ในช่วงที่ผ่านมาเราได้เห็นถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศออกมา โดยความคาดหวังของรัฐบาลทั่วโลก นั่นคือ หวังให้เศรษฐกิจกลับมาปกติให้ได้เร็วที่สุด แต่สิ่งที่กำลังเดินเคาะประตูทุกรัฐบาลก็ไม่ใช่สิ่งที่เกิดความคาดหมาย มันเป็นสิ่งที่เรียกว่า "หนี้" จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาที่ทำให้หนี้สูงขึ้น

ข้อมูลจาก Bloomberg ในปี 2020 ที่ผ่านมา หนี้ของกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วได้เพิ่มมากถึง 123.9% เมื่อเทียบกับ GDP ของกลุ่มประเทศพัฒนารวมกัน ตัวเลขนี้ใกล้เคียงกับในช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง ซึ่งครั้งนั้นอยู่ที่ 124.1% เมื่อเทียบกับ GDP

ขณะที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนามีหนี้เมื่อเทียบกับ GDP อยู่ที่ 62.5% เพิ่มขึ้นทำลายสถิติใหม่มากกว่ายุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ด้วยซ้ำ ซึ่งมีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ที่ 46.9% เรียกว่า เพิ่มขึ้นหลายเปอร์เซ็นต์เลยทีเดียว

ไม่ใช่แค่หนี้ของแต่ละประเทศเท่านั้นที่สูง แต่หนี้ของประชาชนก็กำลังสูงขึ้นตามไปด้วย โดยข้อมูลจาก Institute of International Finance หรือ IIF ระบุว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนทั่วโลก ในไตรมาส 3 ของปี 2019 อยู่ที่ 60% ของ GDP ทั่วโลกรวมกัน แต่ในไตรมาส 3 ของปี 2020 นั้นหนี้กลับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 65% ของ GDP

แล้วเราจะสามารถผ่านปัญหานี้ไปได้อย่างไร บทความนี้ ผมจะมาเล่าถึงปัญหาและทางออกในเรื่องเหล่านี้ครับ

หนี้ที่สูงปรี๊ดของรัฐบาล

ผมต้องขอเล่าย้อนไปนิดนึงในช่วงของวิกฤติการเงินในช่วงปี 2008 ได้สร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกเป็นอย่างมาก เวลานั้นได้มีมาตรการจากธนาคารกลางในการกระตุ้นเศรษฐกิจ จนเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัวขึ้นมา แม้ว่าจะยังไม่ค่อยแข็งแรงนักก็ตาม แต่การแพร่ระบาดของโควิด-19 กลับสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจที่เพิ่งเติบโตมาได้แค่บางส่วน ทุกองคาพยพล้วนเจอสภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ

...

อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เจอสภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ
อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ เจอสภาวะช็อกทางเศรษฐกิจ



ในรายงานของ United Nations Conference on Trade and Development หรือที่เรารู้จักในชื่อ UNCTAD เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา คาดการณ์ว่า โลกจะยังได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยวที่ยังไม่ฟื้นตัวดีสูงถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง 2.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

นอกจากนี้ยังรวมถึงภาคการผลิตได้รับผลกระทบไปบางส่วนด้วย หลายกิจการไม่สามารถที่จะหาเงินสด หรือมีรายได้ที่เท่าเดิมจากช่วงก่อนหน้า

สิ่งที่เกิดขึ้นทำให้รัฐบาลต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ออกมาตรการเยียวยาให้กับประชาชนแต่ละประเทศ โดยความคาดหวังของแต่ละประเทศมีลักษณะคล้ายๆ กัน ก็คือ เมื่อการแพร่ระบาดของโควิด-19 ลดลงแล้ว เศรษฐกิจของแต่ละประเทศจะกลับมาดำเนินการได้ตามปกติ หรือไม่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศตัวเองไม่ตกจากเส้นทางเติบโต เนื่องจากถ้าหากตกจากเส้นทางการเติบโตแล้วอาจทำให้เศรษฐกิจของประเทศตัวเองสูญเสียความสามารถในการแข่งขันในระยะยาวได้

ในหลายประเทศเปิดโหมดทำนโยบายทางการเงินแบบผ่อนคลาย ไม่ว่าจะเป็นการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมา ธนาคารกลางรับซื้อพันธบัตรรัฐบาลเพื่อกดอัตราดอกเบี้ย และเป็นสาเหตุสำคัญทำให้หนี้ของแต่ละประเทศนั้นเพิ่มมากขึ้นอย่างมากในช่วงที่ผ่านมา

นอกจากนี้การที่ประเทศมีหนี้เยอะมากเกินไปก็อาจทำให้บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือมีสิทธิที่จะปรับความน่าเชื่อถือของประเทศนั้นๆ ลงมาได้ อีกด้วย

หนี้ครัวเรือนก็หนักหนาไม่ใช่น้อย

ไม่ใช่แค่หนี้ของแต่ละประเทศเท่านั้น แต่หนี้ครัวเรือนในหลายประเทศ ก็ถือว่าหนักหนาไม่น้อย โดยตัวเลขล่าสุดในไตรมาส 2 ของปี 2021 สหรัฐอเมริกา มีหนี้ครัวเรือนล่าสุดอยู่ที่ 77.75% เมื่อเทียบกับ GDP ซึ่งเป็นตัวเลขล่าสุดจากธนาคารกลางสหรัฐสาขาเซ็นต์หลุยส์ หรืออยู่ที่ราวๆ 15.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ (คิดเป็นเงินไทยราว 508 ล้านล้านบาท)

ในขณะที่ตัวเลขของ IIF ระบุว่า สหราชอาณาจักรมีหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 89.4% ฮ่องกงอยู่ที่ราวๆ 92% ยกเว้นเกาหลีใต้เท่านั้น ที่มีหนี้ครัวเรือน 104.2% ทำสถิติสูงสุดใหม่ และยังเป็นประเทศที่มีหนี้ครัวเรือนสูงที่สุดเมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว

เกาหลีใต้ เจอปัญหานี้ครัวเรือนไม่น้อย
เกาหลีใต้ เจอปัญหานี้ครัวเรือนไม่น้อย



สำหรับสาเหตุของหนี้ครัวเรือในส่วนของประเทศพัฒนาแล้วนั้น ส่วนใหญ่จะเป็นหนี้มาจากการซื้ออสังหาริมทรัพย์ การซื้อรถยนต์ แต่ขณะที่สหรัฐอเมริกา เป็นกรณีพิเศษสักหน่อย เพราะหนี้มาจากการกู้ยืมเงินเพื่อศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยหนี้ก้อนนี้นั้นอยู่ที่ 1.58 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ

ส่วนประเทศไทยก็ไม่น้อยหน้าเช่นกัน ในไตรมาส 2 ที่ผ่านมาจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย หนี้ครัวเรือนของไทยนั้นอยู่ที่ 89.3% เมื่อเทียบกับ GDP ของไทย ขณะที่หนี้ทั้งหมดของครัวเรือนไทยอยู่ที่ 14.14 ล้านล้านบาท

กรณีของประเทศไทยนั้นศูนย์วิจัยกสิกรไทยมองตัวเลขหนี้ส่วนใหญ่ในครัวเรือนนั้นมาจากหนี้ในส่วนของอสังหาริมทรัพย์และหนี้เพื่อการอุปโภคบริโภคในชีวิตประจำวันเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ความน่ากังวลของประเทศไทยคือหนี้ในครัวเรือนอาจกลับมาเร่งตัวสูงขึ้นไปอีก ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกร คาดการณ์ว่า เราอาจได้เห็นหนี้ในครัวเรือนแตะระดับ 90-92% ต่อ GDP ไทยได้เลยครับ

...

หนี้ลดลง ต้องทำอย่างไร? 

ข้อมูลจากสถาบันการเงินระหว่างประเทศ หรือ IIF ได้รวบรวมข้อมูลหนี้ทั้งหมดในโลกถึงในช่วงไตรมาส 2 ของปี 2021 อยู่ที่ 296 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐเข้าไปแล้ว หรือคิดเป็น 353% ของ GDP โลกรวมกันครับ

เห็นอย่างนี้แล้วหนี้ทั่วโลกรวมกันนั้นกลับลดลงเมื่อเทียบกับไตรมาส 1 ของปี 2021 ซึ่งหนี้เมื่อคิดเป็นสัดส่วน GDP นั้นอยู่ที่ 362%

หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น คำตอบก็คือขนาดของเศรษฐกิจโลกเติบโตมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้เมื่อเทียบอัตราส่วนแล้ว กลายเป็นว่า เปอร์เซ็นต์ของจำนวนหนี้นั้นลดลงครับ

นอกเหนือจากการทำให้เศรษฐกิจโตมากขึ้น เพื่อลดสัดส่วนหนี้ลง แต่ละประเทศยังมีท่าไม้ตายอีกสารพัดวิธี ที่จะสามารถลดหนี้สินลงมาได้ มีดังนี้

- การขึ้นภาษี ไม่ว่าจะเป็นภาษีนิติบุคคล หรือแม้แต่ภาษีเงินได้

- เก็บภาษีเพื่อหารายได้ใหม่ๆ เช่น ภาษีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

- รัฐบาลหาวิธีการเก็บรายได้ใหม่ๆ เช่น เปิดใบอนุญาตให้มีคาสิโน เป็นต้น

- การนำรัฐวิสาหกิจแปรรูปเข้าตลาดหลักทรัพย์

- รีไฟแนนซ์หนี้เก่า

ทุกประเทศส่วนใหญ่คาดหวังว่า หลังยุคโควิดเศรษฐกิจของประเทศจะฟื้นตัวขึ้นมา แต่ถ้าหากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาหลายๆ ประเทศเองก็ใช้ช่วงเวลาเหล่านี้ในการลดหนี้ อย่างเช่น หลายประเทศในโซนแอฟริกา ได้ใช้การแปรรูปรัฐวิสาหกิจโดยการขายหุ้น หรือเปิดให้มีผู้เล่นรายใหม่ๆ เข้ามาแข่งกับรัฐวิสาหกิจของตัวเอง เพื่อดึงดูดเงินเข้ารัฐบาลแล้วนำไปใช้หนี้

กรณีฝั่งหนี้ครัวเรือน ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละรัฐบาลรวมถึงธนาคารกลางของแต่ละประเทศจะกำหนดมาตรการอะไรออกมา เช่น ธนาคารแห่งประเทศไทยมีการกำหนดมาตรการในการซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือแม้แต่การทำบัตรเครดิตเองก็จะต้องมีวงเงินที่สัมพันธ์กับรายได้ของตัวเอง

ถ้าในช่วงโควิด-19 ประเทศสหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร รัฐได้ปล่อยเงินช่วยเหลือ เพื่อให้ประชาชนนำเงินไปใช้หนี้ แบบนี้ก็มีเช่นกัน

...

หนี้ในครัวเรือนก็ไม่ต่างจากหนี้ของประเทศ รัฐต้องหาแนวทางเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน
หนี้ในครัวเรือนก็ไม่ต่างจากหนี้ของประเทศ รัฐต้องหาแนวทางเพิ่มเงินในกระเป๋าประชาชน



ท้ายที่สุดแล้ว หนี้ในครัวเรือนก็ไม่ต่างจากหนี้ของประเทศ นั่นก็คือ ทำอย่างไรที่จะให้ประชาชนสามารถหารายได้มากที่สุด หรือรัฐสามารถที่จะออกนโยบายอย่างไร เพื่อช่วยลดภาระของประชาชนได้หรือไม่ 

ยกตัวอย่างเช่น ระบบขนส่งมวลชนราคาถูกที่ทุกคนเข้าถึงได้ การสร้างตำแหน่งงานใหม่ๆ จากการลงโดยรัฐบาล ไปจนถึงการเพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินทุนต่างๆ เพราะว่าท้ายที่สุดแล้วหนี้ของประชาชนเองก็สัมพันธ์กับหนี้ของประเทศด้วยเช่นกันครับ.