คดีฆาตกรรมสะเทือนขวัญ เกิดขึ้นในสังคมอยู่บ่อยครั้ง แต่ก็มีบางครั้ง บางเหตุการณ์ที่ “ไม่น่าเกิดขึ้น” โดยเฉพาะการฆ่าคนในครอบครัวตัวเอง ยิ่งโดยเฉพาะการฆ่าบุพการีที่เลี้ยงดูมาตั้งแต่เล็กแต่น้อย เพื่อเงินตรงหน้ามูลค่าเพียง 1 แสนบาท
เงินจำนวนนี้แม้จะดูน้อยในคนมีอันจะกิน ดูมากโขในหมู่คนหาเช้ากินค่ำ แต่ก็น้อยนิดเมื่อเทียบกับชีวิตคนคนหนึ่งที่ต้องสูญเสียไป
คดียายหวาน (สงวนชื่อ-นามสกุล) อายุ 62 ปี ถูกหลานสาว วัย 18 ปี ฆาตกรรม เพียงเพราะอยากได้เงินที่ยายถูกหวยมา 1 แสน กลายเป็นเรื่องน่าตกตะลึง เพราะไม่มีใครคิดว่า “หลานสาว” จะลงมือเหี้ยมได้ขนาดนี้ อีกทั้งกับคำสารภาพก็แทบ ไม่ได้ข้อมูลอะไรมาก บอกแต่เพียงว่าถูกดุด่า เก็บกด ทนการถูกบังคับขู่เข็ญของยายมานานวัน
เลียนแบบ คบเพื่อนชั่ว หลงผิด ต้นตอ อาชญากรรมรุนแรง
พล.ต.ท.พิศาล มุขแจ้ง รองนายกสมาคมพนักงานสอบสวน อดีตหัวหน้าภาควิชาอาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ระบุว่า การที่ “เด็ก” จะกลายเป็นฆาตกรได้ ส่วนมากจะมาจากการเรียนรู้ และอาจจะเกี่ยวข้องกับ “ทฤษฎีปฏิสัมพันธ์ที่ต่างกัน” ซึ่งทฤษฎีนี้ระบุว่า บุคคลนั้นจะเป็นเช่นไร ขึ้นอยู่กับการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น การเรียนรู้ หมายถึง การเรียนรู้เรื่องค่านิยม ทัศนคติ เทคนิค และแรงจูงใจในการก่ออาชญากรรม
...
การเรียนรู้ดังกล่าว อาจจะหมายถึงการเรียนรู้จากบุคคล หรือสื่อต่างๆ ก็ได้ ยกตัวอย่าง บางคนที่จะเป็นอาชญากรได้ ก็อาจจะไปคบหากับคนชั่ว ที่คิดจะเป็นอาชญากร ก็จะเรียนรู้แรงจูงใจ เช่น ต้องการทรัพย์สินเงินทอง เรียนรู้แม้กระทั่ง ความคิดอาชญากร เทคนิคการประกอบอาชญากรรม หรือบางคนเรียนรู้จากข่าว เหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต หรือแม้แต่ภาพยนตร์ เป็นต้น
“ผมเองก็ไม่รู้ว่าเยาวชนหญิงคนนี้มีการคบหาคนชั่วเป็นมิตรหรือไม่ หรือไปเรียนรู้ตัวอย่างที่ไม่ดีมาจากที่ไหน...”
แบบนี้เรียกว่า “หลงผิด” หรือไม่ อดีตอาจารย์อาชญาวิทยา โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ตอบอย่างหนักแน่นและชัดเจนว่า เป็นการ “หลงผิดแบบมหันต์” หากสังเกตตามข่าว ก็เดาว่าน้องคนนี้มีการคบหาคนง่ายเกินไป ไม่ผ่านการกลั่นกรอง หรือตรวจสอบว่าคนคนนั้นเป็นคนอย่างไร และจากการพูดคุยกับพนักงานสอบสวน ก็พบว่าแฟนที่ร่วมอยู่ในเหตุการณ์เพิ่งจะคบหากันได้ไม่กี่วัน และเพิ่งเจอกันเป็นครั้งแรก”
3 องค์ประกอบอาชญากรรม อาชญากร เหยื่อ และโอกาส
ความชัดเจนของคดีนี้คือ “ประสงค์ต่อทรัพย์” ซึ่งมันเกี่ยวข้องกับ 3 องค์ประกอบที่จะทำให้เกิดเหตุอาชญากรรม ได้แก่
1. อาชญากร
2. เหยื่อ
3. โอกาส
พล.ต.ท.พิศาล กล่าวว่า กรณีนี้ โอกาสเกิดขึ้นเพราะเยาวชนหญิงไปกดเงินยาย รู้ว่ายายมีเงิน และคนที่รู้ว่ามีเงิน คือยายคนเดียว หากกำจัดยายไปได้ก็อาจจะได้เงินมาง่ายๆ
และอีกส่วนคือ “ความตั้งใจ” ที่จะก่อเหตุเป็นอาชญากร
แรงจูงใจก่ออาชญากรรม เยาวชนชาย และ หญิง แตกต่างกัน
จากการศึกษาข้อมูลของนักอาชญาวิทยา พบว่า แรงจูงใจในการก่อเหตุฆาตกรรม หรืออาชญากรรม ของเด็กผู้ชาย และผู้หญิง มีความแตกต่างกัน
เด็กผู้ชาย : เพื่อนจะมีอิทธิพลในการชักจูงให้ก่อเหตุ เช่น ต้องการทำให้กลุ่มเพื่อนยอมรับ ดังนั้น พฤติกรรมที่ออกมา จะมีลักษณะ “เบี่ยงเบน” ให้ดูเป็นคนเก่ง คนกล้า
เด็กผู้หญิง : ส่วนมากจะเป็นเรื่องที่ถูกกระทบกระเทือนทางจิตใจ ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงเด็กอย่างเดียว แต่จะหมายถึงผู้หญิงทั่วไป เราจะเห็นข่าว “ผู้หญิง” ฆ่าสามีตัวเองบ่อย แต่สำหรับเด็กหญิง หรือที่เป็น เยาวชนหญิง พบว่ามีสถิติการก่อเหตุที่น้อยมากๆ หากมีการกระทำผิด ก็มักจะมีผู้ชาย หรือคนรักเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ต้องการหลบหนี หรือ นำเงินไปใช้ร่วมกัน ถือเป็นการ “คิดแบบสั้นๆ”
...
“เราต้องยอมรับว่าสังคมไทย สังคมโลกมันเปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราไม่ค่อยเห็นผู้หญิงก่อเหตุ แต่เดี๋ยวนี้มีมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจจะมาจากการนำเสนอข่าว พฤติกรรมอาชญากรที่รุนแรง ถือเป็นการปลูกฝัง หรือสอนคนบางคนที่ไม่สามารถควบคุมตัวเอง ให้มีแนวคิดหรือแนวโน้มในการก่ออาชญากรรม เรียกว่า “เรียนรู้” หรือ “เลียนแบบ”
ข่าวความรุนแรง กระตุ้นก่อเหตุอาชญากรรม ทำให้คิดว่าทำแล้วจะลอยนวล?
อดีตอาจารย์โรงเรียนนายร้อยตำรวจ ยังย้ำว่า การนำเสนอข่าวรุนแรง โดยบอกรายละเอียดรูปแบบการประกอบอาชญากรรม ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบ คดี “ฆ่ายัดถัง” ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้น ในอดีตก็มีมากมาย หลายคดีก็ “ฆ่ายัดถัง” หรือการก่อเหตุ แล้วพยายามอำพรางศพนำไปทิ้งที่อื่น และคิดว่าตำรวจตามจับไม่ได้ ซึ่งความจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะตำรวจสมัยนี้มีเทคนิค เทคโนโลยีการสอบสวน ที่สามารถตามจับกุมคนร้ายได้ เพราะ “อาชญากร” ทุกคน ย่อมทิ้งร่องรอยให้ติดตามในที่เกิดเหตุเสมอ
...
ที่ผ่านมา มักมีการระบุว่า สาเหตุเด็กที่ก้าวร้าว รุนแรง หรือก่ออาชญากรรม มักจะมีต้นเหตุมาจากความรุนแรงในครอบครัว พล.ต.ท.พิศาล อธิบายว่า เป็นแค่ส่วนหนึ่งเท่านั้น เช่น เป็นผู้ถูกกระทำมาก่อน คับแค้นใจ และระบายออกกับคนในครอบครัว หรือ คนอื่น แต่ไม่ใช่ทุกกรณี บางคนเขาคิดได้ เรียนรู้ว่าไม่ใช่สิ่งที่ถูกต้อง
พ่อแม่ต้องใส่ใจ ดูแลใกล้ชิด ป้องกันลูกหลานเดินทางผิด
สำหรับแนวทางป้องกัน พล.ต.ท.พิศาล บอกว่า พ่อแม่ผู้ปกครอง ต้องให้ความสนใจ อบรมเลี้ยงดูลูกอย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะการคบหาเพื่อน ไม่ควรคบคนชั่วเป็นมิตร พยายามควบคุมการดูแลสื่อ และสอนให้เท่าทัน รู้จักฉลาดในการเลือกรับสื่อ และที่สำคัญ คือ ต้องสอนให้เท่าทันโลกไซเบอร์ อย่าไว้ใจคนในโลกออนไลน์
ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Anon Chantanant
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
...