รายงานของธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ ADB เมื่อวันที่ 16 มี.ค. 2022 ระบุว่า ปี 2021 ที่ผ่านมา มีพลเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน จำนวน 4.7 ล้านคน อยู่ในเกณฑ์ระดับความยากจนขั้นรุนแรง (Extreme Poverty) หรือ คนที่มีรายได้หรือระดับรายจ่ายเพื่อการบริโภคต่อวันต่ำกว่า 1.90 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 60 บาท) โดยเป็นผลมาจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 จนส่งผลกระทบต่อตลาดแรงงานอย่างขนานใหญ่ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยวที่หนักที่สุด รองลงมาคือภาคการผลิตและภาคการก่อสร้าง
** หมายเหตุ ADB รายงานว่า ปี 2020 มีพลเมืองในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อยู่ในเกณฑ์ระดับความยากจนขั้นรุนแรง 5.4 ล้านคน **
โดย องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization) หรือ ILO ได้มีการประเมินว่าในปี 2020 การจ้างงานในภูมิภาคอาเซียนน้อยกว่าสถานการณ์ช่วงก่อนการแพร่ระบาดถึง 10.6 ล้านตำแหน่ง อย่างไรก็ดีแม้เศรษฐกิจจะค่อยๆ เริ่มฟื้นตัว แต่ ILO คาดว่าตลาดแรงงานในภูมิภาคจะยังไม่ฟื้นตัวในทันที เนื่องจากแรงงานบางส่วนยังคงมีแนวโน้มเป็นแรงงานไร้ฝีมือ จึงยากที่จะได้งานทำ ด้วยเหตุนี้ในช่วงระหว่างปี 2021-2022 ทาง ILO จึงประเมินว่าช่องว่างการจ้างงานน่าจะคงอยู่ที่ประมาณ 9.3 ล้านตำแหน่งงาน และ 4.1 ล้านตำแหน่งงาน ตามลำดับ
ซึ่งประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่น่ากังวลเนื่องจากคนทำงานที่ไม่กระตือรือร้นจะกลายเป็นคนไร้ทักษะ และการเข้าถึงโอกาสของคนยากจนจะยิ่งย่ำแย่ลง และผลลัพธ์ที่ตามมาคือ “ความเหลื่อมล้ำ” จะยิ่งเพิ่มสูงขึ้นและส่งต่อไปยังรุ่นสู่รุ่นอีกด้วย
...
“การแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างกว้างขวาง ทำให้ความเหลื่อมล้ำเลวร้ายลงกว่าเดิม และยังทำให้ภาวะความยากจนเพิ่มมากขึ้นด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้หญิง แรงงานอายุน้อย และผู้สูงอายุในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”
นายมาซาสึกุ อะซาคาวา (Masatsuga Asakawa) ประธาน ADB
การคาดการณ์เศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ปี 2022 :
ADB คาดว่า อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ จะอยู่ที่ประมาณ 5.1% อันเป็นผลมาจากอัตราการฉีดวัคซีนครบสูตรให้กับประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นถึงประมาณ 59% ของจำนวนประชากร (สิ้นสุดวันที่ 21 ก.พ. 22) จนกระทั่งทำให้กิจกรรมในระบบเศรษฐกิจสามารถกลับมาเดินเครื่องและขยายตัวอย่างต่อเนื่องได้อีกครั้ง โดยตัวชี้วัดในเรื่องนี้คือ ความคล่องตัวในพื้นที่ค้าปลีกและพื้นที่สันทนาการในภูมิภาคเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ (2022) เพิ่มขึ้นถึง 161% เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปีที่ผ่านมา (2021)
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การคาดการณ์การเติบโตทางเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะมีแตกต่างกัน โดยกลุ่มแรก คือ สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และ อินโดนีเซีย มีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง ส่วน ไทย เวียดนาม บรูไน กัมพูชา และ ลาว คาดว่าน่าจะเติบโตได้น้อยกว่ากลุ่มประเทศแรก เนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รุนแรงกว่า และยังต้องพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวมากขึ้นเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจ ในขณะที่ความคืบหน้าการฉีดวัคซีนยังค่อนข้างช้าและภาคการผลิตยังคงได้รับผลกระทบที่หนักขึ้นจากการแพร่ระบาดโควิด-19 ด้วย
สัญญาณดีที่บ่งบอกถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน :
แม้การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่นำสายพันธุ์โอมิครอนจะยังคงอยู่ แต่ ADB มองว่า เริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัว โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว หลังพรมแดนต่างๆ เริ่มเปิดกว้าง ซึ่งจะนำไปสู่โอกาสที่มากขึ้นสำหรับการเติบโตทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน หลังตัวเลขจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติโดยรวมเพิ่มขึ้นถึง 58% ในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงเดือนกันยายนปี 2021 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2020
...
ปัจจัยลบที่อาจส่งผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาเซียน :
ADB มอง ปัจจัยลบ ที่อาจส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในปีนี้ มีด้วยกัน 3 ประการคือ...
1.การแพร่ระบาดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน
2.ต้นทุนทางการค้าที่เพิ่มขึ้นและการหยุดชะงักอย่างต่อเนื่องของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก ซึ่งจะเป็นตัวจุดประกายให้เกิดแรงกดดันเรื่องภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งถือเป็นประเด็นที่จะทำลายความเชื่อมั่นทางการค้าและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก
3.ภัยพิบัติทางธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่นอกจากจะเริ่มจะเกิดขึ้นบ่อยครั้งในระยะนี้แล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายสูงในแง่ของความเสียหายและการฟื้นฟู รวมถึง ปัจจัยภายนอก เรื่องมาตรการลดระดับวงเงินในโปรแกรม Quantitative Easing (QE) หรือ QE Tapering เพื่อแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อ ที่อาจเกิดขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์เอาไว้ ของ ธนาคารกลางสหรัฐ รวมถึงการตึงตัวของอัตราดอกเบี้ยทั่วโลก
ด้วยเหตุนี้ ADB จึงเรียกร้องให้รัฐบาลของประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เร่งจัดสรรทรัพยากรเพิ่มเติมให้กับระบบสาธารณสุขเพื่อดูแลปัญหาการแพร่ระบาด รวมทั้งปรับปรุงการเฝ้าระวังโรค และตอบสนองต่อการระบาดใหญ่ในอนาคต และเพิ่มการลงทุนด้านระบบการดูแลสุขภาพ จะสามารถกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยการเพิ่มการมีส่วนร่วมของผลิตภาพแรงงาน ยกตัวอย่างเช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อาจเพิ่มขึ้น 1.5% หากการใช้จ่ายด้านสุขภาพในภูมิภาคสูงขึ้น 5.0% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ GDP
...
นอกจากนี้ ADB ยังได้แนะนำให้ประเทศต่างๆ ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันและผลิตภาพ (Productivity) รวมถึงลดความซับซ้อนของกระบวนการทางธุรกิจ ลดการกีดกันทางการค้า และสนับสนุนให้วิสาหกิจขนาดเล็กนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาใช้มากขึ้นโดยการรุกเข้าไปในตลาดอีคอมเมิร์ซ นอกจากนี้ อาจรวมถึงการฝึกอบรมเพิ่มทักษะต่างๆ ให้กับแรงงานไร้ฝีมือ เพื่อจัดการกับปัญหาการหยุดชะงักและการย้ายตำแหน่งในภาคแรงงานด้วย
ขณะเดียวกัน รัฐบาลของแต่ละประเทศยังควรรักษาความรอบคอบทางการคลังเพื่อลดการขาดดุลและหนี้สาธารณะ รวมถึงปรับปรุงการบริหารระบบภาษีให้มีความทันสมัยเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและขยายฐานภาษีด้วย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง :
...