ซ้ำเติมเกษตรกรมานานมากแล้ว
“เวลาไปเจรจา ไปตกลงการค้าระหว่างประเทศ ก็ไม่เคยมีตัวแทนของเกษตรกรไปพูดคุย สอบถามความต้องการของพวกเรา ฉะนั้นอยากให้ทางภาครัฐหันมารับฟังเหล่าเกษตรกรบ้าง เพราะคนที่ขับเคลื่อนประเทศก็คือพวกเรา เกษตรกรของประเทศราว 70%” นายกสมาคมผู้เพาะเลี้ยงปลาทะเลไทย กล่าว
ขณะเดียวกัน ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้โทรพูดคุยกับชาวประมงคนหนึ่ง ที่ไม่ขอเปิดเผยชื่อ ที่ออกเรือหาปลาในพื้นที่ทะเลอ่าวไทย เปิดเผยว่า ราคาสัตว์น้ำที่จับได้ในท้องทะเล ก็ไม่ได้ขึ้นราคานานแล้ว เมื่อจับได้ก็จะส่งให้แพปลา เรียกว่าเป็นราคาเดิมมานับสิบปีแล้ว ถึงแม้ราคาน้ำมันในปัจจุบันจะเพิ่มสูงขึ้น แต่ราคาสัตว์น้ำก็ไม่ได้ขึ้น
ปลาที่จับได้ส่วนใหญ่จะเป็นปลาชิงชัง ปลากะตัก ส่วนปลาชนิดอื่นๆ ก็ไม่ได้เยอะมาก รวมไปถึง ปลาอินทรี ที่นิยมเอามาทำลูกชิ้นปลา ก็ไม่ได้ขึ้นราคาเลย ซึ่งโดยปกติปลาอินทรีที่นำมาใช้ทำลูกชิ้น จะเป็นปลาชนิดขูด ซึ่งจะเป็นปลาสภาพไม่ค่อยดีนัก ราคาขายจากชาวประมงอยู่ที่กิโลกรัมละ 60 บาทเท่านั้น ส่วนเมื่อขายไปแล้วเขาจะไปขายต่อเท่าไรเราก็ไม่รู้ แต่หากเป็นปลาอินทรีสภาพดีหน่อยจะขายในราคากิโลกรัมละ 170 บาท ส่วนราคาปลาจะไปขึ้นตอนไหน ก็คิดว่าน่าจะเป็นส่วนของพ่อค้าคนกลาง.
...
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ