พญาแร้ง ป๊อก กับ มิ่ง ได้ฉลองวันวาเลนไทน์ 14 กุมภาพันธ์ปีนี้ ด้วยบรรยากาศใหม่ในกรงฟื้นฟูขนาดใหญ่ บนพื้นที่ป่าธรรมชาติบริเวณซับฟ้าผ่า กลางเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง จ.อุทัยธานี
ปฏิบัติการนี้เริ่มตั้งแต่ฟ้าสาง 6 โมงเช้า จนถึงช่วงสาย 9 โมงเช้า โดยเจ้าหน้าที่กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นำทีมนักวิจัยพญาแร้งจากองค์การสวนสัตว์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และมูลนิธิสืบนาคะเสถียร มาดำเนินการปล่อยพญาแร้งตัวผู้ที่ถูกตั้งชื่อว่า ป๊อก และมิ่ง พญาแร้งตัวเมีย ที่เจ้าหน้าที่เลี้ยงดูมาก่อนหน้านี้ สู่กรงฟื้นฟูขนาดใหญ่ 20x40 เมตร ความสูง 20 เมตร ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บริเวณซับฟ้าผ่า ภายใต้โครงการฟื้นฟูประชากรแร้งคืนถิ่น
...
ช่วงนาทีที่เจ้าหน้าที่ค่อยๆ นำพญาแร้งออกจากกล่องมายังกรงฟื้นฟู เมื่อเปิดกล่องพญาแร้งป๊อกได้บินขึ้นเกาะคอนไม้ จากนั้นได้กางปีกผึ่งแดดนานประมาณ 30 นาที แล้วเริ่มบินสำรวจกรงฟื้นฟูที่เป็นบ้านหลังใหม่ เกาะคอนไม้ที่อยู่สูงประมาณ 15 เมตร
สำหรับพญาแร้งมิ่ง พญาแร้งตัวเมีย ยืนนิ่งๆ แต่โดดเด่นด้วยหน้าอกที่เป็นลวดลายหัวใจ หลังออกจากกล่อง นานเกือบ 30 นาที กางปีกผึ่งแดด และเริ่มเดิน และบินต่ำรอบพื้นที่
เป็นปฏิบัติการตามความหวังในการเพิ่มจำนวนพญาแร้งในวันที่ 14 กุมภาพันธ์ วันวาเลนไทน์ ที่ยังเป็นวันครบรอบ 30 ปี รำลึกเหตุการณ์ที่สุดเศร้า ที่ฝูงพญาแร้งกว่า 30 ตัวตายยกฝูง จากการรุมกินยาเบื่อที่มีผู้ลักลอบนำมาใช้ดักเสือโคร่ง เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2535
พญาแร้งป๊อก อายุ 21 ปี ส่วนมิ่ง อายุ 15 ปี มีสุขภาพดี ก่อนหน้านี้ถูกนำมาดูแลเพื่อปรับสภาพที่สถานีเพาะเลี้ยงสัตว์ป่าห้วยขาแข้งเป็นเวลา 1 เดือน โดยปล่อยให้ทั้งคู่เกิดความคุ้นเคยกัน ทั้งคู่อยู่ในช่วงเจริญพันธุ์ ป๊อกนำ้หนัก 3.5 กิโลกรัม ส่วนมิ่งหนัก 6 กิโลกรัม ซึ่ง 8 วันที่แล้ว เจ้าหน้าที่ได้พามาจับคู่เทียบกันพบว่าไม่ตีกัน
...
...
เจ้าหน้าที่จึงคาดหวังว่าคู่รักพญาแร้ง จะวางไข่กลางป่าได้ภายใน 1-2 ปี ถือเป็นความหวังครั้งสำคัญในการฟื้นฟูประชากรพญาแร้งที่สูญพันธุ์จากป่าของไทยนาน 30 ปี