จากกรณีเพจ “หมอเวร” ที่โพสต์ระบุข้อความว่า มีคนติดดอย จากการจองวัคซีนโควิด-19 กับโรงพยาบาลเอกชน จะขอคืนเงินก็ไม่ได้ แถมวัคซีนก็ใกล้หมดอายุ โดยระบุ 2 มุมว่า
1. คนที่ไม่ได้ฉีดตามเวลาที่กำหนด เพราะเข้าใจว่าอีกนานกว่าจะถึงคิวตัวเอง มีคิวฉีดตัวไหนก็ฉีดๆ ไปก่อน พอฉีดเสร็จดันชนกับคิวฉีดวัคซีนที่จองไว้ของ รพ.เอกชนพอดี ก็ต้องพยายามขายวัคซีนออกให้ได้ หรือไม่ก็ต้องหาคนรู้จักมารับไม้ต่อสิทธิ์ที่ตัวเอง F เอาไว้ก่อนหน้านี้ ซึ่งกรณีนี้ก็น่าเห็นใจอยู่
2. อีกกลุ่มคือคนที่ได้คิววัคซีนที่จองแล้ว แต่ตั้งใจไปฉีดของฟรี แล้วพยายามเนียนขอเงินคืนกับวัคซีนที่ตัวเองจองไว้แล้วที่ รพ.เอกชน เคสหลังเนี่ยพูดกันตรงๆ ว่าจะโทษ หรือเรียกร้องอะไรไม่ได้ เนื่องจากเลือกที่จะทิ้งเอง เหมือนกับเราจองตั๋วเครื่องบิน หรือจองโรงแรมไว้ แต่อยู่ๆ เกิดเหตุให้ไปไม่ได้ เลยต้องจำใจทิ้งตั๋วนั่นแหละ ซึ่งแบบนั้นเราก็ไม่สามารถไปเรียกร้องให้โรงแรม หรือสายการบินคืนเงินค่าตั๋วให้เราได้จริงมั้ย
...
ในเรื่องนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ตรวจสอบกับ นพ.เฉลิม หาญพาณิชย์ ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอก เชน ฮอสปิทอล จำกัด (มหาชน) และ นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน เปิดเผยว่า สำหรับเครือโรงพยาบาลของตนไม่มีปัญหาที่ว่านี้เลย เนื่องจากผู้ที่จองส่วนใหญ่จะเป็นลักษณะโรงงานอุตสาหกรรมใหญ่ๆ และที่ผ่านมาเราจัดฉีดให้กับผู้จองอย่างต่อเนื่อง บางคนขอ Walk in เข้ามาชำระเงินก็ฉีดวัคซีนได้เลย โดยฉีดวันละ 8,000-13,000 คน บางส่วนจะเป็นการโอนสิทธิ์ให้คนอื่น เนื่องจากวัคซีน “โมเดอร์นา” สามารถฉีดให้กับเด็กตั้งแต่อายุ 12-17 ปี
“แต่สำหรับโรงพยาบาลเอกชนอื่นๆ หมอไม่ทราบว่าค่ายอื่นบริหารกันยังไง...เพราะที่ผ่านมาก็มีข่าวว่า จะเก็บเงินเพิ่มก็มี เราก็พยายามทักท้วงไปในนามสมาคมโรงพยาบาลเอกชนแล้ว”
เมื่อถามว่า ในนามเอกชน เราควบคุมไม่ได้หรือ นพ.เฉลิม บอกว่า ได้ขอความร่วมมือไปแล้ว ที่ผ่านมาหลายโรงพยาบาลอาจจะกังวลเรื่อง “วันหมดอายุ”
ซึ่งนี่คือประเด็นสำคัญอีกเรื่อง ที่ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ถามคุณหมอเฉลิม ซึ่งนายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ระบุว่า เอาตามทฤษฎีเลย วัคซีนที่นำเข้ามา เราสามารถบริหารจัดการและฉีดทันก่อนหมดอายุอยู่แล้ว และที่ผ่านมาวัคซีน “ลอตเก่า” ก็มีการขอทาง อย. ก็ยืดอายุการใช้งานเพิ่มขึ้นจาก 6 เดือน เป็น 9 เดือน โดยยึดจากมาตรฐานการผลิต และการจัดเก็บจากโรงงานถึงไทย
“ทั้งนี้ โรงพยาบาลเรามีสถานที่เก็บในความเย็น -20 องศาฯ อยู่แล้ว แต่สำหรับบางโรงพยาบาลที่ไม่มีที่เก็บ ก็สามารถฝากที่ “ซิลลิค ฟาร์มา” ได้ เพราะตอนที่ซื้อ รวมราคาค่าประกันและการจัดเก็บอยู่แล้ว”
นพ.เฉลิม กล่าวว่า รัฐบาลเขาจะใช้ไฟเซอร์เป็นหลัก ส่วนทางเอกชนจะซื้อโมเดอร์นา ซึ่งปัจจุบันมีการนำเข้ามาแล้วกว่า 5 ล้านโดส และจะมีตามมาในก่อนเดือนเมษายนอีกกว่า 3 ล้านโดส
“เวลานี้ วัคซีนโมเดอร์นา ของภาครัฐน่าจะหมดแล้ว ผมเข้าใจอย่างนั้น ซึ่งการเลือกฉีดวัคซีนขึ้นอยู่กับประชาชน บางคนเขาก็มองว่า “โมเดอร์นา” ดีที่สุด ประชาชนมีสิทธิ์ที่จะเลือก”
สาเหตุ “คืนเงิน” ไม่ได้ แต่ใช้วิธีการโอนสิทธิ์
ทีมข่าวฯ จึงถามย้อนไปว่า เพราะอะไรถึงไม่สามารถคืนเงินได้ แต่ใช้วิธีการโอนสิทธิ์ นพ.เฉลิม อธิบายว่า ตอนที่สั่งจองซื้อวัคซีน เราจำเป็นต้องใช้เงินสดไปดำเนินการซื้อผ่านองค์การเภสัชกรรม ซึ่งเราอยากได้กี่โดส เราก็ต้องจ่ายตามนั้น โดยยึดว่าเป็น “จองตามความต้องการที่ตัวเองจะบริหารจัดการได้”
ฉะนั้น มาตรการของการจัดซื้อ “จึงไม่รับคืนเงิน” เพราะเราเองก็จ่ายเงินไปหมดแล้ว และทุกครั้งที่สั่งจอง เงินต้องไปก่อน 100% นี่คือสิ่งที่อยากจะบอกตรงๆ คือ “ใจเขา ใจเรา”
...
ดราม่า จ่ายเต็มโดส ได้ฉีดครึ่งโดส ชี้ ไม่ควรทำ
กับคำถาม “จ่ายเงินราคาเต็ม” แต่ฉีดใต้ผิวหนังครึ่งโดส คุณหมอเฉลิม อธิบายว่า การฉีดลักษณะใต้ผิวหนัง ต่างประเทศจะฉีดเป็น “booster” เนื่องจากในประเทศสหรัฐฯ เขาฉีดโมเดอร์นากับไฟเซอร์มาโดยตลอด เวลาฉีด “booster” เขาจึงฉีดครึ่งโดสได้ แต่ประเทศไทย ถ้ามีการฉีดเชื้อตายมา ไม่ควรฉีดครึ่งโดส ควรจะฉีด “เต็มโดส”
“การฉีดครึ่งโดสนั้น “องค์การเภสัชกรรม” กำลังพิจารณาเรื่องนี้อยู่ เพราะความจริงทางโมเดอร์นาเองยังไม่มีการแนะนำในลักษณะนี้เลย...
แต่บางแห่งฉีดครึ่งโดสกันแล้ว นพ.เฉลิม ตอบว่า พบว่ามี 2 แห่ง โดยเฉพาะโรงพยาบาลขนาดเล็ก ซึ่งมีการแจ้งเตือนไปแล้วว่าไม่ควรทำ และมีการส่งเรื่องให้ทาง อย.พิจารณาแล้ว เพราะตอนที่ประชาชนสั่งซื้อเรา ไม่ได้ซื้อครึ่งโดส ซึ่งก็ควรเช็กกับเจ้าของวัคซีนก่อนฉีด.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ
...