สิบกว่าปีที่ผ่านมา เราได้รู้จัก และใช้งาน Social Media หลังเรารู้จักโลกอินเทอร์เน็ต ได้พักใหญ่ ข้อดี-ข้อเสีย ของ โลกโซเชียลฯ คือ Digital Footprint หมายถึง “รอยเท้าของเราบนโลกดิจิทัล” และมันจะไม่จางหายไป ฉะนั้นไม่ว่า “เรื่องดี” หรือ “ร้าย” มันก็จะตาม (หลอกหลอน) คุณไปจนวันตาย...

เด็กในวันนี้ คือ ผู้ใหญ่ในวันหน้า แต่จะเป็นอย่างไร เมื่อพ่อแม่ ที่เป็นผู้ใหญ่ในวันนี้ กลับก่อเรื่องและสร้างผลกระทบให้ลูกในอีก 10 ปีข้างหน้า เพียงเพราะใช้โซเชียลมีเดียอย่างไม่ระมัดระวัง ด้วยการโพสต์รูป ที่ไม่เหมาะสมลงไป

วันนี้ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ “หมอเดว” รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) และกุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเด็กและวัยรุ่น กับประเด็น “การใช้โซเชียลมีเดีย” ของคนเป็นพ่อแม่

ลูกไม่ใช่ “ทรัพย์สมบัติ” ของพ่อแม่ ฉะนั้น พ่อแม่อย่าเข้าใจผิด...

“การจะโพสต์รูปลูก เราต้องคำนึงสิทธิของเขาด้วย หากพ่อแม่เข้าใจว่า “ลูก” ไม่ใช่ “ทรัพย์สมบัติ” พ่อแม่ก็จะเคารพเกียรติและศักดิ์ศรี ซึ่งที่ผ่านมา การนำรูปที่ลูกยังเล็ก โดยเฉพาะตั้งแต่แรกคลอดจนถึงอนุบาล”

...

หมอเดว อธิบายว่า ลูกเราเขาก็มีชีวิตจิตใจ แม้เขายังเด็กแต่เขาก็มีสิทธิ เหมือนกับคนอื่นๆ เวลาเราจะเอารูปคนอื่นมาโพสต์เรายังขออนุญาตเขาก่อน ฉะนั้น เมื่อลูกเราโตขึ้นพอจะรู้ความ เราอาจจะต้องขออนุญาตเขาเช่นกัน

ประเทศไทยเรา มีการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลกันมาโดยตลอด กฎหมาย PDPA (พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ที่กำลังบังคับใช้ 1 มิ.ย. 65) ที่กำลังจะออก เวลาเราจะลงรูปใครเราจำเป็นต้องขออนุญาตเขา ซึ่งเจ้าของรูปมีสิทธิปฏิเสธได้

รศ.นพ.สุริยเดว ให้หลักคิดกับพ่อแม่ว่า สิ่งที่ต้องคำนึง คือเรื่อง “ความสร้างสรรค์” หรือไม่...ไม่ได้มีเจตนาเชิงลบ หรือ ทำร้าย เขา หรือไม่ และให้คำนึงถึงความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง

หากโพสต์รูปไปแล้ว เกิดความไม่ปลอดภัย เช่น ภาพโป๊ เปลือย หากวันหนึ่งลูกโตขึ้นมา รูปดังกล่าว อาจจะเป็นรูปที่ทำให้ถูกเพื่อนล้อเลียน ผลคือ เด็กได้รับผลกระทบทางจิตใจ โดยคนก่อเรื่องกลับเป็น “ผู้ปกครอง” ซึ่งพ่อแม่เองก็ไม่รู้ตัว บางทีถึงกับจำไม่ได้ ว่าเคยลงรูปแบบนี้เอาไว้

“ประเด็นแบบนี้จะตามมาตอนลูกโต พ่อแม่ควรจะไปถามลูกด้วยนะ รูปไหนที่ลงไปแล้ว แล้วไม่ชอบ ยกตัวอย่าง กรณี Facebook ลงรูปไป 8 ปีแล้ว ยังแจ้งเตือน ฉะนั้น เมื่อแจ้งเตือน ก็ลองกลับไปถามลูกหน่อยว่า “ชอบ” รูปเหล่านี้ไหม ควรลบหรือไม่ หากลูกไม่ชอบและอยากให้ลบ ก็ควรลบภาพนั้นออก เพราะเรื่องเหล่านี้ เป็นสิ่งที่พ่อแม่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจ เพื่อเคารพสิทธิของเขาได้”

ความสะเพร่า ของพ่อแม่ อาจสร้างแผลใจ อับอาย หรืออันตรายมาถึงตัว

การถ่ายรูปลูกตอนเป็นทารก มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง ถ้าถ่ายเก็บส่วนตัว จะถ่ายแบบไหนก็ได้ แต่การเลือกรูปมาลง เห็นหน้าได้ไหม "ผมว่าไม่น่ามีข้อห้ามอะไร เพียงแต่ว่า ภาพนั้นไม่เสี่ยงเรื่องความปลอดภัย สร้างสรรค์ เช่น แต่งตัวเหมือนตุ๊กตา แบบนี้ลงได้ หรือถ้าอยากทดสอบ ก็ลองถามเมื่อเขาโตขึ้นมา ว่าพ่อใช้ภาพนี้เป็น Facebook พ่อได้ไหม.."

หากเมื่อไหร่ก็ตาม ถ้าเราถ่ายรูปแล้วเกิดไปอยู่ในจุดเสี่ยง เช่น เห็นอวัยวะเพศ ถ้าจะโพสต์ลงโซเชียลฯ คำถามของหมอ คือ “โพสต์เพื่ออะไร”

...

เมื่อถามว่า สมัยก่อนก็มีการถ่ายรูป อัดรูปถ่าย วางไว้ในบ้าน หมอเดว บอกว่า การที่ไม่โพสต์ออกสู่สาธารณะ มันก็พอรับได้ แต่ใช่ว่าเรื่องแบบนี้จะเป็นเรื่องดี เพราะว่า มี “คนบาดเจ็บ” จากเรื่องราวเหล่านี้มาแล้วมากมาย เพราะคนในบ้านตัวเองเห็น คนในบ้านตัวเองนี่แหละเอามาบูลลี่กันเอง เป็นบ้านที่ไม่เคารพสิทธิกัน

“สิ่งที่เกิดขึ้น คือ คนที่ถูกคนในบ้านล้อ เขาก็รู้สึกอัดอั้น แต่ไม่สามารถพูดอะไรได้ นี่คือสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ต้องเรียนรู้ เพราะสิทธิส่วนบุคคลมีตั้งแต่แรกเกิดแล้ว เขาเรียกว่าสิทธิเด็ก เราต้องเคารพและให้เกียรติ”

การลงรูปแบบเห็นหน้าเห็นตา แบบนี้ก็เสี่ยง เพราะถ้าเด็กน่ารักมาก ก็อาจจะสุ่มเสี่ยงเรื่องการ “ลักพาตัว” มีการเอารูปไปตัดต่อ ทำไม่ดี ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะแก๊งมิจฉาชีพ

ถึงแม้ภาพเด็กโป๊เปลือยไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย แต่มันคือความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับตัวเด็ก หากมีการนำภาพไปใช้เพื่อบูลลี่กัน ก็อาจจะกลายเป็นการอับอายจนไม่สามารถอยู่บนโลกใบนี้ได้เลย บางคนถึงขั้นอับอาย กลายเป็นโรควิตกกังวล ซึมเศร้า ถึงขั้นฆ่าตัวตายก็มี ถึงแม้จะเจอไม่เยอะ สาเหตุเพราะ “ไซเบอร์บูลลี่” เพิ่งจะมากระหน่ำในช่วงหลัง

มีโอกาสเกิดได้ ถ้าไม่ระมัดระวัง ผลเสียและผลพวงจากอดีตในโซเชียลมีเดีย ที่เรากำลังใส่ข้อมูลวันนี้ 10 ปีข้างหน้า อาจจะกลายเป็นปัญหาของลูกเรา ว่าพ่อเอารูปลูกแบบนี้มาลงได้อย่างไร

ทีมข่าวฯ ถามว่า ปัญหาคนไทย ไม่ค่อยเข้าใจเรื่องเหล่านี้ หรือไม่ หมอเดว กล่าวว่า สังคมออนไลน์เติบโตเร็วมาก จนเรียนรู้กฎกติกา มารยาท ไม่ทัน อีกทั้ง กติกาเหล่านี้ไม่ได้ถูกสอนในระบบ “การศึกษา” เลย ให้คนไทยไปเผชิญเหตุเอาเอง

...

การเลี้ยงดูเด็ก ควรแบ่ง “พื้นที่ส่วนตัว” พ่อแม่พึงระวัง

นอกจากเรื่องโซเชียลมีเดียแล้ว หมอเดว ยังให้แง่คิดเกี่ยวกับการเลี้ยงดูลูก รวมไปถึงการให้พื้นที่ส่วนตัว และระมัดระวัง ไม่แตะต้องร่างกายเกินงาม

เด็กวัยรุ่นผู้หญิงจะเจริญเติบโตกว่าเด็กผู้ชาย 2 ปี ค่าเฉลี่ย การเข้าสู่วัยรุ่นในประเทศไทยอยู่ที่อายุ 10 ปี บวกและลบ 2 ปี หมายความว่าเด็กอายุ 8 ปีกว่าๆ ก็มีเต้านมแล้ว และหากมีเต้านม ภายใน 6 เดือน ก็จะมีขนที่หัวหน่าว.. ดังนั้น จุดต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นจุดสงวน หรือ พื้นที่ส่วนตัว

เท่ากับว่า โดยเฉลี่ย เด็กอายุ 9 ปี ขึ้นไป พ่อไม่ควรจะแตะบริเวณนี้ลูกสาวแล้ว จะมาจับเล่นไม่ได้แล้ว ตอนที่ลูกอายุ 6-7 ปี พ่อมาจับตัว โดนบริเวณนั้นลูกอาจจะยังไม่คิดอะไร

แต่พอทันทีที่เริ่มมีเต้านม พ่อก็ยังจับบริเวณนั้นอยู่ ซึ่งมันจะเป็นอย่างไร... แม้เด็กจะไม่คิดอะไร แต่ข้อสำคัญ คือ หากเป็นคนอื่นมาแตะเนื้อต้องตัวตรงนั้น เขาอาจจะไม่รู้สึกอะไรก็ได้ หากเป็นเช่นนั้น เท่ากับว่า เขาไม่รู้จักปกป้องตัวเอง

“หากพ่อไม่แตะเนื้อต้องตัวตรงนั้น ลูกที่เริ่มโตก็จะเรียนรู้ทันที ว่าพื้นที่เหล่านี้คนอื่นมาแตะไม่ได้ เพราะแม้แต่ผู้เป็นพ่อ ยังเคารพเลย”

...

เมื่อถามว่า พ่อแม่จุ๊บปากลูกได้ไหม นพ.สุริยเดว ตอบว่า ได้ครับ จะหอมเป็นฟอดก็ได้ แต่ไม่ใช่การจูบแบบดูดดื่ม ฉะนั้น ของสงวนมีอยู่ หากเป็นเด็กชาย ก็แค่อวัยวะเพศ ถ้าเป็นผู้หญิง ก็คือ อวัยวะเพศ เต้านม และจุดที่ต้องระมัดระวังคือ การจูบแบบมากไป และที่สำคัญคือ ต้องไม่เอาภาพเหล่านี้โพสต์ลงในโซเชียลมีเดีย Digital Print มันจะอยู่ตลอดกาล ซึ่งมันคือผลเสียด้านจิตใจในระยะยาว.

ผู้เขียน : อาสาม 

กราฟิก : sathit chuephanngam

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ