ท่ามกลางความหวังที่ว่า "เศรษฐกิจโลกในปี 2022" จะค่อยๆ เริ่มฟื้นตัว กิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ ที่แทบจะหยุดเคลื่อนไหวมาเป็นเวลายาวนาน จะเริ่มต้นการขับเคลื่อนได้อีกครั้ง และ "พวกเรา" ในฐานะชาวโลกจะสามารถเฉลิมฉลองและจับจ่ายใช้สอยเนื่องในเทศกาลปีใหม่กันได้ด้วย "ความเชื่อมั่น" อย่างมีความสุขกันอีกครา
แต่แล้วการปรากฏตัวของ "สายพันธุ์โอมิครอน" ได้สั่นคลอนต่อทุกๆ ตัวอักษรในบรรทัดด้านบนโน่นลงแทบจะในทันที (อย่างน้อยก็ในช่วงเวลาที่ชาวโลกกำลังรอคำตอบทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับข้อมูลการกลายพันธุ์ของโคโรนาไวรัสสายพันธุ์นี้)
แล้วโอมิครอนสั่นคลอนต่อความเชื่อมั่นเศรษฐกิจโลกแค่ไหน?
1.ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด สำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2022 :
"ในกรณีที่เลวร้ายที่สุดในช่วงไตรมาสแรกของปีหน้า (ปี 2022) ตัวเลขคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจโลกน่าจะชะลอตัวลงเหลือ 2% ซึ่งจะต่ำกว่าตัวเลขคาดการณ์เดิมที่ 2.5% ขณะที่การคาดการณ์การเติบโตของเศรษฐกิจโลกในภาพรวมตลอดทั้งปีน่าจะอยู่ที่ 4.2% หรือต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 0.4%"
...
โกลด์แมน แซคส์ (Goldman Sachs Group Inc.) วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ
Keyword : ฉากทัศน์ที่เลวร้ายที่สุด เศรษฐกิจโลกเติบโตอย่างน้อย 4.2%
หาก "สายพันธุ์โอมิครอน" ทำให้เกิดการแพร่ระบาดรุนแรงจนขยายวงกว้างออกไปทั่วโลก และนำไปสู่การ Lock Down อีกครั้ง "ซัพพลายเชน" ที่ปัจจุบันตึงเครียดอยู่แล้วจะยิ่งถูกคุกคามเพิ่มมากขึ้น ส่วนอุปสงค์ที่กำลังค่อยๆ ฟื้นตัว ก็จะได้รับผลกระทบไปด้วยเช่นกัน และทั้งหมดนี้จะเป็นชนวนเหตุที่ทำให้เกิดความหวาดกลัว "เรื่องภาวะเงินเฟ้อที่เร็วขึ้น ซึ่งจะผสมผสานเข้ากับอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่เชื่องช้าลง"
อย่างไรก็ดี ประสบการณ์ในการรับมือกับการแพร่ระบาดก่อนหน้านี้ อีกทั้งอัตราการฉีดวัคซีนที่ครอบคลุมมากขึ้น จะทำให้การตอบสนองต่อสายพันธุ์โอมิครอนดีขึ้นกว่าในอดีต
2.โอมิครอนกับเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา :
"การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่รุนแรงขึ้น อีกทั้งการปรากฏตัวของสายพันธุ์โอมิครอน ได้ส่งผลให้เกิดปัจจัยลบต่อการจ้างงานและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ อีกทั้งยังทำให้เกิดภาวะความไม่แน่นอนเพิ่มขึ้นในเรื่องอัตราเงินเฟ้อ
ขณะเดียวกัน ความกังวลที่เพิ่มมากขึ้นเกี่ยวกับไวรัส อาจลดความเต็มใจในการเข้าทำงานส่วนบุคคล จนส่งผลให้ตลาดแรงงานชะลอตัว และซัพพลายเชนเกิดภาวะชะงักงัน"
เจอโรม พาวเวลล์ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ หรือ FED
Keyword : เงินเฟ้อ ตลาดแรงงานและซัพพลายชะงักงัน
ปัญหาตลาดแรงงานสหรัฐฯ :
รายงานตัวเลขการจ้างงานภาคเอกชนของสหรัฐฯ ในเดือนพฤศจิกายน เพิ่มขึ้น 534,000 ตำแหน่ง โดยลดลงกว่าเดือนตุลาคม ซึ่งอยู่ที่ 570,000 ตำแหน่ง
อย่างไรก็ดีในจำนวนนี้เป็นตำแหน่งงานในธุรกิจภาคบริการถึง 424,000 ตำแหน่ง (ธุรกิจโรงแรม และร้านอาหาร ผับ บาร์ 136,000 ตำแหน่ง) ซึ่งเป็นการเริ่มฟื้นตัวเพื่อเตรียมรับมือกับการท่องเที่ยวและการเดินทางในช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองปลายปีนี้ แต่ทั้งหมดที่เกิดขึ้นนี้อาจพังทลายลง หรือชะงักงันขึ้นได้ทันที หากสายพันธุ์โอมิครอนแพร่ระบาดรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้
ปัญหาเงินเฟ้อของสหรัฐฯ :
ดัชนีผู้บริโภคของสหรัฐฯ (CPI) ซึ่งเป็นตัวชี้วัดอัตราเงินเฟ้อในสหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 6.2% ในเดือนตุลาคม เมื่อเทียบกันแบบปีต่อปี และนับเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นแบบปีต่อปีมากที่สุดในรอบ 3 ทศวรรษ โดยเป็นผลมาจากเกิดจากภาวะชะงักงันของซัพพลายเชนทั่วโลก และความวุ่นวายในตลาดแรงงาน ด้วยพิษโควิด-19 ซึ่งสวนทางกับอุปสงค์ของผู้บริโภคที่ค่อยๆ กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง หลังกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่างๆ กำลังเริ่มเดินเครื่อง
ทั้งนี้ ก่อนหน้าการปรากฏตัวของ "สายพันธุ์โอมิครอน" นักลงทุนส่วนใหญ่เชื่อมั่นว่า เฟดน่าจะตัดสินใจแก้ไขปัญหาเงินเฟ้อด้วยการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างน้อยหนึ่งครั้งก่อนเดือนมิถุนายน ปี 2022 อย่างไรก็ดี หลังมีรายงานผู้ติดเชื้อโอมิครอนในสหรัฐอเมริกา ทำให้บรรดานักลงทุนและนักวิเคราะห์ส่วนหนึ่งเริ่มคาดการณ์แล้วว่า เฟดอาจจะยังคงอัตราดอกเบี้ย "ใกล้ 0" เอาไว้อย่างน้อยจนถึงเดือนมิถุนายนปีหน้า
3.โอมิครอนกับเศรษฐกิจสหภาพยุโรป :
...
"มีความกังวลเกี่ยวกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของยูโรโซนในปี 2022 แต่ส่วนตัวมีความเชื่อมั่นว่า เราได้เรียนรู้มากมาย ตอนนี้เรารู้จักศัตรูแล้ว และรู้ด้วยว่าจะต้องใช้มาตรการอะไรเพื่อตอบโต้ นอกจากนี้เรายังมีความพร้อมมากขึ้นต่อการตอบสนองความเสี่ยงจากคลื่นการแพร่ระบาดระลอกที่ 5 หรือแม้แต่สายพันธุ์โอมิครอนก็ตาม
อย่างไรก็ดี วิกฤติสอนให้เรารู้ว่า ไวรัสตัวนี้ไร้ซึ่งขอบเขตของการแพร่ระบาด ด้วยเหตุนี้เราจะไม่ได้รับการปกป้องจนกว่าจะได้รับการฉีดวัคซีน"
คริสติน ลาการ์ด ประธานธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank หรือ ECB)
Keyword : พร้อมรับมือคลื่นการแพร่ระบาดระลอกที่ 5
นักวิเคราะห์มองว่า อัตราการฉีดวัคซีนในหลายๆ ประเทศของทวีปยุโรป อยู่ในสัดส่วนที่สูงมากเมื่อเปรียบเทียบกับจำนวนประชากร อีกทั้งยังมีปัจจัยหนุนจากอัตราการผลิตวัคซีนที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ขณะเดียวกันสิ่งที่เด่นชัดอีกประการหนึ่ง คือ รัฐบาลของหลายๆ ประเทศในยุโรปได้แสดงท่าทีว่าจะไม่เร่งรีบที่จะกลับไปสู่การ Lock Down แม้จะพบการแพร่ระบาดสูงในช่วงฤดูหนาว เพื่อหวังจะรักษาความยืดหยุ่นทางเศรษฐกิจเอาไว้
นอกจากนี้ ภาคธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะธุรกิจครัวเรือน เริ่มมีประสบการณ์และสามารถปรับตัวให้เข้ากับข้อจำกัดเกี่ยวกับมาตรการสกัดกั้นการแพร่ระบาด หรือแม้กระทั่งการ Lock Down ได้แล้ว ด้วยเหตุนี้แม้ในอนาคตอาจมีการประกาศ Lock Down ขึ้น ผลกระทบก็ไม่น่าจะรุนแรงเท่ากับการแพร่ระบาดระลอกก่อนหน้านี้
4.โอมิครอนกับเศรษฐกิจเอเชีย :
...
"ในกรณีที่สายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อชาวโลกมากไปกว่าสายพันธุ์เดลตา ผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของทวีปเอเชียน่าจะเกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นๆ เท่านั้น เนื่องจากหากเทียบกับในช่วงการแพร่ระบาดของสายพันธุ์เดลตาก่อนหน้านี้ จำนวนประชากรที่ได้รับวัคซีน ณ ปัจจุบัน มีอัตราส่วนเพิ่มสูงกว่ามาก และภูมิภาคเอเชียน่าจะยังคงประคองอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในแต่ละไตรมาสของปีหน้าเอาไว้ได้ที่ 1.9%"
นักวิเคราะห์จากมอร์แกน สแตนลีย์ บริษัทหลักทรัพย์เพื่อการลงทุน และที่ปรึกษาทางการเงินระดับโลก
Keyword : กระทบต่อเศรษฐกิจเอเชียในช่วงระยะเวลาสั้นๆ
อัตราการฉีดวัคซีนเมื่อเปรียบเทียบกับสัดส่วนประชากรที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า การระบาดก่อนหน้านี้ คือ ปัจจัยสำคัญ และถึงแม้ว่า สายพันธุ์โอมิครอน มีความเสี่ยงที่อาจจะทำให้เกิดภาวะชะงักงันในอินเดียและภูมิภาคอาเซียน เนื่องจากมีพรมแดนที่ต่อเนื่องและค่อนข้างเปิดกว้าง แต่ประเทศเหล่านั้นมีแนวโน้มสูงที่จะใช้มาตรการที่เข้มงวดเข้าควบคุมทันทีหากพบว่ามีการแพร่ระบาดในระดับสูง
ในขณะที่ประเทศจีน น่าจะเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจาก "สายพันธุ์โอมิครอน" น้อยที่สุด เนื่องจากมีการบังคับใช้มาตรการที่เข้มงวดในการดูแลชายแดน อีกทั้งยังยึดมั่นในนโยบาย "COVID-zero" อย่างจริงจังอีกด้วย.
ข่าวน่าสนใจ:
...