เรียกว่ากระทบไปทุกหย่อมหญ้า สำหรับราคา “หมูแพง” ที่ขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว จนถึงเวลานี้ แน่นอน ผลกระทบที่ตามมาคือ “ผู้บริโภค” ที่ต้องยอมซื้อในราคาที่สูงขึ้น เพราะผู้ประกอบการเองก็เริ่มที่จะแบกรับไม่ไหว และสุดท้ายก็ต้องขึ้นราคา

“เจ๊จง” เครียด! กัดฟันขึ้นราคา 3-4 บาท 

เจ๊จง-จงใจ กิจแสวง เจ้าของร้านหมูทอดเจ๊จงหมูทอด พูดคำแรกเลยว่า “เครียดมาก!!”

เจ๊จง เผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ว่า การที่หมูแพงขึ้นอย่างต่อเนื่องนั้น ได้รับผลกระทบอย่างหนัก ตั้งแต่วันจันทร์ที่เปิดร้านมา “สมองเจ๊นี่..หนักเลย” รู้สึกว่าไม่ไหว ด้วยความที่เราไม่อยากขึ้นราคาเยอะแบบนี้ มันรู้สึก “เครียดมาก” ลูกๆ ที่เดินเข้ามาก็หน้าเครียดกันหมด เพราะรู้สึกสงสารลูกค้า แต่ถ้าเราไม่ขึ้นราคา เราก็อยู่ไม่ได้เพราะ “ขายแล้วขาดทุน”

สิ่งที่ทาง “เจ๊จง หมูทอด” แก้ปัญหาคือ การขึ้นราคา โดยมีเรตราคาดังนี้
- ข้าวกับหมูราดใส่ถุง เดิมขาย 23 บาท เราขึ้นราคา 3 บาท เป็น 26 บาท
- ข้าวกล่องจากราคา 35 บาท ขึ้น 4 บาท เป็น 39 บาท
- หมูที่ขายเป็นกิโลกรัม เดิมกิโลละ 280 ขึ้นเป็น 300 บาท

ที่มารูป เพจ เจ๊จงหมูทอด
ที่มารูป เพจ เจ๊จงหมูทอด

...



“เราขยับขึ้นราคาเยอะมากนะ ที่ผ่านมา เราไม่เคยขึ้นแบบ 3-4 บาทเลย เต็มที่ก็จะขึ้นครั้งละ 1-2 บาท เท่านั้น”

นอกจากนี้ ยังเจอปัญหาไม่มีหมูจะขาย ซึ่งปกติเรารับเนื้อหมูจากเบทาโกร แต่หมูที่มาส่งไม่เพียงพอ จึงทำให้เราต้องไปหาซื้อหมูตามเขียงหมูมาเพิ่ม ก่อนปีใหม่ซื้อ 170 บาท/กิโลกรัม ต่อมาราคา 190 บาท/กิโลกรัม และล่าสุด เมื่อเช้าโทรไปถาม โอ้ ไม่ไหว งั้นขายแค่ไหนก็หมดแค่นั้น

เจ๊จง ยอมรับว่า ก่อนปีใหม่ สาขาของลูกๆ เขามาขอร้องบอกว่าขายราคาเดิมไม่ไหว แม่ช่วยพิจารณาปรับราคาหน่อย เจ๊ก็บอกว่า “รู้นะว่าขาดทุนอยู่ ถ้าจะขยับราคาก็ขอเป็นหลังปีใหม่ได้ไหม” ซึ่งก่อนที่จะหยุดปีใหม่ เราก็เลยประกาศให้ลูกค้าได้รู้ก่อน เพราะต้นทุนหมูเริ่มมีราคาสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งราคาที่ประกาศปรับในปัจจุบันก็คือราคาที่คำนวณก่อนปีใหม่...

ไม่ได้มีแค่ “หมู” อย่างเดียวที่แพง วัตถุดิบอื่นๆ ต้นทุนแฝงดีดราคาขึ้นหมด

นอกจากราคาหมูแล้ว สินค้าอื่นๆ ก็ยังขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง โดย เจ๊จง เปิดเผยว่า สิ่งที่ “แพงขึ้น” ไม่ได้มีแค่หมู แต่เป็นของใช้อื่นๆ ด้วย เช่น ไข่ น้ำมันพืช ถุงพลาสติก กล่อง หรือแม้แต่เนื้อไก่ ราคาขึ้นกิโลกรัมละ 20-25 บาทแล้ว เรียกว่า ทุกอย่างราคาแพงขึ้นทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นค่าเฉลี่ยที่เยอะมาก

ด้าน นางประภัสสร รังสิโรจน์ นายกสมาคมธุรกิจร้านอาหารไทย และสตรีทฟู้ด ยอมรับว่า วัตถุดิบอื่นๆ ก็แพงขึ้น เช่น ผัก โดยเฉพาะในช่วงฤดูหนาว ทำให้ผักแพงขึ้น ซึ่งทุกอย่างคือต้นทุนที่ร้านอาหารต้องแบกรับ

“ผู้ประกอบการ ทุกคนพูดไปเสียงเดียวกันว่า “ต้นทุนแฝง” หลายอย่างก็ขึ้นราคา อาทิ ก๊าซหุงต้ม ค่า FT ไฟฟ้า นอกจากนี้ กำลังซื้อของประชาชนที่มีก็ลดลง ส่วนหนึ่งเพราะ “คนละครึ่ง” เองก็หมดไปแล้ว ประกอบกับ การกลับมาของ โควิด (โอมิครอน) ทำให้ผู้บริโภคกลับมาใช้บริการชะลอตัวลง”

ขณะที่ ต่อ ธนพงศ์ วงศ์ชินศรี เจ้าของร้าน Penguin Eat Shabu ยอมรับว่า เนื้อสัตว์อื่นๆ ที่ต้องนำเข้า ก็แพงขึ้นมาจากการระบาดของโควิด ในขณะที่ “หมูแพง” ก็คือปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งของเรา เพราะเราคือร้าน “บุฟเฟต์” ด้วย

ถามว่าเราแก้ปัญหายังไง... ต่อ ธนพงศ์ ตอบอย่างเซ็งๆ ว่า “ทำอะไรไม่ได้เลยครับ เราไม่อยากลดคุณภาพวัตถุดิบ สิ่งที่ทำได้ คือ การปรับราคาขึ้น 40 บาท โดยคำนวณจากการให้เราสู้ต่อได้ไหว และลูกค้าพอจะรับได้ ซึ่งความเป็นจริง เราแบกต้นทุนมากกว่านั้นเยอะ นอกจากนั้น ก็มีการเปรียบเทียบกับร้านอื่นๆ เพื่อไม่ให้ลูกค้าหนีไป เพราะหากเราขึ้นราคามากกว่านี้เป็นผมก็ย้ายร้านหนีเหมือนกัน

...

ห่วงผู้ประกอบการรายเล็ก ติง รัฐไม่มีการแก้เป็นรูปธรรม

นายธนพงศ์ กล่าวว่า ความจริง ตั้งแต่โควิดระบาด ต้นทุนทุกอย่างก็ขึ้นราคาอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ไม่มีข่าวออกไป และที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ ไม่เคยเข้ามาช่วยดูหรือแก้ปัญหาอะไรเลย สิ่งที่เราทำได้ คือ แก้ปัญหาด้วยตัวเอง ทำทุกอย่างให้ให้ผู้บริโภคพอที่จะอยู่ไหว รับได้กับราคา ซึ่งเราก็พยายามแก้ปัญหาด้วยวิธีอื่นๆ มาตลอด

ถามว่าจะทนได้นานแค่ไหน นายธนพงศ์ ระบุว่า ตอบยากมาก เพราะเราก็ไม่รู้ว่าวิกฤติครั้งนี้จะยาวนานแค่ไหน แต่เท่าที่คาดการณ์ว่า น่าจะอีกยาว ซึ่งเราเองก็หวังว่า ครั้งนี้ภาครัฐจะช่วย แต่ก็ยังไม่เห็นมาตรการใดเป็นรูปธรรมเลย

กลับมาที่ “เจ๊จง” หมูทอด ราคาประหยัด แสดงความรู้สึกห่วงไปยังผู้ประกอบการอื่นๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรายเล็ก ไม่รู้ว่าจะสู้ไหวไหม

“ขนาดเจ๊ขายเยอะแบบนี้ ได้กำไรจากการขายจำนวนมาก แล้วพ่อค้าที่ขายของไม่มาก เขาจะเอากำไรจากไหน เชื่อว่าพ่อค้าแม่ค้ารายอื่นๆ น่าจะหนัก ถึงขั้นสาหัสมากกว่านี้”

ที่มารูป เพจ เจ๊จงหมูทอด
ที่มารูป เพจ เจ๊จงหมูทอด

...

ยุค “หมูแพง” ผู้ประกอบการต้องปรับตัว

สำหรับสิ่งที่ต้องปรับตัวสู้กับราคาหมู เจ๊จง เผยว่า พยายามชวนลูกค้ารับประทานเนื้ออื่นๆ เช่น เนื้อปลา

“ตอนนี้พยายามชวนลูกค้ากินเมนูอื่นๆ เช่น ปลาทอด เราพยายามหาวัตถุดิบอื่นๆ มาใช้ ซึ่งปกติเราใช้หมูมากกว่า 100 กิโลกรัม ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่ใช้เยอะ เพราะเรามีหน้าร้านข้าวแกงด้วย พอหมูแพงขึ้น ราคาต้นทุนก็ขึ้นสูงเกือบเท่าตัว

ส่วน นางประภัสสร แนะนำว่า สิ่งที่ผู้ประกอบการทำได้ อาจจะมีอยู่แค่ 2 ทางเลือก คือ...
1. ลดปริมาณวัตถุดิบลง โดยไม่มีการปรับราคา เพราะราคาคือเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับผู้บริโภค
2. เปลี่ยนวัตถุดิบ คิดค้นเมนูใหม่ ทางนี้ก็ถือเป็นทางออกที่ไม่ดีนัก ยกตัวอย่างง่ายๆ ปกติคนชอบ “กินหมูปิ้ง” ก็หลบไม่ได้อีก หรือจะลดปริมาณลง เช่น ขายลูกชิ้นปิ้ง เดิมมี 5 ลูก ลดเหลือ 3 ลูก ซึ่งต่อไปหากลดอีก ลูกค้าจะรับได้หรือไม่...

ฝากถึงรัฐ แก้ปัญหาให้เร็ว มองปัญหาให้ออก หรือเลือกตั้งใหม่!

ช่วงท้าย เจ๊จง บอกว่า ถ้าราคาขายหมูลดลงกว่านี้ เจ๊ก็พร้อมที่จะปรับลดราคา ซึ่งตั้งแต่ขายหมูทอดมา นี่คือหมูที่แพงที่สุด เรียกว่าหนักสาหัสยิ่งกว่าเจอโควิดอีก ตอนเจอโควิดยอดขายลดลง 30% แต่เจอหมูแพง ต้นทุนที่หนักหนาสาหัสมาก เรียกว่าเจ็บหนักกว่าช่วงโควิดอีก

...

“สิ่งที่อยากจะฝากไปถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคือ อยากให้แก้ปัญหาให้เร็วกว่านี้หน่อย เพราะเรารู้สึกสงสารคนกิน หากเราอยู่ไม่ไหว เราก็ปรับราคา แต่คนกิน คนบริโภค ต้องมาแบกรับราคาสูงขึ้นด้วย”

ขณะที่ นายกสมาคมร้านอาหารไทยและสตรีทฟู้ด กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลมองปัญหาให้ออก มององค์รวมให้ชัด เพราะผลกระทบที่เกิดขึ้นมันเป็นลูกโซ่ ไปจนถึงประชาชน
ด้าน เจ้าของร้านชาบูชื่อดัง บอกว่าไม่รู้จะฝากอะไรถึงรัฐบาลแล้ว เพราะก็พูดไปเยอะ สิ่งที่อยากจะฝากก็อาจจะบอกว่า “ขอให้มีการเลือกตั้งใหม่เร็วๆ ละกันครับ”

สัมภาษณ์ - ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : sathit chuephanngam

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ