ฉันจะไปก่อน ไม่รอแล้วนะ... WHO
เมื่อวานนี้ ( 27 ม.ค.65) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 โดยมีวาระเห็นชอบหลายเรื่อง แต่ประเด็นสำคัญคือ...
เห็นชอบแนวทางการพิจารณาให้โรคโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น (endemic disease) มีหลักเกณฑ์และค่าเป้าหมาย เช่น ผู้ป่วยรายใหม่ไม่เกิน 10,000 ราย/วัน อัตราป่วย-ตาย น้อยกว่าร้อยละ 0.1 การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล น้อยกว่าร้อยละ 10 และประชาชนมีภูมิต้านทานเพียงพอ กลุ่มเสี่ยงป่วยรุนแรงได้วัคซีนอย่างน้อย 2 โดส มากกว่า 80% (ปัจจุบันฉีดแล้ว 70-75%) เป็นต้น ซึ่งหากสถานการณ์เหมาะสมและเข้าหลักเกณฑ์ที่กำหนด กระทรวงสาธารณสุขจะมีการประกาศแจ้งให้ทราบอีกครั้ง
โดยที่ประชุมวันนั้น นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข ย้ำว่า ได้มอบหมายให้กระทรวงสาธารณสุขไปบริหารจัดการเพื่อนำไปสู่โรคประจำถิ่นภายในปีนี้ ทั้งนี้ ในเรื่องการกลายพันธุ์ของสายพันธุ์ต่างๆ รวมถึงสถานการณ์โลก เป็นอีกปัจจัยที่ต้องพิจารณาประกอบด้วย แต่คงไม่ต้องรอให้องค์การอนามัยโลก (WHO) ประกาศก่อน เพราะขณะนี้เราได้ดำเนินมาตรการหลายด้านไปก่อนแล้ว
ทั้งนี้ มีการเปิดเผยต่อมาว่า ได้มีการวางหลักเกณฑ์ไว้ 2 เฟส คือ 6 เดือนแรก และ 6 เดือนหลัง หากไม่มีเชื้อกลายพันธุ์ ประมาณ 6 เดือน เข้ามา มีการฉีดวัคซีนที่ครบ การควบคุมโรค และกฎหมายรต้องสอดคล้องกัน
...
คำถามคือ หากกลายเป็น “โรคประจำถิ่น” หากป่วยโควิด-19 เราจะเสียสิทธิ์การรักษาหรือไม่ ต้อง “เสียเงิน” รักษาเองไหม นอน Hospitel ได้หรือเปล่า ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีโอกาสพูดคุยกับ นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และ ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.)
นพ.จเด็จ เปิดเผยว่า การผลักดันให้โควิด เป็นโรคประจำถิ่น ตรงนี้ยังเป็น “หลักการ” คือการตั้งเป้าในอนาคต คือต้องติดเชื้อไม่เกิน 1 หมื่น ฉีดวัคซีนเกิน 70% แต่เราจะไม่ปล่อยให้ไวรัสแพร่เชื้อวิวัฒนาการ แต่เรามีการจัดการควบคุม ซึ่งก็มีกรอบการทำงานอยู่ เช่น การรณรงค์ให้มาฉีดวัคซีน ยังให้ทุกคนใส่หน้ากากอนามัย โดยจะมีการวางแผนให้โรคระบาดนี้ สงบลงใน “บริบทของเมืองไทย”
หากเป็น โรคประจำถิ่น มีผลกระทบต่อการรักษาพยาบาล? เลขาฯ สปสช. กล่าวว่า เรายังมีกรอบในการรักษาพยาบาลพี่น้องประชาชน หากพบว่า ประชาชนติดโควิด เราก็ยังต้องดูแลเรื่องรักษาพยาบาล โดย สปสช. ที่สนับสนุนงบประมาณให้หน่วยงานต่างๆ ก็ยังต้องดูแลปกติ เพียงแต่ในอนาคต อาจจะมีการ “ปรับรูปแบบ”
สปสช. ยังดูแลสิทธิ์รักษา แต่วิธีการอาจเปลี่ยนไป
เลขา สปสช. ระบุว่า เมื่อก่อนคนป่วยโควิด ต้องถูกรักษาที่โรงพยาบาล แต่จากการสังเกตการรักษาโควิดสายพันธุ์โอมิครอน เราพบว่าสามารถรักษาที่บ้านได้ เราทำให้สังคมยอมรับได้ว่า “หากป่วยไม่รุนแรง” สามารถรักษาตัวที่บ้านได้ ถึงแม้จะพบผู้ป่วยเยอะ แต่หากไม่รุนแรง ในอนาคตก็จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นได้
“ยืนยันว่า หากโควิดเป็นโรคประจำถิ่นในอนาคต ก็จะไม่กระทบในส่วนการรักษาพยาบาล เพราะระบบการคลัง ระบบ สปสช. ยังคงเข้าดูแล และก็มีการดูแลคนป่วยโรคอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่โควิดอย่างเดียว เพราะคนไทยทุกคนย่อมมิสิทธิ์การรักษาสิทธิ์ใดสิทธิ์หนึ่งอยู่แล้ว บัตรทอง ประกันสังคม บัตรข้าราชการ เป็นต้น แม้แต่วัคซีน ก็ยังมีให้ฉีด แบบ “ไม่คิดมูลค่า” อยู่”
เน้น home isolation ส่งข้าว 3 มื้อ ยา ขอความร่วมมือกักตัว
นพ.จเด็จ ยืนยันว่า สิทธิ์ในการรักษาพยาบาลสำหรับผู้ป่วยโควิดยังคงอยู่ การกักตัวอยู่บ้าน จะเป็นลักษณะขอความร่วมมือ อาหาร 3 มื้อ ยังมีการส่งให้ปกติตามขั้นตอน home isolation หากป่วยหนัก ก็ต้องนำตัวมารักษาโรงพยาบาลตามขั้นตอน
“นักวิชาการทางการแพทย์ยืนยันว่า อยากให้ใช้มาตรฐานนี้อยู่ เพราะบริบทของประเทศไทยจำเป็นต้องใช้วิธีนี้”
ส่วนเรื่องการกักตัว ที่ผ่านมา เราขอความร่วมมือ หากป่วยก็ขอให้อยู่บ้าน แต่ปัจจุบัน ก็ยังมีคนร่วมมือ และไม่ให้ความร่วมมือ เฉกเช่น ประเด็นการฉีดวัคซีน บางประเทศเขามีบทลงโทษ คนที่ไม่ฉีดวัคซีน แต่ประเทศไทยไม่มี
...
ยังชดเชยผลกระทบจากวัคซีน
ในเรื่องการจ่ายชดเชยวัคซีน หากมีการฉีดแล้วเสียชีวิต เลขา สปสช. กล่าวว่า เนื่องจากวัคซีนโควิดที่ใช้กันอยู่ ถือว่าอยู่ในระดับ “การทดลอง” แต่ถ้าวันหนึ่ง วัคซีนมีการพัฒนา จนไม่อยู่ในระดับทดลอง การชดเชยก็จะเข้าสู่ในเกณฑ์ปกติ ซึ่งที่ผ่านมา การฉีดวัคซีนแล้วเสียชีวิต ก็มีการชดเชยอยู่
ตาม หลักประกันสุขภาพ มาตรา 41 เมื่อเกิดเหตุการณ์ใดที่เป็นเหตุสุดวิสัยจากการรักษา ผู้เสียหาย สามารถเรียกร้องค่าเสียหาย ซึ่งเป็น “ค่าชดเชย” เบื้องต้นได้ ซึ่งที่ผ่านมา เราใช้กฎหมายนี้ประยุกต์ใช้กับการฉีดวัคซีนโควิด ซึ่งที่จริงเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่
“ที่ผ่านมา เรามีการชดเชยให้กับผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการฉีดวัคซีนอื่นอยู่แล้ว แต่กรณีโควิด ถือเป็นปรากฏการณ์ เพราะไม่มีครั้งไหนเลย ที่เราต้องให้คนทั้งประเทศมาฉีดวัคซีน ฉะนั้น ถือเป็นสิ่งที่เราดูแล”
หากเป็นโรคประจำถิ่น Hospitel อาจไม่ครอบคลุม
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เปิดเผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า Hopitel เกิดขึ้นตาม พ.ร.บ.สถานพยาบาล ที่ รมว.สาธารณสุข ได้ประกาศลงนาม แม้อนาคตจะมีการประกาศให้ โควิด-19 กลายเป็นโรคประจำถิ่น Hospitel ก็ยังอยู่
...
“แต่การมี Hospitel จะเป็นคนละส่วนกับ ค่าใช้จ่ายในสถานบริการเอกชน (UCEP-COVID) ซึ่งเดิมมีการประกาศให้ โควิด-19 เป็นโรคอันตรายร้ายแรง ก็จะมีการดูแล แต่หากมีการถอน กลายเป็นโรคประจำถิ่น การรักษาพยาบาล ก็จะต้องไปรักษาตามสิทธิ์ของตัวเอง หรือ ตามกองทุนที่เกี่ยวข้อง หากมีประกันและรักษาตัวที่โรงพยาบาลเอกชนก็อาจจะมีการส่งตัวรักษาต่อได้ แต่ถ้าไม่มีก็ไปตามสิทธิ์การรักษา” ทพ.อาคม กล่าว
แผนแจก ATK ยังมี ขั้นตอน ตรวจสอบยังอยู่ แต่อาจไม่จำเป็นต้องแจ้งทางการ
นพ.จเด็จ กล่าวต่อว่า อนาคต สปสช. ก็จะผลักดันเรื่องการตรวจ ATK ต่อไป โดยวันที่ 7 ก.พ.นี้ จะนำเรื่องเข้าหารือ เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนได้มี ATK ได้ตรวจเอง ไม่ใช่ว่า รู้สึกป่วยแล้ววิ่งเข้าโรงพยาบาลกันทุกคน โดยเรายังมีแผนกระจายไปยังหน่วยต่างๆ โดยเฉพาะร้านขายยา เพราะถือว่าสะดวก
มีกำหนดหลักการไว้หรือยังว่าจะมีการแจกประชาชน 1 คน กี่ชิ้น/เดือน
เรามีตัวเลขทางวิชาการแล้ว แต่สิ่งที่เป็นกังวล คือ หน่วยที่จะรับแจกมากกว่า เพราะบางพื้นที่ มีร้านยาน้อย หรือ ร้านยาบางร้านไม่รับแจก
...
แต่ในส่วนการเก็บข้อมูลผู้ป่วยนั้น ระบบ สปสช. ได้มีการจัดการเก็บระบบอยู่แล้ว และปัจจุบัน ข้อมูลก็หลั่งไหลเข้ามาเอง แต่หากมีการลดระดับเป็นโรคประจำถิ่น ข้อกำหนดที่ว่าเราต้องแจ้งทางการ อาจจะไม่จำเป็น แต่ในด้านข้อมูลก็จะมีการเก็บต่อไป
“ไม่ว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร ระบบการรักษาพยาบาลของเราก็ยังอยู่ ไม่ว่าจะเผชิญกับโรคอะไร”
ทีมข่าวถามว่า แสดงว่าทางกระทรวงสาธารณสุข มองว่า “โอมิครอน” ไม่อันตรายร้ายแรง นพ.จเด็จ กล่าวว่า การติดเชื้อโอมิครอนมีเพิ่มขึ้นตลอด แม้ตัวเลขเพิ่มขึ้น แต่กระทรวงสาธารณสุขคงประเมินแล้ว ว่าไม่มีกระทบต่อการให้บริการ แม้จะมีคลัสเตอร์หลายแห่ง แต่ก็มีทิศทางในการควบคุมได้ แต่ทั้งหมดมันก็อาจจะเปลี่ยนแปลงได้ ซึ่งเราก็พยายามคิด และหาทางออกในทางวิชาการ
“ประเทศเราไม่เหมือนประเทศอื่น ประชาชนให้ความร่วมมือ หมั่นล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยเต็มที่ เว้นระยะห่าง แต่อาจจะยังกินข้าวร่วมกัน แต่อัตราผู้ป่วยหนัก ใส่เครื่องช่วยหายใจหรือเสียชีวิต ยังไม่สูง ยังพอควบคุมได้”
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ