การเดินขึ้นไปตบ “คริส ร็อก” ที่กำลังทำหน้าที่พิธีกรบนเวทีงานประกาศรางวัลอันศักดิ์สิทธิ์ รางวัล อคาเดมี อวอร์ด หรือออสการ์ ของ “วิลล์ สมิธ” (Will Smith) ถือเป็นการกระทำสะท้านโลก เกิดเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ทั้งสนับสนุน และต่อต้าน โดยมีปมปัญหามาจาก “คริส ร็อก” เอาอาการป่วย “เจดา พิงคิตต์ สมิธ” (Jada Pinkett Smith) ภรรยาสุดที่รักของเขา มาพูดล้อเล่น เป็นเรื่องตลก มิหนำซ้ำ คนภายในงานวันนั้นก็หัวเราะกับมุกตลกของเขาเสียด้วย ทำให้ วิลล์ สมิธ ทนไม่ไหวและแสดงออกด้วยการตอบโต้อย่างรุนแรง ถึงแม้ในเวลาต่อมา เขาจะกล่าวคำเสียใจกับสิ่งที่ทำลงไป

การใช้ถ้อยคำล้อเลียน รูปร่างหน้าตา ร่างกาย หรือ แม้แต่คนที่กำลังเจ็บป่วย ถือเป็นเรื่องที่อยู่คู่กับ “มนุษยชาติ” ที่ถูกฝังรากมาอย่างยาวนาน แม้ในประเทศที่เจริญแล้ว อย่างสหรัฐฯ ก็ยังพบเห็นอยู่บ่อยครั้ง และบางครั้งก็ลงเอยด้วย โศกนาฏกรรม

เพื่อสร้างความเข้าใจให้แก่ผู้คน และเปลี่ยนทัศนคติแย่ๆ ในด้านนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ ดร.นพ.วรตม์ โชติพิทยสุนนท์ โฆษกกรมสุขภาพจิต ที่ให้ความรู้และแนวทางในการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น โดยยกเคส “วิลล์ สมิธ” เป็นกรณีศึกษา

...

ทางเลือกของ “วิลล์ สมิธ” บนเวทีออสการ์ ไม่จำเป็นต้องตอบโต้ความรุนแรง ด้วยความรุนแรง

สิ่งที่ปรากฏเห็นไปทั่วโลก วันนั้น วิลล์ สมิธ โกรธจัด ที่ถูกพิธีกรพูดล้อเลียนเรื่องเส้นผมภรรยาของเขา และตอบโต้ความรุนแรง ด้วยความรุนแรง ในมุมมองของจิตแพทย์ พระเอกดัง ฮอลลีวูด ยังมีทางเลือกอีกหลายทาง

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า ภายในงานประกาศรางวัล “ออสการ์” พิธีกรเขาเอาเรื่องนี้มาเล่นเป็นมุกตลก แม้มุกจะไม่ได้เจาะจงมาก แต่ก็ใช้คำพูด ล้อเลียน เปรียบเทียบ ให้เป็นเรื่องตลก และผู้คนในวันนั้นก็ต่างขำขันกับเรื่องนี้ แต่จังหวะนั้นเอง ส่วนตัวผมก็รู้สึกว่านี่ “ล้ำเส้นเกินไปหรือเปล่า” แล้วก็เกิดเหตุการณ์ช็อกทั่วโลกจริงๆ

วันนั้น ภรรยาเขาถูกรังแก ถูกกระทำด้วยความรุนแรงทางวาจาด้วยการบูลลี่ วิลล์ สมิธ เลือกที่จะเดินขึ้นไปตอบโต้ ความรุนแรงเป็นเรื่องที่ยอมรับไม่ได้ แต่...การตอบโต้ด้วยความรุนแรง ก็ย่อมยอมรับไม่ได้เช่นเดียวกัน (ในความเห็นส่วนตัว) ไฉนเลย คนอื่นจะมายอมรับความรุนแรงของเขาได้

หากเราดูข่าวบ่อยๆ จะเห็น กรณี เด็กที่โดนบูลลี่ เลือกที่จะใช้ปืนไปกราดยิง สาเหตุที่เป็นแบบนั้น เพราะคนไม่เชื่อว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้น จะได้รับการลงโทษ หรือ โต้ตอบอย่างเหมาะสม บางเคส ครูกลับบอกว่าอย่าไปยุ่งกับเขาสิ จะได้ไม่โดนบูลลี่ กลายเป็นว่าคนที่ถูกกระทำเป็นฝ่ายผิด

“ระบบกฎเกณฑ์ หรือ ผู้บังคับใช้กฎหมาย ไม่ได้เอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ ผลที่ออกมา คือ คนที่ถูกกระทำ จึงตั้งตัวเป็น “ศาลเตี้ย” ด้วยการลุกขึ้นไปตบ ซึ่ง ณ เวลานั้น จิตแพทย์หลายคนคิดเหมือนกันว่า มีวิธีจัดการกับเรื่องนี้ เช่น ลุกเดินออกจากห้อง และตะโกนบอกทุกคนว่า “ผมรับไม่ได้กับเรื่องนี้...เรื่องนี้ไม่ควรถูกบูลลี่” นี่คือ การตอบโต้ที่ถูกต้อง

โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวต่อว่า หรือถ้ามี ไมค์ ก็ควรหยิบไมค์มาพูด “ไม่ควรเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องตลก ขออุทิศตัวเป็นคนต่อต้านความรุนแรงจากคำพูด ไม่มีใครที่จะสมควรถูกหัวเราะเยาะจากอาการป่วยของภรรยา หรือความแตกต่างทางร่างกาย”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เกิดขึ้น หลายคนก็เข้าใจ เพราะคนเราเวลาโกรธมากๆ ยั้งตัวเองไม่อยู่ เพราะรู้สึกว่า ทุกคนอาจจะเห็นด้วย เพราะได้ยินเสียงหัวเราะ มันจึงจบลงด้วยภาพความรุนแรง แต่...การตอบโต้ความรุนแรง ด้วยความรุนแรง มีราคาที่ต้องจ่าย จากคนหนึ่งที่เป็นเหยื่อ กลายเป็นว่า มีเหยื่อจากความรุนแรงทั้ง 2 ฝ่าย

BODY SHAMING ปัญหาที่ฝังรากลึก สังคมไทย อาการหนักกว่า อเมริกัน!

สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้น บนเวที ออสการ์ คือการ BODY SHAMING ซึ่ง คุณหมอวรตม์ ได้อธิบายว่า BODY SHAMING การพูด “เหยียดหยาม” หรือ “ล้อเลียน” รูปร่างหน้าตา ร่างกาย ปัจจุบันนี้ถือว่าสถานการณ์ดีขึ้นมากแล้ว

เมื่อถามว่าเปรียบเทียบว่าสังคมไทย กับ อเมริกัน ประเทศไหน เลวร้ายกว่า คำตอบก็คือ “ประเทศไทย”

...

โฆษกกรมสุขภาพจิต ให้เหตุผลที่ประเทศไทย สถานการณ์แย่กว่า เพราะแค่สังเกตจากคำทักทายที่เรายังใช้กันอยู่ทุกวันนี้ เช่น ไปทำอะไรมา ทำไม... (ลองคิดกันดูนะครับว่าชีวิตเราเจออะไรกันบ้าง) ซึ่งในต่างประเทศไม่มีแล้วนะ มั่นใจว่า กลับบ้านสงกรานต์นี้ หลายคนจะโดนทักทายกับคำพูดในลักษณะ BODY SHAMING นี้แน่นอน สาเหตุที่ยังเป็นแบบนี้อยู่เพราะ การบูลลี่ ลักษณะ BODY SHAMING ถูกฝังมากับค่านิยม วัฒนธรรม บรรทัดฐานของสังคม ในขณะที่สังคมอเมริกัน คำพูดเชิงบูลลี่ รูปร่างหน้าตาแบบนี้ ก็ยังมีอยู่ โดยเฉพาะ ประเด็นความแตกต่างระหว่างบุคคล เช่น เหยียดคนผิวสี ผิวเหลือง

“กลับมาประเทศไทย เราเคยเห็นตลกคาเฟ่ มักจะหยิบประเด็นรูปลักษณ์มาเล่นตลกมากมาย บางคนใช้รูปร่างหน้าตา อาการป่วย ก็ยังเอามาเล่น ดังนั้น ผมเชื่อว่า ประเทศไทยยังมีปัญหาเหล่านี้อยู่เยอะ”

ความเข้าใจผิดของ BODY SHAMING

เกี่ยวหรือไม่ ที่ตัวนักแสดงตลกเหล่านี้ ก็หยิบปมปัญหาของตนเอง มาเล่นให้คนขำ โฆษกกรมสุขภาพจิต ถือโอกาสอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ BODY SHAMING ว่า การล้อเลียนเรื่องรูปลักษณ์นั้น เรามักเข้าใจว่า เป็นการที่เราไปทำกับคนอื่น แต่หากพิจารณานิยาม หมายถึง การกระทำกับตัวเองด้วย หลายคนดูถูก เหยียดหยาม ตัวเอง เอามาเป็นเรื่องตลก คนอื่นจึงเข้าใจผิดว่า “เป็นเรื่องปกติและยอมรับได้” หรือ จะไปทักทายคนอื่น ด้วยคำที่บ่งบอกถึงรูปร่างหน้าตา และรูปลักษณ์ ก็ไม่มีใครว่า ก็เลยมองว่าเป็นบรรทัดฐานของสังคม ยิ่งคนๆ นั้นทำหน้าที่พิธีกรด้วย ไปทำกับหลายคน แล้วไม่มีใครว่า ก็คิดว่าทำได้ แต่บางครั้งไปทำกับโอกาสที่ไม่เหมาะสม “คนอื่นไม่ตลกด้วย”

...

“คนที่เอาเรื่องรูปร่างหน้าตามาเล่นตลก และคนที่ยังขำกับมุกตลก แบบนี้ ถือว่าเป็นคนที่ขาดความรู้ความเข้าใจถึงความแตกต่าง หากเราเข้าใจความแตกต่าง เราจะไม่ขำเรื่องนี้ โดยเฉพาะเด็กหรือคนป่วย “ดาวน์ซินโดรม” มาเล่น ในฐานะจิตแพทย์ ผมไม่ขำเรื่องนี้เลย รู้สึกว่าไม่ใช่เรื่องตลก หรือเอา คนแอฟริกัน มาเล่นตลก แบบนี้ถือว่าเป็นการกระทำที่เกิดจากความไม่เข้าใจ ซึ่งปัจจุบันโลกโซเชียลมีเดียมันเปิดกว้าง ทำให้เราสามารถเห็นความแตกต่างได้อยู่แล้ว”

ผลพวง เด็กโดน บูลลี่ BODY SHAMING

ดร.นพ.วรตม์ กล่าวถึง เด็กที่ถูกบูลลี่ ว่า ช่วงแรก เด็กอาจจะไม่รู้สึกอะไร บางทีพ่อแม่เรียกด้วยความรัก เช่น อ้วน เตี้ย แต่พอเริ่มโต เด็กหลายคนจะเกิดความรู้สึกไม่มั่นใจ ในอัตลักษณ์ตัวเอง ทำให้รู้สึกเป็นปมด้อย ซึ่งเราต้องอธิบายให้เขาเข้าใจว่าความแตกต่างไม่ใช่ปมด้อย การบูลลี่ในโรงเรียน เราเห็นกันบ่อยมาก พอเหตุการณ์เกิดขึ้น...กลับไม่มีใครมาช่วยจัดการ แสดงว่า สิ่งที่ทำกันอยู่นั้น “ทำได้” จากผู้ถูกกระทำ ไปทำคนอื่น เหยื่อรายใหม่จะเกิดขึ้น หากโรงเรียนนั้น เป็นโรงเรียนที่มีการล้อเลียนกันหมด ก็จะกลายเป็นโรงเรียนที่มีสภาพแวดล้อมเลวร้าย

“เด็กที่ถูกกระทำบ่อยๆ นอกจากขาดความมั่นใจแล้ว มันอาจถูกพัฒนาเป็นโรคทางจิตเวช โรควิตกกังวล กว่าจะออกจากบ้านต้องเช็กแล้วเช็กอีก หรือ ถูกแซวว่าเดินหลังค่อม ก็ไม่กล้าไป บางคนเศร้า ถูกญาติล้อเลียน หรือ เพื่อนในโรงเรียนล้อเลียน อาจกลายเป็นโรคซึมเศร้า บางคนหนักมาก คิดว่าตัวเองเลือกเกิดไม่ได้ ทำร้ายตัวเอง จนเสียชีวิตก็มี”

เมื่อถามว่า กรณีคนป่วยอยู่แล้ว มาเจอล้อเลียนอีก มันจะรุนแรงขึ้น หรือไม่ ดร.นพ.วรตม์ กล่าวว่า เขาเครียดอยู่แล้ว มาเจออีก จะรู้สึกว่าเขาไม่เข้าใจ เจอคนไม่เข้าใจ และไว้ใจไม่ได้ จะนำพาไปสู่ความคิดที่ว่า “โลกนี้ไม่มีความหวัง”

...

“ดาราบางคน โดนล้อเลียนถึงปัญหาที่กำลังรักษาสุขภาพจิต เรื่องแบบนี้ยิ่งหนักหน่วงเลย เพราะเขาป่วยจากโรคทางสมองชนิดหนึ่ง ซึ่งไม่น่าจะมีประเด็นมาล้อเลียนเลย โดนครั้งแรกอาจไม่เป็นไร แต่โดนซ้ำๆ เขาจะรู้สึกว่า สิ่งที่ฉันเป็นมันแย่มากเลยหรือ ทำให้หลายคนเลือก “ไม่เข้าสู่กระบวนการรักษา” เพราะไม่อยากป่วย ฉันไม่อยากไป ศรีธัญญา เพราะกลัวจะถูกตีตรา ว่าเป็นคนไข้จิตเวช

เตือน April Fool's Day จะเล่นอะไรต้องระมัดระวัง

สิ่งที่ต้องระวัง และใกล้จะถึงนี้คือ วัน April Fool's Day “วันโกหกของโลก” การที่เราจะไปโกหกคนอื่น เราจะรู้ได้อย่างไร ว่า คนที่เราจะไปเล่นกับเขา เขาจะตลกกับเราหรือเปล่า เราเอาตัวเองเป็นหลัก วันนี้ฉันอารมณ์ดี อยากตลกใส่คนอื่น แต่เราเองก็ไม่รู้ว่า คนข้างหน้าเรา ที่เขายิ้มอยู่ เขามีปัญหาอะไรหรือเปล่า เขาอาจจะไม่พร้อมที่จะมาตลกกับคุณ ถ้าเราไปทำอะไร เขาอาจจะระเบิดใส่เราก็ได้

“ที่ผ่านมา ผมมีคนไข้ที่ป่วยโรคแบบนี้ และเลือกที่จะโกนศีรษะ ก็โดนบูลลี่ อยู่ดี สิ่งที่ต้องทำคือ การรับฟังเขา แม้เราไม่ได้มีหน้าที่สอนคนอื่น เพราะเราไม่สามารถสอนทุกคนบนโลกให้เข้าใจได้ ฉะนั้น สิ่งที่หวังคือ เราต้องการให้คนบนโลก เป็นแสนๆ ล้านๆ คนช่วยสอน ต้องสอนให้คนในโลกเข้าใจความแตกต่าง บอกไปเลย มาทักเราแบบนี้ทำให้ฉันรู้สึกเจ็บใจ ฉันไม่สบายใจ เรื่องนี้จำเป็นต้องใช้เวลาอธิบาย สำหรับคนที่พร้อมรับฟัง มันก็เป็นประโยชน์ หากเรามีโอกาสสอนคนอื่นได้ เช่น ลูกหลาน ควรสอนเขา เพราะหากเขาไปทำกับคนอื่น เขาอาจจะถูกตอบโต้รุนแรงได้”

แผลใจวัยเด็ก เจ็บแค้นจนตอนโต เยียวยาอย่างไร โฆษกกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า เราไม่สามารถแก้ไขอดีตได้ แม้มันจะเกิดขึ้นนานมาแล้ว และยังเก็บความโกรธไว้อยู่ อยากจะบอกว่า เก็บความโกรธไว้ไม่มีประโยชน์ แถมยังลากความรู้สึกมาทำให้เรารู้สึกแย่ และหากเราไม่ได้เจอเพื่อนคนนี้ที่เคยล้อเราแล้ว เราก็คิดว่า “ควรให้อภัยกับมัน เพราะมันไม่รู้ ให้อภัยในการไม่รู้” และเตือนตัวเองว่าอย่าทำ และหากมีโอกาสที่จะช่วยคนอื่น อย่าลังเลที่จะช่วย เหตุการณ์วันออสการ์ ถ้ามีตัวละครที่ 3 ลุกขึ้นมา บอกว่า “สิ่งที่ควรทำไม่ถูก...นี่ คือ พระเอกของงานเลย” ฉะนั้น หากในอดีตคุณเคยเจ็บช้ำน้ำใจมาแล้ว หากในอนาคตคุณสามารถปกป้องเขาได้ อย่าลืมไปปกป้องเขา

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

กราฟิก : sathit chuephanngam

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ