- กระทรวงการคลังมีแผนจะเก็บภาษีธุรกิจเฉพาะ จากการขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ (Financial Transaction Tax) และกำไรจากการขายหลักทรัพย์ (capital gain) เป็นหนึ่งในแผนการปฏิรูปโครงสร้างภาษี เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของภาครัฐ ภายหลังได้รับการยกเว้นมานานกว่า 30 ปี ตั้งแต่ปี 2534
- ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาพิจารณาการเรียกเก็บภาษี ใน 3 โมเดล 1. การขายหุ้น 1 ล้านบาทต่อเดือน 2. การขายหุ้น ตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อเดือน และ 3. การขายหุ้นในตลาดตั้งแต่ 2 ล้านบาทต่อเดือนขึ้นไป จากเดิมที่ข้อกฎหมายในประมวลรัษฎากร กำหนดการขายหุ้น 1 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องเสียภาษีในอัตรา 0.1% ของมูลค่าขาย โดยกรมสรรพากร ยืนยันนักลงทุนรายย่อย จะไม่ได้รับผลกระทบแน่นอน
- ในส่วนประมวลรัษฎากร หมวดที่ 5 เรื่องภาษีธุรกิจเฉพาะ กำหนดให้การประกอบกิจการด้านการขายหลักทรัพย์ตามกฎหมายว่าด้วยตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยในตลาดหลักทรัพย์ จะต้องเสียภาษี ซึ่งคำนวณจากรายรับก่อนหักรายจ่ายใดๆ ในอัตรา 0.1% และการชำระภาษีให้โบรกเกอร์ที่เป็นตัวแทนของผู้ขายหลักทรัพย์ เป็นผู้หักภาษีธุรกิจเฉพาะจากเงินที่ขาย และเป็นผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษี และชำระภาษีแทนผู้ขาย โดยที่ผู้ขายไม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีอีก
เก็บภาษีขายหุ้น มีแต่ข้อเสีย ซ้ำเติมตลาดทุนไทย
ประเด็นดังกล่าวมีกระแสออกมาจะมีการเรียกเก็บภาษีในปี 2565 ในอัตรา 0.1% แต่ยังต้องรอความชัดเจนจากกระทรวงการคลัง และได้มีหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องออกมาคัดค้านเกรงว่าความสามารถในการแข่งขันของตลาดหุ้นไทยจะลดลง ทำให้นักลงทุนในประเทศหันไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มต้นทุนการซื้อขายหุ้น และนักลงทุนต่างชาติจะหันไปเทรดในตลาดหุ้นอื่นแทน
...
ในแง่เศรษฐศาสตร์ “ดร.นณริฏ พิศลยบุตร” นักวิชาการอาวุโส ด้านนโยบายเศรษฐกิจส่วนรวมและเศรษฐศาสตร์ประยุกต์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) มองว่า พยายามหาข้อดีหากจะมีการจัดเก็บภาษีขายหุ้น แต่ในมุมเสียพอเห็นแล้ว เพราะเวลาที่พูดถึงตลาดทุนเป็นการระดมทุน ทั้งในรูปแบบของทุนหรือหนี้ เช่น การเสนอขายหุ้นต่อประชาชนทั่วไป เมื่อธุรกิจต้องการเงินไปขยายกิจการ เพราะมีข้อจำกัดเงื่อนไขในการกู้ยืมธนาคาร และถ้าไม่มีการเก็บภาษี ทำให้กระบวนการต่างๆ ไม่มีต้นทุนในการเพิ่มทุน จึงไม่ควรเข้าไปแทรกแซงก่อให้เกิดปัญหา
จากที่เข้าใจพบว่าตลาดทุนในไทยไม่ค่อยน่าดึงดูดใจ เพราะมีสินค้าอยู่ในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม (Old Economy) ไม่มีภาคเศรษฐกิจยุคใหม่ (New Economy) หรือมีเพียงบางตัวเท่านั้น และในอนาคตธนาคารจะเจ๊ง ซึ่งขณะนี้เริ่มเห็น หากเทียบกับต่างประเทศมีหุ้นเทคโนโลยีเป็นจำนวนมาก
“ตลาดทุนของไทย อยู่ในภาคเศรษฐกิจดั้งเดิม ทำให้คนไม่อยากเข้ามาเล่น ยิ่งถูกเก็บภาษีค่าธรรมเนียม ทำให้ภาพความดึงดูดยิ่งแย่ลง เมื่อมองในแง่เศรษฐศาสตร์ต้องมีมูลเหตุและสิ่งที่ชี้ว่าทำไมต้องเก็บภาษีขายหุ้น ขณะที่การซื้อขายบิตคอยน์ มีกระบวนการที่ใช้ต้นทุนสูง ส่งผลต่อสิ่งแวดล้อม ควรจะถูกเก็บภาษีมากกว่า ถามว่ามีเหตุอะไรจะเก็บภาษีขายหุ้น ได้ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมหรือไม่จากที่ใครซื้อใครขาย ก่อให้เกิดปัญหาหรือไม่ เพราะไม่ใช่เหล้า บุหรี่ ก็พยายามนึกว่ามีเหตุผลอะไร และตามหลักเศรษฐศาสตร์ ไม่ควรเก็บภาษีซื้อขายหุ้น จะทำให้มีปัญหา”
หรือรัฐถังแตก ทำไมไม่เก็บภาษีที่ดินกับคนรวย จริงจัง
ท้ายสุดอาจเป็นเรื่องของรัฐต้องการเงิน หรือถังแตก จะต้องมีการตั้งคำถามว่าเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดหรือไม่ในการดึงเงิน หากเป็นคนมีฐานะอาจต้องเก็บภาษี ถามว่ามีประสิทธิภาพหรือไม่ แม้ไม่ชัดเจนในขณะนี้ เพราะเวลาเราพูดถึงการลงทุนในทางเศรษฐศาสตร์มองว่าเป็นโมบาย เคลื่อนที่ไปมาได้ หากมีการเก็บภาษีขายหุ้น จะทำให้นักลงทุนหันไปเล่นหุ้นต่างประเทศมากขึ้น
...
ในทางกลับกันถ้าคนรวยมีที่ดิน ไม่สามารถยกที่ดินไปที่อื่น เพื่อหลีกเลี่ยงภาษีได้ ดังนั้นการเก็บภาษีคนรวย จะมีประสิทธิภาพมากกว่า ควรไปจัดเก็บภาษีที่ดินจะดีกว่า หรือเก็บภาษีหุ่นยนต์ ซึ่งน่าจะมีประสิทธิภาพมากกว่า จึงไม่เห็นด้วยกับการเก็บภาษีขายหุ้นในการตัดช่องทางในการลงทุน เพราะไม่ได้ก่อผลกระทบทั้งด้านสิ่งแวดล้อม และไม่มีพิษภัยเหมือนเหล้า บุหรี่ และหลังจากนี้ต้องรอฟังว่าทำไมจะเก็บภาษีขายหุ้น
อีกทั้งที่ผ่านมาตลาดทุนของไทยมีขีดจำกัดในการพัฒนา ตั้งแต่ปี 2540 ช่วงวิกฤติต้มยำกุ้ง โดยดัชนีหุ้นไทยยังไม่ถึง 1,600-1,700 จุด ถ้าเทียบกับประเทศอินโดนีเซีย และเกาหลีใต้ ซึ่งฟื้นไปมากกว่า 2-3 เท่า
“คิดว่าจะไปซ้ำเติมนักลงทุน มากกว่าช่วยเหลือ และท้ายสุดถ้าเก็บภาษีจริงๆ จะทำให้คนไม่อยากมาเล่นหุ้น และจะมีน้อยลง เพราะขณะนี้คนไทยไปเล่นหุ้นต่างประเทศมากขึ้น และยิ่งเล่นคริปโตฯ ก็จะไปกันใหญ่ อยู่ในโลกของเมตาเวิร์ส อาจฟองสบู่แตก ตรงข้ามกับตลาดหุ้น ยังมีกลต.คอยควบคุม ควรพัฒนาให้เข้มแข็ง หลังจากไม่มีการพัฒนามานาน”
...
นอกจากนี้จะทำให้น้ำหนักของกองทุนในตลาดหลักทรัพย์ ถูกลดทอนลงไปเรื่อยๆ มีการถอนเงินออกจากไทยไปเรื่อยๆ เพราะโปรดักต์เก่า ขณะที่ประเทศเวียดนาม มีการเติบโตต่อเนื่อง ส่วนไทยยังมีปัญหาการเมือง และโควิดก็ยังไม่ฟื้น ทำให้ไทยไม่เซ็กซี่ในสายตานักลงทุน
หากมีข้ออ้างเพราะต้องการปฏิรูปโครงสร้างภาษี ควรเก็บภาษีจากฐานทรัพย์สินด้วยการเก็บภาษีที่ดินอย่างจริงจัง เพราะเป็นตัวเดียวในการจะแก้ปัญหา ในการเก็บภาษีกลุ่มคนระดับอภิมหารวย ไม่ควรไปเก็บภาษีคนที่พัฒนาตลาดทุน หรือถ้าอยากจะเก็บภาษี ทำไมไม่พยายามไปเก็บภาษีสลากออมทรัพย์ ซึ่งคนไทยส่วนใหญ่นิยมลงทุนเพราะมีความเสี่ยงต่ำ
ส่วนตัวไม่เห็นด้วย เพราะไม่มีประสิทธิภาพ ควรไปเก็บภาษีที่ดิน ภาษีมรดก เป็นการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม และเป็นการให้ รวมไปถึงการเก็บภาษีหุ่นยนต์ ภาษีสิ่งแวดล้อม แต่ที่ผ่านมาภาครัฐไม่ค่อยแตะต้องเท่าไร แทนที่จะไปดูและควรทำ เช่นเดียวกับภาษีเหล้า บุหรี่ น้ำตาล ความเค็ม หรือไปเก็บภาษีการใช้น้ำในภาคเกษตรและอุตสาหกรรม และควรปรับขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งส่วนใหญ่คนที่จ่ายอยู่ในกลุ่มชนชั้นกลางและคนรวย ไม่ใช่อยากจะเก็บภาษีขายหุ้น ก็ต้องเก็บโดยไม่มีเหตุผลมารองรับ.
...
ผู้เขียน : ปูรณิมา