ภายใต้การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่กำลังเริ่มรุนแรงขึ้นจากพิษสงของสายพันธุ์โอมิครอนในช่วงปลายปี 2021 แต่บทวิเคราะห์ที่พยายามทำนายถึงการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจในปี 2022 ส่วนใหญ่ โดยเฉพาะบทวิเคราะห์จากบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือ “มูดีส์ อินเวสเตอร์ เซอร์วิส” (Moody’s Investors Service) กลับมีมุมมองในแง่ดีว่าเศรษฐกิจโลกน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นได้ และเศรษฐกิจของทวีปเอเชีย “น่าจะฟื้นตัวได้ดีที่สุด” อันเป็นผลมาจากปัจจัยเกื้อหนุนต่างๆ เช่น อัตราการฉีดวัคซีนที่สูงขึ้น, การบูมของตลาดอี-คอมเมิร์ซ, ปัญหาซัพพลายเชนที่เริ่มคลี่คลาย

แต่ “Bart Edes” นักวิเคราะห์ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจในทวีปเอเชีย และอดีตเจ้าหน้าที่อาวุโสธนาคารพัฒนาเอเชีย (Asian Development Bank) หรือ ADB ได้ออกบทวิเคราะห์ “ดึงสติ” ให้บรรดานักลงทุนควรใช้ความระมัดระวังเพิ่มมากขึ้น

เนื่องจากยังมี “ปัจจัยเสี่ยง” ที่อาจสั่นคลอนต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืนและมีเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียในปีหน้าได้ และนี่คือ “ความเสี่ยง 7 ประการ” ที่น่าจับตามองในปี 2022

1. ปัญหาการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 หยุดการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ

ยังมีหลายประเทศที่มีอัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ในระดับต่ำ อีกทั้งหากสายพันธุ์โอมิครอน เกิดสามารถทำให้ประสิทธิภาพของวัคซีนลดลง มันจะทำให้เกิดภัยคุกคามครั้งใหญ่ที่สุดต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของทวีปเอเชียอย่างแน่นอนในปี 2022

ในกรณีที่เลวร้ายที่สุด หากสายพันธุ์โอมิครอนทำให้เกิดการแพร่ระบาดครั้งใหญ่ข้ามพรมแดน และมีผู้ติดเชื้อจำนวนมากจนกระทบต่อระบบสาธารณสุข และนำไปสู่การ Lockdown ครั้งใหม่ภาวะต่อเนื่องของวิกฤติซัพพลายเชนโลกจะยังคงดำเนินต่อไป เนื่องจากทวีปเอเชียถือเป็นแหล่งอุตสาหกรรมการผลิตหลักของโลก

...

และหากเป็นเช่นนั้นจริง ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นคือ บรรดานักลงทุนจะเกิดความตื่นตระหนก ตลาดหุ้นปั่นป่วน อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวจะยิ่งเสื่อมทรุดลงมากกว่าเก่า และตามมาด้วย “ความกังวลถึงระยะเวลาในการหลุดพ้นจากปัญหาโรคระบาดที่อาจทอดยาวออกไป”

โดยก่อนหน้านี้ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ได้ออกมาเตือนว่า ราคาสินค้าอุปโภคบริโภค รวมถึงต้นทุนค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้น ประกอบกับภาวะชะงักงันของซัพพลายเชนโลกอย่างต่อเนื่อง กำลังขยายความวิตกกังวลเกี่ยวกับค่าการคงอยู่ของเงินเฟ้อ และความยืดหยุ่นของการส่งออก

2. รัฐบาลจีนตัดสินใจผิดพลาด ต่อการตอบสนองความท้าทายในประเทศ

วิกฤติและความผันผวนของ บริษัทเอเวอร์แกรนด์ (Evergrande) รวมถึงบริษัทอสังหาริมทรัพย์ของจีนรายอื่นๆ ทำให้เกิดคำถามใหญ่ขึ้นว่า รัฐบาลจีนจะจัดการแก้ไขปัญหาเรื่องนี้อย่างไร เนื่องจากเกี่ยวข้องกับภาวะความมั่งคั่งของภาคครัวเรือนส่วนใหญ่

นอกจากนี้ การบังคับใช้มาตรการควบคุมที่เข้มงวดในภาคส่วนต่างๆ เพื่อลดปัญหาความเหลื่อมล้ำ และนำไปสู่สิ่งที่ปักกิ่งเรียกว่า “ความมั่งคั่งร่วมกัน” (Common Prosperity) เช่น การเรียนพิเศษ การเล่นเกมของเยาวชน การให้บริการอินเทอร์เน็ต ทำให้เกิดคำถามในหมู่นักลงทุนว่า ปักกิ่งจะออกมาตรการเพิ่มเติมที่อาจส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมใดอีกหรือไม่ และธุรกิจใดคือเป้าหมายต่อไป

นอกจากนี้ การยึดมั่นในนโยบาย Covid Zero ซึ่งห้ามการเดินทางออกนอกประเทศและปิดท่าเรือหลายต่อหลายครั้งเพื่อการตรวจหาผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวนมาก ล้วนแล้วแต่ส่งผลกระทบต่อ “ห่วงโซ่อุปทานโลก” ที่มีผลต่อการทำให้เกิดปัญหาขาดแคลนสินค้าและความล่าช้าในการผลิตอย่างต่อเนื่อง รวมถึงมีส่วนให้เกิดเงินเฟ้อไปทั่วโลก

รายงานของ IMF ระบุว่า การยกเลิกการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจที่รวดเร็วเกินไป และการฟื้นตัวของการบริโภคที่ล่าช้าจะทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจช้าลงเช่นกัน

ด้วยเหตุนี้ หากประเทศจีนซึ่งกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายภายในประเทศหลายประการ ไม่สามารถตอบสนองปัญหาที่เกิดขึ้นเหล่านั้นได้อย่างสมบูรณ์ การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอาจถูกจำกัดวงลง และส่งผลกระทบต่อไปยังเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ ในทวีปเอเชียด้วย

3. เอเชียกำลังเผชิญหน้ากับการก่ออาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตในวงกว้าง

ทวีปเอเชียกำลังมีความเสี่ยงต่อภัยจากการก่ออาชญากรรมทางอินเทอร์เน็ตมากขึ้น โดยมีเหตุปัจจัยมาจาก มีประชากรจำนวนมากแต่กลับมีความตระหนักรู้ถึงภัยคุกคามทางไซเบอร์ในระดับต่ำ อีกทั้งหลายๆ ประเทศยังไร้กฎหมายเรื่องการเปิดเผยข้อมูล รวมถึงยังมีเทคโนโลยีที่ค่อนข้างล้าสมัยในการป้องกันภัยรูปแบบนี้อีกด้วย

โดย ภัยคุกคามทางไซเบอร์ ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบ การล้วงข้อมูลส่วนบุคคลหรือข้อมูลบัตรเครดิต, การแฮกเข้าเว็บไซต์ หรือขัดขวางการทำธุรกรรมออนไลน์ ย่อมนำมาซึ่งต้นทุนและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มสูงขึ้น รวมถึงยังทำให้การดำเนินธุรกิจเกิดภาวะชะงักงันอีกด้วย

...

4. อัตราเงินเฟ้อกำลังเพิ่มสูงขึ้นในทวีปเอเชีย

ADB คาดการณ์ว่า ในปี 2022 อัตราเงินเฟ้อจะเพิ่มขึ้นทั่วทวีปเอเชีย โดยได้แรงหนุนจากอุปสงค์ทั่วโลกที่ขยับตัวขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ราคาอาหารและเชื้อเพลิง หรือการหยุดชะงักของซัพพลายเชน ขณะเดียวกัน อัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นในสหรัฐฯ อาจส่งผลให้เกิดภาระหนี้ และการกระตุ้นการไหลออกของเงินทุน รวมถึงทำให้เกิดภาวะเข้มงวดทางการเงิน ในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชียได้อีกด้วย

5. การแบ่งแยกระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะยิ่งร้าวลึกมากขึ้น

ความพยายามของวอชิงตัน ในการสกัดกั้นการแผ่อิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ผ่านกลยุทธ์เรียกร้องให้ประเทศพันธมิตรเข้าร่วมในการใช้ข้อจำกัดด้านการลงทุน, เทคโนโลยี, การค้า ซึ่งลงลึกไปถึงขั้นการแบ่งแยกพื้นที่และเทคโนโลยีขั้นสูงกับรัฐบาลปักกิ่ง ได้กลายเป็นการสร้างแรงกดดันให้ประเทศที่สามต้องจำใจเลือกข้าง

แต่การกระชับอำนาจของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และความภาคภูมิใจในความสำเร็จต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น การควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาว จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับปักกิ่งในการเผชิญหน้ากับกระแสการต่อต้านชาวจีนในสหรัฐฯ เช่นกัน และการแข่งขันทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ส่อเค้าว่าจะยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ นี้ อาจมีผลกดดันการลงทุนและการเติบโตของภาคการผลิตในปี 2022 ได้เช่นกัน

...

6. ภาวะตึงเครียดทางสังคมจากการแพร่ระบาดโควิด-19 และสภาพภูมิอากาศ

หลายๆ ประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชีย ใช้มาตรการควบคุมประชากรของตัวเองอย่างเข้มงวดและอาจเลยเถิดไปถึงการละเมิดเสรีภาพ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดโควิด-19 ซึ่งประเด็นนี้อาจก่อให้เกิดความตึงเครียดทางสังคมโดยเฉพาะในกลุ่มคนยากจนที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด จนกระทั่งอาจลุกลามกลายเป็นความขัดแย้งทางการเมือง ซึ่งจะยิ่งทำให้ระยะเวลาให้การฟื้นตัวหลังการแพร่ระบาดทอดยาวออกไปอีก

ขณะเดียวกัน การทุ่มเทงบประมาณจำนวนมากเพื่อกระตุ้นการใช้จ่ายโดยภาครัฐเพื่อหวังบรรเทาวิกฤติและการต้องใช้จ่ายงบประมาณภายใต้แรงกดดัน อาจนำไปสู่การลดโครงสร้างทางสังคม ภัยคุกคามด้านสิ่งแวดล้อม และการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่ไร้เสถียรภาพมากยิ่งขึ้น

7. ภัยคุกคามต่อความมั่นคงในภูมิภาคที่อาจถูกจุดติดขึ้น

การที่สหรัฐฯ ถอนตัวออกจากประเทศอัฟกานิสถาน อาจปลุกให้กลุ่มก่อการร้ายต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มอัลกออิดะห์และกลุ่มไอซิส ออกมาก่อการร้ายและใช้ความรุนแรงกับกลุ่มที่เคยให้การสนับสนุนกองทัพสหรัฐฯ

ขณะเดียวกันวิกฤติที่เกิดจากโควิด-19 และภัยธรรมชาติซึ่งกระทบกับเกาหลีเหนือโดยตรงอาจกระตุ้นให้รัฐบาลเกาหลีเหนือ พยายามเรียกร้องความสนใจและความช่วยเหลือจากนานาประเทศโดยเฉพาะสหรัฐฯ ผ่านการทดลองขีปนาวุธนิวเคลียร์เช่นที่ทำมาแล้วหลายต่อหลายครั้งก่อนหน้านี้

...

จีนเพิ่มแรงกดดันต่อไต้หวันมากขึ้นในช่วงปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็นทั้งการทหารหรือการทูต ในขณะที่สหรัฐฯ ยังคงพยายามหาทางเข้าแทรกแซงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งถึงแม้การใช้กำลังทหารยึดไต้หวันกลับคืนมาอาจไม่น่าจะเป็นได้

แต่หากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องเดินเกมผิดพลาดจนนำไปสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ มันย่อมส่งผลกระทบต่อทั้งความสัมพันธ์ระหว่างประเทศและเศรษฐกิจโลกอย่างแน่นอน

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ