• เดือดร้อนไปทั่วจากราคาหมูเนื้อแดงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง มาตั้งแต่เดือน ต.ค. จนใกล้สิ้นปีขยับมากิโลกรัมละเกือบ 200 บาท จากปริมาณหมูมีชีวิตในตลาดมีปริมาณลดลง เนื่องจากโรคระบาด “เพิร์ส” และต้นทุนการเลี้ยงเพิ่มขึ้น ทั้งค่าอาหารสัตว์แพง และค่าใช้จ่ายดูแลป้องกันโรค ทำให้เกษตรกรเลิกเลี้ยงหมู

  • ก่อนหน้านั้นเมื่อเดือน ก.ค. ปี 2563 ราคาหมูเนื้อแดงในหลายพื้นที่ปรับตัวสูงขึ้นกิโลกรัมละ 170-180 บาท เพราะการบริโภคเพิ่มสูงขึ้นจากการคลายล็อกดาวน์ เปิดให้ทำกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และไทยส่งขายไปประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งจีน จากการระบาดของโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร

ขณะนี้ราคาเนื้อหมูแพงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคอีสาน และเหนือ มีราคาสูงกว่าภาคกลางและกรุงเทพฯ จากการระบุของ “สุรชัย สุทธิธรรม” นายกสมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ และส่งผลให้ราคาหมูหน้าเขียงเพิ่มเป็นกิโลกรัมละ 200 บาท และคาดว่าในอีก 1-2 สัปดาห์จะปรับขึ้นอีก เพราะคนเดินทางกลับภูมิลำเนา และท่องเที่ยวจำนวนมาก ทำให้ความต้องการบริโภคเพิ่มขึ้น แต่หลังจากนั้นราคาจะค่อยปรับลดลง แต่ยังอยู่ในระดับสูง

...

ฝั่งกระทรวงพาณิชย์ “วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม” อธิบดีกรมการค้าภายใน ระบุจากปริมาณหมูเข้าสู่ตลาดลดลง ทำให้พ่อค้าแข่งเสนอราคารับซื้อสูงขึ้น ในเบื้องต้นขอความร่วมมือให้ผู้เลี้ยงสุกรจำหน่ายให้กับผู้ค้ารายเดิม พร้อมจะกำหนดมาตรการดูแลปริมาณและราคาที่เหมาะสม ส่วนทางกรมปศุสัตว์จะประชุมแก้ปัญหาปริมาณสุกรที่เข้าสู่ตลาดลดลง

ขณะที่นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวว่า เนื้อหมูปรับราคาแพงสูงขึ้นในท้องตลาด จากต้นทุนการผลิตที่สูงขึ้น และโรคระบาดในสุกร ต้องทำลายเพื่อควบคุมโรคตามพ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558 รวมทั้งก่อนหน้านี้เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรรายเล็ก รายย่อยและรายกลาง เกิดความตื่นตระหนกโรคระบาดในสุกร จึงเร่งขายสุกรมีชีวิตออกจากฟาร์ม ทำให้สุกรมีชีวิตมีปริมาณลดลง ส่งผลให้ราคาจำหน่ายสูงขึ้น

จากรายงานสถานการณ์โรคระบาดในสุกรของไทย ตั้งแต่ปี 2561-2564 มีการระบาดของโรคพีอาร์อาร์เอส หรือเพิร์ส เป็นกลุ่มอาการทางระบบสืบพันธุ์และทางเดินหายใจในสุกร 707 ครั้ง โรคอหิวาต์สุกร 24 ครั้ง และโรคปากเท้าเปื่อย 11 ครั้ง แม้ว่าปัจจุบันไทยยังคงปลอดจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร แต่มีความเสี่ยงสูง เนื่องจากระบาดในประเทศเพื่อนบ้านโดยรอบ จึงเตรียมความพร้อมรับมือ เพื่อรักษามูลค่าอุตสาหกรรมการผลิตสุกรไม่น้อยกว่า 150,000 ล้านบาท

ส่วนการป้องกันความเสี่ยงในการเกิดโรคระบาด ต้องมีการพักคอกสัตว์ก่อนทำการเลี้ยงรุ่นการผลิตใหม่ และปรับระบบการเลี้ยงให้มีความปลอดภัยทางชีวภาพ ซึ่งเป็นข้อจำกัดในเกษตรกรผู้เลี้ยงรายย่อย โดยบางรายไม่มีระบบการควบคุมโรค ทำให้ไม่นำสุกรมาเลี้ยง เพราะเสี่ยงต่อการเกิดโรคทำให้เสียหาย ส่งผลให้ปริมาณสุกรลดลง แต่ยังมีความต้องการในตลาดที่สูง และเพื่อแก้ปัญหา จะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการกำหนดแนวทางต่อไป.