ไทยเปิดประเทศเดินหน้าฟื้นเศรษฐกิจ แม้จะสุ่มเสี่ยงอาจทำให้การระบาดของโควิดปะทุขึ้นมาอีก แต่ต้องยอมเดิมพัน พร้อมกับอีกหนึ่งปัญหาจากการลักลอบเข้าเมืองของแรงงานต่างด้าวผิดกฎหมาย

เกรงว่าจะซ้ำรอยการระบาดเมื่อเดือน ธ.ค. 2563 จากกลุ่มแรงงานต่างด้าวในตลาดกลางกุ้ง จ.สมุทรสาคร เพราะความหย่อนยานของเจ้าหน้าที่ ปล่อยปละให้แรงงานต่างด้าวผิดกฎหมายลักลอบเข้ามาทำงาน จนเกิดคลัสเตอร์ใหญ่ แพร่กระจายไปหลายจังหวัดทั่วประเทศ

ขณะที่ ดร.ยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ผู้อำนวยการวิจัยด้านแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กลับไม่กังวลต่อกรณีแรงงานต่างด้าวลักลอบเข้าเมือง หลังการเปิดประเทศ จะเป็นต้นตอในการแพร่ระบาดโควิดซ้ำรอยพื้นที่ จ.สมุทรสาคร เนื่องจากรัฐบาลไทยได้แก้ปัญหาโดยนำแรงงานต่างด้าว มาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด ในกิจการที่ต้องการแรงงานมากที่สุด โดยเฉพาะกิจการขนาดใหญ่ในด้านการเกษตร ปศุสัตว์ และก่อสร้าง นำมาจัดระเบียบขึ้นทะเบียนให้ถูกต้อง น่าจะมีประมาณ 1 แสนคน ซึ่งจะทำให้ขบวนการค้าแรงงานเถื่อน ต้องหยุดไปชั่วคราว

...

รวมไปถึงมติ ครม. 28 ก.ย. 2564 ได้อนุญาตให้คนต่างด้าวบางกลุ่มอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษ จากสถานการณ์โควิดในช่วงที่ผ่านมา เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ซึ่งจะสิ้นสุด 30 พ.ย.นี้ โดยหลังจากนั้นนายจ้างสามารถยื่นความต้องการจ้างแรงงาน ในขึ้นทะเบียนให้เรียบร้อย หลังคาราคาซังมานาน

ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามาอย่างผิดกฎหมาย วันละ 100-200 คน ส่วนใหญ่เป็นชาวเมียนมา พยายามดิ้นรนเข้ามา จากปัญหาเศรษฐกิจ ความมั่นคงภายในประเทศ โดยเจ้าหน้าที่ของไทยบริเวณแนวชายแดนต้องทำงานอย่างหนัก ในการจับกุมผลักดันให้กลับประเทศ ไม่ให้เล็ดลอดเข้ามาทำงาน เพราะมีความเสี่ยงในการแพร่ระบาดของโควิด โดยกิจการขนาดใหญ่ไม่มีปัญหา ยกเว้นกิจการขนาดเล็ก ยังต้องการแรงงานต่างด้าวที่ลักลอบเข้ามา

“ควรต้องให้เข้าแบบปกติ ไม่เช่นนั้นจะซ้ำรอยเกิดคลัสเตอร์ใหญ่เหมือนที่สมุทรสาคร นำไปสู่การผ่อนผันอีกครั้ง นำแรงงานต่างด้าวมาทำงานกับนายจ้างในประเทศตาม MoU เป็นแรงงานที่เคยทำงานกับนายจ้างเดิม เมื่อกลับไปประเทศก็ยังติดต่อกับนายจ้าง เพื่อจะกลับเข้ามาทำงาน แต่อาจจะล่อแหลม เพราะนายจ้างไม่ต้องการใช้เงินมาก เมื่อแรงงานกลับไปบ้าน ไม่มีการแจ้งออก และเมื่อจะเข้ามาต้องผ่านขบวนการนายหน้า ก็ใช้ทะเบียนเก่าจากการลงทะเบียนออนไลน์ และทำให้ถูกต้อง”

ในมุมมองส่วนตัวหากสถานประกอบการขาดแคลนแรงงาน ควรจ้างคนไทยแทน หากทำ MoU ไม่ได้ เพราะขณะนี้คนไทยตกงานเป็นจำนวนมาก ควรช่วยคนไทยด้วยกัน ซึ่งหลายคนหาทางออกไม่ได้ทำให้คิดสั้นฆ่าตัวตาย หลังกลับไปภูมิลำเนาไม่มีรายได้ ไม่มีงานทำ โดยตัวเลขผู้ว่างงานอย่างเป็นทางการมีประมาณ 7 แสนคน ยังไม่รวมว่างงานแฝงอีก 2-3 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มแรงงานไม่มีทักษะ และมีอีกจำนวนหนึ่งทำงานต่ำกว่าวุฒิการศึกษา ขณะที่คนจบปริญญาตรี ว่างงาน 3 แสนกว่าคน จึงเห็นว่าคนไทยน่าห่วงมากกว่าแรงงานต่างด้าว

สำหรับภาพรวมการจ้างงานในไตรมาส 2 ปี 2564 ฟื้นตัวขึ้น 2% มีการทำงานเต็มเวลา หรือ 40 ชม.ต่อสัปดาห์ ในภาคบริการ ภาคเกษตรกรรม และภาคอุตสาหกรรม จากที่ไม่ได้ทำงานและถูกลดชั่วโมงการทำงานลง ซึ่งมีแนวโน้มที่ดี แต่ยังต่ำกว่าการจ้างงานก่อนเกิดโควิด 6.3% หรือ 1.7 ล้านตำแหน่ง

ประเด็นที่น่าจับตามองในกลุ่มประชากรแรงงานอายุระหว่าง 15 ถึง 24 ปี ที่เพิ่งเข้าสู่ตลาดแรงงาน ยังน่าเป็นห่วง เนื่องจากได้รับแรงกดดันมากจากการหดตัวของตลาดแรงงาน ทำให้มีโอกาสในการเข้าถึงการจ้างงานยากกว่าแรงงานทั่วไป และมีโอกาสเปลี่ยนงานมากกว่ากลุ่มอื่นๆ

...

“การผ่อนคลายมาตรการอย่างต่อเนื่อง เป็นสัญญาณที่ดีต่อการฟื้นตัวของการจ้างงาน หากสถานการณ์โควิดดีขึ้น ภาพการจ้างงานมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว แต่การขยายตัวของอุตสาหกรรม ต้องการทักษะใหม่ๆ จากสังคมดิจิทัล และธุรกิจรูปแบบใหม่ ควรพัฒนาทักษะแรงงานให้สามารถตอบรับกับความต้องการของตลาดแรงงาน หลังผ่านพ้นวิกฤติ”.