“ผมเคยพูดกับนักศึกษาในชั้นเรียนเหมือนกันนะครับว่า ในสมัยดึกดำบรรพ์ มนุษย์เราใช้ หอก หรือ ดาบ เป็นเครื่องมือในเวลาออกล่าเหยื่อ แต่หลังจากเปลี่ยนถ่ายมาหลายยุคหลายสมัย สุดท้ายแล้ว ณ ปัจจุบัน มนุษย์ เราก็ยังคงออกล่าเหยื่อเหมือนเดิม เพียงแต่เปลี่ยนจาก หอก หรือ ดาบ ไปเป็น โทรศัพท์มือถือ หรือแท็บเล็ต เท่านั้น”

ดร.กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เจ้าของงานวิจัยระดับปริญญาเอกเรื่อง Cyberbullying Among University Students in Thailand

มาถึงในยุคที่มนุษย์ก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยีเช่นในปัจจุบันแล้ว มนุษย์ยังต้องมีการออกล่าเหยื่อกันอีกหรือ? แล้วอะไรคือเหยื่อ? แล้วอะไรคือที่มาของคำกล่าวข้างต้นกันนะ?

ในวันนี้ “เรา” ไป “แลกเปลี่ยนทัศนะ” กับนักวิชาการผู้ให้ความสนใจ “การกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์” หรือ “เหยื่อ” ในนิยามจากบรรทัดบนสุดโน่นกันดู!

...

สังคมไทยเป็นสังคมแห่งการวิพากษ์วิจารณ์?

“คนส่วนใหญ่มักคิดกันเพียงว่า การโพสต์หรือทำอะไรก็ตามบนสื่อสังคมออนไลน์ เป็นเพียงแค่การแสดงความคิดเห็นส่วนตัวเท่านั้น”

นับตั้งแต่สื่อสังคมออนไลน์ได้รับความนิยมในประเทศไทย ปรากฏการณ์ที่พบเห็นได้โดยทั่วไปคือ มีการนำสื่อสังคมออนไลน์เหล่านั้นมาใช้สำหรับการวิพากษ์วิจารณ์มากขึ้น แต่ในบางครั้งหากเราไม่ทราบเรื่องขอบเขตของการวิพากษ์วิจารณ์บางที คำพูด การแสดงความคิดเห็น หรือคอมเมนต์ อาจจะไปกระทบกับจิตใจของผู้ที่เป็นเป้าหมาย จากการถูกวิพากษ์วิจารณ์ได้ ทำให้มักคาดไม่ถึงว่าการกระทำใดๆ ก็ตามนั้น มันมักส่งผลกระทบต่อผู้ที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นทั้ง รู้สึกแย่ในตนเอง รู้สึกว่าตัวเองด้อยคุณค่า หรือบางครั้งอาจถึงขั้นทำร้ายตัวเอง

“เพราะสื่อสังคมออนไลน์ สามารถดึงสัญชาตญาณดิบของมนุษย์ออกมาได้อย่างเต็มศักยภาพ”

นี่คือเหตุผลว่าเพราะอะไร...ดร.กฤษฎา จึงให้ความสนใจทำงานวิจัยเรื่องปรากฏการณ์ไซเบอร์บูลลี่ในประเทศไทย!

ปัจจัยสำคัญที่นำไปสู่ความก้าวร้าวและการบูลลี่บนโลกโซเชียลมีเดีย

ดร.กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต
ดร.กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

การเป็นนิรนามบนโลกออนไลน์ (Anonymity in cyberspace)

“ยิ่งใช้เวลาบนสื่อสังคมออนไลน์มากขึ้นเท่าไร มักจะมีแนวโน้มที่ทำให้เรามีพฤติกรรมก้าวร้าวเพิ่มมากขึ้น”

สิ่งที่ “ค้นพบ” จากงานวิจัยคือ พื้นที่บนสื่อสังคมออนไลน์มักจะมีลักษณะของความเป็น “นิรนาม” ซึ่งความเป็นนิรนามนี้เอง ที่กระตุ้นให้คนเรามีความกล้าในการแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวกว่าปกติ หรือ กล้าที่จะแสดงความ ห่าม ดิบ หรือสัญชาติญาณอีกด้านหนึ่งของตัวเองออกมา มากกว่าในชีวิตจริงได้ “ง่ายขึ้น”

ซึ่งมันก็เหมือนกับในสังคมกายภาพเวลาที่ใครคิดจะทำอะไรผิด สิ่งที่มักนึกถึงก่อนเป็นอันดับแรกคือ จะทำอย่างไรถึงจะไม่ให้คนจำหน้าเราได้ เพราะถ้าไม่มีใครจำหน้าเราได้ มันจะง่ายต่อการกระทำความผิด เพราะเรามั่นใจว่า ไม่มีใครรู้หรอกว่าตัวเราเองเป็นใคร?

นอกจากนี้ “ในมุมกลับกัน” ความเป็น “นิรนาม” จะทำให้มนุษย์มีแนวโน้ม “ขาดความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น” ไปด้วยเช่นกัน เพราะในสังคมกายภาพ หากมนุษย์เราได้พบเจอผู้ตกทุกข์ได้ยาก หรือถูกทำร้าย เรามักเกิดความสงสารและเห็นอกเห็นใจเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

แต่ในโลกออนไลน์ สิ่งที่พบเห็นอยู่ตรงหน้า คือ จอคอมพิวเตอร์ หรือ จอโทรศัพท์มือถือ ด้วยเหตุนี้ การกระทำใดๆ ก็ตาม จึงไม่ทำให้เกิดความรู้สึกว่า “เข้าใจ สงสาร หรือเห็นอกเห็นใจ” กับผู้ที่เราได้โพสต์ข้อความหรือกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดลงไป ทั้งๆ ที่ในบางครั้ง เราไม่รู้เสียด้วยซำ้ไปว่า ผู้ที่กลายเป็น “เหยื่อ” ของเราไปแล้วนั้น “เขาเป็นใคร?” เพราะเราไม่ได้ “มองเห็น” หรือ “สัมผัสรับรู้” ว่าอีกฝ่าย “กำลังรู้สึกอะไรกับการกระทำของเรา”

...

ความไม่เท่าเทียมกันทางอำนาจบนพื้นที่ไซเบอร์ (Imbalance of power in cyberspace)

“มันคือการถอดรูปแบบมาจากการกลั่นแกล้งทางกายภาพในสมัยก่อน เช่น คนที่มีกำลังมากกว่าชอบรังแกคนที่อ่อนแอกว่า”

สำหรับนิยามในเบื้องต้น มันคือความสามารถในการรู้วิธีการซ่อนตัวจากการถูกตรวจจับในระบบของสื่อสังคมออนไลน์ หรือสามารถซ่อนตัวตนให้เป็นนิรนาม เพื่อไปหาทางกลั่นแกล้งหรือล่าเหยื่อได้

แต่จากการค้นพบเพิ่มเติมจากการทำงานวิจัยนั้น นอกจากความเชี่ยวชาญทางไซเบอร์ที่มีมากกว่าคนทั่วไปแล้ว ยังพบว่า “ยอดการกดไลค์ แชร์ หรือ ยอดผู้ติดตาม” ก็ถือเป็นรูปแบบการวัดผล “เรื่องความไม่เท่าเทียมทางอำนาจไซเบอร์” ได้อีกทางหนึ่งเช่นกัน นั่นเป็นเพราะยอดการกดไลค์ กดแชร์ หรือการที่มียอดผู้ติดตามจำนวนมาก อาจทำให้เกิดความรู้สึกถึง “การมีอำนาจในการชี้นำสังคม” หรือจะเรียกง่ายๆ ว่า “พฤติกรรมจ่าฝูง” ก็ไม่ผิดอะไรนัก!

...

ความเชื่อว่าสิ่งที่ตนเองทำนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง (Belief in self-righteousness)

“เรามักเชื่อมั่นในทัศนคติและกรอบความเชื่อของตัวเอง จนบางครั้งจะมีมุมมองต่อคนที่ผิดไปจากกรอบความเชื่อและทัศนคติที่ว่านี้ว่า เป็นคนไม่ดีและสมควรถูกสังคมลงโทษ คนที่ทำผิดสมควรถูกลงโทษหรือไม่ คำตอบก็คือ ใช่เขาสมควรถูกลงโทษ เพียงแต่ว่า เขาไม่ควรถูกลงโทษเกินกว่าความผิดที่ตัวเองได้ทำไว้”

โดยจากการศึกษาวิจัยพบว่า การใช้กรอบความเชื่อและทัศนคติของตัวเองไปใช้ในสื่อสังคมออนไลน์นั้น โดยมากมักจะเลยเถิดไปจากเพียงแค่การวิพากษ์วิจารณ์ และส่วนใหญ่มักเต็มเปื้อนและแฝงไว้ด้วยอารมณ์จนแทบไม่ต่างอะไรกับต้องการที่จะทำให้เหยื่อกลายเป็นจุณหายไปจากสังคมเลยก็ว่าได้

ทั้งหมดที่ “คุณ” เพิ่งใช้เวลาอ่านไปเป็นเพียง “หนังตัวอย่าง” จากรายงานวิจัยระดับปริญญาเอก ของ ดร.กฤษฎา แสงเจริญทรัพย์ อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ที่พยายามค้นหาคำตอบเรื่องการทำร้ายกันในโลกออนไลน์

...

หาก “คุณ” อยากได้ข้อมูลเพิ่มเติมสามารถกดคลิกอ่านเพิ่มเติมได้ ที่นี่ Cyberbullying Among University Students in Thailand 

ว่าแต่อ่านมาถึงบรรทัดนี้แล้ว “คุณ” มีความเห็นต่อประเด็นการไซเบอร์บูลลี่อย่างไรกันบ้าง?

“การวิพากษ์วิจารณ์” และ “การกลั่นแกล้งในโลกไซเบอร์” ที่มีเพียงเส้นแบ่งบางๆ กั้นขวางไว้จนบางคนแทบไม่รู้ตัวเองด้วยซ้ำไปว่า “ได้ก้าวข้ามเส้นแบ่ง” ที่ว่านั้นไปแล้วหรือยัง?

“การติเพื่อก่อ” และ “การด่าทอผู้อื่นด้วยถ้อยคำหยาบคาย” เรา สามารถแยกแยะมันให้ขาดจากกันได้หรือไม่ ก่อนที่ตัวเราจะพิมพ์อะไรลงไปในสื่อสังคมออนไลน์แล้วหรือยัง?

แต่เหนืออื่นใด...หาก คุณ เป็นผู้ที่มีความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นน้อย คุณ ก็อาจจะมีพฤติกรรมไซเบอร์บูลลี่คนอื่นได้ง่ายขึ้น

ว่าแต่...วันนี้ “คุณ” ได้เผลอล่าเหยื่อในโลกสื่อสังคมออนไลน์ไปมากน้อยแค่ไหนแล้วนะ?

“มนุษย์เราทุกคนเกิดมาพร้อมความเลวร้ายโดยกำเนิด”
โทมัส ฮอบส์ (Thomas Hobbes) นักปรัชญาการเมือง

ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน

** หมายเหตุ งานวิจัย Cyberbullying Among University Students in Thailand เป็นการศึกษาโดยใช้วิธีการวิจัยแบบผสมเพื่อรวบรวมข้อมูล โดยกลุ่มตัวอย่างงานเป็นนักศึกษาระดับปริญญาตรีในประเทศไทยทั่วประเทศ ซึ่งพบว่า 86.7% ยอมรับว่าเคยมีพฤติกรรมกลั่นแกล้งผู้อื่นในโลกออนไลน์ และมีเพียง 13.3% เท่านั้นที่ไม่เคยกลั่นแกล้ง **

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ