ถ้าพูดถึงหนังไทยในเวลานี้ ก็ต้องพูดหนังสยองขวัญเรื่อง “ร่างทรง” (The Medium) ของกำกับ “บรรจง ปิสัญธนะกูล” และอำนวยการสร้างโดย นา ฮง-จิน หนังร่วมทุนไทย-เกาหลี ที่กำลังผงาดในเวทีระดับโลก

ร่างทรง พูดถึงความเชื่อเรื่องการบูชาวิญญาณศักดิ์สิทธิ์ ที่มาคอยปกปักรักษาคนในหมู่บ้านแห่งหนึ่งในพื้นที่ภาคอีสาน โดย “ร่างทรง” จะถูกสืบทอดทางสายเลือดครอบครัวๆ หนึ่ง และผู้ที่จะมาเป็นร่างทรง จะต้องเป็น “ผู้หญิง” เท่านั้น

กระแสหนังเรื่องนี้ถูกพูดถึงอย่างวงกว้าง และวิพากษ์วิจารณ์ไปหลายด้าน ทั้งเรื่องความเชื่อ พฤติกรรมด้านจิตวิทยา ซึ่งที่ผ่านมา ก็มีจิตแพทย์หลายท่านได้พูดถึงเรื่องราวเหล่านี้ไปแล้ว

แต่กลับกันในมุมมองความเชื่อ ในการสืบต่อ “ร่างทรง” อาจจะยังไม่มีใครพูดถึงนัก และที่มาที่ไปของร่างทรงมาจากรากความเชื่อจากอะไร วันนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ มีคำตอบ

โดยทีมข่าวฯ ได้พูดคุยกับ ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา อาจารย์ประจำภาควิชาภาษาตะวันออก คณะโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร และผู้เชี่ยวชาญด้านปรัชญา พุทธศาสนา ภาษาศาสตร์ (ภาษาเขมร) และสกัดประเด็นที่น่าสนใจมาให้แฟนๆ ไทยรัฐได้ติดตาม

...

ทุกศาสนาปฏิเสธความเชื่อเรื่อง “ร่างทรง”

ก่อนจะพูดคุยเรื่องนี้ อาจารย์กังวล ได้ออกตัวว่า นี่เป็นเพียงความคิดเห็นเท่านั้น...คุณผู้อ่านโปรดใช้วิจารณญาณในการอ่าน (ท่อนหลังนี่ผู้เขียนเติมให้เอง...ฮา)

ความเชื่อเรื่องร่างทรง เป็นความเชื่อที่มีอยู่ทั่วโลก ในขณะที่คนในพื้นถิ่น (เอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ก็มีความเชื่อในการนับถือผี ซึ่งในภายหลังมีการเผยแผ่ศาสนาก็มีการจินตนาการ บูชาเทพ มีการเข้าร่างประทับ โดยเฉพาะไม่กี่ปีหลังจากนี้ ซึ่งความจริงรากของ “ร่างทรง” ก็คือความเชื่อเรื่องภูตผี

สิ่งที่มั่นใจ คือ ความเชื่อเรื่อง “ร่างทรง” ไม่ได้มาจากศาสนาแน่นอน เพราะ ทุกศาสนาปฏิเสธเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นทางพราหมณ์-ฮินดู พุทธ คริสต์ หรือ แม้แต่อิสลาม โดยเฉพาะอิสลาม เขาไม่เชื่อเรื่องเหล่านี้เลย

“ศาสนาพราหมณ์ เขาปฏิเสธ เพราะหากคนทั่วไปเข้าทรงได้ อำนาจของพราหมณ์ก็จะน้อยลงหรือหายไป เพราะการติดต่อกับเทพในศาสนาพราหมณ์ต้องผ่านบทสวดและการบูชา ซึ่งในบทพิธีต่างๆ จะมีข้อห้ามไว้ชัดเจนว่าห้ามทำอะไรบ้าง ยิ่งในประเทศอินเดียสมัยโบราณ ยังมีชั้น วรรณะ คนวรรณะอื่น เช่น วรรณะศูทร หรือ จัณฑาล ห้ามฟังบทสวด ใครไปแอบฟังพราหมณ์สวดก็จะถูกเหล็กทิ่มหูให้ทะลุ เพราะถือว่าไม่มีสิทธิ์ที่จะได้ฟัง ซึ่งพิธีการนี้ถูกกำหนดโดยกลุ่มคนกลุ่มหนึ่ง สายใดสายหนึ่งเท่านั้น เพื่อรับใช้ผู้มีอำนาจ”

 ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา
ผศ.ดร.กังวล คัชชิมา

หน้าที่ “ร่างทรง” บำบัดทุกข์ โรคภัย เป็นผู้เสียสละ

เอาจริงๆ เราไม่รู้หรอกว่า “ร่างทรง” มันเริ่มตั้งแต่สมัยไหน แต่เชื่อว่า "ร่างทรง” ถือกำเนิดขึ้นมา เพื่อมาแก้ปัญหาให้กับชาวบ้านพื้นถิ่น

เท่าที่เห็น วิญญาณ หรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ประทับร่าง ส่วนมากจะอ้างตัวว่าเป็นเทพ หรือ ครูบาอาจารย์ หรือบุคคลที่มีอำนาจมาช่วยเหลือคนป่วย หรือบางครั้งหาทางออกในการแก้ปัญหาชีวิตไม่ได้ จึงพยายามหาทางติดต่อผู้ที่เสียชีวิตไปแล้ว หรือมีความเชื่อว่าเสียชีวิตไปแล้วจะกลายมาเป็นเทพเจ้า

ฉะนั้น “หน้าที่ของร่างทรง” คือการช่วยเหลือชาวบ้าน ยกตัวอย่าง แพทย์แผนไทยในตำรา ก็มักจะกล่าวถึงฤาษีเพื่อให้ดูว่ามีความศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น

ชาวบ้าน จ.​สกลนคร กับความเชื่อ
ชาวบ้าน จ.​สกลนคร กับความเชื่อ "ผีหมอเหยา" หรือ​ ผีฟ้า มา​รักษา​ผู้​ป่วย​หรือ​ผู้​สูงอายุ

...

“ยาที่นำมาต้มกินอาจจะใช้รักษาได้ตามปกติ แต่เมื่อมีการบริกรรมคาถา มีพิธีการต่างๆ ก็จะทำให้ดูศักดิ์สิทธิ์ยิ่งขึ้น”

หากมองในเชิงศาสนา พราหมณ์ มีหน้าที่ติดต่อกับเทพเจ้า การบูชาเทพต้องผ่านพราหมณ์ แต่วิถีชาวบ้าน เขาก็อยากติดต่อเทพ เขาก็ต้องผ่านร่างทรง

“หากสังเกต คนที่เป็นร่างทรงในสมัยโบราณ (ยกเว้นกลุ่มหลอกลวง) จะไม่ใช่คนชั่วช้า กินเหล้าเมายา เขาหรือเธอที่เป็นร่างทรงต้องปฏิบัติตัวดี เป็นคนที่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่เป็นทุนเดิม”

สำหรับความรู้สึก คนที่เป็นร่างทรง บางคนอาจจะรู้สึกว่าอยากเพิ่มพูนบารมี หรือบางคนอยากจะช่วยเหลือลูกหลาน

ไขคำตอบ การสืบเชื้อสาย “ร่างทรง” ทำไมต้องเป็นผู้หญิง  

เชื่อว่าใครๆ ก็คงอยากรู้ว่าทำไมการสืบเชื้อสายร่างทรง ที่มีการเล่าในหนัง ต้องเป็นผู้หญิง เรื่องนี้เอง อาจจะวิเคราะห์ได้หลายประเด็น

อาจารย์กังวล เล่าว่า ร่างทรงจะมี 2 แบบ กลุ่มแรก จะเป็นกลุ่มที่ไม่สืบทอดทางสายเลือด คือ อยากจะอัญเชิญองค์ไหนมาลงก็ได้ (ส่วนมากเป็นสมัยใหม่) ส่วนอีกกลุ่ม คือ การสืบทอดทางสายเลือด (เหมือนกับในหนัง)

...

กลุ่มที่มีการสืบทอดทางสายเลือด ร่างทรงไม่ได้เข้าแบบสะเปะสะปะเหมือนสมัยนี้ แต่เขาจะเลือกคนที่จะเข้า เช่น เฉพาะคนในตระกูลนี้เท่านั้น เป็นต้น

การสืบทอดทางสายเลือด เป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก เพราะจากที่ได้ไปดูจารึก “สด๊กก๊อกธม” อายุประมาณ 1,800 ปี ได้ระบุว่า เวลาจะนับสายสกุลการสืบทอด เขาจะนับผ่านทางสาย “ผู้หญิง”

แสดงว่า วิธีการนับญาติโดยผ่านทางสายเลือดคงอยู่มาแล้ว 1,800 ปี ถึงแม้ที่ผ่านมา การเผยแผ่ศาสนา โดยเฉพาะมาจากอินเดีย จะนับสายผู้ชายอย่างเข้มข้น แต่ทุกวันนี้เรากลับพบว่าการนับญาติ การสืบทอดกลับเป็นฝ่ายหญิง

จากบันทึกใน “สด๊กก๊อกธม” ได้บันทึกเรื่องราวการคัด “เทวราชา” เพื่อดูแลอาณาจักรเขมรโบราณ (ทำหน้าที่คล้ายกับ “พระสยามเทวาธิราช” ของไทย) โดยมีการบันทึกถึง “ตระกูล” ที่มาทำพิธี โดยต้องมาจากตระกูลพราหมณ์ “พราหมณ์ศิวไกวัลย์” ซึ่งคนที่จะทำพิธีจะต้องมาบวชเป็นพราหมณ์ ไม่สามารถมีลูกได้ ฉะนั้น ทายาทที่จะสืบทอด โดยมากก็จะเป็นลูกของน้องสาวหรือพี่สาวเท่านั้น โดยไม่นับน้องชายหรือพี่ชาย

...

“ถึงแม้อิทธิพลที่แผ่จากอินเดียจะใช้ผู้ชายที่เป็นพราหมณ์ในการทำพิธี แต่พอเวลานับญาติกลับใช้ฝ่ายผู้หญิง ซึ่งแตกต่างจากในอินเดียอย่างสิ้นเชิง เพราะอินเดียบอกว่าจะต้องนับจากฝ่ายชายเท่านั้น นี่ขนาดรับวัฒนธรรมที่เข้มข้นจากอินเดียมา แต่สุดท้ายก็มาโอนอ่อนลงในแถบบ้านเรา”

ซึ่งหากจะให้วิเคราะห์ก็เป็นไปได้ว่า เพราะมีพราหมณ์โกญธัญญะจากอินเดีย แล้วมาได้กับนางโสมา ซึ่งเป็นลูกผู้มีอำนาจสืบทอดวงศ์วานของกษัตริย์ที่ปกครองแถวนี้ ฉะนั้น คนที่เป็นพื้นถิ่นจริงๆ คือผู้หญิง ขาจึงนับสายสกุล จากสายผู้หญิง โดยเฉพาะอารยธรรมเขมร และ จามปา (เคยอาศัยอยู่ตอนเหนือของเวียดนาม ก่อนล่มสลาย)

เรื่องนี้ในทางปกครอง ที่อยู่ในจารึกที่เขียนเรื่องทาส เขามักจะนับญาติจากผู้หญิง เช่น เขียนว่านายคนนี้เป็นลูกใคร เขาก็จะบอกชื่อผู้หญิง เพราะชีวิตผู้ชายสมัยนั้นไม่แน่นอน เช่น ถูกเกณฑ์แรงงาน ไปออกรบ เสียชีวิต ซึ่งมันอาจจะยากต้องการสืบสายสกุล...

ในขณะที่ผู้หญิง ไม่ค่อยได้ไปไหน อยู่บ้านเลี้ยงลูก ความรู้ต่างๆ จึงถูกสืบทอดต่อๆ กันมา

ทั้งนี้ ในเชิงการปกครอง ก็เหมือนกับการแบ่งหน้าที่กันระหว่างชายหญิง ชายอาจจะนำไปในทางปกครอง แต่ผู้หญิงจะกลายเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ..

ประสบการณ์ตรง ที่ยังยากจะให้คำตอบ...

เมื่อพูดคุยกับ อาจารย์กังวลอย่างออกรสชาติ อาจารย์กังวล จึงได้ยกตัวอย่างเรื่องราวชีวิตตัวเองที่พานพบ

ระหว่างที่ชวนคุยเรื่อง ประเด็นเรื่อง “การประทับร่างทรง” ส่วนมากใช้วิธีการใดนั้น อาจารย์กังวล บอกแต่เพียงว่าโดยวิธีการคล้ายกัน แต่รูปแบบอาจจะแตกต่าง แต่การเชิญเข้าทรงเฉยๆ อาจจะดูไม่ศักดิ์สิทธิ์ ฉะนั้น จึงน่าจะมีพิธีกรรมอะไรบางอย่าง เช่น การเข้าทรง “ปะโจ๊ลมะม๊วด” หรือ รำผีฟ้า

พิธีการนี้อาจารย์กังวลเห็นมาตั้งแต่เด็ก โดยคนที่ป่วยจะมาเข้าทรงด้วยตัวเอง ด้วยการรำผีฟ้าประกอบดนตรี หากมองในทางวิทยาศาสตร์ จะคล้ายการบำบัดด้วยดนตรี โดยมีครู (หมอทรง) เป็นคนนำ และให้คนที่ป่วยต้องการจะรักษามาร่วมเข้าทรง

“แม่ผม ที่เป็นคนสุรินทร์เคยไปเข้าทรงด้วยวิธีนี้ ผมถามแม่ว่าเป็นยังไง แม่บอกว่ามันก็เคลิ้มๆ ไป เหมือนควบคุมตัวเองไม่ได้ รู้ตัวเพียง 30-40% โดยจะปล่อยไปตามอารมณ์ หัวเราะ ร้องไห้ เป็นไปตามจังหวะ โดยครูทรงจะเป็นคนกำหนด ซึ่งเขาไม่ได้มาบังคับอะไร”

คนทรงอีกแบบ (เหมือนในหนัง) ส่วนมากจะเป็นการมาช่วยรักษาอาการป่วย คนที่เคยรักษาไม่หายก็อาจจะแนะนำว่าต้องแก้แบบนี้แบบนั้น

“วิชาความรู้ในอดีต อาจจะมีการส่งต่อผ่านเชื้อสายตระกูล เฉกเช่น ตระกูลช่าง ตระกูลหมอ แพทย์แผนไทย วิชาเหล่านี้เขาจะไม่สอนคนนอก การสืบทอดสายตระกูลคนทรง ซึ่งก็มีการสืบทอดความรู้จากแม่สู่ลูกหลาน”

อย่างแม่อาจารย์กังวล เป็นตระกูลคนเลี้ยงช้าง จะมีการสอนวิธีการบูชาปะกำ ซึ่งก็คือเชือกคล้องช้าง ซึ่งคนที่ทำพิธีคือผู้หญิงมีการสืบทอดความรู้จากในอดีต จากยาย สู่ป้า มาถึงแม่ และพี่สาว เมื่อมีพิธีการสำคัญ ผู้หญิงที่ได้รับการสืบทอดจะเป็นผู้ทำพิธี

ผีเลือก “ร่างทรง”

เมื่อถามว่ามองยังไง กับความเชื่อเรื่อง “ร่างทรง” ที่ถูกเลือก...หากไม่ทำตามจะเกิดอาการต่างๆ นักโบราณคดี มหาวิทยาลัยศิลปากร บอกว่ามันเป็นเรื่องที่อธิบายยากเหมือนกัน แต่ถ้ามองในทางจิตวิทยา ครอบครัวนี้อาจจะมีการเลือกมาแล้ว ว่า คนคน นี้ต้องเป็นร่างทรงที่สืบทอด พอคนคนนั้นรู้ตัวว่าจะต้องเป็น มันก็มีโอกาสให้เกิดอาการต่างๆ ตามด้านจิตวิทยา ที่หมอหลายๆ คนพูดมาแล้ว

ส่วนตัวผมไม่เชื่อเรื่องนี้ แต่ก็มีบางเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต ผมก็อธิบายไม่ได้ เช่น มีครอบครัวหนึ่งที่ผมรู้จัก มีคนเข้าทรงในฐานรากความเชื่อว่า ทุกบ้านจะมีครู และแต่ละคนจะมีครูของตัวเอง

แต่สำหรับบ้านนี้ คนทรงบอกว่า ลูกชายคนหนึ่งที่หายจากบ้านหลายปี ตอนนี้อยู่ในสถานที่แคบๆ ไม่สามารถติดต่อใครได้ ที่ผ่านมาญาติก็พยายามตามหาตัว จนกระทั่งมาทราบภายหลังว่าไปติดคุกอยู่

อีกเหตุการณ์หนึ่ง เกิดขึ้นเมื่อ 20 กว่าปีก่อน เรามีพี่น้อง 3 คน น้องชายออกรถใหม่ ก็เลยไปลองรถด้วยกัน ปรากฏว่าไปชนกับรถ 6 ล้อ นอนเจ็บที่โรงพยาบาล ที่อยุธยา

“เย็นวันนั้น แม่พยายามโทรหาลูกทุกคน บอกว่าปวดบริเวณหน้าอก ถ้ารู้สึกแบบนี้ แปลว่าลูกต้องไม่สบาย เขาโทรหาทุกคน ก็ไม่ได้คุย จนวันต่อมา ได้โทรคุย เราบอกว่าไม่เป็นอะไรๆ ซึ่งแม่ คือผู้สืบเชื้อสาย คนที่ทำปะกำคล้องช้าง ซึ่งก็เหมือนมีเซนส์ที่สัมผัสถึงกันได้ โดยที่ทางวิทยาศาสตร์ไม่สามารถอธิบายได้”

พิธีมอญล้านนาที่บูชาบรรพบุรุษ ในภาคเหนือ
พิธีมอญล้านนาที่บูชาบรรพบุรุษ ในภาคเหนือ

“ร่างทรง” กับสังคมไทย คนเมืองทำให้เปลี่ยนไป 

ในช่วงท้าย อาจารย์กังวล ได้กล่าวถึงประเด็นร่างทรงกับสังคมไทยว่า เชื่อว่าสังคมเรามีความจำเป็นต้องมี “ร่างทรง” ในการช่วยเหลือสังคม ช่วยชาวบ้าน เป็นที่พึ่งทางจิตใจให้กับชาวบ้าน

คนที่จะเป็นร่างทรงได้ ใช่ว่าใครก็เป็นได้ ต้องถือศีล ปฏิบัติธรรม เหมือนกับเป็นผู้เสียสละ และน่าเชื่อถือได้ โดยจะต้องให้คำแนะนำที่ดี

แต่ปัจจุบัน เหมือนใครๆ อยากเป็นก็เป็นได้ เรื่องการทรง ไม่ใช่ว่าทำได้ตลอดเวลา แต่บางครั้งคนทรงก็เข้าใจว่าตัวเองกำลังทรง เช่น เวลาเข้าทรงหมู่ บางคนสักลิงก็จะกลายเป็นลิง เป็นเสือ ถามว่าเขาแกล้งไหม เขาก็บอกว่าเหมือนเข้าจริง เพราะจิตเขารับรู้ว่าต้องเป็นแบบนี้

แต่ตำหนักทรงทั้งหลายแหล่ ต้องใช้วิจารณญาณ และต้องหาความรู้ และชั่งใจว่าน่าจะเป็นได้หรือไม่ ปัจจุบันสื่อโซเชียลฯ มีให้ดูเยอะ ข้อมูลทุกวันนี้สามารถสืบค้นได้ ฉะนั้น หากคนทรงมาชักชวน เราก็ต้องดูว่าคนทรงได้ประโยชน์หรือไม่ ถ้ามีการเรียกร้องเอาผลประโยชน์ให้คิดไว้เลยว่าอาจจะเป็นการหลอกลวง

เพราะธรรมเนียมของคนทรง คือ การช่วยเหลือคน ในการบำเพ็ญบารมี เพื่อช่วยให้คนอื่นพ้นทุกข์ ซึ่งมันเริ่มต้นด้วยเจตนารมณ์ที่ดี แต่ปัจจุบันคนที่ทำให้ร่างทรงเปลี่ยนแปลงทิศทางไป คือคนในเมือง เป็นการปรับตัวเพื่อให้คนในเมืองเสพได้สะดวกขึ้น ฉะนั้น “เทพ...ทันใจ” ถึงได้มา...

ผู้เขียน : อาสาม

ภาพประกอบ : ภาพยนตร์เรื่อง "ร่างทรง" 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ