หลังจากค่ายรถยนต์ยักษ์ใหญ่ประกาศว่า จะเลิกใช้ “พริตตี้” ในการจัดแสดงมหกรรมยานยนต์ โดยจะหันมาใช้ผู้เชี่ยวชาญด้านรถยนต์ ไม่จำกัดเพศ อายุ รูปร่าง มาให้ข้อมูล โดยให้เหตุผลเรื่องความหลากหลายและความเท่าเทียมทางเพศ และเพื่อให้พรีเซ็นเตอร์ถูกให้เกียรติและสร้างจุดยืนใหม่ๆ ในการนำเสนอ

ในทางกลับกัน คำประกาศดังกล่าว เหมือนเป็นการส่งสัญญาณ ไปยังเหล่าโฉมงาม ที่ทำหน้าที่พริตตี้หรือ MC ว่าอยู่ข่ายสุ่มเสี่ยงที่จะ “ตกงาน” ในอนาคตอันใกล้ๆ นี้...หรือไม่?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุย “พริตตี้” 2 คน ที่เคยร่วมงานในงานมหกรรมการจัดแสดงรถยนต์ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มานับสิบปี แต่ไม่สะดวกที่จะเปิดเผยชื่อและนามสกุลจริง โดยเราเรียกเธอว่า “แพร” กับ “ปอ”

“แพร” สาวพริตตี้ ที่อยู่วงการเกือบ 2 ทศวรรษ ราว 18 ปี บอกเล่าเรื่องราวเบื้องหลังอาชีพนี้ให้ฟังว่า ได้ทำงานพริตตี้ ในงานจัดแสดงรถยนต์ระดับประเทศ มายาวนานถึง 14 ปีแล้ว แต่ก็มีการสลับไปมา ตามค่ายรถยนต์ต่างๆ จะบอกว่าอาชีพ “พริตตี้” นี้อายุงานที่สั้น หรือไม่ มันก็แล้วแต่มุมมอง แต่สำหรับเธอ ก็อยู่มายาวนาน ทั้งนี้ จึงเชื่อว่า สิ่งสำคัญอยู่ที่ความสามารถของแต่ละคน แต่ก็ยอมรับว่าอาชีพนี้ไม่ได้ยั่งยืน...เพราะเรายอมรับความจริงว่า มีการขายรูปร่างหน้าตา ทรวดทรง เป็นส่วนประกอบ

ด้าน “ปอ” ที่ทำงานในวงการนี้มาร่วมสิบปีเช่นเดียวกัน แต่ที่แตกต่างคือ ปอ มีงานประจำอยู่ จึงทำให้เห็นได้ถึง 2 มุมมองกับสิ่งที่จะเกิดขึ้น ได้แก่
1.ไม่ว่าจะเป็นงานประเภทใด ล้วนเป็นงานหนัก ใช้ความคิด ความสามารถ เราไม่สามารถบอกได้ว่า งานจะยั่งยืนหรือไม่ บางอย่างมันขึ้นอยู่ที่ตัวบุคคล ดังนั้น จึงรู้สึกไม่เห็นด้วยการดูถูกอาชีพ “พริตตี้” เท่าไร
2. ในบางค่ายรถยนต์ ช่วงหลังไม่ได้ใช้พริตตี้อยู่แล้ว เขาใช้เพียง “นางแบบ” คือ เป็นการเดินแฟชั่นโชว์ ซึ่งลักษณะงานจึงมีความแตกต่าง

...

จากโควิด-19 พิษเศรษฐกิจ สู่หายนะ “พริตตี้”

แพร ยอมรับว่า ผลกระทบหนักที่เกิดขึ้นกับเหล่าสาวๆ พริตตี้ มาจากการระบาดของโควิด-19 ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา งานอีเวนต์ต่างๆ ถูกยกเลิกไป เมื่อโควิดเริ่มจางลง หลายบริษัทก็เลือกที่จะตัดงบประมาณลง ซึ่งตามปกติแล้ว การจะจัดงานแต่ละครั้ง ค่ายรถยนต์ จะเลือกจ้างออแกไนซ์ เพื่อมาจ้าง MC และ พริตตี้ต่ออีก

“แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยน ค่ายรถยนต์เหล่านี้ยังจ้าง ออแกไนเซอร์ แต่เขาเลือกจะให้คนของออแกไนซ์ มาฝึกฝน แล้วมาใช้สื่อสารทางการตลาดแทนพริตตี้ และ MC ซึ่งแนวคิดลักษณะนี้มีมาสักพักแล้วก่อนโควิด แต่เมื่อมีโควิด ก็เลือกใช้วิธีตัดงบและใช้พนักงานของตนเองแทน...”

มองสัญญาณนี้ จะกระทบอาชีพหรือไม่... แพร บอกว่า ยังมั่นใจว่าอาชีพนี้ ยังอยู่ได้ และเชื่อว่ายังจำเป็นสำหรับ บางบูธ ของงานจัดแสดงรถยนต์ เพราะหน้าที่ของพริตตี้ นอกจากจะช่วยซัพพอร์ตเซลล์แล้วยังทำหน้าที่ช่วยเก็บข้อมูลสำคัญๆ บางครั้งการพูดคุยกับลูกค้าที่มาดูรถยนต์ จะทำให้เราได้อินไซต์อะไรบางอย่าง หรือ ให้เขากรอกข้อมูลรถยนต์ที่เขาอยากได้ เพื่อนำข้อมูลไปพัฒนารถยนต์ แต่สำหรับบางค่าย เขาอาจจะไม่จำเป็นต้องเก็บข้อมูลตรงนี้แล้ว เพราะเขามีทีมพัฒนาของเขาแล้ว

“ลูกค้าบางคนไม่ชอบให้เซลล์เดินตาม เขาไม่อยากโดน Hard sell พริตตี้ก็จะเป็นส่วนหนึ่งในการชวนคุย ถามความต้องการลูกค้า เพราะยังไง พริตตี้ก็ไม่มีสิทธิขาย ลูกค้าจึงสะดวกใจที่จะคุยมากกว่า ดังนั้นถามว่า จำเป็นต้องมี “พริตตี้” ในอนาคตหรือไม่ ถ้ามองว่าจำเป็นก็จำเป็น เพราะพริตตี้ซื้อเวลาลูกค้าได้ ให้รอจนกว่าเซลล์จะว่าง”

เช่นเดียวกับ “ปอ” ที่มองคล้ายกัน คือ สกิลการขายของไม่ได้ขึ้นอยู่กับการพูดจาอย่างเดียว Personality ทุกอย่างคือส่วนหนึ่งที่ทำให้คนเข้ามา ตอนนี้ไม่กังวลเลย กลับมั่นใจ 90% ว่า อาชีพพริตตี้ เพราะปัจจุบันเรามีโซเชียลฯ มากขึ้น เพราะงานบางประเภทจำเป็นต้องพึ่งพาด่านหน้า หมายถึง พริตตี้ MC ซึ่งคนที่จะมาเป็นตรงนี้ ต้องกล้าที่แสดงออก ซึ่งอาชีพเราก็เหมือนดารา ปัจจุบัน ก็ยังไม่มีผลกระทบมาก หรือ จะไม่จ้างเล่นละคร

ค่านิยมใหม่ และความเท่าเทียมทางเพศ

เมื่อถามว่า มีการพูดถึงประเด็นเรื่อง “ความเท่าเทียมทางเพศ” ที่จริงแล้ว เวลาเราทำงานรู้สึกไม่เท่าเทียมหรือไม่ “ปอ” บอกว่า สมัยนี้ดีกว่าแต่ก่อนมาก เมื่อโซเชียลฯ เข้าถึงผู้คนมากขึ้น ฉะนั้น การจะทำหรือออกความคิดเห็นสิ่งใดมันจะส่งผลกระทบรุนแรงขึ้น

...

“การดูถูก หรือ บูลลี่ ใคร ตัวคนทำจะได้รับผลรุนแรง ถามว่ามีไหม...ยังมีบางกลุ่ม ย้ำนะคะ ว่าบางกลุ่ม ยังมองในแง่ลบ แต่ปัจจุบัน เราไม่พบการดูถูกหรือเหยียดหยามแล้ว เพราะการทำงานของเรามันชัดเจนว่าต้องใช้ความสามารถ ตรงนี้เองคือเครื่องพิสูจน์ เราไม่ได้ใช้แค่หน้าตาอย่างเดียว เวลาลูกค้าจะใช้งานเรา เขาไม่ได้มองแค่ความสวย การพูดจา ทัศนคติ รวมไปถึงไหวพริบในการแก้ปัญหาสถานการณ์ ซึ่งเราถูกลูกค้าทดสอบ ซึ่งถามว่า คนทำงานก็มีทุกประเภท มีทั้งคนเก่งและมีไหวพริบ แต่บางคนก็ไม่เทียบเท่า แต่การจะเอาประเด็นนี้ยกขึ้นมา เปรียบเทียบมันก็ไม่แฟร์”

แพรมองว่า การที่บางค่ายรถยนต์ เลือกที่จะไม่ใช้พริตตี้ ก็อาจจะมาจากกลยุทธ์ทางการตลาดของเขา แต่ส่วนตัวอาจจะมองว่า ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการลดงบประมาณมากกว่า เพราะปัจจุบัน ไม่ว่าเพศไหน ย่อมมีสิทธิ ความสามารถเท่าเทียมกัน

พริตตี้ก็มีความรู้ ความเชี่ยวชาญด้านยานยนต์

“ถ้าบอกว่า อยากใช้คนที่มีความรู้ความสามารถ MC พริตตี้ ที่มีความรู้ความสามารถในเรื่องรถยนต์ก็มี เช่น พริตตี้บางคนที่สูงอายุแล้ว ก็ยังสามารถทำงานนั้นๆ ที่สำคัญบุคคลเหล่านั้นสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ดี ซึ่งต่อไปอาจจะไม่เรียกเขาว่า เป็น “MC” หรือ “พริตตี้” ก็ได้ อาจจะเรียกเขาว่า ผู้เชี่ยวชาญก็ได้ แต่ผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ ก็อาจจะเป็น อดีตพริตตี้ก็ได้” แพร ให้ความเห็น

...

แพร กล่าวต่อว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก ที่บางคนจะมองหรือเหยียดเพศ ส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า มีพริตตี้บางส่วนประพฤติตัวไม่ดีจริงๆ แต่นั่นคือพริตตี้จริงๆ หรือไม่ บางคนใช้แต่ชื่อพริตตี้ ซึ่งคนในวงการจะมองกันออก หากเจอเราก็จะพยายามผลักดันให้ออกยจากกลุ่มไป

คนในวงการ “พริตตี้” มองประเด็นนี้อย่างไรกันบ้าง “ปอ” หัวเราะ ก่อนตอบว่ามีหลายความคิดเห็น บางคนก็อยากที่จะปกป้องอาชีพของตัวเอง แต่ในมุมหนึ่ง การดูถูกเหยียดหยามนั้น บางครั้งมันก็มีเหตุผล ซึ่งเราไม่อยากจะพูดถึง แต่สิ่งที่จะสื่อ คือ ไม่อยากให้เหมารวม

“ปัจจุบันพริตตี้งานแสดงรถยนต์ มีความเรียบหรูมากขึ้น เรียบร้อยมากขึ้น ทุกอย่างขึ้นอยู่ที่ยุคสมัย”

เมื่อถามว่า การเป็นค่ายยุโรปกับญี่ปุ่น แตกต่างกันไหม ในเรื่องการใช้งานพริตตี้ ปอ มองว่า รถญี่ปุ่นเป็นรถที่ตลาดมากกว่า พริตตี้ จะเป็นส่วนหนึ่งในการดึงดูดลูกค้าได้ เพราะสุดท้ายคนที่เดินเข้าบูธ คือ คนที่ต้องการซื้อที่ “ตัวสินค้า”

เมื่อถามว่า ตอนนี้ถือเป็นช่วงทดลองอะไรบางอย่างหรือไม่ กับวงการมหกรรมยานยนต์ที่อาจจะไม่มีพริตตี้ “ปอ” ยอมรับว่าคิดไปทางนี้เช่นเดียวกัน แต่ส่วนตัวคิดว่า หลายค่ายอาจจะไม่ปรับตาม ก็อาจจะมาจากกลยุทธ์การตลาดอย่างหนึ่งก็เป็นได้ เพราะพริตตี้ ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ลูกค้าหยุดดู เป็นโอกาสที่เซลล์ จะเดินเข้าหา และอาจจะปิดการขายได้

KPI ของ พริตตี้ คืออะไร ยอดขาย กับ ยอดชม มีผลแค่ไหน ปอ กล่าวว่า บางค่ายไม่มี KPI แต่บางค่ายก็มี ค่ายไหนมี KPI ย่อมได้ค่าคอมมิชชัน แต่สุดท้ายมันจะอยู่ที่เซลล์มากกว่า แต่เราก็คือ ด่านหน้าในการเข้าหาลูกค้าได้ง่ายอีกช่องทางหนึ่ง

...

เรตราคา “พริตตี้” กับ “MC” ไม่เท่ากัน

ทั้งนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้สอบถาม เรตค่าจ้าง พริตตี้ ได้รับการเปิดเผยว่า...

พริตตี้ แต่ละคนไม่เท่ากัน ความแตกต่างอยู่ที่ชื่อเสียงของแต่ละคน โดยอาจจะวัดกันจาก “ผู้ติดตาม” ในเฟซบุ๊ก IG โดยต่องาน อาจจะเริ่มต้นที่ราว 2,000 -5,000 บาท /งาน บางคนรับเป็นรายชั่วโมงก็มี แต่ถ้าเป็นระดับงาน มอเตอร์โชว์ หรือ มอเตอร์เอ็กซ์โป บางครั้งก็ต้องลดราคาลงมาบ้าง เนื่องจากต้องรับงานต่อเนื่องหลายวัน อาจจะเป็นการเหมาค่าจ้าง ทั้งนี้ทั้งนั้น ราคา “พริตตี้” จะน้อยกว่าราคา “MC” ประมาณ 500-1,000 เช่น พริตตี้ รับ 3,500 บาท ต่องาน MC จะได้ประมาณ 4,000-4,500 บาท ยกเว้นคนนั้นเป็นคนดังหรือมีชื่อเสียงจริงๆ ราคาก็จะโดดไปหลักหมื่นบาท
หากอนาคต ไร้ “พริตตี้” ในมหกรรมยานยนต์

แพร บอกว่า หากมันเป็นเช่นนั้นจริง เขาก็คงผันตัวเองไปทำอาชีพอื่น ทำได้แค่ทำใจ ว่าอาชีพนี้อาจจะหมดไป แต่ในมุมของพริตตี้เก่าแก่ ที่มีความรู้ ขอแค่มีงานทำ เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านนั้นๆ ถึงแม้รายได้ลดลง แต่ก็ดีกว่าไม่มีรายได้
ขณะที่ปอ บอกว่า ยังมั่นใจว่ามหกรรมครั้งหน้า ยังคงมี “พริตตี้” อยู่...

**หมายเหตุ** ภาพพริตตี้ ใช้ประกอบข่าว ไม่เกี่ยวข้องกับผู้สัมภาษณ์

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ