การเรียนออนไลน์ในช่วงล็อกดาวน์ การแพร่ระบาดโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างไรต่อเด็กนักเรียนและสถานศึกษาบ้าง? ประเด็นนี้ถูกหยิบยกขึ้นมาพูดถึงกันอีกครั้ง หลังการเปิดเผยผลการศึกษาในสหราชอาณาจักร พบว่า ส่งผลกระทบต่อพัฒนาการของเด็กนักเรียนในหลายประเด็น

โดยสำนักงานมาตรฐานการศึกษาบริการและทักษะสำหรับเด็กแห่งสหราชอาณาจักร (The office for Standards in Education Children’s Services and Skill) หรือ Ofsted เปิดเผยรายงานผลการศึกษา จากการเข้าตรวจสอบสถาบันการศึกษาถึง 280 แห่งทั่วสหราชอาณาจักร ในกลุ่มช่วงอายุที่แตกต่างกัน พบว่า เด็กๆ ส่วนใหญ่ที่เรียนหนังสือออนไลน์ ในช่วงการประกาศล็อกดาวน์เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 มีปัญหาทั้งเรื่องพัฒนาการทางด้านร่างกายและอารมณ์

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับเด็กนักเรียน :

โดยรายงานของ Ofsted ระบุว่า ปฏิสัมพันธ์ทางสังคมที่ลดลงจากการล็อกดาวน์ ทำให้เด็กๆ ในกลุ่มเตรียมอนุบาล (Early Years) ส่วนใหญ่ มีพัฒนาการทางด้านร่างกาย เช่น การคลาน การเดิน การเขียน การพูด และการตอบสนองการแสดงออกทางสีหน้าขั้นพื้นฐานช้าลง โดยมีบางส่วนเป็นโรคอ้วน

...

นอกจากนี้บางส่วนยังขาดทักษะพื้นฐานสำหรับการดูแลตัวเอง เช่น การเข้าห้องน้ำด้วยตัวเอง ทำให้สถานศึกษาต่างๆ ต้องใช้เวลากับเด็กๆ กลุ่มนี้ ด้วยการเน้นการออกกำลังกายให้นานขึ้น รวมถึงพยายามหาทางให้เด็กๆ สร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันให้ได้มากที่สุด

ขณะที่ผลกระทบทางด้านสุขภาพจิตจากการเรียนออนไลน์ ในกลุ่มเด็กระดับมัธยมศึกษาส่วนใหญ่ พบว่า ขาดความยืดหยุ่นทางด้านอารมณ์ มีความวิตกกังวลในการทำกิจกรรมกลุ่ม และที่สำคัญคือ ขาดความมั่นใจในการเรียน จนกระทั่งเลือกเรียนกลุ่มวิชาวิทยาศาสตร์ ชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ และ คณิตศาสตร์ กันน้อยลง และหันไปเลือกเรียนทางด้านภาษากันมากขึ้นด้วย

ด้วยเหตุนี้ สถานศึกษาหลายแห่งจึงพยายามเพิ่มประสิทธิภาพการเรียนรู้ให้กับเด็กนักเรียนที่ขาดความมั่นใจเหล่านี้ ด้วยการพยายามจัดการประเมินผลการเรียนให้มากขึ้น เพื่อหาทางเติมเต็มช่องว่างในสิ่งที่เด็กนักเรียนขาดหาย ในขณะที่สถานศึกษาบางแห่งถึงกับจัดการให้การประเมินผลการเรียนเป็นประจำ เพื่อจะได้สามารถระบุถึงสิ่งที่นักเรียนแต่ละคนจดจำได้แล้ว และให้เวลาในการทบทวนสิ่งที่ยังต้องเรียนรู้จากการเรียนออนไลน์เพิ่มเติม

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับสถานศึกษา :

อย่างไรก็ดี สิ่งที่ Ofsted ค้นพบคือ ผลของการล็อกดาวน์จนนำไปสู่การปิดสถานศึกษาในช่วงการแพร่ระบาดโควิด-19 นั้น ได้ส่งผลสถานศึกษาหลายๆ แห่ง ไม่สามารถรักษาบุคลากรที่มีคุณภาพเอาไว้ได้ จนส่งผลให้มีบุคลากรในระดับผู้ปฏิบัติงานที่มีทักษะในการสอนเริ่มไม่เพียงพอ ซึ่งประเด็นนี้ อาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพการสอนได้ในอนาคต

และถึงแม้สถานศึกษาหลายแห่งได้พยายามแก้ไขปัญหานี้ ด้วยการฝึกอบรมเพิ่มทักษะให้กับเจ้าหน้าที่ในส่วนที่เหลือให้มากขึ้น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากร แต่การทำเช่นนั้น กลับกลายเป็นการสร้างแรงกดดันให้กับบุคลากรที่ต้องแบกรับภาระที่เพิ่มมากขึ้นแทน

นอกจากนี้ ผู้บริหารสถานศึกษาหลายแห่งในสหราชอาณาจักร ยังยอมรับกับ Ofsted ด้วยว่า มีความวิตกกังวลเกี่ยวกับความยั่งยืนในระยะยาวด้วย เนื่องจากจำนวนของเด็กนักเรียนที่มาหมุนเวียนเข้าไปแต่ละสถานศึกษานั้นยังไม่คงที่ จากปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังคงดำเนินอยู่ต่อไป.

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

...

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :