จากความเครียด กลัว กลายเป็นเรื่องสนุกสนานไปแล้ว สำหรับบางคน เมื่อเผชิญหน้ากับ “แก๊งคอลเซ็นเตอร์” ที่โทร.เข้ามาหลอกลวงคนไทย ด้วยมุกเดิม พัสดุผิดกฎหมายตกค้าง บัญชีธนาคารถูกอ้างว่า เป็นบัญชีผิดกฎหมาย ยังไม่นับรวม SMS หลอกลวงต่างๆ ทั้งชวนเล่นพนัน
ถ้าใครได้ติดตามข่าวสารเกี่ยวกับแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็จะทราบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้มีการบุกทลายรังแก๊งคอลเซ็นเตอร์ที่ประเทศกัมพูชา และได้ช่วยเหลือคนไทย ราว 48 ราย ที่ “อ้าง” ว่าถูกหลอก ให้มาทำงาน
จากการเปิดเผยของ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กิตติประภัสร์ รอง ผบ.ตร. ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี สำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ศปอส.ตร.) หรือ ผอ. PCT ว่า ได้มีการประสานไปยังเจ้าหน้าที่กัมพูชา ได้นำกำลังเข้าตรวจค้นอาคารไชน่าทาวน์ 20 กว่าหลัง ตั้งอยู่ใจกลางเมืองพระสีหนุ พบเหยื่อทั้ง 32 คน ถูกควบคุมอยู่ที่ชั้น 1 อาคารหลังที่ 15 เป็นอาคารสูง 7 ชั้น นอกจากนี้ยังพบเหยื่ออีกหลายคน อยู่ในอาคารใกล้เคียง รวมทั้งสิ้น 48 คน จึงได้นำตัวเหยื่อทั้งหมดไปยังสถานทูตไทยในกรุงพนมเปญ เพื่อดำเนินการขอส่งกลับประเทศไทย ซึ่งขั้นตอนนี้จะใช้เวลาประมาณ 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากต้องทำเรื่องไปยังกระทรวงมหาดไทยของประเทศกัมพูชา
...
และจากการพูดคุย 1 ในคนไทย ที่ทำงานในแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ก็อ้างว่าถูกหลอกให้มาทำงาน ทีแรกบอกว่าจะให้เข้าประเทศอย่างถูกต้องตามกฎหมาย แต่เมื่อถึงเวลามารับ ก็กลับถูกยึดโทรศัพท์ และพาเดินเข้าทางช่องทางธรรมชาติ...
เมื่อไปถึงก็ถูกบังคับให้ทำงาน โดยบอสเป็นคนจีน มีล่ามเป็นคนไทย สั่งให้ทำงานเป็นแอดมิน คุยกับลูกค้าที่สนใจซื้อสินค้า คล้ายๆ มีสคริปต์ให้คุยและตอบลูกค้า เชิญชวนให้ลูกค้าสมัคร user และเติมเงินเข้ามา และให้สั่งซื้อสินค้า จากนั้นก็จะส่งหน้าที่ต่อให้กับพนักงานอีกกลุ่มหนึ่ง โดยพวกตนไม่ทราบว่าเขาดำเนินการต่ออย่างไร
หนึ่งในคนไทย ที่ได้รับการช่วยเหลือ ยังบอกอีกว่า เมื่อรู้ว่าทำงานไม่ตรงปก ได้เงินเดือนแค่ 300 ดอลลาร์ (ประมาณ 10,000 บาท) จึงขอกลับเมืองไทย แต่กลายเป็นว่าต้องเสียเงินค่าเสียหาย 6,000 ดอลลาร์ หรือประมาณ 200,000 บาท มิฉะนั้น จะถูกขายต่อในราคา 2,000 – 3,000 ดอลลาร์ ถ้าไม่เต็มใจ ก็จะถูกให้อดอาหาร ช็อตไฟฟ้า ข่มขู่ว่าหากหนีก็จะเอาปืนยิงให้ตาย ด้วยเหตุนี้ จึงพยายามโพสต์ขอความช่วยเหลือทุกช่องทาง
นี่คือ คำบอกเล่า ของคนไทยที่ระบุว่าถูกแก๊งคอลเซ็นเตอร์ หลอกลวงให้ไปทำงานที่กัมพูชา ซึ่งที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญก็เคยแจ้งเตือน แบบดังๆ ว่า การทำงานในกัมพูชาอย่างผิดกฎหมาย ไม่รู้ใช่ว่า “ไม่ผิด” หากเข้าเมือง และทำงานผิดกฎหมาย จะไม่ได้รับความคุ้มครอง และอาจถูกขายต่อโดยไม่สามารถฟ้องร้องอะไรได้ มิหนำซ้ำ ยังอาจถูกดำเนินคดีและขึ้นบัญชีดำ...
คำถามต่อมาของคดีนี้ และเชื่อว่าหลายๆ คนก็อยากรู้ ว่ากลุ่มคนไทย ที่ทางราชการไปช่วยเหลือกลับมานั้น “ถูกหลอก” จริงๆ หรือไม่ กลับมาแล้วจะเป็นอย่างไรต่อ และมีการตรวจสอบเรื่องนี้อย่างไร ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ จึงได้ต่อสายพูดคุยกับ พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ ซึ่งให้ความกระจ่างในเรื่องนี้
ขั้นตอนต่อไปในการช่วยเหลือคนไทยในกัมพูชา พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ อธิบายว่า ตอนนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนเอกสาร ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยของกัมพูชา ทำเรื่องผลักดันกลุ่มคนไทยเหล่านี้กลับประเทศไทย ซึ่งเดิมตามข่าว จากการร้องขอความช่วยเหลือของคุณแยม (ฐปณีย์ เอียดศรีไชย) ได้ประสานมาให้ช่วย 32 คน แต่เมื่อไปประสานตำรวจ ไปเจอคนไทยในแหล่งไชน่าทาวน์ 48 คน แต่ล่าสุด เราพบว่ามีคนร้องเรียนให้สถานทูตไปช่วยอีก 7 คน จึงรวมเป็น 55 คน โดยจะมีการส่งกลับภายใน 2 สัปดาห์พร้อมกัน ซึ่งเวลานี้ทางสถานทูต ได้เช่าพื้นที่โรงแรมให้คนไทยเหล่านี้ได้อยู่พัก
“คนไทยที่พบ เข้าประเทศกัมพูชาโดยช่องทางธรรมชาติ เรียกว่าเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย จึงต้องถูกผลักดันกลับ”
...
55 คนไทยนี้ถูกหลอกไปทำงานจริงๆ หรือไม่ ได้มีการสอบปากคำเพิ่มเติมหรือยัง พล.ต.อ.ดำรงศักดิ์ กล่าวว่า ทุกคนตอบคำถามคล้ายคลึงกันว่า ตั้งใจจะเข้ามาทำงานอย่างหนึ่ง แต่เมื่อมาแล้ว ก็พบว่า กลายเป็นงานอีกอย่าง จากนั้นก็ถูกบังคับ ถูกขัง ไม่ให้กลับบ้าน คำตอบเป็นแนวเดียวกันหมด ทั้งนี้ ตำรวจจะต้องทำการสอบปากคำทุกคนอีกครั้ง เมื่อเดินทางมาถึงเมืองไทย เพื่อจะดำเนินการรวบรวมหลักฐาน และหาตัวผู้เกี่ยวข้องมาดำเนินคดีในประเทศไทยให้ได้
เมื่อถามว่า ถึงแม้จะอ้างว่าถูกหลอกมาทำงาน ถูกบังคับข่มขู่ แต่ความผิดในกรณีที่เป็น “คอลเซ็นเตอร์” หลอกลวงคนไทยด้วยกันสำเร็จแล้ว จะมีการดำเนินคดีกับบุคคลที่เกี่ยวข้องอย่างไร ผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ระบุว่า การอ้างว่าถูกบังคับ ข่มขู่ เราก็คงต้องมีการสอบอย่างละเอียดอีกครั้ง ว่าเจตนาจริงหรือไม่ และคงต้องดูเป็นลักษณะ “เคส” ต่อ “เคส” ตามข้อเท็จจริง ถ้าถูกบังคับจริงๆ กฎหมายเขาก็ต้องดูตามเจตนา และพยาน หลักฐาน และพฤติการณ์อื่นๆ ด้วย เช่น หากพบเส้นทางการเงิน หรือประวัติการเข้าออกประเทศที่น่าสงสัยก็ต้องตรวจสอบดำเนินคดี
“เพราะตอนช่วงแรกที่เราออกหมายจับก่อนหน้านี้ คนที่โทร.มาหลอกคนไทย ได้เปอร์เซ็นต์ส่วนแบ่งด้วย เราเองก็ทำหน้าที่ช่วยเหลือเขาก่อน ถ้าพิสูจน์แล้ว ว่าถูกบังคับจริงๆ ก็อาจจะกันตัวเป็นพยาน” ผอ.ศูนย์ปราบปรามอาชญากรรมทางเทคโนโลยี กล่าวทิ้งท้าย
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
...