พรุ่งนี้สินะ 1 พฤศจิกายน 2564 ที่จะถึงวันเปิดประเทศตามประกาศิต ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ถึงแม้จะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เห็นด้วย เห็นต่าง คัดค้าน หรือสนับสนุน ถึงความพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว ท่ามกลางการระบาดครั้งใหม่ของเชื้อ “โควิด-19” สายพันธุ์ “เดลตาพลัส” ที่ถึงวันนี้ทางรัฐบาลยังคงยืนยันว่า ที่เริ่มระบาดในไทยนั้นยังไม่ใช่สายพันธุ์ AY.4.2
ไม่ว่าจะโรคระบาดขนาดไหน เวลานี้ ผู้ที่หาเช้ากินค่ำก็ต้องทำมาหากินดิ้นรนต่อสู้ และคงอยู่ไม่ไหวหากจะเจอ “ล็อกดาวน์” อีก ดังนั้น เพื่อสำรวจสภาพเศรษฐกิจ แหล่งค้าขาย ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้ลงพื้นที่สำรวจแหล่งร้านค้าเสื้อผ้าขายส่ง ขายปลีก ย่านประตูน้ำ กับคำถาม พร้อมไหมที่เปิดประเทศ?
ก่อนจะเข้าไปพูดคุยกับพ่อค้าแม่ขาย เราได้เดินสำรวจบรรยากาศ พบว่ามีคนไทยจำนวนมาก เข้ามาเดินเลือกซื้อสินค้าอย่างคึกคัก แต่ที่แปลกตาไปคือ..ส่วนใหญ่จะเป็นการค้าขายส่งเสียส่วนมาก มีฝรั่งต่างชาติมาเดินบ้าง (แบบนับคนได้...ก็ยังไม่เปิดประเทศเนอะ)
...
พ่อค้าแม่ค้าประสานเสียง คลายล็อกดาวน์ ค้าขายยังไม่ฟื้น
คุณอุไร ทรัพย์การ หรือ นิด ลูกจ้างร้าน ส.รุ่งโรจน์ ยอมรับว่า 2 ปีที่ผ่านมาลำบากมาก เพิ่งจะได้เปิดขายจริงๆ เมื่อ 2 เดือนที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงนี้ คิดว่าน่าจะคืนกลับมาได้บ้าง ยกตัวอย่าง เมื่อก่อนขายดี ขายได้มากกว่าวันละ 300 ตัว วันนี้เหลือแค่ 120 ตัว แต่ก็ยังไม่ได้ดีอะไรมาก แม้จะดูบรรยากาศคึกคัก แต่ก็คนไทยไม่ค่อยได้เข้ามาซื้อ ยังดีคือยังขายให้กลุ่มคนต่างชาติ ที่สั่งซื้อผ่านไลน์ แล้วส่งให้ผ่านคาร์โก
ด้านคุณนก เจ้าของร้าน Nok Bangkok ที่ขายเสื้อผ้าสตรี บอกว่า ขายที่ประตูน้ำแห่งนี้มา 20 กว่าปีแล้ว ยอมรับว่าแม้จะคลายล็อกดาวน์ไปแล้ว ก็ยังไม่ดีขึ้น ขายได้เพียง 10% จากที่เคยขายก่อนช่วงล็อกดาวน์ ปกติเราเคยได้วันละกว่า 100 ตัว ต่างชาติ จะเข้ามาซื้อประมาณ 40% พอเกิดโควิด ต่างชาติไม่มา คนไทยกลัวไม่กล้าเดิน แต่ก็ยังขายส่งได้บ้าง โดยเฉพาะขายให้กับคนที่ไปไลฟ์สดขาย
ขณะที่ คุณชมพู่ เจ้าของร้าน JJ Shop เจ้าของร้านเสื้อผ้าแฟชั่น ขายเสื้อผ้าที่ประตูน้ำมาแล้ว 8 ปี อีกแห่งยอมรับว่ายังแย่ เพราะเวลาขายน้อยลงไปหลายชั่วโมง เมื่อก่อนเปิดร้านตั้งแต่ตี 5 ปิดตอน 4 โมงเย็น แต่เดี๋ยวนี้ขายตอน 7 โมงเช้า บ่าย 2 ก็เริ่มไม่มีคนแล้ว
เมื่อก่อนเราขายปลีกหน้าร้านได้วันละ 100-500 ตัว แต่เดี๋ยวนี้น้อยมาก บางวันขายได้ 100 ตัวเรียกว่าเก่งแล้ว ในขณะที่บางร้านที่อยู่ลึกหน่อย บางวันไม่ได้เปิดบิลเลย (ขายไม่ได้สักตัว) ที่สำคัญคือ คนไม่ค่อยได้ไปเที่ยวด้วย ซึ่งมันเกี่ยวพันกับการขายเสื้อผ้า เพราะหากได้ไปเที่ยวเขาก็อาจจะมาเลือกซื้อเสื้อผ้าเพื่อไปถ่ายรูปโชว์ในโซเชียลฯ บ้าง
“ยอดที่เคยขายได้ถ้าเทียบกับเมื่อก่อน วันนี้เหลือไม่ถึง 10% เราเองก็ต้องปรับตัวเยอะ ก่อนที่จะมาขาย เราเห็นว่าเป็นธุรกิจที่ดี บูมมาก แต่ตอนนี้ลำบากก็จำเป็นต้องลดลูกน้องลง จาก 2 เหลือ 1 คน เราก็ต้องเลือกผู้ชายเอาไว้เพราะมาช่วยยกของ แต่ยังดีที่เจ้าของที่บางตึกเขาลดราคาค่าที่ให้ ทำให้เรายังประคองตัวอยู่ได้” คุณชมพู่ กล่าว
เงินบาทอ่อน ต้นทุนสูงขึ้น กระทบนำเข้าสินค้ามาขาย
คุณชมพู่ ยังกล่าวต่อว่า “ออเดอร์ต่างชาติส่วนใหญ่จะมาจากเวียดนาม มาเลเซีย และชาติในอาเซียนนี่แหละ แต่พอไม่มีก็ลำบาก หากมีการเปิดประเทศแล้ว เราก็ไม่รู้ว่าเขาจะเข้ามาจับจ่ายซื้อไหม ที่สำคัญ เวลานี้ การค้าขายก็ลำบาก เพราะค่าเงินไทยอ่อน เราซื้อของจากจีนต้องจ่ายแพงขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการซื้อสำเร็จรูปหรือนำผ้าเข้ามาตัดเย็บเอง
...
สอดคล้องกับ เจ้าของร้านขายเสื้อผ้าอีกแห่ง ที่ไม่ขอเปิดเผยตัว คุณ บอส ขายเสื้อผ้าแฟชั่นที่ลาออกจากการเป็นพนักงานบริษัท และมาขายเสื้อผ้าได้เพียง 3 ปี เผยว่า ช่วงแรกยังขายดี เพราะมีตลาดเช้ามืดด้วย พอเจอโควิดรอบแรก ก็สะดุดนิดหน่อย แต่รอบนี้หนักเลย เพราะเราพึ่งต่างชาติ และตลาดต่างจังหวัดด้วย การล็อกดาวน์ ก็ทำให้การเดินทางยากขึ้น
“การขายในช่วงนี้ก็ยังไม่ดี เรียกว่าถ้าเทียบกับเมื่อก่อน ก็อยู่ที่ประมาณ 30% แต่ถ้าเทียบกับตลาดตอนเช้า นี่เหลือไม่ถึง 10% เพราะตลาดเช้าเป็นตลาดที่พึ่งพาต่างจังหวัด ส่วนงานที่ขายได้บางส่วน เชื่อว่ามันเกี่ยวข้องกับรูปแบบของเนื้องานด้วย เพราะเวลาเราจะเลือกซื้ออะไรเราต้องสำรวจตลาด และต้องแม่น ยิ่งช่วงนี้ค่าเงินบาทอ่อน เรารับของมาแพงขึ้น เรายิ่งต้องเลือกให้ดี เราเลือกเน้นงานที่คนไทยชอบ และเลือกจำนวนที่จะสั่ง ต้องลดลง”
เปิดประเทศ คือ โอกาส และความหวัง แต่...ยังไม่มั่นใจ
กลับมาที่คำถามว่า 1 พ.ย. เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยว พ่อค้าแม่ค้าแต่ละคนต่างมีความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่ามันคือความหวังอย่างหนึ่ง แต่ก็รู้สึกไม่ค่อยมั่นใจกับกระบวนการรับมือของรัฐบาล
...
คุณนิด อุไร และ คุณนก ตอบในทิศทางเดียวกันว่า ก็รู้สึกดีนะ การเปิดประเทศก็เปรียบเสมือนความหวังเล็กๆ อย่างหนึ่ง แต่ก็ไม่รู้ว่าโรคระบาดมันจะหยุดเมื่อไหร่ ฉะนั้นก็ต้องเซฟตัวเองด้วย แต่ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจเท่าไร เวลานี้คนขายของที่ประตูน้ำก็ลดไปพอสมควรแล้ว บางคนเลิกขายหน้าร้านแล้ว ขายออนไลน์อย่างเดียว
ด้านคุณชมพู่ เจ้าของร้าน JJ Shop บอกว่า ลุ้นอยู่นะ หากมีต่างชาติเข้ามา แล้วเข้ามาออเดอร์หรือเปล่า โดยเฉพาะร้านที่ผูกออเดอร์จากต่างชาติ ตอนนี้แย่มากๆ เพราะเสื้อผ้าแนวที่ต่างชาติซื้อใส่ คนไทยไม่ซื้อใส่เลย เช่น ผ้าไทย คนไทยไม่ใส่ แต่อย่างของเรา ยังขายทั้งคนไทยและต่างชาติ
...
ส่วนคุณบอส บอกว่า การเปิดประเทศมันดีไหม...ดีอยู่แล้ว เพราะเหมือนมันมีโอกาส การเข้ามาของเขา เขาเอาเงินมาจับจ่ายอยู่แล้ว ไม่ว่าเขาไปซื้อของที่ไหน เงินมันก็จะหมุนเวียนและอาจจะมาถึงเรา แต่...สิ่งที่น่ากลัวคือ ระบบของเราเตรียมรับมือกับโควิดหรือยัง คนที่ยังไม่ฉีดวัคซีนเข็ม 1 ก็ยังมีเยอะ แม้มันจะป้องกันติดไม่ได้ก็ตาม เชื่อว่าเปิดประเทศแล้วก็คงมีคนติดเข้ามาบ้าง แต่เราจะทำยังไงไม่ให้มันกระจายออกไป ถ้ามันกระจายไป เรารองรับยังไง โรงพยาบาลพอไหม แผน 123 คืออะไร เพราะไม่อยากจะให้มาล็อกดาวน์อีกที”
ส่วนตัวในฐานะคนค้าขายอยากเปิดประเทศนะ แต่ลึกๆ ยังไม่ค่อยมั่นใจเท่าไร... เป็นไปได้ก็อยากให้ช้าแต่ชัวร์ดีกว่า
ได้ยินไหมครับ นี่คือ การบ้านที่ประชาชนคนค้าขายฝากถึงรัฐบาล ยังไงฝากวานผู้เกี่ยวข้องรับรู้ เตรียมแผนรับมือกันให้ดีด้วยนะครับ เพราะจะมาล็อกดาวน์กันอีกที คงมีหลายชีวิตสู้ไม่ไหว
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ รายงาน
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ