ช่วงเช้ามืด วันนี้ 9 ธันวาคม 2564 เกิดอุบัติเหตุสลด กับรถ “บิ๊กไบค์” ที่บริเวณสะพานข้ามแยก “คลองตัน” จุดนี้ถือเป็นจุดอันตรายมากที่สุดแห่งหนึ่งบนท้องถนน เพราะเกิดอุบัติเหตุขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะกับรถจักรยานยนต์ในช่วงเวลาค่ำคืน

หากใครยังจำได้ เมื่อราว 2 ปีก่อน ก็เกิดเหตุสลดเช่นนี้ แต่คราวนั้นผู้เคราะห์ร้ายถึงกับศีรษะขาดติดอยู่ในหมวกกันน็อก ซึ่งหลังจากนั้น ก็มีการปรับปรุงแนวป้องกันอุบัติเหตุบนสะพาน

พ.ต.ท.เวนิด ตอสกุล รองผู้กำกับจราจร สน.คลองตัน ยอมรับว่า สะพานดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุอยู่บ่อยครั้ง โดยเฉพาะ รถมอเตอร์ไซค์ เพราะเจอปัญหาการฝ่าฝืนกฎจราจรมาโดยตลอด เคสที่มีปัญหามักจะเป็นเวลากลางคืน มีสาเหตุหลักคือ 1.ขับรถด้วยความเร็วสูง ซึ่งปกติแล้ว เรามีป้ายกำกับความเร็วไว้ที่ 40 กิโลเมตร/ชั่วโมง และจากการทำงานพบว่าอุบัติเหตุจะมีปัจจัยอยู่ 3 อย่าง คือ 1.สถานที่ 2.สภาพรถ และ 3.สภาพของคนขับ

ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) เผยว่า สะพานข้ามแยกคลองตัน มีลักษณะสะพานยาว โดยเมื่อขับรถมาสักพัก ตรงกลางจะเป็นทางโค้งรูปแบบตัว S บางคนที่ขับรถขึ้นมา เมื่อเห็นทางโล่งก็จะเร่งเครื่อง อีกทั้งกายภาพของสะพานแห่งนี้ ไม่มีไหล่ทาง มอเตอร์ไซค์จึงขับคล้ายรถเก๋ง แต่อาจจะวิ่งชิดซ้าย

...

อุบัติเหตุบนสะพานนี้ มักจะเกิดขึ้นระหว่างโค้งแรก ที่เชื่อมต่อกับโค้งที่สอง โดยเฉพาะรถมอเตอร์ไซค์ที่ใช้ความเร็วไม่เหมาะสม อุบัติเหตุที่เกิด มักจะเป็นลักษณะเฉี่ยวชนกับขอบทาง โดยเฉพาะราวสะพาน ซึ่งสะพานข้ามแยกคลองตัน เป็นสะพานรุ่นเก่า จะมีเหล็กยึดที่ยื่นออกมา

“กรณีเมื่อ 2 ปีก่อน ก็เป็นลักษณะคล้ายกัน ผู้ที่ขับขี่มอเตอร์ไซค์ เวลาเกิดอุบัติเหตุ ช่วงบริเวณหัวจะยื่นไปข้างหน้า แล้วช่วงคอได้มาเกี่ยวกับราวสะพานที่ยื่นออกมา แรงเหวี่ยงทำให้คอเกิดขาดราวสะพาน ที่มีแท่งเหล็กยื่นออกมานี่แหละ คือสาเหตุที่ทำให้มีโอกาสเสียชีวิตได้สูงมาก”

แนวทางการแก้ปัญหา

ที่ผ่านมา ทาง กทม. ได้พยายามแก้ไขสะพานข้ามแยกคลองตันหลายส่วนประกอบด้วย

1. การเพิ่มความถี่เส้นแถบชะลอความเร็วแบบ Transverse Rumble Strips เจตนาเพื่อให้ถนนดูแคบลง พอถนนแคบลง จะรู้สึกเหมือนเลนบีบ ทำให้คนขับรถต้องชะลอความเร็ว
2.ทาสีเคลือบผิวจราจรต้านทานการลื่นไถล (Anti-Skid)
3.เพิ่มไฟส่องสว่างมากขึ้น เพื่อคนขับรถในเวลากลางคืน
4 ติดตั้งไฟกะพริบทางโค้ง (LED CHEVRON SIGN) เพื่อแจ้งเตือน

“สิ่งที่ทำทั้งหมด คือ มาตรการพื้นฐาน แต่ความเสี่ยงหลัก คือ เรื่องความเร็ว หากยังไม่แก้ อุบัติเหตุก็อาจจะยังเกิดอยู่ โจทย์การแก้ปัญหาข้อนี้ คือ ต้องทำยังไงก็ได้ ให้รถจักรยานยนต์ลดความเร็วลงให้ได้” นพ.ธนะพงศ์ กล่าว

แก้ปัญหาความเร็วไม่ได้ จึงห้าม มอเตอร์ไซค์ ขึ้นสะพาน

คำถามคาใจห้าม “มอเตอร์ไซค์” ขึ้นสะพานข้ามแยก นพ.ธนะพงศ์ เปรยว่า ถ้ารถวิ่ง 40-60 กม./ชั่วโมง ผมก็ว่าน่าจะวิ่งได้นะ แต่ความเป็นจริง คือ มันทำไม่ได้ เป็นที่มาของการตัดสินใจของหน่วยงาน เช่น กรุงเทพมหานคร มีคำสั่ง “ห้ามขึ้น” เลย เพราะเขาไม่สามารถจัดการความเร็วของรถที่วิ่งขึ้นไม่ได้

ผู้จัดการ ศวปถ. ยังได้ยกตัวอย่าง กรณีทางลงอุโมงค์ ลองนึกง่ายๆ “อุโมงค์ดินแดง” จะมีความคล้ายกับสะพานข้ามแยกคลองตันเลย เพราะเป็นอุโมงค์ที่ไม่มีไหล่ทาง มอเตอร์ไซค์จะวิ่งได้เลนเดียวกับรถเก๋งและอื่นๆ ซึ่งวิ่งลงมาด้วยความเร็วสูง และสุดท้ายก็เลือกแก้ด้วยวิธีการเดียวกัน คือ "ห้ามมอเตอร์ไซค์" ลงอุโมงค์ เพราะเกิดอะไรขึ้น คนขี่มอเตอร์ไซค์ไม่ค่อยรอด...

...

ข้อห้าม...แต่ในทางปฏิบัติทำยากมาก เพราะการวิ่งข้างบนสะพานข้ามแยก จะประหยัดเวลากว่าการวิ่งข้างล่าง ถ้าเขามารอไฟแดงแยกนี้ ต่ำๆ กว่า 120 วินาที

การแก้ปัญหาด้วยการห้ามไปเลย กลุ่มมอเตอร์ไซค์ก็อาจจะมองว่า เป็นความเหลื่อมล้ำ นพ.ธนะพงศ์ ระบุว่า หากมองในมุมของความปลอดภัย วิธีการแก้ปัญหาคือ "การจัดการความเร็วทั้งระบบ" กับรถทุกชนิด

“การจำกัดความเร็ว จะมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับ "กายภาพ" ของถนนด้วย ยกตัวอย่างถนนทางโค้งเข้าสนามบินสุวรรณภูมิ ที่มีการยก SLOPE เราสามารถวิ่งได้ถึง 80 กม./ชม. ก็เพราะมีการยกพื้นให้เอียงเป็น SLOPE แต่ปัญหาคือ การสร้างสะพานในเขตเมือง ไม่สามารถทำให้เอียง SLOPE ได้ เพราะถ้าทำแบบนั้นจะส่งผลต่อการจัดการระบายน้ำยากมาก”

นพ.ธนะพงศ์ ยังยกตัวอย่างโค้งรัชดาภิเษก ตรงนั้นก็ไม่ได้มีการ SLOPE จึงถูกกำหนดด้วยความเร็ว 60-80 กม./ชั่วโมง ทั้งที่มีถนนกว้างมาก แต่เมื่อคุณขับรถมาเป็น 100 กม./ชม. ก็มีโอกาสหลุดโค้งได้ แต่โค้งที่คลองตันนี่หนักกว่า มีรัศมีโค้งแคบกว่า ดังนั้น รถจึงจำเป็นต้องวิ่งด้วยความเร็วต่ำ หากวิ่งมาด้วยความเร็วจึงมีโอกาสหลุดโค้งได้ง่าย

...

นพ.ธนะพงศ์ ได้เสนอแนวทางแก้ไขปัญหา 3 ข้อ
1.จัดการความเร็วที่เข้มข้นขึ้น
2.หาทางเลือกที่ปลอดภัยให้กับรถมอเตอร์ไซค์
3.ต้องทำให้อุปกรณ์ข้างทางลดการอันตราย เช่น หากเสียหลัก ก็ต้องไม่เจอกับเหล็กที่ยื่นออกมา

“ตอนนี้มีหลายจุดเสี่ยงเริ่มติด โรลลิ่งแบริเออร์ ซึ่งตรงนี้อาจจะช่วยได้ระดับหนึ่ง แต่สำหรับพื้นที่คลองตันตรงนี้ ต้องไม่มีเหล็กโผล่ออกมา อุปกรณ์ข้างทางมันต้องเซฟคนขับขี่ให้มากที่สุด เพื่อป้องกันโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุด้วย”

...

นพ.ธนะพงศ์ ยอมรับว่า แม้เรื่องนี้จะยังไม่ได้คำตอบในการแก้ปัญหาแบบสูตรสำเร็จ แต่เชื่อว่า หน่วยงานที่ดูแลต้องมีการแก้ไขแบบเป็นแพ็กเกจ แก้โดยใช้หลายมาตรการร่วมกัน

เมื่อถามว่าปัญหาอุบัติเหตุเพราะคนไทยบางส่วนไม่มีวินัยจราจรหรือไม่ ผู้จัดการ ศวปถ. บอกว่า "คนเรามีโอกาสผิดพลาดได้ เพราะเราเองก็ไม่รู้ว่าตอนที่เกิดเหตุ มีอะไรก่อนหน้านี้หรือไม่ บางคนอาจจะรีบเดินทาง หรือ บางคนก็อาจจะไม่รู้จริงๆ เฉกเช่นเดียวกับเคส หนุ่มสุพรรณฯ คนหนึ่งที่เขาพยายามขับรถตามแฟนให้ทัน

"เขามัวแต่มอง GPS และคิดว่าตัวเองขับขึ้นสะพานมาแล้ว แต่ปรากฏว่า ถนนพาเขาวิ่งไปข้างล่าง แถมถนนข้างล่างก็ยังเปิดตรงเส้นยูเทิร์น ทำให้เขาขับรถตกน้ำ" (อ่านข่าว แม่ช็อก ลูกไม่ชินทาง ขับรถตาม GPS ก่อนสัญญาณหาย ดิ่งกลางแม่น้ำ)

ฉะนั้น การที่เรามองว่า คนไทยบางคนขาดจิตสำนึก แต่ก็มีบางส่วนคือ เขาไม่ได้ขาดจิตสำนึก แต่อาจจะเป็นช่วงที่เขาผิดพลาด หรือเผอเรอได้ เรื่องนี้ถือเป็นเรื่องปกติของมนุษย์ แต่สิ่งที่เราต้องทำคือ ต้องสร้างระบบอุดช่องโหว่ให้ได้ เพื่อเซฟชีวิตคนที่อาจจะผิดพลาดให้ได้

สำหรับสถิติอุบัติเหตุ จากศูนย์ข้อมูลอุบัติเหตุ เพื่อเสริมสร้างวัฒนธรรมความปลอดภัยทางถนน ข้อมูล ณ วันที่ 10 ธ.ค. พบว่าเกือบ 12 เดือน มีอุบัติเหตุสะสม 822,159 ครั้ง โดยแบ่งเป็นรถยนต์ 52.73% รถจักรยานยนต์ 42.27% โดยมีบาดเจ็บ 809,460 คน เสียชีวิต 12,548 ศพ โดยในจำนวนผู้เสียชีวิต เป็นผู้ขับขี่จักรยานยนต์ มากถึง 80% แบ่งเป็นเพศชาย 79.37% หญิง 20.63% ทุพพลภาพ 151 คน

ผู้เขียน : อาสาม

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ