ในโลกยุคใหม่... วิกฤติโควิด-19 อาจไม่ใช่แค่ "ตัวแปร" เดียวที่ทำให้ "แรงงานคนไทย" ต้องเผชิญภาวะตกงาน ตบเท้าลงทะเบียนรายงานตัวว่างงานอย่างจำนน
เพราะปฏิเสธไม่ได้เลยว่า การแข่งขันของ "ตลาดแรงงาน" จะดุเดือดยิ่งกว่าเดิม อีกทั้งตัวแรงงานเองจะไม่ได้เพียงงัดใบปริญญามาสู้กันเท่านั้น แต่จะสู้กันด้วย "ทักษะและสมรรถนะ"
เมื่อต้นปี 2564 หากยังจำกันได้ Future of Jobs Report 2020 รายงานไว้ว่า "งานแห่งอนาคต" จะมาเร็วขึ้น และปีนี้ (2564) ภาคธุรกิจจะหันมาใช้เทคโนโลยีอย่างเต็มตัว และภายในปี 2568 ภาคธุรกิจกว่า 43% จะลดไซส์แรงงานลง ที่สำคัญ "แรงงาน" ทั้งหลาย ทักษะที่คุณมีก็ต้องเป็น "ทักษะแห่งอนาคต" ถึงจะอยู่รอดในตลาดแรงงานได้
อ่านเพิ่มเติม: 10 อาชีพดาวรุ่ง ดาวร่วง ปี 2021 เผยทักษะงานแห่งอนาคต
"แรงงาน" เรื่องที่ "ผู้บริหารประเทศ" ต้องรู้!
...
"จริงๆ มุมมองผมในเรื่องทักษะและสมรรถนะของแรงงาน เป็นวิกฤติที่เกิดขึ้นก่อนเกิดโควิด-19 แต่แน่นอนว่าปัญหานี้ถูกวิกฤติโควิด-19 เข้ามาซ้ำเติม และทำให้กลายเป็นปัญหาที่เร่งด่วนมากขึ้น"
"คนที่เป็นนายกรัฐมนตรีจะต้องเร่งเอาปัญหาแรงงาน ทั้งด้านการศึกษา ทักษะ-สมรรถนะ เป็นวาระแห่งชาติที่เร่งด่วน ซึ่งเป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก และสำคัญมานานแล้ว เช่นเดียวกับปัญหาสิ่งแวดล้อม หรือคอร์รัปชัน"
ถ้อยความด้านบนเป็นมุมมองของ นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย ซึ่งคร่ำหวอดในแวดวงเศรษฐกิจ-ธุรกิจเป็นอย่างดี ที่จะมาให้ "คำตอบ" ภายใต้โจทย์ "แรงงานไทย" จะปรับตัวอย่างไร? เมื่อ "ตลาดแรงงาน" ในอนาคตจะไม่เหมือนเดิมอย่างที่เคยเป็น...
คนไทยมักจะมองว่า "แรงงาน" เป็นปัญหาที่ "สำคัญมาก แต่ไม่เร่งด่วน"
แต่หากลองสังเกตดูดีๆ ในประเทศไทย แม้แต่ปัญหารถติดในกรุงเทพฯ คนก็ยังบอกว่า "ปัญหาสำคัญ สำคัญมาก แต่ไม่ได้เร่งด่วนหรอก รอไปก่อนๆ"
เพราะฉะนั้น ปัญหาต่างๆ เหล่านี้จึงถูกหมักหมมอย่างยาวนาน จนกระทั่งเกิดฝีแตก แล้วหนองออกมา ในตอนที่เกิดวิกฤติโควิด-19 เพราะทุกคนได้เห็นภาพ "คนตกงาน" เยอะมาก!!
คราวนี้... โจทย์ คือ เราจะแก้อย่างไร? หรือเราควรจะปรับตรงนี้อย่างไร?
เพราะในวิกฤติโควิด-19 นี้ เห็นชัดๆ ว่า "คนตกงาน" ก็เยอะ ขณะเดียวกัน "ตำแหน่งงานใหม่ๆ" หรือที่เรียกว่า "งานยุคใหม่" ก็มีเพิ่มขึ้นเยอะมาก
ดังนั้นสิ่งสำคัญที่ "ปริญญ์" คิด คือ "ทักษะ-สมรรถนะ" ต้องได้รับการเสริมและโปรโมตอย่างจริงจัง!
ประเด็นที่ 1 : ก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 สัก 2-3 เดือน ได้มีความพยายามจุดประกายและทำให้ "นักศึกษา" เข้าใจและสนใจว่า "คุณเรียนจบ คุณตกงาน คุณเรียนจบ คุณไม่ได้พบงานนะ"
"ผมเห็นว่า ทักษะ-สมรรถนะ ต้องเสริมและพัฒนาอยู่แล้วก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ฉะนั้นจึงต้องมีการจับคู่งานให้นักศึกษาได้ฝึกงาน ได้เรียนรู้นอกห้องเรียน ได้ลงมือทำ เพราะตำราเรียน หรือใบประกาศนียบัตรไม่ได้การันตีความสำเร็จในชีวิตการทำงาน หรือการันตีว่าคุณจะหางานได้"
กระบวนการที่ว่ามานี้ ใน "เยอรมนี" เรียกว่า Apprenticeship หรือบางประเทศเรียกว่า Internship เป็นกระบวนการฝึกงาน ลงมือทำจริงตามสายวิชาชีพ และเห็นประสบการณ์จริง
ประเด็นที่ 2 : ความรู้ที่เคยเรียนมาสมัยประถมศึกษา มัธยมศึกษา แม้กระทั่งมหาวิทยาลัย ก็อาจจะใช้ไม่ได้ในโลกอนาคต
"เราต้องคิดว่าจะทำอย่างไรที่เขาจะ Unlearn พูดง่ายๆ ว่า สิ่งที่คุณเรียนมาให้เก็บไว้ข้างหลังบ้าง เรียนรู้สิ่งใหม่ๆ แล้วก็เอามาปรับใช้กับโลกยุคใหม่ ซึ่งอันนี้เป็นสิ่งที่ต้องเน้นให้มากขึ้นในการสร้างคน"
โดนดอง 2 ปี "นักศึกษาจบใหม่" เครียดยิ่งกว่าตกงาน!
...
นักศึกษา ปี 2563-2564 นับแสนชีวิตต้องสูญเสียโอกาสในการลงสนามแข่งขันในอาชีพที่ตัวเองใฝ่ฝัน หลังใช้เวลาเล่าเรียนมากว่า 4 ปี กลับต้องเคว้งคว้างรอคอยว่าเมื่อไหร่วิกฤติโควิด-19 จะจบเสียที จนนานวันเข้าอาจกลายเป็นว่า เมื่อกลับสู่ภาวะปกติเช่นเดิมแล้ว พวกเขาอาจต้องเผชิญความเครียดยิ่งกว่าการตกอยู่ในสถานะ "คนตกงาน"...
"กรณีนี้เป็นเรื่องใหญ่ สำหรับผมเองคิดว่า ศักยภาพของคนเหล่านี้มีอยู่ แต่ว่าเขาไม่รู้ หรือเขาอาจจะไม่สนใจ เกิดความเนือยๆ เพราะฉะนั้นรัฐต้องมีหน้าที่ที่จะสร้างแรงจูงใจให้คนเหล่านี้เดินเข้าไป กล้าที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ"
ตัวอย่างที่ "อังกฤษ" เขาถึงขั้นจ้างให้คนไปฝึกงาน จ้างให้คนไปทำงานจริง พูดง่ายๆ คุณไปฝึกงานเพื่อเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ
"ปริญญ์" เทียบให้เห็น "ภารกิจแรงงาน" ที่ควรจะเป็น ในฐานะนายกรัฐมนตรี หรือภาครัฐ ว่า ต้องสร้างแรงจูงใจให้กับนักศึกษาจบใหม่เหล่านี้ แน่นอน... ตบมือข้างเดียวไม่ดัง ต้องหารือกับบริษัทใหญ่ๆ ให้พวกเขาเกิดแรงจูงใจในการจ้างคนเข้าทำงานด้วย ซึ่งเอกชนหลายๆ แห่งกำลังขาดคน ขาดแรงงาน ที่ไม่ใช่แค่เรียนเก่ง แต่นิสัยใจคอ รวมถึงทักษะ-สมรรถนะต้องตรงกับงานเขาด้วย จึงสำคัญที่จะต้องให้พวกเขาได้ศึกษา เรียนรู้ และฝึกงานด้วย
"บางคนจบมาไม่รู้ว่ามีงาน ผมคิดว่ารัฐต้องใช้ทั้งกุศโลบายและแรงจูงใจให้คนรุ่นใหม่อยากมาลงมือทำในภาคอุตสาหกรรมที่ต้องการคน จึงต้องรีเทรนคนเหล่านั้น แล้วสร้างแรงจูงใจให้เอกชนในอุตสาหกรรมเหล่านั้นมาร่วมดีไซน์หลักสูตรและพัฒนาคนด้วย"
อีกหนึ่งตัวอย่างที่เอกชนดีไซน์หลักสูตร หรือทำหลักสูตรเฉพาะทางที่ "ปริญญ์" หยิบยกมา คือ ยักษ์ใหญ่ ซีพี (CP) ที่มีการออกแบบหลักสูตรภายใต้สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ที่วางหลักสูตรพัฒนาทักษะคนให้ตอบโจทย์ตำแหน่งงานที่ธุรกิจเขาต้องการ และไม่ได้มีเพียงแค่บริษัทนี้ที่เดียว แต่หลายๆ บริษัทที่มีศักยภาพก็เริ่มทำกันแล้ว
...
เว้นแต่... บริษัทไซส์เอส (S), เอสเอ็มอี (SME) หรือสตาร์ทอัพ (Start Up) ที่ยังไม่มีขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการสร้างคน อันนี้รัฐต้องเข้ามาช่วยในการบ่มเพาะฟูมฟัก แล้วดึงให้นักศึกษาจบใหม่เข้ามาทำงานได้
หน้าที่ "รัฐ" ไม่ใช่แค่ช่วยตอนตกงาน!
"นักศึกษาเรียนจบมาในวิชาที่มีอยู่ในตัวเลือกที่เขาเข้าไปเรียน ซึ่งหลายมหาวิทยาลัยไม่ได้ปรับหลักสูตร หรือเครื่องมือในการเรียน ดังนั้นมหาวิทยาลัยหลายแห่งจึงสูญเสียนักศึกษา สูญเสียความน่าสนใจที่จะเรียนหนังสือด้วย นั่นเลยกลายเป็นเทรนด์ที่ว่า ในมหาวิทยาลัยมีนักศึกษาลดน้อยลง คนไม่ค่อยเรียน คนไม่สนใจ คือ คุณเรียนจบไปแล้ว คุณมีประกาศนียบัตร คุณหางานไม่ได้ คุณต้องการหางานทำ"
"ปริญญ์" ชี้ว่า ต้องมีการจับคู่ระหว่างทักษะที่ขาดกับความต้องการของเอกชนที่ยังมีอยู่อย่างมหาศาล ไม่ใช่ว่าไม่มี แต่คนมักเข้าใจผิด แล้วชอบบอกว่า "ตำแหน่งงานน้อย คนตกงานกันเยอะ"
"คนตกงานเยอะ นั่นก็ใช่! แต่เป็นอุตสาหกรรมเก่ากับโลกยุคเก่า ในโลกยุคใหม่เปิดพื้นที่ให้กับงานด้านสินทรัพย์ดิจิทัล หรือแม้แต่องค์ความรู้ทางการเงินก็สำคัญ หรืองานใหม่ๆ ที่เกี่ยวกับการวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งเราขาดมาก โดยส่วนนี้ต้องยอมรับว่าเราไม่มีครู ดังนั้นก็ต้องเทรนครูก่อนด้วย เป็นเรื่องสำคัญมากในการสร้างครู หรือสร้างแม่พิมพ์แห่งชาติในแบบใหม่"
...
"ทักษะแรงงาน" ต้องเป็นวาระแห่งชาติ!
เรากำลังเข้าสู่ "สังคมสูงวัย" (Aging Society) ภาพที่จะเกิดขึ้น คือ แรงงานน้อยลง แต่แรงงานที่มีน้อยนั้นต้องใช้ให้เกิดผลผลิตสูงสุด ก็คือ Productivity ของแรงงานที่ต้องเพิ่มขึ้น
นี่เป็นเรื่องใหญ่สำหรับประเทศเรา ปัจจุบันทรัพยากร 2 อันที่เรามีดี แต่ไม่พัฒนา คือ Land กับ Labour หรือ "ที่ดิน" กับ "คน"
"เครื่องจักร" มาแน่ อย่ามัวทำ R&D ขึ้นหิ้ง!
"การผลิตยุคใหม่จะใช้คนน้อยลง จริงๆ ไม่ผิดอะไร เราเข้าสู่ Aging Society ฉะนั้นเทรนด์กำลังแรงงานจะเล็กลงไปโดยปริยาย"
แม้กระทั่งเทรนด์อาชีพ "ชาวนา"
ตอนนี้ค่าเฉลี่ยอายุ 60 ปี อีก 10 ปีข้างหน้า พวกเขาอายุ 70 ปี หากถามลูกหลานว่าใครอยากทำไร่ ทำนา ทำสวน เชื่อว่าคำตอบน้อยมาก เพราะฉะนั้น นาจะร้าง!
เราจะเห็นการใช้เครื่องจักร หุ่นยนต์ และเครื่องยนต์มากขึ้น ทั้งในกระบวนการเกษตร จนถึงกระบวนการผลิตในโรงงาน ทำให้คนทำงานน้อยลง
"ผมไม่เถียงว่ามีแรงงานต่างด้าวมาช่วยตอนนี้ แต่ว่าอนาคตอันใกล้ แรงงานต่างด้าวก็จะทยอยกลับบ้าน อย่าง สปป.ลาว เผลอๆ 5-10 ปี ประเทศเขาดีขึ้น รายได้เขาดีขึ้น เขาก็กลับไปอยู่บ้านเขา เราก็ต้องมีการเตรียมพร้อมในการใช้หุ่นยนต์ ซึ่งตอนนี้ในบ้านเรากำลังขาด มีน้อยบริษัทในเมืองไทยที่ทำเรื่องนี้เก่ง"
เมื่อพิจารณาลงลึกไปอีกจะเห็นว่า เรามีแรงงานที่ใช้เครื่องจักรเป็น แต่เราไม่มีแรงงานที่สร้างเครื่องจักรใหม่ๆ
"เราไม่มีต้นตอ หรือต้นน้ำ เราต้องเปลี่ยนความคิด ทำ R&D (วิจัยและพัฒนา) มาให้ขึ้นห้าง ไม่ใช่ทำมาขึ้นหิ้ง ในเรื่องคนและหุ่นยนต์ จึงต้องเข้าใจบริบท แล้วก็เอามาทำในโลกของความเป็นจริง ไม่งั้นการพัฒนาตรงนี้ก็จะล้าหลัง"
อีกปัญหาที่ต้องไปขบคิด คือ กฎหมาย หรือกฎเกณฑ์อะไรที่ไม่เอื้อให้ต่างชาติเข้ามาลงทุนในบ้านเรา ทำไมบริษัทชั้นนำด้านหุ่นยนต์ไม่มาลงทุนถ่ายโอนเทคโนโลยีในบ้านเรา
"จีน" ก็ทำแบบนี้!
แต่ก่อน... จุดเด่นของจีนไม่ใช่การมีอาลีบาบา (Alibaba) เพราะเมื่อ 10 กว่าปีที่แล้ว เขายังไม่มีอาลีบาบา ไม่มีไป่ตู้ (Baidu) และไม่มีเทนเซ็นต์ (Tencent) แต่ทุกวันนี้เขามีทุกอย่างหมดเลย เหตุผล คือ จีนเปิดให้ต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจ เข้ามาค้าขายในบ้านจีน ถึงตอนหลังจะปิด แล้วมีกฎเกณฑ์มากขึ้น แต่เทคโนโลยีได้มีการถ่ายโอน มีการทำ R&D เกิดขึ้น จีนทำทั้งระบบเลย ตั้งแต่การศึกษาจนถึงการสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็กๆ
ซึ่งบ้านเราไม่ได้ทำ...
"การสร้างคน หรือการสร้างทรัพยากรมนุษย์ เป็นเรื่องสำคัญอันดับ 1 ต้นๆ ของประเทศเราเลย เพราะว่า คนคือทุกอย่าง"
ในเศรษฐกิจยุคใหม่ คนอาจจะคิดว่า เราก็ซื้อซอฟต์แวร์มาสิ ซื้อโค้ด ซื้อระบบมาใช้ จริงๆ มันไม่ใช่... ถ้าคุณไม่มีคนที่มี Mindset หรือความคิดที่สามารถประยุกต์ในการใช้หุ่นยนต์ หรือเทคโนโลยีให้เป็น
"ปริญญ์" ย้ำทิ้งท้ายถึงประเด็นสำคัญด้าน "แรงงาน" ในเศรษฐกิจยุคใหม่ว่า ภาครัฐต้องมีการปฏิรูปหลายหน่วยงานรวมกัน และเห็นด้วยหากจะนำมาเป็น "วาระแห่งชาติ" ที่ต้องการการบูรณาการต่อไป
ท้ายที่สุดแล้วไม่ว่าโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร... "การสร้างคน" สำคัญที่สุด อย่าปล่อยให้ "งานมี แต่ไม่มีแรงงาน" เพียงเพราะพวกเขาไม่ได้รับการส่งเสริมให้มีทักษะที่ตรงกับ "ที่ว่าง" ตรงนั้นอย่างน่าเสียดาย.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Theerapong C.
ข่าวน่าสนใจ:
- สาเหตุ "ส่งออกไทย" กลับมาดี "หันหน้าแลหลัง" จากนี้มีแต่โอกาส
- เศรษฐกิจฟื้นลำบาก ถ้าคนกลัว กระตุ้นท้ายปี แค่ใช้ "คนละครึ่ง" ให้ชาญฉลาด
- อีกมุมมอง "ต่างชาติซื้อบ้าน" ได้ กรณีศึกษาแนวทาง-ข้อกังวล
- อัปเดตสูตร "วัคซีนไขว้" ที่แต่ละชาติใช้ ประสิทธิภาพดีจริงหรือ?
- เจาะภาวะ MIS-C (มิสซี) เช็กอาการเด็กหลังหายโควิด ถึงมือหมอเร็วยิ่งดี