- วันที่รอคอยของคนกรุงกว่า 9 ปี ในการเลือกตั้งผู้ว่าฯกทม. คาดหวังให้บุคคลที่ประชาชนเลือกมาแก้ไขสารพัดปัญหาในกทม. หนึ่งในนั้นคือ ปัญหาจราจรและการบริหารจัดการระบบขนส่งสาธารณะให้ครอบคลุมเชื่อมโยง เพิ่มทางเลือกให้กับประชาชน ควบคู่กับความปลอดภัยบนท้องถนน
- ในสถานการณ์ปกติ ไม่ใช่ในช่วงโควิดระบาด กรุงเทพฯ ต้องเผชิญกับปัญหารถติดหนัก โดยเฉพาะชั่วโมงเร่งด่วน ใช้เวลามากกว่าช่วงรถไม่ติดถึง 91% ในตอนเช้า และ 118% หรือมากกว่าสองเท่าในตอนเย็น อัตราความเร็วเฉลี่ยในการเดินทางพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง
- ด้วยจำนวนรถยนต์บนถนนต่อวันในกรุงเทพฯ มีมากขึ้นจากปริมาณรถจดทะเบียนสะสมเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ส่วนจำนวนรถจดทะเบียนใหม่ ตั้งแต่ปี 2561-2564 เฉลี่ยปีละ 8-9 แสนกว่าคัน กลายเป็นว่าต้องตัดถนนเพิ่มขึ้น เอื้อแก่ผู้ใช้รถยนต์เพียงอย่างเดียว แต่การเดินทางของประชาชนถูกมองข้าม และละเลยความปลอดภัย ส่งผลให้เกิดอุบัติเหตุจำนวนมาก อย่างกรณีเหตุสะเทือนใจของ “หมอกระต่าย”
...
เป็นอีกโจทย์สำคัญที่ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ จะต้องดำเนินการเพื่อชาวกรุงเทพฯ “เกาให้ถูกที่คัน” ไม่ใช่ “เกาไม่ถูกจุด” จากข้อเสนอแนะของ “ดร.สุเมธ องกิตติกุล” ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ โดยเริ่มจาก 1.การบริหารจัดการจราจร สัญญาณไฟ พื้นผิวทางเท้าและทางข้าม เป็นภารกิจของ กทม.อยู่แล้ว เพราะจากการประเมินทั้งการทาสี ตีเส้นบนท้องถนน ยังทำได้ไม่ดีนัก ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องจำเป็นที่สุด ควรต้องทำให้ดี
2.การบริหารจัดการที่จอดรถ เพราะปัจจุบันยังค่อนข้างไร้ระเบียบ ควรบริหารให้ดีขึ้น ซึ่งหมายถึงผิวทางจราจรจะต้องดีขึ้นด้วย ในกรณีต่างประเทศมีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมจอดรถบนถนนสาธารณะ โดย กทม.สามารถทำได้อยู่แล้ว แต่ไม่ทำ ส่วนใหญ่ปล่อยให้จอดรถในพื้นที่ห้ามจอด กลายเป็นหน้าที่ของตำรวจในการจัดการ และเกิดปัญหาตามมา
3.ให้ความสำคัญกับผู้เดินทางในรูปแบบอื่น เพราะปัจจุบันเน้นให้ความสำคัญกับผู้ใช้รถเท่านั้น ส่วนระบบการเชื่อมต่อไปยังขนส่งมวลชนและรถไฟฟ้า พบว่า กทม.ให้ความสำคัญน้อย เพราะกว่าคนจะไปขึ้นรถไฟฟ้า จะต้องเดินเท้า และทางเท้าก็ไม่ดี หรือจะเดินไปใช้บริการรถโดยสารประจำทาง พบว่าป้ายรถเมล์ก็ไม่ดี ควรเป็นภารกิจที่ กทม.ต้องดำเนินการ ถ้าจะทำประโยชน์ให้กับประชาชนจริงๆ
“เรามีความจำเป็น และหวังว่าผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ ต้องทำอะไรใหม่ๆ แม้ไม่คาดหวังมาก แต่ไม่ใช่ทำเหมือนเดิม จะทำให้ปัญหาใหม่มีมากขึ้นและใหญ่ขึ้น ยิ่งเพิ่มถนน ยิ่งเอื้อให้คนใช้รถส่วนบุคคลมากขึ้น จนคนใช้รถประจำทางน้อยลง และคนไม่เดินเท้า เพราะทางเท้าแย่ ประเมินระยะทางถนนของ กทม.น่าจะหลายพันกิโลเมตร ไม่รวมตรอกซอกซอย ควรจะทำทางเท้าให้ดี เมื่อไหร่จะได้เห็น เพราะขนาดพื้นที่สีลมกว่าจะเสร็จใช้เวลา 3-4 ปี”
...
หวังผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ คิดต่าง นโยบายทำได้
ผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ต้องทำอย่างไรให้คนสามารถเข้าถึงระบบขนส่งสาธารณะให้มากที่สุด เพื่อลดปัญหาจราจร และสามารถเดินเท้าได้ในระยะทางไม่เกิน 500 เมตร ในการไปขึ้นรถโดยสารประจำทาง และไปต่อรถไฟฟ้า ซึ่งเรื่องค่าโดยสารเป็นส่วนหนึ่งที่ กทม.ควรสนับสนุน แม้เกี่ยวข้องกับรัฐบาลกลาง แต่ถ้า กทม.เข้าไปร่วมได้ ก็น่าจะดีในการกำหนดค่าโดยสาร และที่ผ่านมามีบ้างในการอุดหนุนเงินรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ หรือบีอาร์ที แต่ส่วนใหญ่ยังไม่เคยทำ
...
นโยบายหาเสียงผู้สมัครผู้ว่าฯกทม.แต่ละคน คิดว่าเหมือนเดิม ไม่แตกต่างจากที่ผ่านมา แต่อยากให้คนที่ได้รับเลือกทำอะไรบ้าง เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง และเป็นประโยชน์ หรือบางคนถ้าพูดอย่างเดียวแล้วทำไม่ได้ ก็อาจได้เป็นผู้ว่าฯกทม.ก็ได้ เพราะเป็นสนามเลือกตั้งที่เดาใจคนกรุงยาก
ในส่วนเรื่องจราจร ดูแล้วไม่ต่างกันมาก แต่ควรดำเนินการให้ได้ตามที่เสนอไป และเท่าที่ดูสิ่งที่เสนอกันไปไม่น่าทำได้ อาจไม่เกี่ยวกันกับนโยบายของ กทม.มากนัก และเมื่อสแกนดูมีผู้สมัครไม่กี่คนที่เสนอตรงล็อก และอาจทำได้ ส่วนอีกกลุ่มที่เสนอมาอาจทำไม่ได้เลย เพราะไม่ใช่หน้าที่ กทม.
“เท่าที่ดูนโยบายผู้สมัครแต่ละคน เสนอการแก้ปัญหาแบบผสม แต่ไม่ได้เสนอวิธีการ ก็ไม่น่าทำได้ กับอีกอัน ไม่ใช่อำนาจหน้าที่ กทม.เลย อยากให้นโยบายผู้สมัครที่พูดออกมา ขอให้ทำได้จริงๆ และเรื่องผิวทางเท้าเป็นสิ่งควรทำ เพราะเป็นหน้าที่ของ กทม. 100 เปอร์เซ็นต์”
ประชาชนเดินทางปลอดภัย เพิ่มสัญญาณไฟข้ามถนน
จากสิ่งที่เสนอแนะฝากไปถึงผู้ว่าฯกทม.คนใหม่ และขอแสดงความยินดีล่วงหน้ากับผู้ที่ได้รับเลือก หลังจากนั้นจะรอดูว่าสิ่งที่จะทำเป็นอันดับแรกคือเรื่องอะไร อยากให้ทำงานตามนโยบายที่หาเสียง และคงจะเห็นผลกับสิ่งที่ดำเนินการไป หวังว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นกับกรุงเทพฯ ในช่วงดำรงตำแหน่ง และตอบสนองความต้องการในการเดินทางของประชาชนให้มีความปลอดภัย
...
เนื่องจากงบประมาณในการสร้างความปลอดภัยแก่ประชาชนที่เดินเท้าและผู้ใช้จักรยาน พบว่ามีสัดส่วนที่ต่ำ และยังสะท้อนให้เห็นจากความคืบหน้าในการติดตั้งสัญญาณไฟแบบกดปุ่มบริเวณทางข้าม เพิ่มขึ้นเพียง 12 แห่ง ในระยะเวลา 5 ปี จาก 214 แห่ง ในปี 2558 เป็น 226 แห่ง ในปี 2563 หรือมีการเพิ่มสัญญาณไฟแบบกดปุ่มบริเวณทางข้ามเพียง 0.37% ของจำนวนทางข้ามทั้งสิ้น 3,280 จุด
ขณะที่การติดตั้งไฟกะพริบเตือนคนข้ามถนน กลับมีจำนวนลดลงจาก 1,344 แห่ง ในปี 2561 เหลือเพียง 846 แห่ง ในปี 2563 นอกจากนี้ยังมีการยกเลิกเลนจักรยาน ทั้งๆที่ทางทีดีอาร์ไอรายงานข้อมูลในเรื่องดังกล่าวไปตั้งแต่ปี 2560 แต่กลับเงียบหายไปในที่สุด.
ผู้เขียน : ปูรณิมา