ประเด็นที่ไทยกำลังจะจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ คนละ 300 บาท ในวันที่ 1 เม.ย. 2565 มีการวิพากษ์วิจารณ์อย่างมากมาย ยิ่งในห้วงการระบาดของโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ได้ทำให้การเดินทางท่องเที่ยวหยุดชะงักลงโดยปริยาย หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องในธุรกิจการท่องเที่ยว ต่างมองว่าน่าจะเลื่อนการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินออกไปก่อน

ในส่วนเงินค่าเหยียบแผ่นดินนั้น จะนำมาใส่ในกองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวแห่งชาติ ตาม พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2562 ฉบับปรับปรุง เพื่อนำไปพัฒนาภารกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยว ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และจะดึงเงินส่วนหนึ่ง 50 บาท ทำประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว หากประสบอุบัติเหตุหรือเสียชีวิต

ปัจจุบันหลายประเทศ มีการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ทั้งในยุโรป ญี่ปุ่น และมาเลเซีย โดยส่วนใหญ่รวมอยู่ในค่าตั๋วเครื่องบิน หรือราคาห้องพัก ซึ่งเดิมประเทศไทย จะเริ่มเก็บในวันที่ 1 ม.ค. 2565 แต่ในการหารือกับสมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) จะต้องจัดเก็บคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศเช่นเดียวกับชาวต่างชาติ ซึ่งขัดต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย

เป็นหน้าที่ของกระทรวงคมนาคม ต้องทำการเจรจากับสายการบิน ในการจัดเก็บเงินส่วนนี้ที่จะคิดรวมไปกับค่าตั๋วโดยสารได้หรือไม่ ซึ่งอยู่ระหว่างการเจรจาคาดว่าเดือน มี.ค.นี้ จะได้ข้อยุติ และประเมินว่าหากปี 2565 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามา 5 ล้านคน จะจัดเก็บเงินส่วนนี้ได้ประมาณ 1,500 ล้านบาท

ต้องติดตามดูว่าการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาท จะเลื่อนออกไปอีกหรือไม่ จากที่กำหนดในวันที่ 1 เม.ย.นี้ เพราะหลายๆ อุปสรรค และสถานการณ์โควิดยังคงระบาด ไม่ได้เอื้อต่อแนวคิดนี้

...

“ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์” เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) ซึ่งดูแลตลาดนักท่องเที่ยวขาเข้า ได้ย้อนหลังในปี 2561 ก่อนโควิดระบาด โดยทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้จ้างสถาบันการศึกษาให้ศึกษาข้อดีข้อเสียในการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน จากตัวเลขนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาไทย ณ ขณะนั้น มีจำนวนมากพอ 30 ล้านคน จะสร้างรายได้มหาศาล และนำเงินในส่วนนี้ไปพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว

กระทั่งโควิดระบาด ทำให้แนวคิดนี้ต้องหยุดไป และมีข่าวว่าจะเริ่มเก็บในเดือน ม.ค. 2565 จนเลื่อนมาอีกในเดือน เม.ย. และกลายมาเป็นประเด็นร้อนแรงขึ้นมาในวงการธุรกิจท่องเที่ยว ซึ่งแทบทั้งหมดออกมาคัดค้าน เนื่องจากไม่มีใครล่วงรู้สถานการณ์ล่วงหน้าจะเป็นอย่างไร ในการเปิดๆ ปิดๆ ประเทศ ในห้วงสถานการณ์โควิดระบาด โดยเฉพาะการมองว่าสายพันธุ์โอมิครอน อาจเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งมีความไม่แน่นอน

ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)
ดร.อดิษฐ์ ชัยรัตนานนท์ เลขาธิการสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA)

เสนอเลื่อนออกไป อุปสรรคแข่งขันในตลาดท่องเที่ยว

หรือหากเป็นเช่นนั้นในการเปิดการเดินทางระหว่างประเทศ จะเกิดคำถามจากนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมา 300 บาท และแน่นอนจะเกิดปัญหาในการแข่งขันของตลาดท่องเที่ยวหรือไม่ เนื่องจากเหตุผลและหลักการจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน ยังไม่เห็นข้อมูลการศึกษาทั้งผลดีและผลกระทบทั้งหลาย หากทำขึ้นมาแล้วจะส่งเสริมให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยว ทำตลาดในต่างประเทศ โดยจะมีอะไรมารองรับหรือไม่

“ควรให้ตลาดนิ่ง แล้วค่อยเริ่มเก็บในปี 2566 หรือ 2567 ก็แล้วแต่ ไม่ใช่อยู่ดีๆ ก็เกิดโครงการนี้ เพราะนอกจากทำให้ผู้ประกอบการไม่มั่นใจแล้ว จะตอบนักท่องเที่ยวได้อย่างไร และมีเหตุผลใดให้ยอมรับ หากเงินส่วนนี้จัดเก็บได้ 1,500 ล้าน จากที่ประเมินจะมีนักท่องเที่ยว 5 ล้านคน ถามว่าเงินก้อนนี้ใครดูแล บริหารอย่างไร กลไกเป็นอย่างไร”

เมื่อมีความจำเป็นต้องนำเงินมาใช้ ถามว่ากระบวนการจะรวดเร็วว่องไวหรือไม่ เพราะงบหน่วยงานภาครัฐต้องใช้เวลาหลายเดือน และปฏิเสธไม่ได้ว่าเงินหลวง ต้องมีการตรวจสอบและใช้อย่างระมัดระวัง เพราะฉะนั้นการตั้งกองทุนฯ มาดูแลจะต้องมีทั้งในภาวะไม่ปกติและปกติ ในการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยว ต้องมีความคล่องตัวมากกว่าที่เคยเป็น และมีองค์กรต่างๆ หลายภาคส่วนเข้ามาดูแล

...

จากสถานการณ์โควิด ได้ก่อให้เกิดความเปราะบางมากของตลาดท่องเที่ยว ดังนั้นการที่นักท่องเที่ยวจะจ่ายค่าเหยียบแผ่นดิน 300 บาท แม้ไม่มาก และเท่ากับอัตราค่าแรงขั้นต่ำของคนไทยหลายๆ คน แต่เงินทุกบาททุกสตางค์ของนักท่องเที่ยว อาจมีมุมมองหลายความคิดในวิธีการและเหตุผลการจัดเก็บ หรือแม้แต่ชื่อที่นอกเหนือจากค่าเหยียบแผ่นดิน ควรใช้ค่าอย่างอื่นแทน เหมือนต่างประเทศ นำมารวมกับค่าห้องพัก

ค้านหนักเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน หรือโยนหินถามทาง

นอกจากนี้การที่กระทรวงการท่องเที่ยวและการกีฬา จะนำแนวคิดนี้จากงานวิจัยมาใช้ ควรมีการเผยแพร่ผลการศึกษาว่ามีโมเดลมาจากที่ใด ก่อนที่คณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ให้ความเห็นชอบก่อนนำเข้าที่ประชุม ครม. แต่โดยส่วนตัวมองว่าในวันที่ 1 เม.ย.นี้ ไม่น่ามีการเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน เพราะมีกระแสคัดค้านเป็นส่วนใหญ่ หรืออาจเป็นการโยนหินถามทางก็ได้ เหมือนหลายกรณีในเชิงนโยบายการทำงาน

ในส่วนสถานการณ์การท่องเที่ยวขณะนี้ นับตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ย. 2564 ซึ่งเป็นไปตามหลักการเงื่อนไข Test & Go ได้มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเฉลี่ยเกือบหมื่นคน และเมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว เกินเป้าหมายเกือบ 3 แสนคน กระทั่งมาเจอโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ต้องมีการกักตัว ทำให้นักท่องเที่ยวชะลอการตัดสินใจเข้ามาไทย

...

ขณะที่ภาคธุรกิจหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและเกิดกระแสการเดินทางที่ดี มีการกลับมาใช้ Test & Go ซึ่งดีกว่า Sandbox ต้องมีการกักตัว เพราะนักท่องเที่ยวอยากไปท่องเที่ยวที่ต่างๆ และคิดว่าโอมิครอนน่าจะจบในเดือน มี.ค.นี้ เป็นความหวังที่ธุรกิจจะลืมตาอ้าปากได้อีกครั้ง ไม่ใช่ไม่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาเลย.