เบื้องหลังที่น่ากังวล "คริปโตเคอร์เรนซี" กับการใช้พลังงานมหาศาล และการสุมขยะอิเล็กทรอนิกส์ต่อปีมากมายไม่ต่างกัน...

บรรทัดด้านบนนั้นคือ เรื่องราวที่กำลังเป็นที่จับตามองของประชากรในดินแดน "กรีน" (Green) แห่งโลกสีเขียว และก็เป็นเรื่องราวที่เรากำลังจะพูดถึง ณ เวลานี้...

หากเทียบในช่วง 2-3 ปีก่อนกับปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า "คริปโตเคอร์เรนซี" ก้าวหน้าไปมากในแบบที่หลายคนก็ไม่ได้คาดคิดมาก่อน

จาก "จุดเริ่มต้น" ที่อยู่ในสถานที่อันมืดมิด และก็ถูกเหยียดหยามในครานั้น จากบรรดาเงินกระแสหลักว่า อนาคตของคริปโตเคอร์เรนซีแห่งโลกดิจิทัล คงมีบทบาทไม่ต่างไปจากการตกเป็น "เครื่องมือ" ของอาชญากรรมและนักเสี่ยงโชค

มาวันนี้กลับกลายเป็นยืนเฉิดฉายสง่าผ่าเผยในที่สว่าง แถมยังได้ "สปอตไลต์" สาดส่อง จนบรรดาคนดังในแต่ละแวดวงต่างพากันวิ่งเข้าหา ซึ่งหลายๆ อย่างเกิดขึ้นภายในเวลาไม่กี่ปีที่ผ่านมาเท่านั้นเอง ได้รับการยอมรับอย่างมีนัยสำคัญในฐานะ "ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน" ที่ถูกต้องตามกฎหมาย และมีศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงโลกในอนาคต

อย่างกรณี "บิตคอยน์" (Bitcoin: BTC) และ "อีเธอร์" (Ether: ETH) ที่มีการเติบโตอย่างโดดเด่นและมหาศาล ทั้งในด้านราคาและปริมาณการถือครอง

ณ วันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 เวลาประมาณ 20.45 น.

- บิตคอยน์ 1,874,997.75 บาทต่อเหรียญ
- อีเธอร์ 140,508 บาทต่อเหรียญ

แน่นอน... เมื่อจู่ๆ "คริปโตเคอร์เรนซี" กลายมาเป็นผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ทุกคนให้การยอมรับอย่างกว้างขวาง บางประเทศถึงกับเตรียมประกาศใช้อย่างถูกกฎหมาย หรือธุรกิจยักษ์ใหญ่อ้าแขนรับและกระโดดเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในกระแสนี้ด้วย ก็ย่อมเกิด "ความกังวล" ให้กับคนบางกลุ่ม

...

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "นักสิ่งแวดล้อม"

อะไรกันที่ทำให้ "พวกเขา" เกิดความกังวลเกี่ยวกับคริปโตเคอร์เรนซี?

"เหมืองคริปโตเคอร์เรนซี" มีปริมาณการบริโภคพลังงานเพิ่มขึ้น และนั่นก็อาจส่งผลให้ปริมาณการปล่อยคาร์บอนเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่ง "เจ้าคาร์บอน" นี้เป็นหนึ่งในต้นตอของ "ภาวะโลกรวน" หรือภาวะการเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศ ที่เรียกว่า Climate Change

หากอ้างอิงเป้าหมายจากการประชุม COP26 ล่าสุด "เจ้าคาร์บอน" เป็นหนึ่งใน "ศัตรูตัวร้าย" ของสภาพอากาศโลกที่จะต้องถูกปราบให้ลดลงเป็นศูนย์ให้ได้ ภายในระยะเวลาที่เร็วที่สุด อย่างน้อยภายในปี 2573 ก็อาจจะลดลงสัก 30-50%

ดังนั้น หากความต้องการคริปโตเคอร์เรนซีเพิ่มมากขึ้น แล้วมีความเชื่อมโยงอย่างมีนัยสำคัญกับการปล่อยคาร์บอน ก็อาจทำให้ "เส้นชัย" ห่างไกลออกไปอีก

จากการประเมินเบื้องต้น...

     1) บิตคอยน์และเหรียญคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ ที่ผ่านระบบการขุดเหรียญแบบ Proof-of-Work (Pow) มีความต้องการปริมาณพลังงานจำนวนมากในการทำเหมือง ล่าสุด ประมาณการณ์ว่า โครงข่าย "บิตคอยน์" ใช้พลังงานเทียบเท่าการใช้พลังงานในประเทศอาร์เจนตินาตลอดทั้งปี

     2) 65% ของเหมืองบิตคอยน์ ตั้งอยู่ในประเทศจีน ซึ่งก็เป็นที่รู้กันดีว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการผลิตพลังงานจากถ่านหินมากที่สุดในโลก

     3) แม้จะมี "ความกังวล" ของนักสิ่งแวดล้อม แต่ก็มีเหตุผลโต้แย้งจากบรรดาผู้สนับสนุนเหรียญบิตคอยน์บางรายอยู่เหมือนกัน โดยบอกว่า การบริโภคพลังงานของบิตคอยน์มาจากแหล่งพลังงานที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ หรือ "พลังงานหมุนเวียน" มากถึง 74%

     4) ในแต่ละปี โครงข่ายบิตคอยน์ก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ (e-Waste) กว่า 11.5 กิโลตัน

TO BE FAIR... ก็ไม่ใช่ทั้งหมดของคริปโตเคอร์เรนซีที่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมีนัยสำคัญ เพราะบางเหรียญก็ไม่ได้ใช้กระบวนการเหมืองทั้งหมด

"หวังว่าคริปโตเคอร์เรนซีทั้งหลายจะสามารถ GO GREEN ดำเนินไปสู่เส้นทางสีเขียวสมปรารถนาตามที่เชื่อว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างแท้จริง พวกมันมีลักษณะกระจายศูนย์ เพราะคริปโตเคอร์เรนซีมีความต้องการทรัพยากรจริง เพื่อให้สามารถใช้จับจ่ายเป็นธุรกรรมที่มีหลักประกันตามที่ได้รับอนุญาต" - ปีเตอร์ เบเรซิน หัวหน้านักกลยุทธ์ระดับโลก แห่ง BCA Research ผู้นำด้านการให้บริการการวิจัยการลงทุนระดับโลก และคำแนะนำกลยุทธ์การลงทุน มานับตั้งแต่ปี 2492 ให้ความเห็นผ่านอีเมล

ทำไมการทำเหมืองถึงต้องใช้พลังงานมาก?

...

ต้นทุนพลังงานอันมหาศาลของ "คริปโตเคอร์เรนซี" มีสาเหตุมาจากลักษณะการแข่งขันของกระบวนการบล็อกเชนแบบ PoW หมายถึงว่า แทนที่จะเก็บรักษาให้เกิดความสมดุลในฐานข้อมูลส่วนกลาง การดำเนินการของคริปโตเคอร์เรนซีกลับเป็นการบันทึกโดยการกระจายโครงข่ายของเหมืองต่างๆ ซึ่งมีแรงจูงใจจากการได้ "บล็อก" เป็นรางวัล ดังนั้น บรรดาเครื่องคอมพิวเตอร์ที่ตั้งเรียงรายจะง่วนอยู่กับการแข่งขันคำนวณในการบันทึกบล็อกใหม่ๆ ที่สร้างมาจากการแก้สมการเข้ารหัส Puzzle (ปริศนา) ต่างๆ

ซึ่งเหล่าผู้ให้การสนับสนุนคริปโตเคอร์เรนซีเชื่อกันว่า ระบบดังกล่าวมีประโยชน์มากมายเหนือกว่าสกุลเงินอื่นๆ ที่มีลักษณะแบบรวมศูนย์ เพราะมันไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเชื่อใจตัวกลาง หรือขึ้นอยู่กับจุดเดียวของความล้มเหลว

แต่ใดๆ ก็ตาม ปริศนาต่างๆ ในส่วนการทำเหมืองนั้น มีความต้องการใช้พลังงานอย่างเข้มข้นในการคำนวณ

รู้กันไหมว่า "บิตคอยน์" โครงข่ายคริปโตเคอร์เรนซีที่รู้จักในวงกว้างมากที่สุด แต่ละปีๆ ใช้พลังงานไฟฟ้า 121 ล้านล้านหน่วยชั่วโมง (TWh) (*อ้างอิงการรายงานของ BBC ปี 2564)

...

โดยจากข้อมูลของ "ดิจิโคโนมิสท์" (Digiconomist) แหล่งรวมนักวิเคราะห์ด้านคริปโตเคอร์เรนซี ระบุว่า จากจำนวนพลังงานไฟฟ้าที่บิตคอยน์ใช้ ตามการรายงานของ BBC นั้น มากกว่าการใช้พลังงานทั้งหมดของอาร์เจนตินาเสียอีก หรือแม้แต่โครงข่ายอีเธอร์เรียม (Ethereum) ก็ใช้พลังงานเทียบเท่าพลังงานที่การ์ตาใช้ทั้งหมด

อีกหนึ่งข้อมูลจาก ดร.เบเรซิน ที่ให้กับเรา คือ เหมืองบิตคอยน์มีการบริโภคพลังงานมากกว่าการใช้พลังงานทั้งประเทศอย่างสวีเดนและปากีสถานอีกด้วย และประมาณ 2 ใน 3 ของเหมืองบิตคอยน์ ณ ปัจจุบัน ตั้งอยู่ที่ประเทศจีน บ่อยครั้งจะมีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่ก่อเกิดมาจากการเผาไหม้ถ่านหิน แต่ก็มีบางรายที่อ้างว่าบิตคอยน์และคริปโตเคอร์เรนซีอื่นๆ ยกระดับไปใช้แหล่งพลังงานทดแทน ใดๆ ก็ตาม การโต้แย้งนี้ดูเหมือนจะผิดจุดไปเสียหน่อย

สมมติว่า เหมืองบิตคอยน์ทั้งหมดจะหันไปใช้ของฟรีอย่างพลังงานแสงอาทิตย์ ก็อาจช่วยลดต้นทุนการดำเนินการ Mining Rig หรือเครื่องขุดเงินดิจิทัลที่มีการ์ดจอมากกว่า 1 ตัว

อีกด้านหนึ่งที่กำลังเป็นข่าวฮือฮา และสร้างความโกรธกริ้วไม่น้อยเลยทีเดียวให้แก่บรรดานักสิ่งแวดล้อม

...

เมื่อผู้ประกอบการเหมืองรายหนึ่ง ณ มหานครนิวยอร์ก มาพร้อมด้วยแนวทางแก้ปัญหาในแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน และนั่นได้ส่งสัญญาณไปยังนักสิ่งแวดล้อมที่อยู่ทั่วโลก เพราะพวกเขากำลังจะใช้ "โรงไฟฟ้า" ของตัวเอง

Greenidge Generation ผลิตกระแสไฟฟ้า 44 เมกะวัตต์ เพื่อดำเนินการเซิร์ฟเวอร์คอมพิวเตอร์ 15,300 เครื่อง และไฟฟ้าเพิ่มเติม จากนั้นจะส่งเข้าสู่ระบบไฟฟ้ากำลังของประเทศ โดยจำนวนกระแสไฟฟ้าหลายเมกะวัตต์ส่งให้กับบิตคอยน์ ซึ่งจำนวนกระแสไฟฟ้าที่ส่งไปมากขนาดชนิดที่ว่าสามารถใช้ในครัวเรือนได้อย่างเพียงพอมากกว่า 35,000 หลัง!

นักสิ่งแวดล้อมมองเห็น "โรงไฟฟ้า" เป็นอะไร?

คำตอบสั้นๆ คือ พวกเขามองเห็นเป็นดั่ง "ตัวคุกคาม" สภาพอากาศ

พวกเขากลัวการเกิดคลื่นการฟื้นชีพของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงฟอสซิลที่สูบก๊าซเรือนกระจกออกมาเพื่อผลกำไรเอกชนมากกว่าจะเกิดสิ่งดีต่อสาธารณะ และกำลังอยู่ในจุดที่อันตรายต่อสมรรถภาพของประเทศในการไปให้ถึงเป้าหมายทางสภาพภูมิอากาศ

ขณะเดียวกัน ซีอีโอ Greenidge กลับแย้งว่า เหมืองและโรงไฟฟ้าของพวกเขาปล่อยก๊าซที่เป็นอันตรายต่ำ เพราะมีการควบคุมถ่านหินและมลพิษ และอาจลดคาร์บอนลงให้ได้ภายในปีหน้า (2565) แน่นอนว่าบริษัทของพวกเขามุ่งให้ความสนใจกับการขับเคลื่อนไปสู่พลังงานทดแทน และเหมืองคริปโตเคอร์เรนซีสามารถจัดหาแรงจูงใจทางการเงินที่สำคัญในการสร้างโครงการพลังงานสะอาดได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ หาก Greenidge เดินเครื่องเต็มศักยภาพ ก็มีความเป็นไปได้ว่าจะปล่อยคาร์บอนเทียบได้กับ 0.23% ของเป้าหมายลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในสหรัฐอเมริกา ปี 2573

อีกความกังวลที่สำคัญมากอย่างหนึ่งในบรรดานักสิ่งแวดล้อม คือ การทำเหมืองมีความโน้มเอียงว่าจะมีประสิทธิภาพน้อยลง สาเหตุจากราคาของคริปโตเคอร์เรนซีที่เพิ่มขึ้น เช่น กรณีบิตคอยน์ ที่เมื่อการคำนวณสร้างบล็อกจำนวนมากมีความยากขึ้น ตอบรับกับราคาที่เพิ่มสูงขึ้น แต่การดำเนินงานในช่วงเวลาหนึ่งยังคงเกิดขึ้นตลอดเวลา หมายความว่า เมื่อเวลาผ่านไปโครงข่ายคริปโตเคอร์เรนซีจะมีการบริโภคกำลังงานการคำนวณ และพลังงานในกระบวนการดำเนินการที่จำนวนเท่ากันเพิ่มมากขึ้นด้วย

เมื่อ "เจ้าถิ่นคริปโต" สุมขยะอิเล็กทรอนิกส์มหาศาล

จากบทความใน ScienceDirect มีส่วนที่หน้าสนใจ โดยเฉพาะ ScienceDirect "บิตคอยน์" เจ้าถิ่นคริปโตเคอร์เรนซี ที่พบว่ากำลังสุมกองขยะอิเล็กทรอนิกส์มหาศาลอย่างที่ไม่คาดคิด

อะไรบ้างที่เราควรรู้?

     1) ณ เดือนพฤษภาคม 2564 บิตคอยน์ให้กำเนิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ หรือ e-Waste รายปี เพิ่มขึ้นเป็น 30.7 กิโลตัน

     2) ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ระดับนี้ เทียบได้กับขยะอุปกรณ์ไอที (IT) ขนาดเล็กที่ถูกสร้างขึ้นโดยประเทศเนเธอร์แลนด์

     3) โดยเฉลี่ยบิตคอยน์ก่อให้เกิดขยะอิเล็กทรอนิกส์ 272 กรัมต่อกระบวนการธุรกรรมบนบล็อกเชน

     4) บิตคอยน์เคยสร้างขยะอิเล็กทรอนิกส์สูงถึง 64.4 กิโลตัน ณ จุดสูงสุดของราคาบิตคอยน์ที่เคยเห็นเมื่อต้นปี 2564

     5) ความต้องการที่พุ่งทะยานสำหรับฮาร์ดแวร์การทำเหมือง อาจทำให้ซัพพลายเชนเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลกหยุดชะงัก

โดยรวมแล้วการบริโภคพลังงานที่กำลังเพิ่มขึ้นของบิตคอยน์ กระตุ้นให้เกิดการถกเถียงอย่างรุนแรงเกี่ยวกับความยั่งยืนของสกุลเงินดิจิทัล ยังไม่พอ... การศึกษาส่วนใหญ่ยังมองข้ามว่า วงจรเหมืองบิตคอยน์ตั้งแต่เริ่มจนกระทั่งกำลังเติบโต ได้สร้างฮาร์ดแวร์อายุสั้นที่มีจำนวนรวมจนน่าหวาดวิตกว่าอาจทำให้ปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลกยิ่งเพิ่มขึ้นอย่างรุนแรง

หลายๆ คนพอจะรู้กันแล้วว่า ขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่กำลังเพิ่มขึ้น เป็นการคุกคามสิ่งแวดล้อมของเรา ตั้งแต่ขยะเคมีเป็นพิษ และโลหะหนัก ที่นำไปสู่การกลายเป็นมลพิษทางดิน อากาศ และน้ำ อันเป็นผลจากการรีไซเคิลไม่ถูกต้อง

ฉะนั้น จากกรณีข้อกังวลที่ว่า หากหลายประเทศคิดจะให้ คริปโตเคอร์เรนซี กลายมาเป็นสกุลเงินดิจิทัลที่สามารถใช้ได้ถูกต้องตามกฎหมาย ก็ต้องวางกระบวนการให้ดี ไม่เพียงแค่ระบบแพลตฟอร์ม หรือการให้บริการ แต่ยังหมายรวมถึงการก่อกำเนิดพวกมันขึ้นมา เพื่อไม่ให้โลกต้องแบกรับภาระจากน้ำมือมนุษย์อีกครั้ง.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Chonticha Pinijrob

ข่าวน่าสนใจ:

อ้างอิง:

  • ScienceDirect. Bitcoin's growing e-waste problem [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : www.sciencedirect.com [25 Nov. 2021]