“คุณต้องการปุ่ม แก้ไข หรือไม่”
“ผลที่ตามมาจากการทำโพลนี้ถือว่ามีความสำคัญ ได้โปรดโหวตด้วยความระมัดระวัง”
การเผชิญหน้าแบบตรงไปตรงมาแต่ “สุภาพ” ระหว่าง CEO ทวิตเตอร์ (Twitter) “ปารัก อักราวัล” (Parag Agrawal) กับ ผู้ที่เพิ่งใช้เงินมากกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐไล่กว้านซื้อหุ้นแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ตัวเอง มีผู้ติดตามมากถึง 80 ล้านบัญชี คิดเป็นสัดส่วน 9.2% (สิ้นสุดวันที่ 4 เม.ย.62) อย่าง “อีลอน มัสก์” (Elon Musk)
นำมาซึ่งคำถามสำคัญที่ว่า หาก “เจ้าพ่อเทสลา” รุกคืบเข้าไปใน ทวิตเตอร์ มากกว่าเป็นที่อยู่ในปัจจุบัน ความสัมพันธ์ที่ไม่ราบรื่นอยู่แต่เดิมแล้ว ระหว่าง CEO คนใหม่ที่เพิ่งเข้าทำหน้าที่แทน แจ๊ค ดอร์ซีย์ (Jack Dorsey) กับ อีลอน มัสก์ ผู้ซึ่งเคยทวีตเสียดสี “ปารัก อักราวัล” ว่าเป็น “โจเชฟ สตาลิน” (Joseph Stalin) อดีตผู้นำสหภาพโซเวียต ส่วน “แจ๊ค ดอร์ซีย์” เพื่อนซี้ของเขานั้นเป็น “นิโคไล เยซอฟ” (Nikolai Yezhov) อดีตหัวหน้าตำรวจลับคนโปรดของโจเชฟ สตาลิน ที่ในเวลาต่อมาถูกกำจัดทิ้งในภายหลังนั้น
...
“อนาคตข้างหน้าของทวิตเตอร์มันจะมีหน้าตาเป็นอย่างไรกันนะ?”
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น ว่าแต่...จอมสารพัดโปรเจกต์ตั้งแต่ในโลกยันทะลุออกไปนอกอวกาศ พยายามเข้าไปมีบทบาทในแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ตัวเขาเอง เคยเป็นผู้ตั้งคำถามด้วยซ้ำไปว่า กำลังปฏิบัติตามหลักการเสรีภาพในการพูดซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบอบประชาธิปไตยหรือไม่นั้น....มีสาเหตุมาจากอะไรกันแน่?
1. เจ้าของทวิตเตอร์
กลยุทธ์การลงทุนระยะยาวแบบ Passive Investment ประกอบกับ “เงินไม่ใช่ปัญหา” ในฐานะบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในโลก ด้วยทรัพย์สินสุทธิรวม 273,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ของ อีลอน มัสก์ ทำให้นักวิเคราะห์บางส่วนมองว่า หรือ แรงความปรารถนาจากการทุ่มเงินในครั้งนี้ เป็นเพราะเขาต้องการเข้าไปมีส่วนร่วมในการบริหารทวิตเตอร์ โดยเฉพาะเมื่อทวิตเตอร์ กลายเป็นช่องทางสำคัญในการ “สื่อสารอะไรบางอย่าง” ที่มักมีผลต่อความร่ำรวยของเขาในระยะหลังๆ ยกตัวอย่างเช่น สกุลเงินดิจิทัล หรือ คริปโตเคอร์เรนซี รวมถึง ทวีตคาบลูกคาบดอกที่ใกล้เคียงเสียเหลือเกินกับการ “ปั่นหุ้น” การเข้าควบคุมทวิตเตอร์ ย่อมทำให้ ข้อจำกัดต่างๆ ที่เขาต้องการ “สื่อสารอะไรบางอย่าง” ไร้ขีดจำกัดอีกต่อไป
อย่างไรก็ดี การที่ในปัจจุบันสหรัฐอเมริกากำลังมีความพยายามหาทางควบคุมโซเชียลมีเดีย ด้วยการปฏิรูปมาตรา 230 ของพระราชบัญญัติความเหมาะสมในการสื่อสาร (Communications Decency Act) หรือ CDA ซึ่งมีบทบัญญัติยกเว้นให้บริษัทผู้ให้บริการอินเทอร์เน็ต (Internet Service Provider) หรือ ISP จากความรับผิดในโพสต์ที่อยู่บนแพลตฟอร์มของตัวเอง
ทำให้ นักวิเคราะห์อีกส่วนหนึ่งมองว่า หาก “สายล่อฟ้า” แบบ “อีลอน มัสก์” เข้าไปแสดงตัวอย่างโจ่งแจ้งมากเกินไปในฐานะ “เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย” บางที กระบวนการปฏิรูป มาตรา 230 ซึ่งจะเป็นการบีบให้แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียต้องเซนเซอร์ตัวเองให้มากขึ้นนั้น อาจถูกเร่งเร้าให้เร็วขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ก็เป็นได้
เพราะต้องไม่ลืมว่า เสรีภาพในการพูด ที่ “อีลอน มัสก์” พยายามอ้างถึงนี้ มันเคยเป็นการทวีตข้อความในทำนองที่กล่าวหาว่า นายกรัฐมนตรีจัสติน ทรูโด ของ แคนาดา ไม่ต่างกับ อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ ด้วยความไม่พอใจที่ผู้นำแคนาดาสั่งปราบปรามกลุ่มผู้ประท้วงสิงห์รถบรรทุก หรือ การกล่าวหาว่า นักสำรวจถ้ำใต้น้ำชาวอังกฤษที่เดินทางมาช่วย ทีมหมูป่าที่ติดในถ้ำหลวงขุนน้ำนางนอนในประเทศไทยว่า เป็น “เฒ่าหัวงู” จนกระทั่งถูกฟ้องร้องและนำไปสู่การขอโทษและยอมลบทวีตอื้อฉาวดังกล่าวทิ้งไปมาแล้ว ถึงแม้ว่า ณ เวลานั้น ทวิตเตอร์ จะไม่มีการดำเนินการใดๆ กับ ทวีตดังกล่าวก็ตาม
...
อ้อ...ต้องรวมถึง การทวีตสารพัดซีรีส์ที่เกี่ยวข้องกับบริษัท เทสลา (Tesla) จนกระทั่งถูกสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของสหรัฐฯ ฟ้องฐานให้ข้อมูลอันเป็นเท็จ จนทำให้มูลค่าหุ้นของเทสลาสูงเกินจริง ด้วยสิ!
ขณะเดียวกันฐานะนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งยังมองว่า การเป็น “เจ้าของแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดีย” อาจทำให้บรรดานักลงทุนและผู้ถือหุ้นใน Tesla และ SpaceX เกิดความกังวลได้หรือไม่ว่า อีลอน มัสก์ อาจจะสิ้นเปลืองเวลาไปเล่นสนุกกับของเล่นใหม่มากเกิน บางทีมันอาจทำให้ มูลค่าหุ้นของ Tesla และ SpaceX ลดลงได้อีกด้วย
2. สนับสนุน แจ๊ค ดอร์ซีย์
ความสัมพันธ์อันดีโดยเฉพาะการพูดจา “ภาษาคริปโตฯ” โดยเฉพาะการผลักดันให้ทวิตเตอร์เข้าสู่วงการสินทรัพย์ดิจิทัล ระหว่าง อีลอน มัสก์ และ แจ๊ค ดอร์ซีย์ ผู้ก่อตั้งและอดีต CEO ทวิตเตอร์ ซึ่งปัจจุบันยังมีชื่ออยู่ในคณะกรรมการบริษัท เป็นที่รับรู้กันอย่างเปิดเผย
...
อย่างไรก็ดี หลัง แจ๊ค ดอร์ซีย์ ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง CEO ท่ามกลางข่าวลือว่าแท้จริงแล้วเป็นการถูกกลุ่มทุน Elliott Management ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของทวิตเตอร์มาตั้งแต่ปี 2020 บีบให้ก้าวลงจากตำแหน่งมากกว่า เมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2021 ก่อนผลักดัน “ปารัก อักราวัล” เข้ามาแทนที่ สร้างความขุ่นเคืองใจอย่างยิ่งให้กับ “เจ้าพ่อเทสลา” จนกระทั่งได้ "ลั่นทวีต" ดังที่เล่าให้ฟังในบรรทัดแรกๆ
และแม้ว่าการ “ตะลุยคุกคาม” ของ อีลอน มัสก์ จะสามารถถูกหยุดยั้งได้ชั่วคราวจากการแต่งตั้งให้ “พ่อหนุ่มไอรอนแมน” ดำรงตำแหน่งเป็นคณะกรรมการบริษัทประเภทที่สอง ซึ่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 2 ปี (สิ้นสุดปี 2024) นั้น จะพอเป็นหลักประกันได้ว่า จะทำให้เขาไม่สามารถเข้าซื้อหุ้นของทวิตเตอร์ได้เกินกว่าสัดส่วน 14.9% ตราบเท่าที่ยังอยู่ในวาระ รวมถึงอีก 90 วันนับจากพ้นจากตำแหน่งก็ตาม
หากแต่การที่บรรดานักลงทุนให้การ “ตอบรับ” การรุกคืบเข้าทวิตเตอร์ ของ อีลอน มัสก์ จนกระทั่งดันราคาหุ้นของทวิตเตอร์ พุ่งทะยานขึ้นไปแล้วมากกว่า 27% (สิ้นสุดวันที่ 4 เม.ย.2022) ซึ่งค่อนข้างแตกต่างจากความคาดหวังของนักลงทุนที่มีต่อ “ผลงานเปิดตัว” ของ “ปารัก อักราวัล” อยู่พอสมควร
โดยรายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ประจำปี 2021 ของทวิตเตอร์ ซึ่งได้มีการประกาศออกมาเมื่อวันที่ 10 ก.พ.2022 ระบุว่า บริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 1,570 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 1,580 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
...
ในขณะที่ ตัวเลขผู้ใช้งานแบบประจำทุกวันที่สร้างรายได้ (Monetizable Daily Active Users) หรือ mDAUs ซึ่งจะนับเฉพาะผู้ล็อกอินทวิตเตอร์ผ่านเว็บหรือแอปพลิเคชันทางการที่ทวิตเตอร์สามารถแสดงผลโฆษณาได้ ที่ทวิตเตอร์นำมาใช้แทน จำนวนผู้ใช้งานแบบเป็นประจำทุกเดือน (Monthly Active Users) หรือ MAUs นั้น อยู่ที่ 217 ล้านยูสเซอร์ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 218 ล้านยูสเซอร์
และผลกำไรต่อหุ้นอยู่ที่ 33 เซนต์ ซึ่งต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ที่ 35 เซนต์ อันเป็นผลมาจากรายได้ค่าโฆษณาที่ลดต่ำลง โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการอัปเดต iOS ของ Apple เช่นเดียวกับ แพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียอื่นๆ
นั่นจึงนำไปสู่คำถามสำคัญที่ว่า “แรงกดดัน” ในฐานะหนึ่งในผู้ถือหุ้นรายใหญ่ เมื่อผนวกเข้ากับ สายสัมพันธ์อันดีกับ แจ๊ก ดอร์ซีย์ และความมีเสน่ห์อันน่าหลงใหลสำหรับนักลงทุนอยู่เสมอๆ ของ อีลอน มัสก์ นั้น จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงการบริหารภายในของทวิตเตอร์ได้หรือไม่ โดยเฉพาะหากการพิชิต “เป้าหมาย” การเพิ่มจำนวน mDAUs ให้ได้ 315 ล้านยูสเซอร์ ภายในปี 2023 ของ “ปารัก อักราวัล” ไม่ประสบความสำเร็จ
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :