จะสามารถค้นหาคำตอบ “สืบจากศพ” ในกรณีที่ผู้ตายปัสสาวะก่อนเสียชีวิตได้หรือไม่ แล้วอะไรคือสิ่งที่จะสามารถพิสูจน์ข้อเท็จจริงในประเด็นนี้ได้บ้าง? วันนี้ “เรา” ลองมาร่วมค้นหาคำตอบเหล่านั้นกันดู
โดยปกติแล้ว ตามขั้นตอนมาตรฐานการชันสูตรพลิกศพ จะมี 3 กระบวนการหลัก คือ “ชั่ง ตวง วัด”
1. “ชั่ง” คือ การชั่งน้ำหนักของศพ อวัยวะภายใน และชิ้นเนื้อ
2. “ตวง” คือ การตักอาหารในกระเพาะอาหาร หรือตวงของเหลวในกระเพาะปัสสาวะ หรือ ตวงเลือดที่ออกในช่องท้อง ช่องปอด หรือช่องอก นำมาวัดปริมาตร
3. “วัด” คือ วัดขนาดส่วนสูงของร่างกาย ขนาดรอบศีรษะ รอบอก หรือขนาดบาดแผล เป็นต้น
การตวงของเหลวในกระเพาะปัสสาวะ ทำเพื่อหาคำตอบอะไรได้บ้าง :
1. ค้นหาอาการเจ็บป่วย :
ปัสสาวะมีสีเหลืองใส แปลว่า ...มีปริมาณสารน้ำในร่างกายเหมาะสม ไม่มีภาวะขาดน้ำ
...
ปัสสาวะมีสีเหลืองเข้มกว่าปกติมาก แปลว่า อาจมีภาวะขาดน้ำหรือมีพยาธิสภาพของตับ เป็นต้น
ปัสสาวะมีสีขุ่น แปลว่า มีอาการติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ เช่น การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
ปัสสาวะปนเลือด แปลว่า มีอาการบาดเจ็บในช่องท้อง การติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะ หรือมะเร็ง รวมทั้งนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ เป็นต้น
2. ค้นหาหาสารต่างๆ ที่ตกค้างในร่างกายก่อนเสียชีวิต เช่น สารเสพติด ยารักษาโรค
3. ค้นหาระดับแอลกอฮอล์ในร่างกายก่อนเสียชีวิต โดยใช้ในกรณีที่ไม่สามารถเจาะเลือดหาระดับแอลกอฮอล์ได้ ใช้หลักการคำนวณเทียบเคียงย้อนกลับ
ปริมาตรของเหลวในกระเพาะปัสสาวะเท่าไร จึงทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะได้ :
โดยส่วนใหญ่กระเพาะปัสสาวะมีความจุ 550 ซีซี หากพบปริมาตรของเหลวในกระเพาะปัสสาวะจำนวนมาก มักจะสัมพันธ์กับการใช้แอลกอฮอล์ นั่นเป็นเพราะการดื่มเครื่องดื่มสุรา หรือแอลกอฮอล์ชนิดต่างๆ จะกระตุ้นให้ร่างกายขับปัสสาวะออกมาในปริมาณสูงกว่าปกติ อย่างไรก็ดี การจะสามารถยืนยันในเรื่องนี้ จะต้องมีการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดควบคู่กันไปด้วย
ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ปริมาตรของเหลวที่จะสามารถทำให้กระเพาะปัสสาวะเริ่มเกิดอาการตึงได้ (ปวดปัสสาวะ) มักจะอยู่ที่ปริมาตรตั้งแต่ 160-300 ซีซี และหากถึงระดับ 450 ซีซี โดยมากมักจะทำให้เกิดอาการปัสสาวะราดได้
อย่างไรก็ดีแต่ละบุคคล ย่อมมีปัจจัยที่แตกต่างกันออกไปว่า จะเริ่มปวดปัสสาวะจนต้องเข้าห้องน้ำได้เมื่อไหร่ นั่นเป็นเพราะบางคนอาจมีโรคประจำตัว เช่น ผู้ชายที่ป่วยเป็นโรคต่อมลูกหมากโต อาจจะปวดปัสสาวะเมื่อมีปริมาตรน้ำในกระเพาะปัสสาวะได้ถึง 500 ซีซี
ส่วนในกรณีผู้หญิงที่ป่วยเป็นโรคภาวะปัสสาวะบ่อยเกินไป อันเนื่องจากเส้นประสาทอัตโนมัติสำหรับการควบคุมปัสสาวะเกิดอาการผิดปกติ ซึ่งจะทำให้แม้จะมีปริมาตรของเหลวในกระเพาะปัสสาวะเพียง 30-40 ซีซี ก็อาจจะทำให้เกิดอาการปวดปัสสาวะได้เช่นกัน
การจมน้ำเสียชีวิตจะทำให้มีปริมาตรของเหลวเพิ่มในกระเพาะปัสสาวะได้หรือไม่ :
คำตอบ คือ “เป็นไปไม่ได้” นั่นเป็นเพราะ ไม่มีทางที่น้ำจะไหลย้อนเข้าไปในท่อปัสสาวะได้ เพราะภายในร่างกายมนุษย์เป็นระบบปิด โดยท่อปัสสาวะของมนุษย์ มีลักษณะเป็นท่อตีบและตรงหูรูดยังเป็นกล้ามเนื้อเรียบเพื่อควบคุมการปัสสาวะด้วย
ซึ่งประเด็นนี้จะตรงกันข้ามกับ กรณีของเหลวในช่องปาก หรือท่อลม เพราะในกรณี ช่องปาก หรือท่อลม นั้น มีความเป็นไปได้สูงที่ของเหลวจากภายนอกจะไหลเข้าไปหลังการเสียชีวิต และบางครั้งอาจถึงขั้นพบสัตว์น้ำขนาดเล็กไต่จากช่องปากเข้าไปท่อลมของผู้เสียชีวิตได้ด้วย เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีลักษณะเป็นท่อเปิด
...
ในทางกลับกัน “การจมน้ำเสียชีวิต” โดยมากแล้ว มักจะทำให้ปริมาตรของเหลวในกระเพาะปัสสาวะของศพ “ไหลออกมาอีกด้วย” เพราะเมื่อเสียชีวิตในช่วงแรกๆ กล้ามเนื้อหูรูดตรงกระเพาะปัสสาวะยังคงแข็งตัวอยู่ ซึ่งจะทำให้ปัสสาวะยังคงอยู่ในศพ
แต่เมื่อผ่านวันเวลาไปนานขึ้นๆ และศพเริ่มจะเน่า แก๊สในร่างกายจะค่อยๆ ดันของเหลวในร่างกายออกมาไม่ว่าจะเป็นทั้งอุจจาระจากลำไส้ใหญ่ หรือปัสสาวะจากกระเพาะปัสสาวะ
ด้วยเหตุนี้ ปริมาตรของเหลวในกระเพาะปัสสาวะ จึงมักจะไม่ถูกนำไปใช้สำหรับผลการชันสูตรพลิกศพ ยกเว้นแต่หากพบว่ามีปริมาตรของเหลวเต็มกระเพาะปัสสาวะซึ่งสัมพันธ์กับศพที่มักใช้แอลกอฮอล์ดังที่กล่าวมาแล้ว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ