"ยินดีต้อนรับผู้เยี่ยมเยือนทุกท่านเข้าสู่...ประเทศไทย!"
1 พฤศจิกายน 2564 ดีเดย์ "เปิดประเทศ" อย่างเป็นทางการ ตามถ้อยแถลงของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ประกาศเมื่อวันที่ 11 ตุลาคมที่ผ่านมา
โดยการเปิดประเทศในครั้งนี้ จุดเด่นสำคัญ คือ นักท่องเที่ยวจากที่ได้รับวัคซีนครบเกณฑ์แล้ว จะสามารถเดินทางเข้าประเทศโดยทางอากาศหรือเครื่องบิน แบบ "ไม่ต้องกักตัว!"
แต่นักท่องเที่ยวเหล่านั้นยังอยู่ในขอบเขตที่ต้องเดินทางมาจาก 45 ประเทศ และ 1 เขตบริหารพิเศษ
รายชื่อประเทศที่เข้าไทยได้โดยไม่ต้องกักตัว
1.ออสเตรเลีย 2.ออสเตรีย 3.บาห์เรน 4.เบลเยียม 5.ภูฏาน 6.บรูไนดารุสซาลาม 7.บัลแกเรีย 8.กัมพูชา 9.แคนาดา 10.ชิลี 11.จีน 12.ไซปรัส 13.สาธารณรัฐเช็ก 14.เดนมาร์ก 15.เอสโตเนีย 16.ฟินแลนด์ 17.ฝรั่งเศส 18.เยอรมนี 19.กรีซ 20.ฮังการี 21.ไอซ์แลนด์ 22.ไอร์แลนด์ 23.อิสราเอล 24.อิตาลี 25.ญี่ปุ่น 26.ลัตเวีย 27.ลิทัวเนีย 28.มาเลเซีย 29.มอลตา 30.เนเธอร์แลนด์ 31.นิวซีแลนด์ 32.นอร์เวย์ 33.โปแลนด์ 34.โปรตุเกส 35.กาตาร์ 36.ซาอุดีอาระเบีย 37.สิงคโปร์ 38.สโลวีเนีย 39.สาธารณรัฐเกาหลี 40.สเปน 41.สวีเดน 42.สวิตเซอร์แลนด์ 43.สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ 44.สหราชอาณาจักร 45.สหรัฐอเมริกา 46.ฮ่องกง
...
ซึ่ง "จุดหมายปลายทาง" ที่เป็น 17 จังหวัดนำร่องในการเปิดประเทศ 1 พ.ย.นี้ บางจังหวัดก็เปิดเพียงบางพื้นที่เท่านั้น
1.กรุงเทพมหานคร 2.กระบี่ 3.ชลบุรี เฉพาะ อ.บางละมุง, เมืองพัทยา, อ.ศรีราชา, อ.เกาะสีชัง และ อ.สัตหีบ เฉพาะ ต.นาจอมเทียน และ ต.บางเสร่ 4.เชียงใหม่ เฉพาะ อ.เมืองเชียงใหม่, อ.ดอยเต่า, อ.แม่ริม และ อ.แม่แตง 5.ตราด เฉพาะ อ.เกาะช้าง 6.บุรีรัมย์ เฉพาะ อ.เมืองบุรีรัมย์ 7.ประจวบคีรีขันธ์ เฉพาะ ต.หัวหิน และ ต.หนองแก 8.พังงา 9.เพชรบุรี เฉพาะเทศบาลเมืองชะอำ
10.ภูเก็ต 11.ระนอง เฉพาะเกาะพยาม 12.ระยอง เฉพาะเกาะเสม็ด 13.เลย เฉพาะ อ.เชียงคาน 14. สมุทรปราการ เฉพาะบริเวณพื้นที่ท่าอากาศยานนานาชาติสุวรรณภูมิ 15.สุราษฎร์ธานี เฉพาะเกาะสมุย, เกาะพะงัน และเกาะเต่า 16.หนองคาย เฉพาะ อ.เมืองหนองคาย, อ.สังคม, อ.ศรีเชียงใหม่ และ อ.ท่าบ่อ 17.อุดรธานี เฉพาะ อ.เมืองอุดรธานี, อ.บ้านดุง, อ.กุมภวาปี, อ.นายูง, อ.หนองหาน และ อ.ประจักษ์ศิลปาคม
ทั้งนี้ จากความคาดหวังของนายกรัฐมนตรี มีมุมมองในแง่ดีว่า การเปิดประเทศในช่วงปลายปี 2564 นั้นจะเป็น "ไฮซีซั่น" (High Season) สำหรับประเทศไทย
แต่แน่นอนว่า การเปิดประเทศ 1 พ.ย. 2564 ไม่ได้รับ "คำยินดี" มากเท่าไรนัก ด้วยหลายๆ คนยังห่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังคงแพร่ระบาดหนักในบางพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดชายแดนภาคใต้ และ จ.เชียงใหม่
ณ วันที่ 30 ตุลาคม 2564 ไทยมีผู้ป่วยติดเชื้อรายใหม่ เฉลี่ยรอบ 7 วัน อยู่ที่ 9,056 ราย และเสียชีวิต เฉลี่ยรอบ 7 วัน อยู่ที่ 64 ราย
ขณะเดียวกัน อัตราการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ครบเกณฑ์ อยู่ที่เพียง 40.9% ของประชากร
นั่นจึงเกิด "คำถาม" ตามมาว่า ถึงเวลาแล้วจริงๆ หรือไม่กับการเปิดประเทศของไทย?
"ทำไมประเทศอื่นรีบเปิดประเทศ? เพราะอะไร? ทำไมเขาไม่ห่วงสาธารณสุข? จากคำถามนั้นก็ต้องตอบว่า เขาก็ห่วง! แต่เขาดูแลกันอย่างตระหนัก ไม่ตระหนก"
ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้ "คำตอบ" ในมุมมองส่วนตัวว่า ทุกฝ่ายต้องตระหนัก อย่าตระหนก โดยความสำคัญ คือ ต้องสร้าง "สมดุล" เพื่อที่จะให้สามารถอยู่รอดกันไปได้ ซึ่งในบทบาทของภาครัฐก็ต้องพิจารณาการสร้างสมดุลระหว่างภาคสาธารณสุขกับภาคเศรษฐกิจ ว่าจะทำอย่างไรไม่ให้เกิดการระบาดมากเกินไป และนั่นก็ต้องไม่ทำให้เศรษฐกิจพังด้วยเช่นกัน
"ถ้าเรามัวแต่พิจารณาสาธารณสุขอย่างเดียว สุดท้าย... เศรษฐกิจจะพังแบบกู่ยาก!"
...
เมื่อปลายเดือนกันยายน 2564 ธนาคารโลกคาดการณ์เศรษฐกิจไทยปีนี้ (2564) จะเติบโตเพียง 1% ลดลงจาก 2.2% ที่เคยคาดการณ์ในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา โดยเป็นผลมาจากการติดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ และนั่นทำให้การเปิดประเทศต้อนรับนักท่องเที่ยวล่าช้ากว่ากำหนด
เดิมทีแล้ว ไทยเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของอาเซียน แต่ปีที่แล้ว (2563) ลดลงไปถึง 6.1% รุนแรงที่สุดในรอบ 2 ทศวรรษ โดยภาคท่องเที่ยวได้รับผลกระทบอย่างหนัก
แต่หากการเข้ามาของนักท่องเที่ยวในปีหน้า (2565) ทำได้ถึง 1.7 ล้านราย ธนาคารโลกก็คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจจะกลับมาโต 3.6% และการคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเหมือนตอนก่อนแพร่ระบาดได้ในช่วงปี 2566
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ก็มองว่า เศรษฐกิจไทยจะกลับมาฟื้นเทียบเท่าปี 2562 ได้ก็ต่อเมื่อผ่านไปเป็นระยะเวลา 5 ปี หรือจนกว่าจะปี 2567 นั่นก็หมายรวมถึงกรณีที่ไม่มีการแพร่ระบาดระลอกใหญ่เกิดขึ้นมาอีก แต่สำหรับภาคอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวหากจะกลับมาเต็มกำลังเหมือนเดิมนั้น ก็คาดว่าจะใช้เวลานานกว่าที่คาดการณ์นี้ไปอีก คงไม่ใช่ในระยะ 5 ปีนี้แน่ๆ
แล้วมีแค่ไทยหรือไม่ที่ "ดิ้นสู้" ในโอกาสสุดท้ายปลายปี 2564 นี้!?
ประเทศที่เปิดรับนักท่องเที่ยว ในอาเซียนมีใครบ้าง?
...
1) สิงคโปร์ : เปิดให้ผู้เยี่ยมเยือนจาก 10 ประเทศ สามารถเดินทางเข้าประเทศได้แบบไม่ต้องกักตัว โดยให้คำมั่นสัญญาว่า "การอยู่อาศัยร่วมกับโควิด" จะเป็นยุทธศาสตร์ในการเดินเครื่องเศรษฐกิจใหม่อีกครั้ง หลังหลายเดือนที่ผ่านมามีการจำกัดการเคลื่อนไหวต่างๆ และแม้จะยังต้องเผชิญการต่อสู้กับตัวเลขการติดเชื้อไวรัสสายพันธุ์เดลตาก็ตาม
เมื่อวันที่ 28 ตุลาคมที่ผ่านมา MAS คาดการณ์ว่า การเติบโตจีดีพี (GDP) ของสิงคโปร์ ปีนี้ (2564) จะอยู่ที่ราว 6-7% และในปี 2565 การขยายตัวอาจชะลอตัวลง แต่ก็ยังแข็งแกร่ง
และในระหว่างการฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศของสิงคโปร์ MAS ก็เชื่อว่าตลาดแรงงานจะฟื้นกลับคืนมาอย่างต่อเนื่อง จากที่เดือนสิงหาคมอัตราการว่างงานลดลงจาก 3.7% (ก.ค.) เป็น 3.6% รวมถึงการรับค่าแรงเพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ท่ามกลางสัญญาณขาดแคลนกำลังคน
2) อินโดนีเซีย : กลับมาเปิด "บาหลี" อีกครั้งในเดือนนี้ (ต.ค.) เพื่อให้นักท่องเที่ยวจากประเทศที่กำหนดสามารถเดินทางเข้ามาได้ แต่ยังคงต้องกักตัว 5 วัน ซึ่งตามแพลนของรัฐบาลแล้ว คาดว่าการเปิดประเทศจะค่อยๆ เป็นไปอย่างช้าๆ แม้ว่าเดิมทีนั้นจะเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดในอาเซียนก็ตาม แต่จากผลกระทบของสายพันธุ์เดลตาเมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา รวมถึงมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด ก็ทำให้แผนการฟื้นฟูเศรษฐกิจทำได้ไม่ดีเท่าที่หวัง
โดยกระทรวงการคลังอินโดนีเซีย คาดการณ์ว่า ปี 2564 จะเติบโต 4% เทียบกับการคาดการณ์ก่อนหน้าที่มองว่าจะอยู่ที่ 3.7-4.5%
3) เวียดนาม : ตามแผนแล้วจะอนุญาตให้ผู้เยี่ยมเยือนต่างชาติเข้าไปท่องเที่ยวยังเกาะฟู้ก๊วกได้นับตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป
...
รวมถึงเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติในระยะแรก สู่ 5 จังหวัดที่กำหนด คือ เกียนซาง, คั้ญฮว่า, กว๋างนาม, ดานัง และกว๋างนิญ โดยปัจจุบันเวียดนามยอมรับพาสปอร์ตวัคซีนจาก 72 ประเทศ และเขตอำนาจปกครองพิเศษ ซึ่งขณะนี้กำลังมีการเจรจาเพิ่มเติมอีก 80 ประเทศ
ขณะที่ ADB คาดการณ์ว่า จีดีพีของเวียดนามในปีนี้ (2564) จะอยู่ที่ 3.8% จากที่คาดการณ์ก่อนหน้าว่าจะอยู่ที่ 5.8% โดยเป็นผลพวงที่เกิดจากการแพร่ระบาดระลอกใหม่ในปลายเดือนเมษายน ซึ่งส่งผลต่อตลาดแรงงาน, ผลผลิตอุตสาหกรรมลดลง และห่วงโซ่คุณค่าการเกษตรหยุดชะงัก รวมถึงการปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปีที่แล้ว
4) มาเลเซีย : มีนโยบายคล้ายคลึงกับเวียดนาม โดยกระทรวงการท่องเที่ยว ศิลปะ และวัฒนธรรม มุ่งหวังว่าจะเปิดประเทศอย่างเต็มศักยภาพเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ในช่วงต้นเดือนธันวาคม แต่ก่อนอื่นจะมุ่งไปยังการเปิดทราเวลบับเบิล "เกาะลังกาวี" ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 16 พฤศจิกายนเป็นต้นไป
5) กัมพูชา : รัฐบาลกัมพูชาประกาศแผนในการเปิดประเทศในแต่ละระยะเมื่อวันที่ 26 ตุลาคมที่ผ่านมา สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่รับวัคซีนครบเกณฑ์แล้ว โดยจะเริ่มปลายเดือนพฤศจิกายน โดย 2 พื้นที่แรก คือ สีหนุวิลล์ และเกาะกง ส่วน "เสียมราฐ" นั้นอยู่ในรายชื่อจังหวัดไม่ต้องกักตัวในเดือนมกราคม (2565)
ก่อนจะเกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 ปี 2562 กัมพูชามีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6.6 ล้านคน สร้างรายได้เกือบ 5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.7 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2563 ลดลงอย่างรุนแรงเหลือเพียง 1.3 ล้านคน รายได้ลดลงเหลือ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 3.3 หมื่นล้านบาท
6) สปป.ลาว : ยังไม่มีกำหนดเปิดประเทศอย่างเป็นทางการในการต้อนรับการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบเกณฑ์แล้ว โดยกระทรวงสารสนเทศ วัฒนธรรม และการท่องเที่ยว มองว่า ขณะนี้ต้องให้ความสำคัญกับการบรรลุเป้าหมายฉีดวัคซีนให้ประชากรอย่างน้อย 50% ภายในปีสิ้นปี (2564) ซึ่งหากทำได้ก็จะทำให้การแพร่ระบาดบรรเทาลง และในอีกหลายเดือนข้างหน้าก็จะทำให้สามารถกลับมาเปิดประเทศเพื่อต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบเกณฑ์จากประเทศต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำได้ ปัจจุบันอัตราการฉีดวัคซีนครบเกณฑ์ของ สปป.ลาว อยู่ที่ 37.47%
ส่วนถ้าเมื่อเปิดประเทศแล้ว รายชื่อนักท่องเที่ยวลำดับแรกๆ ที่จะได้รับการพิจารณาให้สามารถเข้าประเทศได้ คือ เวียดนาม, จีน และประเทศอาเซียนอื่นๆ ขณะเดียวกันก็มีการพิจารณาทดลองจัดกรุ๊ปทัวร์กอล์ฟให้แก่ชาวเกาหลีใต้ ด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำ เส้นทางระหว่าง สปป.ลาว กับสนามบินนานาชาติอินชอน (เกาหลีใต้) โดยวางเป้าหมายสำหรับชาวเกาหลีใต้ที่ฉีดวัคซีนครบเกณฑ์แล้ว ที่อยากเพลิดเพลินกับแพ็กเกจตีกอล์ฟ ระยะเวลา 9 วัน อนุญาตให้ตีกอล์ฟได้ 2 สนาม ในเมืองเวียงจันทน์
น่าสังเกต คือ แม้ สปป.ลาว จะถูกเพิ่มรายชื่อใน 72 ประเทศที่ได้รับการอนุมัติจากเวียดนามให้เดินทางเข้าประเทศได้ในโอกาสการกลับมาเปิดประเทศ แต่กลับไม่พบในรายชื่อ 45 ประเทศที่ได้รับอนุมัติให้เดินทางเข้าสู่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย
"ไทยเปิดประเทศ" ในสายตาคนนอก
นักวิเคราะห์จากธนาคารแห่งอเมริกา มองว่า ข่าวการประกาศ "เปิดประเทศ" นับเป็น "ข่าวดี" สำหรับภาคการท่องเที่ยวไทย การฟื้นฟูเศรษฐกิจ และค่าเงิน แต่... "ไม่ใช่ว่าไม่เสี่ยง"
"ถึงแม้ว่าจะมีความพยายามในการฉีดวัคซีนได้อย่างน่าชมเชยและน่าประทับใจ แต่การฉีดวัคซีนให้ประชากรครบเกณฑ์ยังคงเป็นไปอย่างเชื่องช้าและไม่สม่ำเสมอ หากพิจารณาในประเทศอื่นๆ จะปรากฏชัดเจนว่า อัตราการฉีดวัคซีนเป็นหนึ่งในหนทางที่ดีในการควบคุมการแพร่ระบาดให้ลดต่ำลงได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายพันธุ์เดลตา"
ที่น่าสนใจ คือ นักท่องเที่ยวจีนที่มีสัดส่วนเป็น 1 ใน 4 ของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทยในปี 2562 ก็ไม่น่าจะกลับมาได้เร็วๆ นี้ จนกว่าจะถึงครึ่งปีหลัง 2565
ขณะที่ Oxford Economics มองว่า ไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องพึ่งพาการท่องเที่ยวมากที่สุด ด้วยสัดส่วน 21% ของจีดีพีในปี 2562
"การจำกัดการท่องเที่ยวส่งผลต่อต้นทุนทางเศรษฐกิจและสังคมอย่างมาก และเป็นเหตุผลสำคัญว่า ทำไมการฟื้นฟูเศรษฐกิจของไทยถึงได้เคลื่อนไหวช้าอยู่ข้างหลังเพื่อนคนอื่นๆ ในภูมิภาค"
แต่ใดๆ ก็ตาม ในมุมมองของ Oxford Economics ก็คาดการณ์ว่า การเติบโตจีดีพีของไทยในปีนี้ (2564) จะอยู่ที่ 1.8% โดยการกลับมาของนักท่องเที่ยวต่างชาติยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่าจะกลับมาทันทีหรือไม่ หากต้องเผชิญกับกฎเกณฑ์การกักตัวเมื่อต้องกลับไปยังประเทศตนเอง
"เราคาดว่าการท่องเที่ยวขาเข้าจะกลับมาในปี 2565 แต่ก็คาดว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติจะมาเพียงแค่ 66% ต่ำกว่าปี 2562 ในความเป็นจริง เราเองก็ยังไม่หวังว่า การฟื้นฟูแบบเต็มศักยภาพของภาคการท่องเที่ยวขาเข้าจะกลับไปสู่ระดับก่อนโควิด-19 จนกว่าจะถึงปี 2568"
แล้วคุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์คิดอย่างไร?
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Theerapong C.
ข่าวน่าสนใจ:
- ดีเดย์เปิดประเทศ เงื่อนไข 10 ชาติไม่ต้องกักตัว ATTA เตือนอย่ารีบลงทุน
- ถึงคราว "นายจ้าง" ผวา ปรากฏการณ์ "ลาออก" ครั้งใหญ่ ที่ไทยไม่ควรเพิกเฉย
- รัฐราชการขวางเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดึงต่างชาติลงทุน ต้องไม่ยกสิทธิ์เหนือคนไทย
- อัปเดตสูตร "วัคซีนไขว้" ที่แต่ละชาติใช้ ประสิทธิภาพดีจริงหรือ?
- บทวิเคราะห์ นิวคาสเซิล จาก ทูนอาร์มีนาม อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ