เหตุการณ์ไม่คาดฝัน จากภัยอันตรายในหลายรูปแบบเกิดขึ้นได้กับทุกคน แต่สิ่งสำคัญคือการตั้งสติ หาวิธีเอาตัวรอด แม้ไม่ใช่เรื่องง่ายก็ตาม หากไม่ได้รับการฝึกฝนมาอย่างดี หรือแม้แต่ผู้มีความเชี่ยวชาญ อาจโชคร้ายพลาดพลั้งได้เช่นกัน
แต่อย่างน้อยควรมีความรู้เบื้องต้น จากกรณี "แตงโม นิดา" นักแสดงสาว ได้พลัดตกจากเรือสปีดโบ๊ตในเวลากลางคืน เมื่อวันที่ 24 ก.พ. ร่างจมหายกลางแม่น้ำเจ้าพระยา ท่ามกลางกระแสน้ำแรงไหลเชี่ยว บริเวณท่าเรือพิบูลสงคราม 1 ใกล้สะพานพระราม 7 เขตรอยต่อกรุงเทพฯ กับ จ.นนทบุรี
แม้ยังไม่มีข้อเท็จจริงว่า "แตงโม" ได้สวมเสื้อชูชีพขณะโดยสารในเรือหรือไม่ แต่หากใส่เสื้อชูชีพ จะทำให้ลอยตัวได้ แม้ว่ายน้ำไม่เป็น มีโอกาสปลอดภัยสูง มากกว่าไม่ได้ใส่ โดยเฉพาะการพลัดตกลงไปในแม่น้ำ ซึ่งเป็นน้ำจืดจะจมง่ายกว่าน้ำเค็มในทะเล
...
หลายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากเหตุเรือล่ม พลัดตกจากเรือ หลายชีวิตจมหายในแม่น้ำหรือในทะเล เกิดการสูญเสียสร้างความเศร้าโศกเสียใจให้กับคนในครอบครัวและเพื่อนฝูง และมีหลายคนเอาชีวิตรอดมาได้ราวกับมีปาฏิหาริย์ เป็นอุทาหรณ์คอยตอกย้ำให้ระมัดระวังอย่าประมาทอย่างเด็ดขาด
หลักการความปลอดภัย เอาชีวิตรอดจากการจมน้ำ ต้องออกมาย้ำอีกครั้ง เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นมา "ผศ.ดร.ณัฏฐ์ ลีละวัฒน์" ผู้อำนวยการหลักสูตรสหสาขาวิชาการจัดการความเสี่ยงและภัยพิบัติ และผู้ช่วยคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แนะนำว่า การจะเดินทางต้องรู้สภาพพื้นที่ต้องผ่านสภาพแวดล้อมอะไรบ้าง เช่น สภาพอากาศ ทำให้ไม่สะดวกในการเดินทาง ทั้งพายุฝน คลื่นลมแรง หรือถ้าจำเป็นต้องเดินทาง จะต้องเตรียมความพร้อม คงเริ่มจากตัวเราก่อน ซึ่งต้องมีสุขภาพสมบรูณ์ ไม่ให้ไปลดความสามารถในการประคองตัวในน้ำ หรือลอยตัวในน้ำ
หากว่ายน้ำเป็นสามารถประคองตัวในน้ำได้หรือไม่ เพราะหากว่ายน้ำไม่แข็ง จะทำให้ลอยตัวในน้ำได้ไม่นานพอ ต้องมีเพื่อนเดินทางไปด้วย เพื่อคอยช่วยเหลือดูแล และเครื่องแต่งกายในการเดินทางทางน้ำ ต้องค่อนข้างรัดกุม สามารถขยับแขนขาได้ง่าย ตามมาด้วยรองเท้า เป็นสิ่งสำคัญ แม้หลายคนชอบใส่รองเท้าแตะ ถ้าเดินทางในทะเลอาจไม่มีปัญหา แต่หากในน้ำจืด อาจไปสัมผัสพื้นด้านล่าง ซึ่งมีสิ่งที่แหลมคม จึงควรใส่รองเท้าให้กระชับไม่ให้หลุดง่าย เช่น ส้นสูง ไม่ควรใส่อย่างยิ่ง
“สิ่งที่นำติดตัวไปด้วย ทั้งสัมภาระเอกสารต่างๆ หากเจอเหตุการณ์จะต้องสละของทิ้ง เพื่อรักษาชีวิต และสิ่งจำเป็นที่สุด คือ นกหวีด ไม่ใช่เฉพาะการเดินทางทางน้ำเท่านั้น ควรพกไปทุกที่ แม้ไปทำงาน หากเกิดเหตุจะได้เป่าขอความช่วยเหลือ เพื่อบอกจุด บอกตำแหน่งว่าอยู่ที่ไหน เป็นหนึ่งในคำแนะนำในญี่ปุ่น เช่น กรณีเกิดแผ่นดินไหว จะได้ใช้นกหวีดบอกให้คนช่วยเหลือได้รู้ว่าอยู่จุดไหน และนกหวีดที่พกควรทำจากโลหะ เพราะทนทาน”
...
สิ่งสำคัญในการเดินทางทางน้ำ ต้องมีเสื้อชูชีพ ไม่ว่าจะว่ายน้ำแข็งหรือไม่ก็ตาม แต่เพื่อความปลอดภัย และขึ้นอยู่กับประเภทของเสื้อชูชีพ สำหรับใช้ในทะเล หรือในน้ำจืด ซึ่งมีความแตกต่างกัน โดยเสื้อชูชีพในทะเล ต้องสามารถลอยอยู่ในทะเลได้นานที่สุดเพื่อรอการช่วยเหลือ เป็นเสื้อชูชีพประเภท Offshore life jackets ส่วนเสื้อชูชีพ ประเภท Near-shore vests จะช่วยให้ลอยตัวไม่ให้จม แต่ทั้ง 2 แบบมีข้อเสีย เน้นการลอยตัวขึ้นมาเป็นหลัก ไม่ได้ทำให้ว่ายน้ำได้อย่างคล่องตัว
ขณะที่เสื้อชูชีพ ประเภท Flotation Aids เหมาะกับการเดินทางในแม่น้ำ ทำให้ลอยตัวสะดวก ขยับตัวได้ง่ายขึ้น ดีกว่าเสื้อชูชีพทั้ง 2 แบบแรก แต่ไม่สามารถลอยตัวได้นาน อาจต้องมีอุปกรณ์ลอยตัว เช่น ห่วงยาง บอร์ดลอยน้ำ ในการช่วยผู้ประสบภัย และอุปกรณ์พิเศษเฉพาะทางสำหรับกิจกรรมทางน้ำต่างๆ เพื่อเพิ่มความปลอดภัย โดยการเดินทางจะต้องตรวจเช็คอุปกรณ์ ทั้งเสื้อชูชีพ ห่วงยาง บอร์ดลอยน้ำ เมื่อเกิดวิกฤติจะสร้างความปลอดภัยให้กับผู้คน
...
นอกจากนี้สิ่งปฏิบัติในฐานะผู้โดยสาร ไม่ว่าจะว่ายน้ำแข็งหรือไม่แข็ง ในขณะอยู่ในยานพาหนะทางน้ำจะต้องนั่งอยู่ในพื้นที่ที่เหมาะสม ไม่ใช่ไปนั่งบนหลังคาเรือ หรืออยู่ตรงขอบเรือ ทำให้ตกน้ำได้ง่าย และควรมีสติสัมปชัญญะ ต้องมีสติตลอดเวลา เพราะหากเกิดเหตุจะสามารถปรับตัว และกระทำการบางอย่างได้ทันที แต่หากไม่มีสติ แม้มีอุปกรณ์พร้อมก็มีโอกาสสูญเสียได้
“เคสต่างๆ ในไทย เกิดขึ้นเรื่อยๆ น่าจะเกิดจากหลายปัญหา ทั้งความพร้อมของอุปกรณ์ การไม่ทราบข้อปฏิบัติของผู้โดยสาร และสภาพฝนฟ้าอากาศ ความแรงของคลื่น และแม้ว่าการเดินทางกลางวัน หรือกลางคืน จะเกิดอุบัติเหตุได้เหมือนกัน แต่กลางคืนจะเกิดผลกระทบมากกว่า เพราะมืด ไม่เปิดไฟส่องสว่าง อาจไม่รู้ว่าตรงนั้นมีผักตบชวาในแม่น้ำ ลำคลอง ทำให้เป็นอุปสรรคในการว่ายน้ำ มากกว่าในทะเล และถ้าเป็นการลอยตัวในทะเลเพราะน้ำเค็มมีความหนาแน่น เป็นตัวช่วยให้พยุงตัวได้ดี มากกว่าการลอยตัวในน้ำจืด”
ในเรื่องของกระแสน้ำ ความแรงของน้ำ ไม่ว่าจะว่ายน้ำเก่งเพียงใด อย่าว่ายทวนน้ำทั้งน้ำทะเลและน้ำจืด หรือบางจุดตามเกาะแก่ง จะต้องพยามยามรักษาพลังงานในร่างกาย หากต้องลอยตัวอยู่ในอุณหภูมิน้ำตอนกลางคืน จะต้องไม่ให้ร่างกายเจอความเย็นเกินไป ต้องหาที่เกาะให้เร็วที่สุด หากเสื้อชูชีพหลุด และพยายามเอาสิ่งของที่เพิ่มน้ำหนักออกจากร่างกาย ช่วยให้ลอยตัวได้ดี
...
ที่สำคัญต้องมีสติ เพราะทุกภัยพิบัติไม่ได้เกิดขึ้นทางน้ำเท่านั้น แต่เกิดขึ้นได้ทุกที่ ซึ่งในหลักสูตรบอกเสมอว่าต้องมีความพร้อม ก่อนจะเกิดเหตุ และต้องรับมือให้ได้ โดยเฉพาะนกหวีด ควรพกติดตัว เพื่อความปลอดภัยอยู่ตลอดเวลา.