การแพร่ระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกได้รับความเสียหายอย่างมาก นั่นทำให้รัฐบาลของแต่ละประเทศได้ออกมาตรการมาพลิกฟื้นเศรษฐกิจชุดใหญ่ เพื่อหวังให้เศรษฐกิจในปี 2022 สามารถกลับมาฟื้นตัวได้อีกครั้ง
สำหรับบทความนี้ ผมตั้งใจว่า ขอพาคุณผู้อ่านย้อนกลับไปช่วงที่เคยเกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ก่อนหน้านี้ เมื่อราว 100 ปีก่อน ว่าถึงที่สุดแล้ว โลกสามารถพลิกฟื้นเศรษฐกิจได้อย่างไร โดยมีสิ่งที่น่าสนใจที่ผมสามารถบอกได้เลยว่า หลายปัจจัยของการฟื้นฟูเศรษฐกิจ คล้ายกับยุคที่เราต้องผจญกับโควิด-19 ไม่น้อยเลยทีเดียวครับ
โรคระบาดในอดีตสร้างผลกระทบกับเศรษฐกิจอย่างไร
ถ้าหากมองไปยังโรคระบาดในอดีตที่สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจไม่ว่าจะเป็นการแพร่ระบาดของกาฬโรคในช่วงปี 1347-1351 การแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคในฝรั่งเศสช่วงทศวรรษ 1830 ไข้หวัดสเปนที่แพร่ระบาดในช่วงปี 1918-1919
สิ่งที่เหมือนกัน นั่นคือ การสูญเสียชีวิตของประชาชน อย่างกรณีของการแพร่ระบาดของอหิวาตกโรคในฝรั่งเศส ส่งผลทำให้ประชากรของกรุงปารีสหายไปทันที 3 เปอร์เซ็นต์ และภายในระยะเวลาเพียงแค่ 1 เดือนในช่วงการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปนประชากรโลกได้เสียชีวิตไปถึง 500 ล้านคน
Institut Montaigne ซึ่งเป็นองค์กรถังความคิด (Think Tank) ที่อยู่ในฝรั่งเศสชี้ว่า การแพร่ระบาดของกาฬโรคในยุโรปทำให้คนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ ขณะนั้นมีสินทรัพย์ลดลง 15-20 เปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว
...
งานวิจัย The Economic impact of Pandemic, case study of “Spanish Flu” in 1918-1920 ของมหาวิทยาลัยสต็อกโฮล์ม เคยคำนวณความสูญเสียของเศรษฐกิจในยุโรปในปี 1918 เอาไว้ว่า ฝรั่งเศสและเบลเยียมมี GDP ที่ถดถอยมากกว่า -15 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรปเอง GDP ถดถอยราวๆ -5 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ในช่วงไข้หวัดสเปนยังทำให้สหรัฐฯ มีอัตราการว่างงานในช่วงนั้นสูงถึง 11.7 เปอร์เซ็นต์อีกด้วย
นอกจากผลกระทบใหญ่ที่เกิดขึ้นกับเศรษฐกิจแล้ว อีกปัจจัยสำคัญคือเรื่องของแรงงานที่สูญเสียชีวิตจากผลกระทบของการแพร่ระบาดจากโรคต่างๆ เช่นเดียวกับพฤติกรรมของมนุษย์ก็เปลี่ยนไป เช่น มนุษย์เพิ่มการรักษาความสะอาดมากขึ้น หรือการเว้นระยะห่าง (ที่ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีมาตั้งแต่อดีตแล้ว) ซึ่งเราจะกล่าวถึงในภายหลัง
ไม่มีเครื่องมือทางการเงินเหมือนปัจจุบัน
สำหรับนโยบายการเงินที่ขึ้นชื่อมากที่สุดและเราได้ยินกันบ่อยคือนโยบายผ่อนคลายทางการเงิน หรือที่เรียกกันว่านโยบาย QE ซึ่งมีการเข้าซื้อสินทรัพย์ ไม่ว่าจะเป็นพันธบัตรรัฐบาล หรือแม้แต่ตราสารหนี้ที่มีสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็นหลักประกัน หรือ MBS (ไปจนถึงการซื้อ ETF ในตลาดหลักทรัพย์กรณีของธนาคารกลางญี่ปุ่น)
นโยบายดังกล่าวในปัจจุบันมีจุดประสงค์ที่แท้จริงคือเพิ่มสภาพคล่องให้กับตลาด โดยเฉพาะภาคการเงิน และสร้างเสถียรภาพรวมถึงความมั่นใจให้กับตลาดว่าจะไม่เกิดสภาวะเศรษฐกิจช็อก โดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาได้รับบทเรียนมาจากวิกฤติการเงินในช่วงปี 2008 ที่ผ่านมา
อย่างไรก็ดี ในอดีตที่ผ่านมานโยบายการเงินแบบดังกล่าวนั้น เพิ่งจะมีการพัฒนามาใช้เพียงแค่ 40 ปีเท่านั้น และในอดีตเองการที่จะฟื้นเศรษฐกิจขึ้นมาได้นั้นมีไม่กี่ปัจจัยเท่านั้นครับ
การจ้างงาน การใช้จ่ายของประชาชน รวมถึงการส่งเสริมจากภาครัฐในบางอุตสาหกรรม
ในบทความ A Brief Economic History of Pandemics ของ Berkeley Economic Review ได้ชี้ให้เห็นว่าหลังจากการระบาดของกาฬโรคแรงงานอังกฤษที่รอดชีวิตนั้นมีค่าแรงที่เพิ่มมากขึ้นราวๆ 20-40 เปอร์เซ็นต์ และในช่วงดังกล่าวยังมีความเหลื่อมล้ำระหว่างคนจนและคนรวยที่ลดลงอีกต่างหาก
บทความในนิตยสาร Economist ที่มีชื่อว่า What history tells you about post-pandemic booms ส่วนหนึ่งได้กล่าวถึงโลกของเราได้ผ่านวิกฤติของโรคระบาดมาหลายครั้ง สิ่งที่คล้ายคลึงกันในการแพร่ระบาดนั่นคืออัตราการออมของประชาชนเพิ่มมากขึ้น เช่น ไข้ทรพิษในปี 1870 ประชาชนของสหราชอาณาจักรมีเงินออมมากขึ้นถึง 2 เท่า หรือช่วงที่โลกพบกับไข้หวัดสเปนในช่วง 1918-1919 ชาวอเมริกันมีเงินสดสะสมไว้มากกว่าในช่วงก่อนหน้านี้ สอดคล้องกับในปัจจุบันการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลายประเทศเองประชาชนก็มีเงินสดสะสมไว้เป็นจำนวนมาก
นั่นทำให้เม็ดเงินส่วนหนึ่งจากการสะสมได้ถูกออกนำมาใช้จ่าย อย่างไรก็ดี หลังจากเหตุการณ์โรคระบาด แม้ว่าเงินดังกล่าวจะนำออกมาใช้แต่ก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งก็ตาม แต่สำหรับปัจจัยเงินเฟ้อหลังเหตุการณ์การของโรคระบาดเงินเฟ้อนั้นกลับไม่ได้สูงขึ้นด้วยซ้ำ และทำให้เศรษฐกิจส่วนหนึ่งสามารถกลับมาฟื้นตัวได้
บทความจาก Atlantic Council ซึ่งเป็นองค์กรถังความคิดในสหรัฐอเมริกาได้ชี้ว่า เศรษฐกิจสหรัฐฯ ในช่วงปี 1920 รัฐบาลสหรัฐฯ ในขณะนั้นได้สนับสนุนอุตสาหกรรมภาคการเกษตร โดยมีการลดอัตราภาษีเพื่อจูงใจประชาชนอีกด้วย เพื่อที่จะฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมา
แต่จริงๆ แล้วปัจจัยที่กล่าวมานั้นเป็นส่วนหนึ่งในการฟื้นเศรษฐกิจโลกด้วยซ้ำ
โมเดลเศรษฐกิจโลกก็เปลี่ยนไป คนก็เริ่มเสี่ยงหาลู่ทางใหม่ เศรษฐกิจพัฒนาจากนวัตกรรม
บทความของ The Economist ได้กล่าวถึงในช่วงหลังการแพร่ระบาดของกาฬโรค ทำให้ผู้คนบางส่วนเริ่มหาวิธีใหม่ในการหาเงิน และในช่วงดังกล่าวเริ่มมีการผจญภัยไปยังที่ต่างๆ มากขึ้น เนื่องจากมีความเสี่ยงน้อยกว่าที่จะอยู่บ้าน และมีสิทธิ์อาจเสียชีวิต
ส่วนในสมัยการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปนในหนังสือ “Apollo’s Arrow” โดย Nicholas Christakis จากมหาวิทยาลัยเยล กล่าวว่า มนุษย์นั้นยอมรับความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้น ทำให้เกิดกิจกรรมเศรษฐกิจใหม่ๆ พฤติกรรมดังกล่าวยังสอดคล้องกับข้อมูลจากสำนักวิจัยเศรษฐกิจแห่งชาติของอเมริกา หลังจากการแพร่ระบาดของไข้หวัดสเปน จำนวนของบริษัทเกิดใหม่ (หรือที่เรารู้จักว่าสตาร์ทอัพ) ในสหรัฐอเมริกาช่วงหลังปี 1919 นั้นเพิ่มขึ้นมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
ไม่เพียงเท่านั้น ช่วงเวลาดังกล่าวในสหรัฐอเมริกา ยังเกิดสองสิ่งที่สำคัญนั่นก็คือการใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างแพร่หลาย รวมถึงการที่ เฮนรี ฟอร์ด (Henry Ford) ผลิตรถยนต์ออกมา นั่นทำให้นักเศรษฐศาสตร์ชื่อดังอย่าง จอห์น เมย์นาร์ด เคนส์ ได้กล่าวไว้ว่าเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ได้ออกจากช่วงเวลาที่น่าหดหู่จาก 2 สิ่งดังกล่าว
นอกจากนี้การผลิตรถยนต์ของเฮนรี ฟอร์ด ยังทำให้เกิดการสร้างโครงสร้างพื้นฐานอย่างถนนเพิ่มมากขึ้น ในพระราชบัญญัติทางหลวงแห่งสหพันธรัฐปี 1921 หรือ The Federal Highway Act of 1921 นั่นทำให้เกิดภาคการผลิตอย่างมหาศาลซึ่งเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ไม่ใช่ภาคการผลิตรถยนต์อีกด้วย และเมื่อมีการเชื่อมโยงจากถนนหนทาง รถยนต์ ยังทำให้เกิดการเชื่อมต่อระหว่างเมือง มีสถานีบริการน้ำมัน โรงแรม ร้านอาหาร และนั่นทำให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีอัตราว่างงานลดลงมาเหลือ 4 เปอร์เซ็นต์ ในปี 1923 ด้วย
...
มองกลับมาในยุคปัจจุบันในการแพร่ระบาดของโรคซาร์สในปี 2009 นำไปสู่การยอมรับอย่างกว้างขวางของหน้ากากอนามัยในจีนและฮ่องกง และเป็นพื้นฐานของการใส่หน้ากากอนามัยในปัจจุบัน นอกจากนี้ ยังเป็นจุดเริ่มต้นในประเทศจีนในการนำอีคอมเมิร์ซ มาปรับใช้ในชีวิตของประชาชน หรือในการแพร่ระบาดของโควิด-19 เราจะเห็นการทำงานที่บ้านที่กลายเป็นเรื่องปกติ การใช้เทคโนโลยีเข้ามามากขึ้น
ท้ายที่สุดแล้วเราเห็นว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก มีปัจจัยหลายอย่างที่ผสมผสานกันไม่ว่าจะเป็นเรื่องของนโยบายสนับสนุนของรัฐบาล การขึ้นค่าแรง การใช้จ่ายของประชาชน และปัจจัยสำคัญหลังเราได้เรียนรู้นั่นก็คือการปรับตัวของมนุษย์ รวมถึงเรื่องของนวัตกรรมต่างๆ ที่ทำให้เศรษฐกิจโลกฟื้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ครับ.
ที่มา: CNBC, NYTimes, Atlantic Council, The Economist, IMF, Institut Montaigne, SCMP
...