สังคมยังคงให้ความสนใจ โดยเฉพาะชาวโซเชียลและคนในหลายแวดวง พยายามขุดคุ้ยหาความจริงในคดีแตงโม นิดา พัชรวีระพงษ์ นักแสดงสาว พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ตกลางแม่น้ำเจ้าพระยา จนเสียชีวิต เมื่อคืนวันที่ 24 ก.พ.2565 ว่าเกิดจากอุบัติเหตุ หรือถูกฆาตกรรม หรือไม่?

แม้ผ่านไปกว่า 2 สัปดาห์ก็ตาม มีการจัดพิธีไว้อาลัยแตงโม นิดา ตามหลักศาสนาคริสต์ ระหว่างวันที่ 11-13 มี.ค. ก่อนจะมีพิธีฌาปนกิจ ในวันที่ 14 มี.ค.นี้ และอาจต้องเลื่อนออกไป หลังคุณแม่ของแตงโม คาใจร่องรอยบาดแผล ได้ส่งทนายทำเรื่องขออายัดศพ ไปส่งตรวจที่สถาบันนิติวิทยาศาสตร์ กระทรวงยุติธรรม

ขณะที่ตำรวจเร่งสอบสวนรวบรวมหลักฐาน คลี่คลายคดีให้เร็วที่สุด และต้องโปร่งใสชัดเจน จากกระแสข่าวที่สร้างความสับสน ทั้งการกุเรื่อง มีการมโนไปต่างๆ นานา และบางคนฉวยโอกาสสร้างกระแสรายวันให้กับตัวเอง โดยหลักฐานเบื้องต้นของตำรวจชี้ว่าเป็นเพียงคดีอุบัติเหตุ ยังไม่พบพยานหลักฐานว่าเป็นคดีฆาตกรรม แต่อย่างใด

...

ยิ่งสร้างความข้องใจให้กับบรรดาแฟนคลับของแตงโม จนแฮชแท็ก#แตงโมต้องได้รับความยุติธรรม พุ่งติดเทรนด์ทวิตเตอร์ พร้อมกับการเคลื่อนไหวของกลุ่มทวงความยุติธรรมให้แตงโม ได้รวมตัวทำกิจกรรมเชิงสัญลักษณ์ เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจทำคดีอย่างโปร่งใส และให้ความเป็นธรรมกับแตงโม

ไม่ว่าคดีการเสียชีวิตของแตงโม จะลงเอยอย่างใด แต่ได้สร้างกระแสให้กับคนในสังคมต้องเกาะติดความคืบหน้าแบบไม่กะพริบตาในเรื่องนี้ จนกลบข่าวอื่นๆ ที่เกิดขึ้น หากมองในแง่การตลาด สามารถนำคดีแตงโมในหลายแง่มุม มาสร้างความแกร่งให้กับแบรนด์สินค้า โดยเฉพาะเรื่องการสื่อสารของนักการตลาด มีหลากหลายวิธี

ยิ่งคลุมเครือมาก ยิ่งทำให้คนอยากรู้ ตามหลักการตลาด

แต่คดีของแตงโม ได้เห็นชัดถึงความคลุมเครือ มีทั้งด้านบวกและลบ ในความเห็นของ ”ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล” ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการตลาด เพราะคดีนี้ได้ไปกระตุ้นความอยากรู้ อยากเห็นของคน ยกตัวอย่างการโฆษณาสินค้า หากมองไม่เห็นยี่ห้อ และรายละเอียดต่างๆ จะทำให้คนคาใจ อยากรู้ เช่นเดียวกับคดีแตงโม ซึ่งมีความคลุมเครือเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งเรื่องเวลาเกิดเหตุ เบื้องหลังของเพื่อนๆ ในเรือ และตัวคุณแม่ของแตงโม

ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย
ดร.ภูษิต วงศ์หล่อสายชล ผู้อำนวยการหลักสูตร aMBA (Analyst MBA) มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

“ทุกอย่างทำให้คนสงสัย ซึ่งมนุษย์รวมทั้งตัวเองก็อยากรู้ ทำให้ต้องค้นหา หากในมุมของการตลาด ต้องทำให้คนอยากค้นหา อยากได้ อยากซื้อ ทำให้ประสบความสำเร็จ เพราะพฤติกรรมของคน ไม่ชอบถูกหลอก เช่น คลิปไวรัลที่ออกมา หรือเหตุการณ์คุณครู โยนมือถือ มีความคลุมเครือ และเมื่อไปค้นดู ก็พบว่าถูกหลอก ซึ่งนักการตลาดต้องระมัดระวังให้มาก ต้องเล่นให้น่ารัก ไม่ใช่เล่นแล้ว ทำให้คนรู้ว่าถูกหลอก อย่างกรณีคุณแม่แตงโม มีการพลิกจากอีกวันไปเป็นอีกอย่าง หรือเรื่องเวลาที่เพื่อนเล่าออกมาไม่ตรงกัน”

...

ฐานแฟนคลับแตงโม ตัวอย่างแบรนด์คนรัก คนหลง

ในมุมของการตลาดอันที่หนึ่ง เป็นการเล่นกับอารมณ์ของคนเป็นหลัก มุมที่สองเป็นเรื่องของความน่าเชื่อถือของแบรนด์จะทำให้คนรู้สึกรักและหลง เมื่อพูดอะไรคนก็เชื่อ หรือถ้าไม่มีความน่าสนใจ พูดเท่าไรก็ไม่เชื่อ และยอมรับว่าข้อมูลจากเพื่อนแตงโม ทำให้ไม่น่าเชื่อถือ ไม่เหมือนแบรนด์สินค้าที่น่าเชื่อถือ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนก็ไม่ว่าอะไร หรืออินฟลูเอนเซอร์ ทำอะไรผิดก็ไม่มีใครว่า

เพราะฉะนั้นแล้วแบรนด์ที่ไม่น่าเชื่อถือ เมื่อทำอะไร หรือแม้แต่หายใจ ก็ผิดไปหมด จะต้องอาศัยแฟนคลับเข้าไปช่วยไม่ว่าจะเป็นสินค้าและบริการ จะมีคอมมูนิตี้ในการส่งต่อเรื่องราวดีๆ หากแฟนคลับไม่มี จะเป็นภาพลบ ต้องสร้างแฟนคลับเป็นการสร้างฐาน ซึ่งสำคัญมากในการสื่อสารได้เร็วมาก โดยทุกคนจะจับตามองในทุกปฏิกิริยา หรือมีกล้องวงจรปิดในทุกที เช่นเดียวกับแอมบาสเดอร์ของแบรนด์ หากทำอะไรไม่ดีต่อสาธารณชน จะมีปัญหาแน่นอน ต้องระมัดระวังให้มากขึ้น เพราะมีทั้งกล้องวงจรปิด และสายตาคนจับจ้อง

กรณีคดีแตงโม มีแฟนคลับที่ดี ทั้งรักและเอ็นดู เพราะแตงโมเป็นคนพูดตรงๆ และแรง ในสร้างฐานแฟนคลับ ซึ่งนักการตลาดต้องสร้างแฟนคลับ เพื่อการบอกต่อและพร้อมให้การช่วยเหลือ จึงไม่น่าแปลกใจที่เหล่าอินฟลูเอนเซอร์ นำเรื่องแตงโมมาเล่าต่อ และยิ่งยุคนี้เป็นยุคของดิจิทัลฟุตพริ้นท์ เหมือนรอยเท้าบนโลกดิจิทัล โดยทุกอย่างลงในเฟซบุ๊ก ในอินสตาแกรม ทำให้คนสามารถแคปได้ตลอด จนโกหกไม่ได้

...

“เมื่อจะโพสต์อะไรต้องระวัง ซึ่งทุกคนแม้มีความเป็นส่วนตัว แต่เมื่อมีการเปิดเผยต่อสาธารณะก็ไม่ใช่เรื่องส่วนตัวแล้ว โดยเฉพาะคนเป็นดาราต้องระวัง และทุกวงการ เป็นบุคคลสาธารณะได้ทั้งหมด ในการถูกตรวจสอบ หากวันไหนพลาดก็จะถูกขุดคุ้ย อาจเป็นเหตุเข้าใจผิด กลายเป็นเรื่องหลอนไปชั่วชีวิต ดังนั้นแบรนด์ต้องระวังในการสื่อสาร ต้องระลึกเสมอในการจะโพสต์เรื่องต่างๆ”

คดีแตงโม อย่าตัดสินใจ จากสิ่งที่เห็นเพียงอย่างเดียว

สรุปแล้วเรื่องคดีแตงโมต้องติดตามกันต่อไป และในมุมส่วนตัวมองว่าเรื่องนี้ถูกนำไปใช้ประโยชน์ จนไม่รู้ว่าจะเป็นอย่างไร อยากให้มองสองด้าน ไม่ให้แตงโมตายฟรี อยากให้ระวังว่าเส้นอยู่ตรงไหน แยกให้ออกระหว่างเรื่องส่วนตัวกับสาธารณะ แต่ขณะนี้กลายเป็นเรื่องสาธารณะเป็นวงกว้างไปแล้ว ทั้งทนาย ตำรวจ และคนหลายวงการ ทำให้ตอนแรกที่ตำรวจออกมาแถลงในเรื่องคดี ถูกโดนถล่มไปพอสมควร

ไฮโซปอและโรเบิร์ต ร่วมพิธีอาลัยแตงโม นิดา
ไฮโซปอและโรเบิร์ต ร่วมพิธีอาลัยแตงโม นิดา

...

หรืองานพิธีอาลัยแตงโม ซึ่งใครอยากได้หน้าข่าวก็ต้องไปร่วมงาน บางคนเจตนาดีและบางคนต้องการเกาะกระแส ซึ่งยากมากจนแยกแยะไม่ออก เพราะฉะนั้นอย่าตัดสินใจจากสิ่งที่เห็นเพียงอย่างเดียว ต้องวิเคราะห์ หรือเห็นแตกต่างได้แต่อย่าขัดแย้ง และการเสพข่าวที่มีหลายมุม ต้องเสพอย่างมีสติฟังความรอบด้านอย่าเชื่อในทันที

เหมือนการจะใช้บริการสินค้าอาจดูดี ในการยิงโฆษณาเข้าไปหลายชิ้น จากพฤติกรรมของแต่ละคน ซึ่งมีให้เลือกหลากหลายทั้งลดราคา ให้ของแถม หรือการรับประกัน ทำอย่างไรให้คนซื้อ เพราะระบบเอไอจะดูจากพฤติกรรมมนุษย์ หากสนใจดูข้อมูลในเรื่องใดนานเกิน 5 วินาที ก็จะยิงโฆษณาเข้ามาทันที ดังนั้นแบรนด์ต่างๆ ต้องเปลี่ยนตามกระแส หรือวันนี้ไปฟังข่าวผ่านติ๊กต๊อก (TikTok) ซึ่งมาแรงมากในขณะนี้ และโซเชียลมีเดีย แต่ละแพลตฟอร์ม ต้องมีวิธีการสื่อสารไม่เหมือนกัน

สิ่งสำคัญต้องมีการวิเคราะห์ข้อมูลให้มากขึ้น ซึ่งการตลาดให้ความสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์ให้เข้าถึงลูกค้า และจากเคสของแตงโม มีการพูดถึงเส้นผม ควรนำไปวิเคราะห์ว่าคนพูดถึงแบรนด์อย่างไร หรือหากเกิดปัญหาจะสามารถแก้ไขได้โดยเร็ว และหลายแบรนด์ต้องส่งคนไปแก้ปัญหา ต้องฟังโซเชียลให้มากขึ้น ในการนำไปวิเคราะห์เพื่อการทำตลาด ให้ประสบความสำเร็จ.