เวลาที่เอ่ยถึงการเอื้อประโยชน์แก่ "ต่างชาติ" ที่จะเข้ามาลงทุนในไทย หลายๆ ครั้งเพียงแค่มีกระแสข่าวออกมา ก็สร้างความหวาดระแวง และเสียงคัดค้านดังระงมไปทั่วทุกสารทิศ ซึ่งส่วนหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า เหล่านั้นเกิดมาจากความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจของ "รัฐบาล" อันเป็นผลพวงจากเรื่องราวในอดีตที่ผ่านๆ มา
แต่ใดๆ ก็ตาม... ก็ต้องยอมรับตรงๆ ว่า การลงทุนจากต่างชาติช่วยหนุนให้เศรษฐกิจไทยขยับขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้มากทีเดียว
ทีนี้ เมื่อไม่อาจปฏิเสธการเข้ามาของ "นักลงทุนต่างชาติ" ได้ แน่นอนว่า ทางเดียวที่เราจะทำได้ คือ การปรับระเบียบวิธีการและกลยุทธ์ใหม่ให้เกิดผลดีกับไทยมากที่สุดเท่าที่จะทำได้
ว่าแต่... การลงทุนในไทย 2564 เป็นอย่างไร?
ธุรกิจที่ต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย คืออะไรบ้าง?
จากข้อมูลของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) ณ วันที่ 11 ตุลาคม 2564 พบว่า ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ย.) มีมูลค่าขอรับการส่งเสริมจากต่างประเทศ หรือ เอฟดีไอ (FDI) รวม 3.7 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 220%YoY จากทั้งหมด 587 โครงการ โดยประเทศที่มีมูลค่าลงทุนสูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ญี่ปุ่น 6.8 หมื่นล้านบาท, สหรัฐอเมริกา 2.7 หมื่นล้านบาท และสิงคโปร์ 2.7 หมื่นล้านบาท
...
ขณะที่ อุตสาหกรรมที่มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด ได้แก่ 1) เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 7.7 หมื่นล้านบาท ที่ได้อานิสงส์จากการปรับเปลี่ยนวิธีการทำงานในช่วงโควิด-19 (COVID-19) เป็นรูปแบบ Work From Home (WFH), 2) อุตสาหกรรมการแพทย์ 5.9 หมื่นล้านบาท, 3) ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ 3.7 หมื่นล้านบาท, 4) การเกษตรและแปรรูปอาหาร 3.2 หมื่นล้านบาท และ 5) เทคโนโลยีชีวภาพ 2.1 หมื่นล้านบาท
สำหรับภาพรวมพื้นที่เป้าหมายอีอีซี (EEC) หรือโครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีมูลค่าเงินลงทุนที่ขอรับการส่งเสริมรวม 1.7 แสนล้านบาท จาก 348 โครงการ ซึ่ง จ.ระยอง มีมูลค่าเงินลงทุนสูงสุด 9.2 หมื่นล้านบาท รองลงมา คือ จ.ชลบุรี 5.4 หมื่นล้านบาท และ จ.ฉะเชิงเทรา 2.8 หมื่นล้านบาท
"การลงทุนจากต่างชาติที่หวังจะดึงเข้ามา ไม่ว่าจะเป็นที่อีอีซี (EEC) คุณจะต้องวางผังเมือง วางกรอบให้ชัด สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ก็เช่นกัน"
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ให้ความเห็นถึงการมุ่งหวังดึงต่างชาติมาลงทุนในไทย ด้วยการย้อนความตามประวัติศาสตร์ว่า ความเจริญของชาติไทย ตั้งแต่สมัยสุโขทัยก็เป็นเพราะการทำมาค้าขายกับต่างประเทศและการดึงต่างชาติเข้ามา หรือเช่นในสมัยพระนารายณ์ก็มีการเชื่อมโยงกับต่างชาติ แม้กระทั่งสมัยรัชกาลที่ 4 และรัชกาลที่ 5 ก็เช่นกัน ดังนั้น หากอยากจะฟื้นประเทศหรือกระตุ้นประเทศ เพื่อหวังให้เกิดความเจริญ การดึงชาวต่างชาติเข้ามาเห็นจะต้องเป็นชาวต่างชาติที่มีลักษณะเชิง "เทคโนโลยี" เข้ามา
โดยการเข้ามาของต่างชาตินั้น รศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า ต้องเป็นการเข้ามาพัฒนาและวางโครงสร้างต่างๆ ให้เกิดการประยุกต์กับลักษณะพื้นเดิมของไทย ซึ่งส่วนตัวคิดว่า หากทำเช่นนั้นได้ก็จะเป็นสิ่งที่ดี
ย้อนกลับไปก่อนหน้านี้ เมื่อช่วงต้นเดือนตุลาคม 2564 ที่เป็นกระแสอันร้อนแรงกับการปลดล็อกเงื่อนไขการลงทุนที่หวังกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการเปิดทางให้ต่างชาติที่มี "ศักยภาพสูง" ซื้อบ้านและที่ดินในไทยได้ จนนำไปสู่ข้อครหา "ขายชาติ!"
อ่านเพิ่มเติม: อีกมุมมอง "ต่างชาติซื้อบ้าน" ได้ กรณีศึกษาแนวทาง-ข้อกังวล
ในประเด็นนี้ รศ.ดร.ธนวรรธน์ ได้ยกตัวอย่างที่น่าสนใจให้ได้เห็นว่า เมื่อคนญี่ปุ่นไปซื้ออสังหาริมทรัพย์ในสหรัฐอเมริกา เมื่อถึงเวลาคนอเมริกาก็สามารถซื้อคืนได้
ปัจจุบัน (ณ 31 ส.ค. 2564) จากข้อมูลของ Statista Research Department [1] พบว่า ยอดขายรวมอสังหาฯ ในอเมริกา เฉพาะการซื้อจากต่างชาติ ลดลงต่อเนื่อง 4 ปีติดต่อกัน ตั้งแต่ 2561-2564 โดยปี 2564 อยู่ที่ 5.4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1.8 ล้านล้านบาท (*อ้างอิงอัตราแลกเปลี่ยน 23 ต.ค., 22:51 UTC : 33.37 บาท) ซึ่งเหตุผลที่ทำให้ปี 2564 มียอดขายลดลงอย่างรุนแรงมาจากผลกระทบของการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นทั่วโลก
...
ขณะที่ ปี 2560 มีชาวต่างชาติแห่แหนเข้าไปซื้ออสังหาฯ ในอเมริกาสูงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2553 มูลค่ารวม 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 5.1 ล้านล้านบาท โดยปี 2564 จากมุมมองต่างชาติที่เข้ามาซื้ออสังหาฯ ในอเมริกา กว่า 17% ชี้ว่า ราคาอสังหาฯ ในอเมริกาถูกกว่าประเทศบ้านเกิดพวกเขาเสียอีก
สำหรับต่างชาติที่คนไทยผวาดผวามากที่สุดอย่าง "จีน" เพราะกลัวกันไปว่า หากเขาเข้ามาจะกลืนกินแผ่นดินจนไม่เหลือที่ทางให้คนไทยอีกต่อไป ก็พบว่า อสังหาฯ ในอเมริกามีคนจีนเข้ามาซื้อถึง 6% โดยราคาเฉลี่ยที่ซื้ออยู่ที่ 7.1 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 23.7 ล้านบาท
หรืออีกชาติอย่าง "อินเดีย" ก็เข้ามาซื้ออสังหาฯ ในอเมริกาถึง 4% รวมทั้งหมด 4,700 หน่วย มีราคาเฉลี่ยที่ซื้อ 6.6 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 22.1 ล้านบาท ส่วน "สหราชอาณาจักร" ก็มีสัดส่วน 4% เช่นกัน มูลค่ารวม 2.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 9 หมื่นล้านบาท และราคาเฉลี่ยที่ซื้ออยู่ที่ 7.2 แสนดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 24 ล้านบาท
"การที่หลายๆ ประเทศไปซื้อทรัพย์สินต่างๆ หรือการเช่าพื้นที่ 99 ปีนั้น ทรัพย์สินทั้งหมดล้วนยังอยู่ในประเทศนั้น แต่ต้องมีการวางกฎระเบียบในการเปิดช่อง เช่น ตอนนี้ผมเช่าซื้อตึกรามบ้านช่องแถวจามจุรี ระยะเวลาสัก 30 ปี ท้ายที่สุด ผมก็ต้องคืนให้กับเจ้าของ ซึ่งกฎเกณฑ์ลักษณะนี้เป็นกฎเกณฑ์ที่สามารถอธิบายได้"
...
รศ.ดร.ธนวรรธน์ ย้ำชัดเจนว่า การเปิดให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนหรือสิทธิประโยชน์จูงใจในลักษณะนี้ ข้อสำคัญ คือ ต้องไม่ยกสิทธิ์ให้คนต่างชาติเหนือคนไทย แต่ต้องให้เขามีสิทธิ์ใกล้คนไทย
ประเมินเบื้องต้นคร่าวๆ ว่า ถ้าคนต่างชาติที่รับเงินเดือนจากต่างประเทศ อีกทั้งมีทรัพย์สินในระดับหนึ่ง หรือกรณี Expat หากมีการใช้เงินขั้นต่ำเดือนละแสน เท่ากับว่า ปีหนึ่งๆ จะสร้างรายได้ 1.2 ล้านบาท แล้วถ้าสามารถดึงเข้ามาได้ 1 ล้านคน ก็จะมากถึง 1.2 ล้านล้านบาท บวกเข้าไปในจีดีพี (GDP) ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 16 ล้านล้านบาท
แต่ถ้ามองในเชิงเศรษฐกิจ หรือมองการถ่ายทอดเทคโนโลยี ตรงส่วนนี้ รศ.ดร.ธนวรรธน์ มองว่า จากการหารือกับหลายๆ ฝ่าย พูดเป็นเสียงเดียวกัน ไทยขาดเสน่ห์ในการลงทุนอนาคต เหตุผลเพราะการขาดกำลังแรงงานที่เป็นวัยทำงาน ไม่เหมือนเวียดนามมี 100 ล้านคน อินโดนีเซียมี 250 ล้านคน ในอีก 10 ปีข้างหน้า ฐานคนไทยจะลดลงจาก 70 ล้านคน ก็ยิ่งทำให้เสน่ห์ไม่หลงเหลืออยู่เลย ถ้าไม่มีการเกิดใหม่ของประชากร ดังนั้น โครงสร้างประชากร การนำต่างชาติหรือคนลักษณะนี้เข้ามาเยอะๆ จะเป็นประโยชน์
สอดคล้องกับ ปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ที่เห็นว่า ภาครัฐต้องเข้ามาพิจารณาอย่างเร่งด่วนว่า กฎหมายหรือกฎเกณฑ์อะไรที่ไม่เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ต้องคิดว่า ทำไมบริษัทชั้นนำด้านนวัตกรรมหุ่นยนต์ถึงไม่มาลงทุนด้านการถ่ายทอดเทคโนโลยีในบ้านเรา
"จีนก็ทำแบบนี้ เมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เขาไม่มีอะไรเลย แต่ทุกวันนี้มีทุกอย่าง เพราะเปิดให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจและค้าขาย ก่อนจะค่อยๆ ปิด เพิ่มกฎเกณฑ์ต่างๆ มากขึ้น แต่นั่นก็เมื่อเทคโนโลยีมีการถ่ายโอนหรือการทำ R&D (วิจัย&พัฒนา) เกิดขึ้นแล้ว"
...
รัฐราชการอุปสรรค เศรษฐกิจสร้างสรรค์!?
"ถ้าไทยมีการส่งเสริมดีๆ ธุรกิจที่เกี่ยวกับภาพยนตร์จะโดดเด่นมาก ก่อนหน้านี้ทางฮ่องกงได้ออกมาพูดว่า รู้ไหม? ไทยเป็นศูนย์กลางโปรดักชันทางด้านเซอร์วิสและเพลงที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในเอเชีย เพราะฉะนั้น ตรงนี้ควรทำให้ดีขึ้น เพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากต่างประเทศ" - รศ.ดร.ธนวรรธน์
จากข้อมูลของกรมการท่องเที่ยว กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แสดงให้เห็นว่า ปี 2564 (ม.ค.-ต.ค.) มีบริษัทภาพยนตร์ต่างประเทศเข้ามาถ่ายทำในไทยรวม 71 เรื่อง ใน 29 จังหวัด สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 3.5 พันล้านบาท โดยประเทศที่สร้างรายได้สูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา 2.5 พันล้านบาท รองลงมาคือ ฮ่องกง 286 ล้านบาท, สิงคโปร์ 228 ล้านบาท, ฝรั่งเศส 120 ล้านบาท และจีน 85 ล้านบาท
"วัฒนธรรมของไทยมีจุดแข็งขนาดนี้ เราจะเปลี่ยนผ่านอย่างไร เราจะใช้เทคโนโลยีทันสมัยอย่างไรมาเสริม เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับธุรกิจมากขึ้น ซึ่งการเมืองมีบทบาทสำคัญที่ต้องช่วยแก้ปัญหา" - ปริญญ์
จากถ้อยความข้างต้น ปริญญ์ชี้ให้เห็นภาพที่ขยายจาก รศ.ดร.ธนวรรธน์ ว่า ปัจจุบัน โลกเปลี่ยนไปแล้ว แต่กฎหมายบางอย่างในไทยยังล้าสมัย ล้าหลัง ซึ่งก็ไม่ตัดทิ้งสักที ยกตัวอย่างเช่น "เกาหลีใต้" ที่ตัดทิ้งกฎล้าหลังทั้งหมด จนทำให้เกิดวงการ K-Pop ต่างๆ มากมาย สามารถนำไปอุตสาหกรรมบันเทิงไประดับโลกได้ แม้แต่ภาพยนตร์ก็ก้าวไปถึงเวทีออสการ์ เรียกว่าใช้ "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" หนุนอุตสาหกรรมได้อย่างแท้จริง
"ผมมีโอกาสได้พูดคุยกับ รัสเซล โครว์ และแซค แอฟรอน ซึ่งมาถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยกัน เชื่อไหมว่า อุตสาหกรรมหนังบ้านเราเป็นที่ๆ ในอาเซียนอิจฉา เพราะเป็นศูนย์กลางที่ใครก็อยากมาถ่ายทำในบ้านเรา แต่!!... การขออนุญาตกลับพบว่า กว่าดาราฮอลลีวูดจะขออนุญาตมาถ่ายทำหนังในเมืองไทยได้ ต้องกรอกใบขออนุญาตกว่า 100 แผ่น แม้กรอกทางดิจิทัล แต่ต้องนำออกมาเป็นเอกสารแผ่นๆ ส่งให้กับกงสุลฯ นี่เป็นสิ่งที่เขาเล่าให้ผมฟังแบบตรงๆ ไม่ใช่แค่นั้น จะไปถ่ายจังหวัดไหนก็ต้องขอกับหน่วยงานของแต่ละจังหวัดด้วย นั่นหมายความว่า ขาดการบูรณาการ ซึ่งรัฐราชการไม่เอื้อให้ธุรกิจเติบโต"
อุปสรรคเศรษฐกิจไทย คือ ก.กฎหมาย ข.แข่งขัน และ ค.ความคิด
ปริญญ์ชี้ให้เห็นอุปสรรคในการเติบโตของธุรกิจต่างๆ โดยเฉพาะ "กลไกระบบสินทรัพย์ดิจิทัล" ที่มีกฎเกณฑ์ว่าต้องเสียภาษีถึง 27% แบ่งเป็น ภาษีนิติบุคคล 20% และภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% แต่เมื่อกลับไปดูที่ "สิงคโปร์" กลับไม่มีการเสียภาษี
เหตุผลอะไรที่ทำให้เขาไม่เสียภาษี?
"ทำไมสิงคโปร์ถึงเป็นภาษี 0% นั่นเพราะเขาไม่มี พ.ร.ก.สินทรัพย์ดิจิทัล แต่บ้านเรา ทางกระทรวงการคลังและกรมสรรพากรยังไม่มีการยกเว้นกฎหมาย"
จริงๆ สมาคมฯ เคยเสนอไปแล้วว่า "การระดมทุน" ก็คือ การลงทุนสินทรัพย์แบบหนึ่ง การที่จะให้สตาร์ตอัพเก่งๆ คนมีวิสัยทัศน์ หรืออุตสาหกรรมยุคใหม่ที่ต้องมีการระดมทุนด้วยวิธีการที่คล่องตัว ที่ไม่ใช่การไปขอกู้เงินจากธนาคาร แล้วต้องถูกธนาคารถามกลับว่า คุณมีเงินในบัญชีกี่บาท? เงินเดือนเท่าไร? มีเครดิตในสังคมยุคเก่าเท่าไร?
"อย่าง จ.ขอนแก่น ที่อยากทำโมเดลขอนแก่นพัฒนาเมือง เพื่อพัฒนาโลจิสติกส์ภายในจังหวัด ตอนแรกมีแพลนจะใช้การออกเหรียญดิจิทัล แต่เมื่อเจอภาษีเข้าไปก็มีอันต้องเปลี่ยนแผน"
ปริญญ์ย้ำทิ้งท้ายว่า คนรุ่นใหม่หรือนักธุรกิจยุคใหม่ ไม่ได้จำกัดความไว้กับวัยวุฒิหรืออายุ แต่จำกัดความมาจากใจ ใจที่เปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่าง ที่มองการณ์ไกล ทั้งโอกาสหรืออุปสรรคในการคิดนอกกรอบ หลายไอเดียดีๆ ไม่ได้มีเงินสดเป็นที่ตั้ง
ฉะนั้น หาก "รัฐราชการ" ยังมี ก.กฎหมาย เป็นอุปสรรคขวางอยู่ ก็อาจทำให้คนตัวเล็กที่มีไอเดียดีๆ เหล่านี้ ไม่สามารถขับเคลื่อนไปสู่การก่อเกิดวัฒนธรรมใหม่ๆ ในการต่อยอดให้เกิด "เศรษฐกิจสร้างสรรค์" ได้.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Theerapong C.
ข่าวน่าสนใจ:
- งานมี ที่ไม่มีคือ "แรงงาน" วิกฤติในอนาคต...ที่คุณยังไม่รู้ตัว
- สาเหตุ "ส่งออกไทย" กลับมาดี "หันหน้าแลหลัง" จากนี้มีแต่โอกาส
- เศรษฐกิจฟื้นลำบาก ถ้าคนกลัว กระตุ้นท้ายปี แค่ใช้ "คนละครึ่ง" ให้ชาญฉลาด
- ต้นตอราคาน้ำมันแพง จับสัญญาณวิกฤติพลังงานขาดแคลน
- เมื่อ "สหราชอาณาจักร" ไม่สะท้านโควิด-19 แม้เหมันต์ใกล้มาเยือน