กลายเป็นประเด็นที่ถูกตรวจสอบ สำหรับปมการกว้านซื้อที่ดินกว่า 300 ไร่ ของอดีตมหาสมปอง ตาลปุตโต หรือ นายสมปอง นครไธสง ที่ จ.ชัยภูมิ ซึ่งล่าสุด สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อการเกษตร หรือ ส.ป.ก. ได้ออกมาระบุว่า ที่ดินส่วนใหญ่ของ "ทิดสมปอง" อยู่นอกเขต มีเพียง 1 แปลง ที่เกษตรกรยังคงทำประโยชน์อยู่ 

นอกจากประเด็นที่ดินแล้ว ยังมีเรื่องดราม่า กรณี การยกเลิกสัญญาการทำรายการกับ “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” หรือ นางพันธุ์ทิพา ศกุณต์ไชย เรียกว่ากำลังเจอมรสุมชีวิตอย่างหนัก หลังลาสิกขาเพียงเดือนเดียว กระแสความนิยมก็แปรเปลี่ยนไป

สิ่งที่เกิดขึ้น กำลังถูกเชื่อมโยงมองย้อนกลับไปตอนเป็น พระ ที่อันควรจะเป็น “สรณะ” แต่...ก็ต้องยอมรับว่าพระในยุคปัจจุบัน ย่อมแตกต่างจากในสมัยพุทธกาล เพราะ ทรัพย์สิน เงินทอง ในสมัยนี้ถือเป็นปัจจัยที่ 5 ในการดำรงชีวิต ซึ่งพระก็จำเป็นต้องใช้เงิน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสได้พูดคุยกับ รศ.ดนัย ปรีชาเพิ่มประสิทธิ์ อาจารย์สาขาวิชาปรัชญา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ที่เคยทำงานวิจัยเรื่อง “พระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว

วันลาสิกขา
วันลาสิกขา

...

ธรรมวินัยระบุ ทรัพย์สินของสงฆ์ ที่ถือครองได้ 

อาจารย์ดนัย เปิดเผยว่า หากมองตามธรรมวินัย ในแบบอุดมคติ “ทรัพย์สินของสงฆ์” ก็จะมีแค่ปัจจัย 4 ได้แก่ อาหาร (บิณฑบาต) เครื่องนุ่งห่ม (จีวร) ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย แต่เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนไป ความศรัทธาที่มากขึ้น ก็จะมีอุบาสก อุบาสิกา นำสิ่งของมาถวาย ซึ่ง พระพุทธเจ้า ก็ทรงอนุญาต แต่ในธรรมวินัยก็มีระบุอยู่ว่า “ภิกษุ” สามารถรับสิ่งของได้มากน้อยขนาดไหน...

โดยจากงานวิจัยพบว่า สิ่งของที่พระพุทธเจ้าอนุญาตเพิ่มเติม ตัวอย่าง พัดโบก พัดใบตาล ร่ม ไม้ชำระฟัน เครื่องโลหะเว้นเครื่องประกอบอาหาร หม้อน้ำ ไม้กวาด ที่เช็ดเท้าทำด้วยหิน กรวด กระเบื้อง หินฟองน้ำ มีด เข็ม เครื่องกรองน้ำ รัดประคด มีดตัดจีวร เครื่องมือโกนผมทุกอย่าง ไม้แคะหู ไม้กลัดจีวร เป็นต้น 

ทั้งนี้ อาจารย์ดนัย ได้สรุปงานวิจัย ว่า ทรัพย์สินของพระสงฆ์ นั้น ควรจะเพียงพอดำเนินไปตามอัตภาพ อะไรที่เป็นที่เป็นสิ่งของใหญ่ๆ เช่น ที่ดิน รถยนต์ พระพุทธองค์ ทรงอนุญาตให้ “รับได้” แต่...ควรจะเป็นของกองกลาง ของวัด ไม่ใช่ของสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่ง

“ในความเป็นจริง ก็มีกฎหมายแพ่งฯ ที่เกี่ยวกับคณะสงฆ์อยู่หลายมาตรา แต่ประเด็นคือ หากเราจำเคสกรณี พระผู้ใหญ่องค์หนึ่ง ที่มีญาติโยมนำที่ดินมาถวายวัด แต่พระผู้ใหญ่องค์นั้น เอาไปใช้ในชื่อตัวเอง แบบนี้ทำไม่ได้ เพราะทรัพย์สินอสังหาริมทรัพย์อย่าง “ที่ดิน” ยังไงพระพุทธเจ้าก็ตรัสว่าควรเป็นของกองกลาง”

**หมายเหตุ ตามมาตรา 1623 กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ : ทรัพย์สินของพระภิกษุที่ได้มาในระหว่างเวลาที่อยู่ในสมณเพศนั้น เมื่อพระภิกษุนั้นถึงแก่มรณภาพให้ตกเป็นสมบัติของวัดที่เป็นภูมิลำเนาของพระภิกษุนั้น เว้นไว้แต่พระภิกษุนั้นจะได้จำหน่ายไปในระหว่างชีวิตหรือโดยพินัยกรรม**

ทิดสมปอง แถลงเล่าความจริง
ทิดสมปอง แถลงเล่าความจริง

แต่กรณีของ “ทิดสมปอง” ที่บอกว่าเอาเงินไปซื้อที่ดิน อาจารย์ดนัยบอกว่า แบบนี้หนักเลย ถือว่าทำผิดวินัย เพราะการบวชก็เพื่อ “ละทางโลก” อยู่พอเพียง บำเพ็ญเพียร แต่การบวชและกลายเป็นพระที่มีชื่อเสียง แล้วนำเงินตรงนี้ไปผัน ด้วยการซื้อที่ดิน ก็ถือเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ซึ่ง...ก็ไม่ใช่แค่ “ทิดสมปอง” คนเดียวที่ทำลักษณะนี้ หากมีการตรวจสอบจริงๆ เราอาจจะได้เห็น “พระผู้ใหญ่” หลายๆ องค์ก็ทำแบบนี้

หากเราไปดูหลายๆ วัด ที่เป็นวัดดัง มีหลวงพ่อ หลวงปู่ ที่มีชื่อเสียง เราก็อาจจะพบเคสลักษณะนี้ ซึ่ง “ทิด” เองก็เหมือนเป็น “กลไก” ที่ทำให้เราเห็น “พื้นที่สีเทา” ที่เราไม่รู้ว่าเวลาญาติโยมบริจาคมาแล้วเงินไปอยู่ที่ใคร

นอกจากนี้ อาจารย์ดนัย ยังเล่าเบื้องหลังการทำวิจัย เมื่อปี 2553 ให้ฟังว่า การลงพื้นที่บางวัด ถึงขั้นมี “กรรมการวัด” มาฟ้องเรื่องฉาวต่างๆ เช่น พระผู้ใหญ่ในวัดแอบส่งเสียเมีย แอบมีเมีย นำเงินไปส่งเสียลูกไปเรียนเมืองนอกก็มี ซึ่งถือเป็นคำกล่าวหาโดยไม่มีหลักฐานใดๆ ซึ่งถามว่ามีโอกาสเป็นไปได้ไหม คำตอบคือ “มี” เพราะระบบตรวจสอบเรื่องเหล่านี้ไม่มีความชัดเจน หน่วยงานต่างๆ เองก็ไม่มีอำนาจ ไม่สามารถเข้าไปล้วงลูกได้

...

“ขนาดสำนักพุทธ ที่มีอำนาจโดยตรง ที่สามารถตรวจสอบรายรับ-รายจ่ายของวัด ก็ทำหน้าที่ไป ถือว่าทำงานตามระเบียบ กรณีข่าวที่เกิดขึ้นมา ก็เหมือนเราได้เห็น “ยอดภูเขาน้ำแข็ง” ที่มีการสะท้อนให้เห็นว่า “วงการสงฆ์” กำลังมีปัญหาเรื่อง “ความโปร่งใส” ด้านการเงิน

“พระสงฆ์” กับการสะสมทรัพย์สิน

ทีมข่าวถามในภาพรวมว่า “พระสงฆ์” สามารถสะสมทรัพย์สินได้หรือไม่ คำตอบคือ ตามพระวินัย ไม่ได้ เพราะพระพุทธเจ้าอนุญาตแค่อัฐบริขาร หากจะโฟกัสไปที่เงินทอง หากเป็นพระที่เคร่งจริงๆ ก็จะไม่รับเงินทองด้วยซ้ำไป นอกจากรับไม่ได้แล้ว พระพุทธองค์ ยังไม่อนุญาตให้นำเงินทองไปแลกเปลี่ยนซื้อขายด้วย

“หากยึดตามวินัย รับเงิน = ผิดวินัย, เอาเงินไปซื้อของ = ก็ผิดวินัย เรียกว่าอาบัติ “นิสสัคคิยปาจิตตีย์” โดยอาบัติชนิดนี้จะพ้นได้ก็ต่อเมื่อมีการสละออกจากตัว แต่ในทางปฏิบัติก็ไม่มีใครทำ เพราะทุกวันนี้ พระก็มีความจำเป็นในการใช้เงิน ซึ่งไม่ว่าพระองค์ใด เมื่อบวชได้เงินมา ก็เอาเงินไปใช้”

ต้องยอมรับว่า พระ...ถ้าดัง ก็เป็นช่องทางทำมาหากินได้ ที่ผ่านมา ก็เลยมีนักการเมืองคนหนึ่งพยายามเสนอเก็บภาษีพระ แต่ก็โดนกระแสสังคมต่อต้าน เพราะพระไม่ได้รวยทุกองค์ นอกจากนี้ หากเราเก็บภาษีพระ ก็จะแปลว่าเรายอมรับว่า “พระ” คือ “อาชีพ” ซึ่งความจริง พระเหมือน “องค์กรไม่แสวงหากำไร” เหมือน NGO ดังนั้น หากพระกลายเป็นอาชีพ ก็จะขัดกับอุดมคติในพระพุทธศาสนา

เมื่อถามว่า คนรุ่นใหม่ก็ยอมรับว่า “พระ” เป็น “อาชีพ” ได้ รศ.ดนัย บอกว่า หากพูดกันแฟร์ๆ พระบางองค์ก็อาจจะบวชด้วยความศรัทธาจริงๆ ก็มี แต่ถ้ามีการยอมรับแบบนั้นก็อาจจะสะเทือนอัตลักษณ์และความศรัทธา

...

พระช่วยเหลือครอบครัว ซื้อที่ดิน ขัดต่อสมณวิสัย

คำตอบของคำถามนี้ก็คล้ายเดิม คือตามอุดมคติในสมัยพุทธองค์ย่อมไม่ได้ ยกเว้น จะมีการเรี่ยไรนำไปช่วยบุพการีที่กำลังป่วย หรือไม่มีคนดูแล แต่เมื่อเงินเป็นปัจจัยที่ 5 ก็สามารถทำได้ เราจึงเห็นข่าวพระกตัญญู นำเงินไปส่งเสียพ่อแม่ เรื่องแบบนี้มันก็อาจจะเปลี่ยนรูปแบบและแนวคิด

“หากมีการใช้เงินอย่างเหมาะสม มันก็ใช่ แต่กรณี ใช้เงินซื้อที่ดิน 300 ไร่ มันจะดูมากไปไหม..? มันดูขัดต่อสมณวิสัย หรือกิจบางอย่างที่ทำ เช่น ไปทำทีมฟุตบอล แบบนี้ก็ไม่ตรงกับพุทธศาสนา หรือแม้แต่การแปลงเพลง ซึ่งปกติแล้ว ฆราวาสถือศีล 8 ก็ห้ามฟังเพลงแล้ว ซึ่งท่านนำเพลงมาแปลง เป็นเนื้อธรรม แทรกมุกตลกลงไปได้ ซึ่งก็แปลว่าท่านฟังเพลง เอาจริงๆ มันก็ดูขัดต่อการเป็นพระแล้ว”

ข้อเสนอแนะ “ปฏิรูปวงการสงฆ์” ที่อาจจะทำจริงได้ยาก

อาจารย์ดนัย ยอมรับว่า เคยเสนอแนวทางการปฏิรูปวงการสงฆ์ในประเด็นทรัพย์สินไปแล้ว แต่ก็ยอมรับว่า อาจจะทำจริงได้ยาก โดยได้อธิบายว่า สิ่งที่เสนอไปอาจจะดูเป็น “อุดมคติ” เกินไป ยกตัวอย่างวัดในประเทศไทย บางวัดก็รวยเอาๆ บางวัดก็จน กระทั่งไม่มีเงินจ่ายค่าน้ำไฟ เช่น เราเห็นข่าว วัดติดหนี้ผู้รับเหมา โดยทำนุบำรุงซ่อมแซมแล้วไม่มีเงินจ่าย โดยเจ้าอาวาสบางรูป หวังว่าจะทอดผ้าป่า กฐิน มาจ่าย แต่ก็ไม่ได้ยอดตามเป้า เป็นต้น พระบางรูปเครียดมากถึงกับฆ่าตัวตายก็มี สิ่งที่เกิดขึ้น คือ แม้แต่วงการสงฆ์ ก็มีความเหลื่อมล้ำ เช่น วัดไหนมีพระดัง มีของศักดิ์สิทธิ์ ลาภสักการะ ก็เข้า

...

“ทางที่จะเป็นไปได้ ที่เสนอในงานวิจัย คือ การตั้งหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง อาจจะเรียกว่า “ทรัพย์สินพระพุทธศาสนา” ก็ได้ ส่วนเงินบริจาคที่เป็นของวัด ก็ควรจะโอนเข้าส่วนกลาง มีคณะกรรมการทรงที่ดี เป็นคนดูแล แล้ววัดไหนมีโปรเจกต์อะไร ก็เขียนรายงานเข้ามา ว่าต้องการงบเท่าไร ซึ่งเหมือนเป็นการกระจายเงิน ทางวัดก็ไม่จำเป็นต้องลำบาก แต่ทางวัดก็ควรสร้างผลงานหน่อย มีคณะกรรมการช่วยกลั่นกรอง และมีการจัดสรรงบประมาณที่โปร่งใส เพราะทั้งหมดก็เหมือนทรัพย์สินของพระพุทธศาสนา หากทำลักษณะนี้ก็อาจจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำของวัดได้ด้วย”

อาจารย์ดนัย กล่าวว่า ที่ผ่านมา วัดใหญ่ๆ ดีๆ เยอะ เขาอาจจะมีการนำเงินไปช่วยสร้างโรงพยาบาล หรือโรงเรียน แต่ถ้าให้ตรงวัตถุประสงค์ ในการช่วยเหลือศาสนาด้วยกัน ก็น่าจะนำเงินมาอุดหนุนวัดจนๆ

ขอบคุณภาพ : facebook สมปอง นครไธสง
ขอบคุณภาพ : facebook สมปอง นครไธสง

พระสงฆ์ เงินทองดั่ง "อสรพิษ" ศาสนาพุทธ ยุคทุนนิยม ทำ "ไตรสรณคมน์" สะบั้น 

ปัจจัยเรื่อง “ทรัพย์สิน” มีผลต่อการทำให้เกิดการแตกแยก ในวงการสงฆ์หรือไม่ รศ.ดนัย บอกว่า เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ยากมาก เพราะหากทำอะไรลงไป ก็อาจจะกระทบต่อภาพลักษณ์ ศรัทธา และผลประโยชน์ ที่ผ่านมา เคยมีข่าวว่า วัดเองกลายเป็นแหล่งฟอกเงิน เช่น บริษัทตรวจสอบบัญชีที่มีคอนเน็กชันกับทางวัด ขอใบอนุโมทนา เพื่อมาลดหย่อนภาษี ก็มี ซึ่งก็คล้ายกับแดนสนธยา

ปัจจุบัน แนวคิดทุนนิยมที่ครอบงำวงการสงฆ์ ส่งผลให้วัดเร่งหาประโยชน์? เจ้าของงานวิจัย “พระสงฆ์กับทรัพย์สินส่วนตัว” ตอบว่า ใช่ เพราะทำให้พระบางรูปไม่เคารพธรรมวินัย เช่น วัดพุทธ แต่นำเทพศาสนาอื่น มาไว้ในวัด ว่ากันตามจริงคือ การทำแบบนี้เรียกว่า “ไตรสรณคมน์” ขาด แค่เราเป็น ชาวพุทธ หากเราไปไหว้เทพศาสนาอื่น ก็ถือว่า “ไตรสรณคมน์” ขาดเช่นกัน เพราะศาสนาพุทธสอนให้ระลึกถึง พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ แต่กลายเป็นว่า “วัด” ในศาสนาพุทธ ดันทำเสียเอง กลายเป็น “การตลาดแบบรูปผสม” ผลิตวัตถุมงคลต่างๆ ออกมา

“พระ” ควรจะเป็นผู้นำจิตวิญญาณ ผู้นำทางความคิด จะมาบอกว่าทำตามศรัทธาญาติโยม กลับกัน ถ้าพระกระทำแบบนั้น แสดงว่าเป็น พระที่เห็นแก่ลาภ ใช่หรือไม่ ก็ควรจะถูกตั้งคำถาม?

ธรรมมะของพระพุทธองค์ สอนให้เราสละ ละทิ้ง แต่พระบางองค์ในปัจจุบัน ยิ่งบวช ยิ่งรวย แบบนี้ใช่หลักพุทธหรือไม่ พระพุทธเจ้า ทิ้งวัง ทรัพย์สินเงินทอง แต่พระยุคหลังพุทธกาล รวยเอาๆ เหมือนพระไปแสวงหาสิ่งที่พระพุทธเจ้าสอนให้ทิ้ง...เรื่องแบบนี้ในพระสูตร มีเยอะ ยกตัวอย่าง กรณีพระพุทธเจ้าชี้ให้พระอานนท์ดู คนทำเงินตกอยู่ พระพุทธเจ้าบอกว่า “อานนท์ ท่านเห็นอสรพิษไหม” เงินทอง เหมือนอสรพิษ เป็นสิ่งที่พระสมณะไม่ควรยุ่ง แต่ในทางปฏิบัติในยุคปัจจุบันนั้นทำได้ยาก...

ผู้เขียน : อาสาม 

กราฟิก :  Varanya Phae-araya

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ