ปลายปีที่ผ่านมา มีข่าวอุบัติเหตุหนักๆ เกิดขึ้นหลายครั้ง ส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิต แต่เหตุที่เป็นที่พูดถึง และวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง คือ อุบัติเหตุรถยนต์แซงซ้าย พุ่งชนรถอีกคัน ส่งผลให้คนในรถเสียชีวิตหลายศพ
จากความสูญเสีย หลายคนมองถึงมาตรฐานความปลอดภัยของรถ และก็มีคำถามถึงภาครัฐว่า มาตรฐานความปลอดภัยในการผลิตรถและขายในเมืองไทย เทียบเท่าของต่างประเทศหรือไม่..?
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้มีโอกาสพูดคุยกับ นายณัฐพงศ์ บุญตอบ นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ได้วิเคราะห์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้น และมาตรฐานการผลิตรถยนต์ระหว่างประเทศไทยและต่างประเทศ
"จากความรู้ของผม รถยนต์ที่ประกอบขายในญี่ปุ่น จะมีระบบเซฟตี้มากกว่าในประเทศไทย แต่ไม่ใช่เมืองไทยไม่มีมาตรฐานนะครับ รถในไทยก็ได้มาตรฐานในประเทศไทย"
วิเคราะห์อุบัติเหตุเก๋งชนอีโคคาร์ และจุดเปราะของรถยนต์
นายณัฐพงศ์ บุญตอบ ได้วิเคราะห์อุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า โครงสร้างรถอีโคคาร์ คือ รถราคาประหยัด ซึ่งการออกแบบทั้งหมด อาจจะถูกลดทอนประสิทธิภาพลง แต่มันก็มีมาตรฐานการผลิตอยู่ แต่ตามหลักวิศวกรรมโครงสร้าง หากพูดภาษาบ้านๆ ก็ต้องยอมรับว่ารถยุโรปจะแข็งกว่ารถญี่ปุ่น
...
"ความแข็ง" ของรถ ด้านหน้าจะแข็งที่สุด เพราะถูกออกแบบเพื่อให้รับแรงกระแทกจากการชน ดังนั้นค่าความแข็งของรถจะได้ผลลัพธ์จากการทดสอบการชน โดยมีการเทสต์ด้วยความเร็วที่เท่าไร ยุบไปเท่าไร ซึ่งผลลัพธ์จะออกมา และประเมินออกมาเป็นค่าความแข็งของรถยนต์
ประเด็นปัญหาจากกรณีรถชน และทำให้เกิดการเสียชีวิต นายณัฐพงศ์ ระบุว่า รถที่มีผู้เสียชีวิต เป็นรถยนต์ 5 ประตู ด้านท้ายรถยนต์ถูกออกแบบมาแบบ "ท้ายสั้น" ด้วย จึงทำให้เวลาชน แรงกระแทกจึงถึงห้องโดยสารทันที
แตกต่างจากรถยนต์ 4 ประตู ซึ่งรถยนต์จะแข็งแรงหรือไม่อยู่ที่ แชสซี (Chassis) นอกจากนี้อาจจะมีการเสริม "คาน" ขึ้นมา แต่รถยนต์ที่เกิดเหตุไม่มีเสริมตรงนี้ เพราะเป็นรถยนต์ลักษณะท้ายสั้น...
"หากชนจากข้างหลัง แรงกระแทกจะถึงห้องโดยสารเลย อีกทั้งยังเป็นรถประเภท "อีโคคาร์" ความแข็งแรงก็จะน้อยกว่ารถยนต์ 4 ประตู"
รถอีโคคาร์ รับแรงชนได้แค่ไหน นักวิจัยอาวุโส จากศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ยอมรับว่า ตอบได้ยาก เพราะการทดสอบไม่สูงมากนัก อาทิ 60 กม./ชั่วโมง 80 กม./ชั่วโมง หรือ 100 กม./ชั่วโมง เพราะการทดสอบจะทำการทดลองในห้องทดสอบ ตัวเลขที่ได้ออกมาก็จะแปรผันจากความเร็ว โดยพล็อตออกมาเป็นกราฟ หากมาด้วยความเร็วมากกว่านี้ ตัวรถก็จะพังได้มากกว่า
สำหรับการสอบสวนอุบัติเหตุ อาจจะต้องแบ่งออกเป็น 2 ส่วน
1. ความเร็ว เป็นเรื่องหลัก เพราะยิ่งเร็วมาก ความเสียหายยิ่งเยอะ ก็ย่อมส่งผลถึงการได้รับบาดเจ็บ หรือถึงขั้นเสียชีวิตก็เป็นไปได้
2. ความแข็งแรงของรถยนต์ ซึ่งหากเป็นอีโคคาร์ ก็จะสู้รถรุ่นใหญ่กว่าไม่ได้
"หากสังเกต..จะเห็นว่ามีการเบรกแบบกระชั้นชิด ซึ่งความเร็วคงไม่ลดลงมาก อีกทั้งรถของผู้ตายยังไปกระแทกกับแบริเออร์ด้านข้างอีก เพราะเกิดการหมุน กระแทก นอกจากนี้ ระบบนิรภัยสำหรับอีโคคาร์ อาจจะแตกต่างจากรุ่นใหญ่ๆ ขึ้นมา เช่น ถุงลมนิรภัย อาจจะไม่ครบครัน ซึ่งมันอาจจะเป็นปัจจัยหนึ่ง...ที่ทำให้โอกาสเสียชีวิตสูงกว่า"
แต่เชื่อว่าปัจจัยหลักน่าจะมาจากความเร็วแน่นอน เพราะรถ 2 คัน ขับมาด้วยความแตกต่างกันค่อนข้างสูง ซึ่งมีผลต่อแรงปะทะ
...
จุดเปราะของรถยนต์ "ด้านข้างซ้ายขวา" เสี่ยงสุด
นายณัฐพงศ์ เผยว่า จุดที่เปราะบางที่สุดของรถยนต์ คือ ช่วงด้านข้างซ้ายและขวา เพราะหากถูกชนก็ถึงผู้โดยสาร หรือคนขับในรถทันที รองลงมาก็คือด้านท้าย เพราะยังมีระยะเหลือนิดหน่อย แต่ถ้าเป็น 5 ประตูอีโคคาร์ แรงกระแทกก็จะถึงผู้โดยสารมากกว่ารถที่มีท้ายรถ ส่วนด้านหน้าจะเป็นจุดที่แข็งที่สุด เพราะถูกออกแบบมาเพื่อรับแรงกระแทก
ส่วนประเด็นการชนท้าย...ที่อาจจะทำให้เสียชีวิตนั้น เราอาจจะมองไปถึงเรื่อง "เข็มขัดนิรภัย"
"เข็มขัดนิรภัย" ถูกออกแบบเพื่อการใช้ช่วยชีวิต สำหรับการชนจากด้านหน้า เพราะชนแล้วคนจะพุ่งออกไป เข็มขัดนิรภัยก็จะล็อกตัวไว้
แต่การชนจากข้างหลัง...รถยนต์ส่วนใหญ่ไม่ได้ออกแบบพนักพิงหลังให้รับแรงกระแทก เวลาชน ตัวคนจะติดอยู่กับเบาะ ซึ่งหากที่เบาะมีจุดรองคอ ก็อาจจะช่วยได้ แต่ถ้าไม่ได้อยู่จุดนั้น ก็อาจจะทำให้เกิด "คอหัก"
รถยนต์โบราณเหล็กแข็งกว่ารถปัจจุบันจริงหรือ?
มีคนเคยพูดว่า รถโบราณ โครงสร้างรถยนต์แข็งกว่า เหล็กดีกว่า จริงไหม? นายณัฐพงศ์ ให้ความเห็นว่า เข้าใจว่าเทคโนโลยีการออกแบบรถยนต์มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม แต่อย่างที่บอกว่า ความแข็งแรงของรถยนต์อยู่ที่ "แชสซี"
...
แต่เมื่อก่อนอาจจะไม่มีอุปกรณ์นิรภัยอย่างเพียงพอ เช่น เข็มขัดนิรภัย ถุงลม ดังนั้น สมัยก่อน เขาจึงอาจจะออกแบบให้รถยนต์แข็งที่สุด เช่น ประตู ตัวรถยนต์ แต่เวลาต่อมามีการออกแบบ ACTIVE SAFETY ระบบป้องกันต่างๆ เขาจึงมีการออกแบบรถยนต์ให้มีน้ำหนักเบาลง เพื่อไม่ให้เปลืองน้ำมัน ด้วยเหตุนี้จึงอาจจะลดเรื่องโครงสร้าง แต่เพิ่มความปลอดภัยจากส่วนอื่นๆ
มาตรฐานผลิตรถยนต์ในไทย ไม่เท่ากับต่างประเทศ
ย้อนกลับมาที่คำถามที่ว่า เพราะอะไรถึงมาตรฐานความปลอดภัยถึงแตกต่างกัน นายณัฐพงศ์ มองไปที่ "ต้นทุน" เพราะรถขายในบ้านเรามีหลายปัจจัยเป็นต้นทุน ทั้งเรื่องภาษี ต้นทุนการขาย หากใส่เซฟตี้มาเยอะมาก ก็จำเป็นต้องเพิ่มราคา กระทบไปยังภาษี และสุดท้าย "ผู้ใช้งาน" จะเป็นผู้แบกภาระสูงสุด
นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย ระบุว่า "ภาษี" รถยนต์ในต่างประเทศ เขาอาจจะถูกกว่าประเทศไทย ในส่วนนี้บอกตรงๆ ผมก็ไม่ทราบว่าเพราะอะไร "ภาษีรถยนต์" ในประเทศไทยถึงสูง และก็ยิ่งไม่แน่ใจว่าเขาจะคำนึงถึงเรื่อง "ความปลอดภัย" หรือไม่
"ช่วงหลัง มีการแข่งขันกันเรื่อง "มลพิษ" เช่นแบรนด์ไหนลดมลพิษได้เยอะ ก็จ่ายภาษีน้อยลง แต่กลับไม่มีการแข่งขันว่ารถแบรนด์ไหนมี "ความปลอดภัย" สูงขึ้น จะจ่ายภาษีน้อยลง..."
นายณัฐพงศ์ พูดให้คิด...
...
ในต่างประเทศ การขายรถเขาเน้นเรื่อง "ความปลอดภัย" มาอันดับ 1 แต่ในประเทศไทย กลับไม่ได้เป็นอย่างนั้น ส่วนหนึ่งเพราะการเลือกซื้อรถของคนไทยอาจจะเกี่ยวข้องกับ "ค่าครองชีพ" ด้วย เช่น ถ้าซื้อรุ่นท็อป ก็จะได้ความปลอดภัยทุกอย่าง ทั้งระบบถุงลมนิรภัย แต่ถ้าไม่ซื้อรุ่นท็อป การเซฟตี้ก็ลดน้อยลง
สุ่มทดสอบรถยนต์ กับความปลอดภัยที่รองรับ
นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย เผยว่า ทั่วโลกจะมีหน่วยงานทดสอบรถ เรียกว่า "ncap new car assessment program" โดยจะสุ่มซื้อรถยนต์ยี่ห้อต่างๆ มาทดสอบ โดยมุ่งประเด็นเรื่องความปลอดภัยของคนขับและผู้โดยสาร หากพุ่งชนแล้ว คนในรถยนต์บาดเจ็บ หรือถึงแก่ความตาย
จะมีการให้ดาวของรถ โดยมีการทดสอบการชนของรถ และความปลอดภัยของคนในรถจะเป็นอย่างไร มีการให้ดาว 1-5 แต่ละโมเดลจะถูกสุ่มเช็ก และมีการให้ดาว ถ้าชนแล้วบาดเจ็บตรงไหนบ้าง ถ้าถึงขั้นเสียชีวิต ก็อาจจะเหลือแค่ 3 ดาว ถ้าบาดเจ็บเล็กน้อย ก็อาจจะได้ 5 ดาว
การทดสอบรถแบบนี้เป็นองค์กรของทั่วโลก แต่ในระดับ Asia ก็มีศูนย์อยู่ที่ประเทศมาเลเซีย โดยจะใช้วิธีการเดียวกัน ด้วยการไปซื้อซุ่มแล้วมาทดสอบ
"ที่ผ่านมาข้อมูลเหล่านี้ไม่ได้ถูกนำมาเผยแพร่สู่ผู้บริโภคก่อนการตัดสินใจซื้อรถ ที่ผ่านมามีนักวิชาการพยายามผลักดันให้ถึงมือผู้บริโภค แต่สุดท้ายเรื่องนี้ก็เงียบไป"
เมื่อถามว่า ประเทศไทยถือเป็นชาติที่มีอุบัติเหตุสูงสุดติดอันดับโลก ทำไมภาครัฐถึงมองข้าม หรือเมินเรื่องแบบนี้...
"บอกว่ามองข้ามก็ถือว่าใช่ แต่ส่วนหนึ่งประชาชนเองก็ต้องมองและให้ความสำคัญด้วย" นักวิจัยอาวุโส ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวทิ้งท้าย
เรื่องความปลอดภัยบนท้องถนน ถือเป็นเรื่องสำคัญ ฉะนั้นภาครัฐจึงต้องควบคุมดูแลให้ดี อุปกรณ์เซฟตี้ทุกอย่าง ควรมีในรถยนต์ทุกคันหรือไม่ และไม่ควรเอาเรื่องต้นทุนมาต่อรองกับความปลอดภัยในชีวิตประชาชน.
สัมภาษณ์ - ผู้เขียน : อาสาม
กราฟิก : Jutaphun Sooksamphun
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ