มาอีกสูตรแล้ว... สำหรับ "วัคซีนไขว้" ในบ้านเรา นั่นก็คือ "วัคซีนแอสตราเซเนกา + วัคซีนไฟเซอร์" ซึ่งเป็นสูตรเดียวกับที่หลายๆ ประเทศเลือกใช้กัน

จริงๆ แล้ว วัคซีนสูตรไขว้ เข็ม 1 วัคซีนแอสตราเซเนกา + เข็ม 2 วัคซีนไฟเซอร์ มีแผนมาสักระยะแล้วตั้งแต่ช่วงต้นเดือนก่อน แต่เวลานั้น บ้านเราเน้นฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เข็ม 1 วัคซีนซิโนแวค + เข็ม 2 วัคซีนแอสตราเซเนกา เป็นหลักมากกว่า

โดยวัคซีนสูตรไขว้ยอดนิยม เข็ม 1 แอสตราฯ + เข็ม 2 ไฟเซอร์ นี้จะเริ่มดำเนินการฉีด ณ ศูนย์ฉีดวัคซีนกลางบางซื่อ ในวันที่ 5-30 พฤศจิกายน 2564 ตามวัน-เวลาการจอง ขอย้ำว่า... "ไม่รับ Walk In!!"

ดังนั้น เพื่อไม่ให้เป็นการเสียเวลา... มาติดตามผลการศึกษาล่าสุดว่าจนถึงตอนนี้ เรารู้อะไรแล้วบ้างเกี่ยวกับประสิทธิภาพและผลข้างเคียงของวัคซีนสูตรไขว้ยอดนิยม "แอสตราฯ+ไฟเซอร์"

ว่ากันว่า... ผลทดสอบ "วัคซีนสูตรไขว้ AP" มีประสิทธิภาพยอดเยี่ยม!

หากสังเกตในช่วงท้ายปี 2564 นี้ หลายๆ ประเทศเริ่มหันมาวัคซีนสูตรไขว้กันมากขึ้น เพราะต้องการผลลัพธ์ที่ดีที่สุดในการหลุดพ้นวังวนของการแพร่ระบาดโควิด-19 ครั้งใหญ่ให้ได้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้

...

แน่นอนว่า ณ เวลานี้ ทุกคนคงกำลังสนใจว่า แล้ว "บทสรุป" ของผลลัพธ์สูตรไขว้วัคซีนนั้นเป็นเช่นไร?

จากผลการศึกษาต่างๆ ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่า คนที่เข้ารับวัคซีนโควิด-19 แตกต่างชนิดกันระหว่างเข็ม 1 กับเข็ม 2 เกิดการตอบสนองของภูมิคุ้มกันที่มีศักยภาพยอดเยี่ยม อีกทั้งผลข้างเคียงที่พบก็ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าการฉีดวัคซีนสูตรปกติ ที่เป็นชนิดเดียวกัน ยี่ห้อเดียวกัน

กับอีกหนึ่งผลการศึกษาล่าสุดก็แสดงให้เห็นว่า วัคซีนแบบผสมผสานหรือ "สูตรไขว้" นั้น มีประสิทธิภาพการป้องกันเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น และเหมือนจะมากกว่าประสิทธิภาพวัคซีนชนิด mRNA 2 เข็มเสียด้วย!

ซึ่งผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นนั้น มาร์ตินา เซสเตอร์ นักวิทยาภูมิคุ้มกัน ประจำมหาวิทยาลัยซาร์ลันด์ ณ ฮอมบวร์ก ประเทศเยอรมนี ก็ยอมรับว่า ระดับแอนติบอดีและการตอบสนองภูมิคุ้มกันอันแข็งแกร่งของวัคซีนสูตรไขว้ที่เกิดขึ้นในการศึกษาครั้งนี้ เป็นไปตามที่คาดการณ์ไว้ และนับว่าเป็นข่าวดีอย่างยิ่ง

โดยวัคซีนสูตรไขว้ที่กำลังเอ่ยถึงนั้น ก็คือ วัคซีนสูตรไขว้ AP นั่นเอง

เปิดผลการศึกษาล่าสุด วัคซีนสูตรไขว้ "แอสตราฯ+ไฟเซอร์"

วัคซีนสูตรไขว้ AP
เข็ม 1 (A) แอสตราเซเนกา + เข็ม 2 (P) ไฟเซอร์

โดยผลการศึกษาที่ว่านี้ ได้รับการตีพิมพ์ในวารสารเดอะแลตซิต (The Lancet) เรียบร้อยแล้ว ซึ่งนักวิจัยจากมหาวิทยาลัยอูเมโอได้ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูลต่างๆ ของประชากรในสวีเดน อาทิ การฉีดวัคซีนของประชากร, ชนิดวัคซีน, การวินิจฉัยโรคโควิด-19 หรือการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล ผ่านการอำนวยความสะดวกทางกฎหมายของสวีเดนที่ให้แพทย์แบ่งปันบันทึกทางสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับการฉีดวัคซีนและการติดเชื้อโควิด-19

ซึ่งแบ่งการศึกษาออกเป็นกลุ่มต่างๆ ทั่วประเทศ รวมทั้งหมด 721,787 ราย แบ่งเป็น คนฉีดแอสตราเซเนกา 2 เข็ม 430,100 คน และคนฉีดแอสเตราเซเนกา เข็ม 1 + วัคซีน mRNA เข็ม 2 อีก 110,971 ราย รวมถึงจับคู่คนฉีดวัคซีนกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน ที่มีเพศเดียวกัน เกิดปีเดียวกัน และมาจากพื้นที่เดียวกัน

ผลการศึกษาแรกที่ได้ คือ คนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีนมีโอกาสติดเชื้อโควิด-19 มากกว่าคนที่ฉีดวัคซีนถึง 3.5 เท่า

ผลการศึกษาต่อมาที่ได้ คือ

...

1) วัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม สามารถป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ได้ 50%

2) วัคซีนแอสตราเซเนกา เข็ม 1 + วัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 2 มีประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ถึง 67%

3) วัคซีนแอสตราเซเนกา เข็ม 1 + วัคซีนโมเดอร์นา เข็ม 2 มีประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ถึง 79%

แม้ ศาสตราจารย์ โมนิกา คานธี คณะแพทยศาสตร์ ประจำมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย, ซานฟรานซิสโก (UCSF) จะไม่ได้เข้าร่วมการศึกษานี้ แต่ก็ได้ให้สัมภาษณ์กับ Medical News Today ว่า ณ สถานการณ์ปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะผลักดันให้บางพื้นที่ในโลก ใช้วัคซีนแอสตราเซเนกาเป็นเข็มแรก และตามด้วยวัคซีน mRNA เพราะนี่ถือเป็นการวินิจฉัยมาตรฐาน

สอดรับกับ ศาสตราจารย์ เจฟฟ์ กวง จากวิทยาลัยสาธารณสุขดัลลา ลานา มหาวิทยาลัยโตรอนโต, แคนาดา ก็สะท้อนในมุมมองลักษณะเดียวกับศาสตราจารย์คานธี ว่า จากข้อพิสูจน์อย่างน้อย 3 รัฐในแคนาดา ได้แก่ ออนแทรีโอ, บริติช โคลัมเบีย และควิเบก บ่งชี้ว่า การฉีดวัคซีนเข็ม 1 แอสตราฯ + เข็ม 2 วัคซีน mRNA ภายใต้เงื่อนไขการควบคุม ทั้งการติดเชื้อและความรุนแรง เช่น การเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรือเสียชีวิต ปรากฏว่า ผลลัพธ์ดีเทียบเท่ากับการฉีดวัคซีน mRNA 2 เข็มทีเดียว

"ดังนั้น หากประเทศที่มีปริมาณวัคซีนในมือ ทั้งแอสตราเซเนกา และ mRNA (ไฟเซอร์/โมเดอร์นา) อาจลองพิจารณาฉีดวัคซีนแต่ละเข็มแตกต่างกันแก่ประชากรได้"

...

เห็นได้ว่า ข้อสรุปการศึกษาในสวีเดน มีลักษณะคล้ายคลึงกับในเดนมาร์ก โดย ไมย์ อเกอร์โมส แกรม นักระบาดวิทยา ประจำสถาบันวัคซีนแห่งรัฐในโคเปนเฮเกน ระบุถึงผลการศึกษาว่า การฉีดวัคซีนเข็ม 1 แอสตราเซเนกา แล้วตามด้วยเข็ม 2 วัคซีนไฟเซอร์ มีประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ถึง 88% ใกล้เคียงกับประสิทธิภาพวัคซีนไฟเซอร์ 2 โดส (*ผลการศึกษาของเดนมาร์กนี้ยังไม่ได้เข้าสู่กระบวนการ Peer Review)

อีกผลการศึกษาการฉีดวัคซีนไขว้ AP ของอังกฤษ ภายใต้การศึกษาที่รู้จักกันดี Com-COV เทียบวัคซีนโควิด-19 ปกติ กับแผนการฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เข็ม 1 แอสตราฯ + เข็ม 2 ไฟเซอร์

โดยผลลัพธ์ที่ได้ คือ คนที่ปรากฏอาการตอบสนองภูมิคุ้มกันแข็งแกร่งที่สุด คือ คนที่ได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกา เข็ม 1 แล้วตามด้วยวัคซีนไฟเซอร์ เข็ม 2 แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านวัคซีนวิทยา แมทธิว สเนป ประจำออกซ์ฟอร์ด และประธานคณะผู้ตรวจสอบการทดลอง Com-COV ยังคงไม่แน่ชัดว่า ผลลัพธ์ของวัคซีนสูตรไขว้ AP นี้ จะดำรงอยู่ได้นานแค่ไหน

แล้ว "ผลข้างเคียง" นั้นเป็นอย่างไร?

จากการศึกษาทั้งหมดมีการรายงานผลข้างเคียงที่ไม่ได้เลวร้ายไปกว่าผลข้างเคียงน่ารำคาญปกติ นั่นคือ อาการปวดหัว, ไข้ และหนาวสั่น ที่จะค่อยๆ ลดลงภายในไม่กี่วัน และยังไม่พบความน่ากังวลถึงความปลอดภัยอื่นๆ เพิ่มเติม

วัคซีนสูตรไขว้ ไม่ต้องการความภักดีต่อแบรนด์

...

ผลการศึกษาหนึ่งพบว่า การใช้ "วัคซีนสูตรไขว้" หรือแบบผสมผสานนี้ อาจมีประสิทธิภาพมากกว่าการใช้วัคซีน mRNA ทั้ง 2 เข็มด้วยซ้ำ!

โดยนักวิทยาภูมิคุ้มกัน เทียร์รี วอล์เซอร์ ประจำ Inserm และมหาวิทยาลัยลียงในฝรั่งเศส ได้วิเคราะห์ข้อมูลเจ้าหน้าที่ด้านสาธารณสุข 2,512 คน ที่ฉีดวัคซีนแอสตราฯ+ไฟเซอร์ และมากกว่า 10,000 คน ฉีดวัคซีนชนิดเดียวกัน 2 เข็ม ซึ่งพบว่า อัตราการติดเชื้อโควิด-19 ในกลุ่มวัคซีนสูตรไขว้ มีจำนวนเพียงครึ่งเดียวของกลุ่มคนที่ได้รับวัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม

เมื่อประสิทธิภาพของวัคซีนสูตรไขว้ เข็ม 1 แอสตราฯ + เข็ม 2 ไฟเซอร์ สูงจนมีความหมายโดยนัยไปทั่วโลก ก็ทำให้นักวิจัยมองว่า ข้อมูลดังกล่าวอาจสนับสนุนให้เกิดโครงการสร้างภูมิคุ้มกันแบบผสมใน "ประเทศรายได้ต่ำ" ที่มีความเสี่ยงในการขาดแคลนวัคซีน ดังนั้น จึงนับว่าเป็นข้อมูลที่สำคัญมากๆ ในการนำไปสู่นโยบายต่อไป...

เหตุผลที่ต้องฉีดสูตรไขว้

ในความเห็นของนักวิทยาศาสตร์ที่กำลังทำการศึกษาอยู่นั้น มองว่า วัคซีนสูตรไขว้จะเพิ่มความยืดหยุ่นในอนาคต หากว่าผลลัพธ์ของสูตรไขว้ออกมาว่าได้ผลดีและได้ผลจริง

เพราะนอกเหนือจากการช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันในการป้องกันและต่อสู้กับโควิด-19 แล้ว การใช้วัคซีนเข็ม 2 ที่แตกต่างชนิดและแบรนด์จากเข็มแรก ก็จะทำให้ประชากรโลกได้รับวัคซีนรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม

ใกล้ถึง "ภูมิคุ้มกันหมู่" แล้วกี่ประเทศ?

ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2564 จากข้อมูลอ้างอิงของบลูมเบิร์ก (Bloomberg) พบว่า กว่า 184 ประเทศทั่วโลก ดำเนินการฉีดวัคซีนโควิด-19 ไปแล้วกว่า 7.15 พันล้านโดส เฉลี่ย 30.1 ล้านโดสต่อวัน หรือเฉลี่ย 93 เข็มต่อทุกๆ 100 คนทั่วโลก และแน่นอนว่า ประเทศและภูมิภาคร่ำรวยย่อมต้องฉีดวัคซีนเร็วกว่ากลุ่มรายได้ต่ำมากกว่า 10 เท่า!!

หากจะนับทั้งโลก ด้วยอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 เฉลี่ยต่อวันล่าสุด 30,103,833 โดส จากการประมาณการของบลูมเบิร์กมองว่า การที่ประชากรทั้งโลกจะได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 โดส 75% อาจต้องใช้เวลาถึง 5 เดือน

แต่หากนับเฉพาะการฉีดวัคซีนให้ประชากรในประเทศครบ 2 เข็ม เกิน 75% ของประชากร กลับพบว่ามีเพียงแค่ไม่กี่ประเทศเท่านั้น ได้แก่

1) จีน : 76.5%
2) ฝรั่งเศส : 77.2%
3) เกาหลีใต้ : 75.4%
4) สเปน : 80.3%
5) มาเลเซีย : 75.5%
6) ชิลี : 79.5%
7) กัมพูชา : 79.5%
8) โปรตุเกส : 84.5%
9) สิงคโปร์ : 82.5%
10) เดนมาร์ก : 76%
11) ไอร์แลนด์ : 75.7%
12) กาตาร์ : 79.4%
13) บาห์เรน : 77%
14) มอลตา : 86.8%
15) ไอซ์แลนด์ : 78.1%
16) เซเชลส์ : 79.5%

แล้วยังจำกันได้ไหม?

คำมั่นสัญญา 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 ตอนนี้... เหลือเวลาอีก 56 วันเท่านั้น อยู่ที่ 77,014,092 โดส เฉพาะคนที่ฉีดครบ 2 เข็ม คิดเป็น 45.6% เท่านั้น.

ข่าวน่าสนใจ: