รู้หรือไม่ : งานวิจัย “การเสียชีวิตในกลุ่มเด็กและกลุ่มคนหนุ่มสาวในประเทศอังกฤษหลังการติดเชื้อ SARS-CoV-2 ในช่วงปีแรกของการแพร่ระบาดใหญ่” ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Nature Medicine เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2021 ซึ่งเป็นการศึกษาร่วมกันของมหาวิทยาลัยหลายแห่งในประเทศอังกฤษ ระหว่างเดือนมีนาคม 2020 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2021 พบว่า....

จากการทดสอบทางคลินิกเพื่อแยกความแตกต่างระหว่างการเสียชีวิตจากการติดเชื้อ SARS-CoV-2 และสาเหตุอื่นๆ ในกลุ่มเด็กและเยาวชน (อายุต่ำกว่า 18 ปี) จำนวน 3,105 คน ที่เสียชีวิตจากทุกสาเหตุระหว่างเดือนมีนาคม 2020 ถึง เดือนกุมภาพันธ์ 2021 หรือ ช่วงปีแรกของการแพร่ระบาดใหญ่ในประเทศอังกฤษ (เนื่องจากกลุ่มเด็กและเยาวชนมักจะไม่แสดงอาการป่วยหลังการติดเชื้อโควิด-19) นั้น มีเพียง 25 ศพเท่านั้น ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 และจำนวนผู้เสียชีวิตดังกล่าวยังสัมพันธ์กับอัตราการเสียชีวิตจากโควิด-19 ในกลุ่มเด็กของประเทศอังกฤษ ซึ่งอยู่ที่สัดส่วน 2 ต่อ 1,000,000 คนอีกด้วย

นอกจากนี้ ในจำนวนเด็กที่เสียชีวิต 25 ศพ นั้น ส่วนใหญ่ เป็นโรคประจำตัวเรื้อรัง หรือมีภาวะโรคเรื้อรังร่วมหลายโรค รวมถึงมีอาการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงหรือโรคที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ และมีเพียง 6 ศพ เท่านั้นที่ดูเหมือนจะไม่มีโรคประจำตัว และนักวิจัยเตือนว่า อาจมีโรคร่วมที่ยังไม่สามารถระบุได้ หรือมีความบกพร่องทางพันธุกรรมที่อาจยังไม่ได้รับการวินิจฉัย

และหากใครยังไม่ทราบในปีเดียวกับที่มีการทำวิจัยดังกล่าวนี้ มีเด็กและเยาวชนในอังกฤษติดเชื้อโควิด-19 ประมาณ 469,982 คน นั่นจึงเท่ากับว่า เด็กและเยาวชนในอังกฤษที่ติดเชื้อโควิด-19 ณ ช่วงเวลาดังกล่าว มีโอกาสรอดชีวิตสูงถึง 99.995%

...

รายงานวิจัยนี้ น่าจะตรงกับสิ่งที่อยู่ในใจใครหลายๆ คน นั่นก็คือ “เพราะเหตุใดเด็กๆ ที่ติดเชื้อโควิด-19 ส่วนใหญ่จึงมักไม่แสดงอาการเจ็บป่วยรวมไปถึงมีโอกาสรอดชีวิตสูงมาก” และอะไรคือ “สาเหตุ” ของความ “แตกต่าง” ระหว่างการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มเด็กและกลุ่มผู้ใหญ่กันแน่?

ข้อควรรู้ :

1. วิธีเข้าเซลล์ผู้ถูกอาศัยของโคโรนาไวรัสและการเพิ่มจำนวนไวรัส :

ไวรัสทุกชนิดเป็นปรสิตในเซลล์ ไวรัสจะแพร่พันธุ์ได้ก็ต่อเมื่ออาศัยเซลล์ผู้ถูกอาศัยช่วยสร้างไวรัสตัวใหม่ โคโรนาไวรัสสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) ก็เช่นกัน

เชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (SARS-CoV-2) จะใช้โปรตีนตรงส่วนหนาม (Spike Protein) ซึ่งมีรูปร่างเฉพาะเจาะจง เกาะบนโปรตีน ACE2 บนผิวเซลล์มนุษย์ และนำไปสู่กระบวนการปลดปล่อยสารพันธุกรรมเข้าสู่เซลล์ และเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมและประกอบเป็นอนุภาคไวรัสใหม่ต่อไป

2. กลุ่มผู้ใหญ่ ย่อมมีความเสี่ยงจากการติดเชื้อโควิด-19 มากกว่า

จากข้อมูลที่มีในปัจจุบัน เห็นได้ชัดว่า การติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มผู้ใหญ่จะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุ เนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันจะตอบสนองช้าลงและมีประสิทธิภาพน้อยลงในการต่อสู้กับการติดเชื้อ และความเสี่ยงที่ว่านี้จะยิ่งเพิ่มขึ้น สำหรับผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 50 ปี ขึ้นไป และยิ่งเพิ่มมากขึ้นไปอีกสำหรับกลุ่มอายุตั้งแต่ 60, 70 และ 80 ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีโรคร่วม

อย่างไรก็ดี...รายงานวิจัยของ สถาบัน Wellcome Sanger และ University College London ซึ่งถูกตีพิมพ์ในวารสารทางการแพทย์ Nature Medicine เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2021
พบว่า...

จากการตรวจสอบบริเวณผิวเยื่อบุในคอกลุ่มผู้ใหญ่ พบว่า มี โปรตีน ACE2 จำนวนมาก และอาจเป็นผลทำให้ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ สามารถจับกับ โปรตีน ACE2 จนกระทั่งเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายกว่า

ในขณะที่กลุ่มเด็กพบ โปรตีน ACE2 ที่ต่ำกว่าในบริเวณทางเดินหายใจส่วนบนและส่วนล่าง ซึ่งความแตกต่างนี้อาจทำให้ช่วยลดความรุนแรงของโรคในเด็กได้ อย่างไรก็ดีการศึกษาล่าสุดนี้ ยังไม่พบความสัมพันธ์ของการติดเชื้อกับอายุได้อย่างแน่ชัด

นอกจากนี้ การตอบสนองภูมิคุ้มกันโดยธรรมชาติในทางเดินหายใจของกลุ่มเด็ก จะมีลักษณะเฉพาะโดยการใช้ Interferons (IFNs) สารที่สร้างและหลั่งโดยเซลล์ในระบบภูมิคุ้มกันอย่างรวดเร็วจนกระทั่งหยุดยั้งการเพิ่มจำนวนของไวรัสในช่วงต้นได้ดี เมื่อเปรียบเทียบกับ กลุ่มผู้ใหญ่ ที่ระบบภูมิคุ้มกันตอบสนองได้น้อยกว่า ซึ่งนั่นแปลว่า ไวรัสสามารถบุกรุกเข้าสู่ส่วนอื่นๆ ของร่างกายได้ง่ายกว่า อีกทั้งการติดเชื้อยังควบคุมได้ยากกว่าด้วย

...

อย่างไรก็ดี การตอบสนองทางระบบภูมิคุ้มกันอย่างรวดเร็วนี้ ทำให้มีนักวิชาการส่วนหนึ่งเชื่อว่า อาจจะสอดคล้องกับอาการ Multisystem Inflammatory Syndrome in Children (มิสซี MIS-C) หรือกลุ่มอาการอักเสบในอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย (โดยมากพบที่หัวใจ ระบบไหลเวียนโลหิตและระบบทางเดินอาหาร) ซึ่งพบในกลุ่มเด็กมากกว่าผู้ใหญ่ อันเป็นผลมาจากระบบภูมิคุ้มกันที่สูงขึ้นผิดปกตินั่นเอง

และสำหรับอาการของโรค MIS-C ที่พบในกลุ่มเด็กหลังการติดโรคโควิด-19 และควรต้องเฝ้าระวัง คือ 1. มีไข้สูงเกิน 38 องศาเซลเซียสนานเกิน 24 ชั่วโมง 2. ตาแดง 3. ริมฝีปากแห้ง แดง ลิ้นแดงเป็นตุ่ม 4. ผื่นขึ้นตามตัว 5. มีอาการช็อก ความดันต่ำ 6. ปวดท้อง อาเจียน ท้องเสีย 7. หายใจหอบ 8. ปวดศีรษะ ซึม โดยอาการทั้งหมดนี้ หากพบในกลุ่มเด็กที่เพิ่งหายจากโรคโควิด-19 ควรรีบนำตัวไปพบแพทย์โดยเร็วที่สุด

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :

...