เป็นเรื่อง “อื้อฉาว” และ “เหม็นโฉ่” ไปทั่ว เมื่อนักการเมืองรายหนึ่ง ที่เป็นใหญ่เป็นโตในพรรคการเมืองใหญ่และเก่าแก่ของเมืองไทย ถูก “ผู้หญิง” 4 คน เข้าแจ้งความดำเนินคดีในหลายข้อหา ลวนลาม คุกคามทางเพศ ลามไปถึงขั้นมีการข่มขืน ซึ่งล่าสุดเจ้าตัวได้ดอดมอบตัวสู้คดี ซึ่งเรื่องนี้จะเป็นจริงอย่างที่ถูกกล่าวหาหรือไม่ คงต้องขึ้นอยู่กับพยาน หลักฐาน และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องใช้เวลาไขความจริง

ที่ผ่านมา เรามักได้ยินข่าวทำนองนี้มาตลอด และไม่เคยหายไปจากสังคมไทย ส่วนใหญ่ผู้กระทำความผิดมักจะเป็นผู้ที่ “กุมอำนาจ” ที่เหนือกว่า เช่น พ่อกับลูก เจ้านายกับลูกน้อง ครูกับนักเรียน หรือแม้แต่ พระกับเณร ก็ไม่เว้น ซึ่ง ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ นายจะเด็จ เชาวน์วิไล ผู้อำนวยการมูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ได้ออกมาเปิดเผยเรื่องราวที่น่าอดสูนี้

เผยสถิติ เด็กวัยรุ่น 11-20 ปี ถูกคุกคามทางเพศมากที่สุด

นายจะเด็จ เผยว่า จากการเก็บข้อมูลของมูลนิธิฯ พบว่า การคุกคามทางเพศไม่ได้ลดน้อยลงไปเลย โดยเฉพาะผู้ถูกกระทำในช่วงอายุ 10-20 ปี จะมีตัวเลขที่สูงมาก เป็นอันดับ 1 ส่วนอันดับรองลงมา คือเด็กอายุ 10 ปีลงไป ซึ่งเราเห็นตัวเลขลักษณะนี้รู้สึกว่า “น่าเป็นห่วง”

...

“การคุกคามทางเพศโดยคนใกล้ตัว ก็เป็นอะไรที่น่าห่วง ส่วนสถานการณ์ในโรงเรียน และสถานศึกษา ก็มีมาก มูลนิธิฯ รับเคสลักษณะนี้เข้ามาค่อนข้างเยอะ หรือแม้แต่ในวัด ที่ทำงาน ก็มีไม่น้อย...แต่จะไม่ค่อยมีรายงานมากนัก เนื่องจาก “ผู้ที่คุกคาม” มี “อำนาจเหนือกว่า” ด้วยเหตุนี้ทำให้ผู้ถูกกระทำไม่กล้าที่จะออกมาแจ้งความร้องทุกข์”

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังขยายความหมายของคน “อำนาจที่เหนือกว่า ว่า หากเป็นคนในครอบครัว ก็จะเป็น พ่อแม่ พี่ อาลุง พ่อเลี้ยง ส่วนเหตุในสถานศึกษาก็จะเป็น “ครู” ถ้าเป็นบริษัท ก็จะเป็นผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นภาคเอกชน หรือภาครัฐก็ตาม ซึ่งนอกเหนือจากความเชื่อ “ชายเป็นใหญ่” แล้วยังมีอำนาจที่เหนือกว่าเหล่านี้ ทำให้ผู้กระทำได้ใจ คิดว่าทำได้แล้วไม่ถูกร้องเรียน ซึ่งใช้อำนาจชี้ถูกผิดได้ ทำให้การงานที่ทำมีปัญหา หรือครูก็เป็นคนให้เกรด เป็นต้น

อาชีพยิ่งน่าเชื่อถือ ยิ่งกระทำหลายคน อำนาจกดทับ ทำให้ไม่กล้าเปิดเผยความจริง

ผอ.มูลนิธิหญิงชายก้าวไกล ยังได้กล่าวถึงกรณี “นักการเมือง” จะมีสถิติหนึ่งคล้ายๆ กัน คือ ส่วนมากผู้ถูกกระทำ จะไม่โดนเพียงคนเดียว เช่นเดียวกับ อาชีพครู ที่กระทำผิด มักจะลงมือกระทำกับเด็กหลายๆ คน และกว่าจะถูกเล่นงานดำเนินคดี ก็มีผู้ถูกกระทำไปแล้วหลายคน สาเหตุที่เป็นเช่นนี้ หากสังเกตจากคำสัมภาษณ์ของผู้ถูกกระทำหลายคน จะบอกว่า สิ่งที่เกิดขึ้นคิดว่าตัวเองเป็นคนผิด ไม่กล้านำเรื่องนี้ไปบอกกับครอบครัว หากพูดไปแล้วไม่น่าเชื่อถือ เพราะผู้กระทำหลายคนมักมีภาพลักษณ์ที่ดี เป็นคนน่าเชื่อถือ โดยเฉพาะ “คนเป็นครู” ซึ่งส่วนมากจะเป็นคนที่ชุมชนยอมรับ ขณะที่นักการเมืองก็ไม่มีความแตกต่างเลย ผู้หญิงหลายคนไม่กล้าออกมาให้ข้อมูล ร้องเรียน หรือต่อสู้เพื่อสิทธิของตัวเอง

เมื่อถามว่า มีข้อมูลเกี่ยวกับการคุกคามทางเพศของฝ่ายการเมืองหรือไม่ มากน้อยแค่ไหน นายจะเด็จ กล่าวว่า จริงๆ มี ที่เป็นข่าวมาแล้ว เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งตอนนี้เสียชีวิตไปแล้ว และก็เอาผิดอะไรไม่ได้มาก และเชื่อว่ายังมีอีกบางส่วนที่ไม่เป็นข่าว ซึ่งอาชีพ “นักการเมือง” นั้นเกี่ยวข้องกับอำนาจ ด้วยเหตุนี้จึงไม่ค่อยมีข่าว อย่างกรณีนี้กว่าจะเป็นข่าว ก็ผ่านมาแล้วหลายปี สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะอำนาจที่มี ทั้งครอบครัว รวมไปถึงเครือข่ายที่เขามี

นายจะเด็จ กล่าวถึงปัญหาการลวนลามว่า ส่วนตัวเชื่อว่าเกิดขึ้นทุกวัน และทุกที่ เพราะการลวนลามเริ่มต้นตั้งแต่สายตา วาจา การใช้โซเชียลมีเดีย จากนั้นก็สัมผัสร่างกาย สุดท้ายก็คือการข่มขืน เคสที่เกิดขึ้นคล้ายกัน เพราะเป็นการเริ่มต้นด้วยการพูดจา “หมาหยอกไก่” ขอไลน์ จากนั้นก็มีการสัมผัส กระทั่งมีการหลอกไปข่มขืน โดยที่ผู้หญิงไม่รู้ว่าเป็นที่ไหน กระทั่งมีการป้องกันตัวเองไม่ได้

...

กฎพรรคต้องเข้มงวด กฎหมายต้องเด็ดขาด

เมื่อถามว่า เรามีแนวทางป้องกันเรื่องแบบนี้อย่างไรบ้าง นายจะเด็จ ตอบสวนทันควันเลยว่า ส่วนตัวไม่อยากให้ฝ่ายผู้ถูกกระทำต้องป้องกันตัวเอง คนที่กระทำต่างหาก ต้องแก้ปัญหา เพราะไม่ว่าป้องกันแบบไหน หากต้องการหลอกลวง เขาก็จะพยายามหลอกไปจนได้ เช่น การบังคับให้กินเหล้า พอเมาแล้วตัวเองก็ยังช่วยเหลือไม่ได้

สิ่งที่จะแก้ไขที่ดีที่สุด คือ
1.การบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
2.การบังคับใช้กฎในองค์กร เช่น พรรคการเมือง ก็ต้องมีกฎในองค์กร หากพบว่ามีการคุกคามทางเพศ จะต้องถูกลงโทษ หรือแม้กระทั่งต้องมีการตรวจสอบประวัติเสียก่อน ว่าประวัติไม่ดีในเรื่องเหล่านี้หรือไม่

“การบังคับใช้ที่ดีสุด คือ มาตรการในองค์กร และการบังคับใช้กฎหมาย ซึ่งถือเป็นสิ่งที่ดีที่สุด”

นายจะเด็จ สะท้อนปัญหาข่มขืน และการคุกคามทางเพศในประเทศไทย ถือเป็นมายาคติอย่างหนึ่ง ที่ผู้หญิงมักจะถูกมองไม่ดี เช่น การไปกล่าวหาเขาว่าเดินไปหาเอง แต่งตัวโป๊ ซึ่งเรื่องเหล่านี้กลายเป็นเรื่องกดทับผู้หญิง ทำให้ผู้หญิงที่ถูกกระทำ คิดว่าตัวเองเป็นคนผิด อีกทั้งพอไปบอกใคร กลับไม่มีใครเชื่ออีก

...

“ผลประทบที่เกิดขึ้นกับผู้ถูกคุกคามทางเพศ หลายคนกลายเป็นโรคซึมเศร้า บางคนต้องกินยาต่อเนื่อง ในขณะที่บางเคสบางคน “เสียโอกาส” ต่างๆ เช่น การเรียน การทำงาน บางคนต้องหนีไปอยู่ต่างประเทศ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่สังคมต้องเข้าใจ เพื่อไม่ไปกดทับเขา กลับกัน ต้องสนับสนุนเขาให้ออกมาต่อสู้ และการต่อสู้จะช่วยเยียวยาจิตใจ ได้เดินหน้าเอาผิดกับผู้กระทำ และหากผู้กระทำผิดไม่ได้รับการลงโทษ เขาก็จะยิ่งเจ็บปวดมากขึ้น”

สำหรับผู้ที่ถูกกระทำ และไม่กล้าออกมาเปิดเผยนั้น นายจะเด็จ แนะนำว่า มีหน่วยงานราชการหลายหน่วยงานที่สามารถช่วยเหลือได้ เช่น ศูนย์พึ่งได้ โดยไปตรวจร่างกายเสียก่อน หากเชื่อใจตำรวจก็สามารถไปแจ้งความกับเจ้าหน้าที่ได้ สิ่งสำคัญที่สุด คือ คุยกับคนที่ใกล้ตัวเราที่สุดก่อน โดยเฉพาะพ่อแม่ หรือว่าเพื่อนที่พอเข้าใจ ก็อยากให้ระบายออกมา อย่าเก็บเรื่องนี้ไว้คนเดียว เพราะเราจะเครียดและไม่มีทางออก

มองยังไง ที่มีกระแสสังคมในช่วงก่อนหน้านี้ ในประเด็นกฎหมาย ข่มขืน = ประหาร นายจะเด็จ กล่าวว่า การลงโทษรุนแรงไม่ได้แก้ปัญหา สิ่งที่จะแก้คือ ต้องปรับเปลี่ยนทัศนคติเรื่อง “ชายเป็นใหญ่” โดยเฉพาะเรื่องการใช้อำนาจ เราต้องปลูกฝังตั้งแต่เด็กในครอบครัว หรือไม่ว่าจะเพศสภาพไหน ต้องเลี้ยงดูลูกอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ต้องมี “การปฏิรูประบบการศึกษา” มีหลักสูตรในการเรียนรู้เรื่องเพศวิถี โดยทุกเพศต้องเท่าเทียมกัน และต้องเรียนรู้สิ่งที่เกิดขึ้น ว่าการคุกคามทางเพศไม่ควรเกิดขึ้น อีกอย่าง ฉากคุกคามทางเพศในสื่อ ไม่ควรนำเสนอ

...

ที่ผ่านมา นิยามคำว่า “ข่มขืน” ถูกเปลี่ยนไป มีการแก้กฎหมายให้ล้าหลังลง โดยเมื่อก่อนไม่ว่าจะใช้อวัยวะส่วนใดก็ตามล่วงละเมิดทางเพศ ก็ถือว่าเป็นการข่มขืน แต่ปัจจุบันในปี 2562 กลับมีการเปลี่ยนนิยาม บอกว่า “ข่มขืน” ต้องใช้อวัยวะเพศเท่านั้น หากเป็นส่วนอื่น จะเข้าข่ายแค่ “อนาจาร” ซึ่งกฎหมายดังกล่าวถือเป็นเรื่อง “ล้าหลัง” จำเป็นต้องเปลี่ยน

“เพราะที่ผ่านมา หลายเคสไม่ได้ใช้อวัยวะเพศ แต่ใช้นิ้ว ซึ่งกลายเป็น “อนาจาร” เรื่องแบบนี้ไม่ถูกต้อง!” นายจะเด็จ กล่าวทิ้งท้าย.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : Anon Chantanant

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ