การผ่าชันสูตรศพครั้งที่ 2 เท่ากับเป็นการตรวจทานการผ่าชันสูตรครั้งแรกว่า ได้ลงมีดตรวจพิสูจน์ไปตามที่เขียนรายงานจริงหรือไม่?... และอาจจะเป็นเพราะเหตุนี้ จึงทำให้มี..."บางคนกลัวมากที่สุด"

และคำถามที่มักพบบ่อยในกรณีที่อยากให้มีการผ่าชันสูตรศพครั้งที่ 2 คือ...“คุณมาตรวจสอบฉัน แปลว่า คุณไม่เชื่อใจฉันใช่หรือไม่?”

แต่คำถามนี้ก็ถือเป็นเรื่องที่น่าแปลกใจอยู่ไม่ใช่น้อย นั่นเป็นเพราะ คนไข้ที่ไปตรวจกับหมอแล้วเกิดเห็นไม่ตรงกับคำวินิจฉัยของหมอ ยังมีสิทธิที่จะไปขอผลการวินิจฉัยครั้งที่ 2 กับหมออีกคนได้มิใช่หรือ?

แล้วเพราะเหตุใด “ศพ” ที่ไม่มีโอกาสจะพูดได้อีกต่อไปแล้ว จึงไม่มีสิทธิที่จะเรียกร้องหาผลการวินิจฉัยครั้งที่ 2 ให้กับตัวเองได้บ้างกันล่ะ ในเมื่อ...ทั้งการตรวจวินิจฉัยโรคและการผ่าพิสูจน์ศพ ก็ใช้หลักการทางการแพทย์เหมือนๆ กัน!

แล้วอะไรคือต้นตอของปัญหาที่ทำให้ "ศพ" และ "ญาติ" สูญเสีย "สิทธิอันพึงมี" ไป

...

พระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 :

มาตรา ๕ (๔) ให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ในกรณีที่เป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาญา ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ตรวจซ้ำได้ ต่อเมื่อไม่ได้อยู่ในระหว่างการตรวจพิสูจน์ของหน่วยงานอื่นที่ให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ และต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการ เพื่อประโยชน์ในการอํานวยความยุติธรรม

หากท่านใดอ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว “เรา” อยากให้ “คุณ” เงยหน้าแล้วค่อยๆ กลับขึ้นไปอ่านทบทวน มาตรา ๕ (๔) เมื่อสักครู่นี้อีกสักครั้ง แล้วพินิจพิเคราะห์อีกครั้งว่า ตัวหนังสือเหล่านั้นมีอะไรที่ “เรา” น่าจะมาสังเคราะห์ร่วมกันดูบ้าง?

เมื่อลองอ่านอีกครั้ง “คุณ” เห็นเหมือนที่ “เรา” เห็นถ้อยคำเหล่านี้หรือไม่?

Keyword : 1. คดีอาญา 2. การขอผ่าซ้ำต้องผ่านความเห็นชอบของคณะกรรมการ

ความเป็นมาของ พระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 :

กฎหมายฉบับนี้ถูกร่างขึ้นในสมัย พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เพื่อยกระดับสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ที่ในเวลานั้นอยู่ในฐานะเป็นเพียงสถาบันระดับกรม และอาศัยอำนาจตามกฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2545 (ในการจัดตั้งหน่วยงาน) ปฏิบัติงานด้านนิติวิทยาศาสตร์ มีอำนาจตามพระราชบัญญัติ 

โดยในร่างเดิมนั้น มาตรา ๕ (๔) บัญญัติไว้เพียงว่า...ให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ

แต่ในชั้นการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยเฉพาะในวาระที่ 2 และวาระที่ 3 เมื่อปี 2559 ได้เกิดการโต้เถียงในสภาอย่างเผ็ดร้อน จนกระทั่ง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (ณ ขณะนั้น) ต้องสั่งเลื่อนการพิจารณาออกไป

โดยหลังที่ประชุม สนช. และคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างพ.ร.บ.ฯ ที่มี พล.ต.ท.บุญเรือง ผลพาณิชย์ สมาชิก สนช. เป็นประธาน ไม่สามารถหาข้อสรุปในเรื่องการให้บริการด้านวิทยาศาสตร์ของสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรมได้

เนื่องจาก พญ.คุณหญิงพรทิพย์ โรจนสุนันท์ กรรมาธิการวิสามัญเสียงข้างน้อย ตั้งข้อสังเกตว่า การที่คณะกรรมาธิการเสียงส่วนใหญ่ได้แก้ไข มาตรา ๕ (๔) จากเดิมที่ว่า...

ให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอเป็น...

ให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่ผู้มีส่วนได้เสียร้องขอ ในกรณีที่เป็นการพิสูจน์ข้อเท็จจริงในคดีอาญา ผู้มีส่วนได้เสียจะร้องขอให้ตรวจซ้ำได้ ต่อเมื่อไม่ได้อยู่ในระหว่าง การตรวจพิสูจน์ของหน่วยงานอื่นที่ให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ และต้องเป็นไปตามมติของคณะกรรมการ เพื่อประโยชน์ในการอํานวยความยุติธรรม

แปลว่า...ต่อไปนี้ ถ้าประชาชนเดินมาร้องขอให้สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ผ่าชันสูตรศพครั้งที่ 2 จะไม่สามารถกระทำได้ เว้นแต่จะได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการที่ตั้งขึ้นมาใช่หรือไม่?

ตัดภาพมาในปี 2565 ในคดีของนักแสดงสาวชื่อดัง น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม พลัดตกจากเรือจนจมน้ำเสียชีวิตกลางแม่น้ำเจ้าพระยา คงเป็นเครื่องพิสูจน์ให้เห็นได้อย่างชัดเจนแล้วว่า การผ่าชันสูตรศพซ้ำโดยสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ต้องผ่านความเห็นชอบของ “คณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์” ก่อนจริง!

...

แล้ว “คณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์” ตาม พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 ประกอบด้วยใครกันบ้าง :

ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, ผู้บัญชาการสำนักงานพิสูจน์หลักฐานตำรวจ, อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์, เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม, เลขาธิการคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ, นายกแพทยสภา, ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมแต่งตั้งจำนวนไม่เกิน 5 คน

ทั้งๆ ที่แต่เดิม คณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ ประกอบด้วย ปลัดกระทรวงยุติธรรม, ผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ และผู้ทรงคุณวุฒิ และยังมีหน้าที่กำกับการทำงานของกรมสถาบันเท่านั้นอีกด้วย!

และข้อสังเกตที่น่าสนใจสำหรับประเด็นนี้ คือ..."บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ซึ่งในบทเฉพาะกาลได้ระบุเอาไว้ว่า ให้มีหน่วยงานที่เป็นอิสระด้านนิติวิทยาศาสตร์อย่างน้อย 2 หน่วยงานที่เป็นอิสระต่อกัน" 

...

โดย หมวด 16 การปฏิรูปประเทศ มาตรา 258 ให้ดำเนินการปฏิรูปประเทศอย่างน้อยในด้านต่างๆ ให้เกิดผล ดังต่อไปนี้ ง. ด้านกระบวนการยุติธรรม (2) ปรับปรุงระบบการสอบสวนคดีอาญาให้มีการตรวจสอบและถ่วงดุลระหว่างพนักงานสอบสวนกับพนักงานอัยการอย่างเหมาะสม

กำหนดระยะเวลาในการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ชัดเจนเพื่อมิให้คดีขาดอายุความ และสร้างความเชื่อมั่นในการปฏิบัติหน้าที่ของพนักงานสอบสวนและพนักงานอัยการในการสอบสวนคดีอาญา รวมทั้งกำหนดให้การสอบสวนต้องใช้ประโยชน์จากนิติวิทยาศาสตร์ และจัดให้มีบริการทางด้านนิติวิทยาศาสตร์มากกว่าหนึ่งหน่วยงานที่มีอิสระจากกันเพื่อให้ประชาชนได้รับบริการในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างมีทางเลือก

แต่คำถามคือ?...

การที่มีเจ้าหน้าที่ตำรวจ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในคณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นผู้ชี้ขาดว่า จะอนุญาตให้มีการชันสูตรศพซ้ำได้หรือไม่นั้น นับได้ว่า สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ ยังเป็นหน่วยงานที่เป็นอิสระลำดับที่ 2 ตามรัฐธรรมนูญ อยู่หรือไม่?

...

แล้วถ้าหาก...เข้าข่ายขัดต่อรัฐธรรมนูญ คำถามคือ ควรมีการแก้ไขหรือไม่?

นอกจากนี้ “คำถามสำคัญ” อีกข้อสำหรับ มาตรา ๕ (๔) ของ พระราชบัญญัติการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 คือ เหตุใดประชาชนคนทั่วไปอย่างเราๆ ท่านๆ หากต้องการร้องขอความเป็นธรรมให้กับ “ผู้ตาย” ไม่ว่าจะเป็นคดีอาญา หรือไม่ใช่คดีอาญา เพื่อร้องขอให้มีการผ่าชันสูตรซ้ำ มีความจำเป็นขนาดไหนที่จะต้องผ่านความเห็นชอบจาก "คณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์" เพราะการชันสูตรศพทุกครั้ง ไม่จำเป็นต้องเป็นคดีอาญาทุกราย

"คนตาย" และ "ญาติผู้ตาย" รวมถึงประชาชนคนไทยทุกคน "ไม่มีสิทธิอันพึงมี" เพื่อค้นหาทางเลือก ที่จะนำไปสู่ความจริงและความเป็นธรรมเช่นนั้นหรือ?

มันยากเย็นขนาดนั้นกันเลยใช่ไหม ในการพยายามค้นหา "ความจริง"

หรือ...มันมีเหตุผลอะไรมากพอ ถึงขั้นที่จะห้ามไม่ให้มีการ "ผ่าชันสูตรซ้ำ" กันด้วย!

และอีกหนึ่งข้อสังเกตสำคัญและหากใครยังไม่ทราบ คือ นับตั้งแต่มีการประกาศใช้ พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ พ.ศ. 2559 เป็นต้นมา "คณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์" ยังไม่เคยมีการประชุมเพื่อพิจารณาให้มีการผ่าชันสูตรซ้ำเลยแม้แต่สักครั้งเดียว! ฉะนั้น กรณี นักแสดงสาวชื่อดัง น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม จึงถือเป็นการผ่าชันสูตรซ้ำครั้งแรกภายใต้ผ่านความเห็นชอบของ "คณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์"

แล้วเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น :

นั่นเป็นเพราะที่ผ่านมา "พนักงานสอบสวน" จะให้ผู้บังคับบัญชาทำหนังสือ มาที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์เพื่อร้องขอให้มีการผ่าชันสูตรซ้ำ หรือในอีกกรณีหนึ่งคือ เมื่อพนักงานสอบสวนได้รับการร้องขอจากอัยการให้มีการผ่าชันสูตรซ้ำ ก็จะมีการทำหนังสือมาที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ โดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.การให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์ มาตรา ๕ (๑) ที่ระบุไว้ว่า ช่วยเหลือและสนับสนุนการสืบสวนสอบสวนและการดําเนินคดีอาญาตามที่เจ้าหน้าที่ ผู้มีอํานาจตามกฎหมายร้องขอ ด้วยเหตุนี้การผ่าชันสูตรซ้ำ จึงไม่ต้องผ่านความเห็นของ "คณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์" นั่นเอง

แต่ในกรณีของ นักแสดงสาว น.ส.นิดา พัชรวีระพงษ์ หรือ แตงโม นั้นเป็นไปในลักษณะของครอบครัวผู้ตาย ไม่เชื่อถือผลการผ่าชันสูตรครั้งแรก จึงร้องขอให้มีการ "ผ่าชันสูตรซ้ำ" จึงเข้า มาตรา ๕ (๔) และต้องผ่านความเห็นชอบของ “คณะกรรมการกำกับการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์”

อย่างไรก็ดีสิ่งที่น่าตั้งข้อสังเกตสำหรับประเด็นนี้ คือ...

การใช้อำนาจตาม มาตรา ๕ (๑) และ มาตรา ๕ (๔) มีความแตกต่างกัน เพราะ มาตรา ๕ (๑) นั้น เป็นการร้องขอจากพนักงานสอบสวนในฐานะผู้รวบรวมพยานหลักฐาน เพราะฉะนั้น รายงานผลการผ่าชันสูตรซ้ำ หากไม่ไปปรากฏในสำนวนคดี พนักงานสอบสวนจะถือว่ามีความผิด เพราะเป็นผู้ร้องขอตามอำนาจของกฎหมาย แต่ในกรณี มาตรา ๕ (๔) นั้น รายงานผลการผ่าชันสูตรซ้ำ พนักงานสอบสวนจะนำเข้าไปอยู่ในสำนวนคดีหรือไม่ก็ได้ เพราะพนักงานสอบสวนไม่ได้เป็นผู้ร้องขอให้ผ่าชันสูตรซ้ำ

“นิยามของการให้บริการด้านนิติวิทยาศาสตร์” คือ การตรวจพิสูจน์ให้ทราบความจริงเพื่อประโยชน์ในการพิสูจน์ข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งอย่างใดโดยใช้หลักวิทยาศาสตร์สาขาต่างๆ และการแพทย์ ซึ่ง “ข้อเท็จจริง” อย่างหนึ่งอย่างใดในที่นี้ อาจไม่ได้เกี่ยวข้องใดๆ กับ กระบวนการยุติธรรมหรือคดีอาญา มิใช่หรือ?

อุบัติเหตุ เปลี่ยนเป็น ฆาตกรรม ได้หรือไม่?
อัตวินิบาตกรรม เปลี่ยนเป็น ฆาตกรรม ได้หรือไม่?
ทั้งหมดนี้ ต้องเริ่มจากจุดตั้งต้น คือ ข้อเท็จจริง มิใช่หรือ?

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :