ค่ำคืนวันที่ 11 ตุลาคม 2564 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้แถลงผ่านโทรทัศน์ร่วมการเฉพาะกิจ ในหัวข้อ “เปิดประเทศ” ที่จะคิกออฟรับนักท่องเที่ยวจาก 10 ประเทศความเสี่ยงต่ำ อาทิ จีน สหรัฐฯ สิงคโปร์ หรือ เยอรมนี ในวันที่ 1 พฤศจิกายน และ เปิดสถานบันเทิง ในวันที่ 1 ธันวาคม 2564

คำแถลงดังกล่าว เป็นการบอกกับประชาชนก่อนถึงเส้นตาย 120 วัน ในวันที่ 14 ตุลาคม 2564

แต่คำถามคือ “ประเทศไทย” ในเวลานี้ยังมีผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายวันระดับหมื่นคน เสียชีวิตนับร้อยคน หากเปิดประเทศแล้วจะมีนักท่องเที่ยวหรือไม่ และจะมีหลักเกณฑ์ใดในการพิจารณาต้อนรับนักท่องเที่ยว

หากจะสกัดคำแถลงของนายกฯ ในค่ำคืนวันนั้น ก็ได้ข้อมูลตามกราฟิกดังนี้

นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. เผยกับทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ว่า เรามีการทำงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอนอยู่แล้ว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค. เราเปิด “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์” ส่วนคำว่า “ไม่กักตัว” หมายถึง ไม่กักตัวในห้อง แต่ตอนนั้นเราให้ 14 วัน จากนั้นก็ดำเนินการมาเรื่อยๆ จนถึงพังงา กระบี่ สมุย จาก 14 วัน ก็เป็น 7 บวก 7 คืออยู่ ภูเก็ต 7 วัน แล้วขยายต่อไปเที่ยวเกาะต่างๆ เช่น เกาะไหง๋ พีพี ไล่เล หรือ เกาะยาวใหญ่ กระทั่งวันที่ 1 ตุลาคม ลดวันกักตัว จาก 14 เหลือ 7 วัน ก็เข้าตรงพื้นที่ได้

...

การเปิดประเทศเราจะมีการแบ่งออกเป็นระยะตามหลักเกณฑ์ความพร้อม โดยแบ่งออกเป็น 2 ด้านหลัก คือ

1. ความพร้อมด้านสถานการณ์ ประกอบด้วย ต้องได้รับวัคซีนครอบคลุม 70% อัตราครองเตียงผู้ป่วยโควิดในระดับเหลือง-แดง, ผู้ติดเชื้อ 5-10 คน/ประชากร 1 แสนคน

2. ความพร้อมด้านการจัดการ คือความพร้อมของภาครัฐและเอกชน โดยมีการเชื่อมโยงกับศูนย์คอมมานด์เซ็นเตอร์ โดยมีการวางแผนไว้เบื้องต้น เช่น วันที่ 1-30 พ.ย. กรุงเทพฯ, เชียงใหม่ ชะอำ หัวหิน พัทยา หรือ เกาะต่างๆ ในภาคตะวันออก

โดยหลักเกณฑ์ดังกล่าว เรามีความพร้อมอยู่แล้ว ที่คิดไว้ทีแรกคือแบบ กักตัว 7 วัน แต่เมื่อนายกฯ ประกาศลงมา เราก็ตามไปเช็กว่าพื้นที่ต่างๆ มีความพร้อมหรือไม่อย่างไร

“การที่มีการประกาศลดวันกักตัวเหลือ 1 วัน คือตรวจ RT-PCR หลังจากมาถึง 1 ครั้ง เมื่อผลออกเป็นลบก็เดินทางได้เลย ซึ่งเบื้องต้น เราจะเปิดเมืองที่มี International Airport เช่น กรุงเทพ เชียงใหม่ กระบี่ อู่ตะเภา สุราษฎร์ธานี หาดใหญ่ เมืองเหล่านี้สามารถเข้าได้หมดทุกที่ แต่หลังจากนั้นก็ไปหมดทั่วประเทศ ก็เหมือนคนไทยที่ได้รับวัคซีน 2 โดส”

เร่งสร้างเกราะให้กลุ่ม “608” ยันไม่เอาชีวิตคนไทยมาต่อรองเปิดประเทศ

ทีมข่าวฯ ถามว่า มีการประเมินตัวเลขที่จะเข้ามาในวันที่ 1 พ.ย.นี้ หรือ ผู้ว่า ททท. บอกว่า อาจจะเร็วเกินไปที่จะประเมิน แต่ก่อนหน้านี้เรามีการส่งข้อมูลให้ ศบค.ชุดเล็ก ภายใต้ในเงื่อนไขกักตัว 7 วัน คาดว่าภายในปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวประมาณ 7 แสนคน และปีหน้าประมาณ 1.1 ล้านคน แต่เมื่อเงื่อนไขเปลี่ยนว่ากักตัวแค่เพียง 1 วัน หรือ ไม่กักตัวเลย ตัวเลขดังกล่าวข้างต้นจะกลายเป็นตัวเลขขั้นต่ำที่เราจะได้...

มีอะไรที่ต้องกังวล..ที่จะส่งผลกับความเชื่อมั่นของประเทศ ผู้ว่า ททท. ตอบทันทีว่า ต้องบอกสาเหตุว่า ทำไมเราต้องตรวจ RT-PCR ทั้งที่ฉีดวัคซีนมาแล้ว เราเองจึงกลับไปดูที่ “ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์”

“แม้ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ เราจะพลาดเป้าจำนวนนักท่องเที่ยว แต่เราเรียนรู้อะไรหลายๆ อย่าง คือ อัตราการติดเชื้อต่ำมาก ตรงนี้เราใช้หลักการเดียวกัน สำหรับคนที่จะเข้าประเทศในวันที่ 1 พ.ย. คือฉีดวัคซีนครบโดส ผลตรวจ RT-PCR ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ซึ่งส่วนใหญ่หากเจอผู้ติดเชื้อโควิด ก็จะเจอจากการตรวจครั้งแรก หรือถึงแม้จะเจอในครั้งที่ 2 หรือ 3 แต่เปอร์เซ็นต์ที่เจอก็ต่ำมาก คือ 0.3% ของนักท่องเที่ยวที่เข้าแซนด์บ็อกซ์ทั้งหมด ดังนั้น ในแง่ความปลอดภัย เราได้เรียนรู้จาก แซนด์บ็อกซ์ ว่า การตรวจครั้งแรกจะเป็นการกรองที่ดีที่สุด”

...

นายยุทธศักดิ์ กล่าวต่อไปว่า ส่วนความกังวลที่สอง คือ การเข้าไปแต่พื้นที่ ต้องผ่านภายใต้เงื่อนไขด้านสถานการณ์ก่อน โดยเฉพาะเรื่องความคลอบคลุมของวัคซีน แม้วัคซีนจะไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ แต่ก็ลดความรุนแรงของโรคได้ โดยเฉพาะกลุ่ม “608” (คนสูงอายุ, ผู้ป่วย 7 โรค และ หญิงตั้งครรภ์ อายุ 12 สัปดาห์ขึ้นไป) เราพยายามสร้างเกราะให้กับคนไทย ในการเปิดพื้นที่นำร่อง เชื่อว่าจะสร้างความมั่นใจได้ในระดับหนึ่ง

"ผมขอเรียนตรงๆ ว่า เราจะไม่เอาความเสี่ยงของพี่น้องคนไทยมาต่อรองเพื่อเปิดประเทศ ถ้าเราไม่มั่นใจ เราจะไม่ทำ ซึ่งจากการเปิดภูเก็ต สมุย เราก็ไม่พบการระบาดในหมู่นักท่องเที่ยวต่างชาติ สิ่งที่สำคัญอีกสิ่งหนึ่งในการเปิดประเทศ คือ “ความร่วมมือร่วมใจ” ของคนในพื้นที่และหน่วยราชการ รวมทั้งภาคเอกชน และภาคประชาชน โดยต้องสร้างระบบกำกับติดตามที่ดี"

2 หลักการคัดเลือกรายชื่อ 10 ประเทศ ไม่ต้องกักตัว

สำหรับ รายชื่อ 10 ประเทศ ที่ไม่ต้องกักตัว มีประเทศอะไรบ้างนั้น นายยุทธศักดิ์ เองยังบอกว่า รอการเคาะอยู่ เวลานี้มีการพูดคุยกันในที่ประชุม แต่คาดว่าจะมีความชัดเจนในวันที่ 14 ตุลาคมนี้ แต่โดยหลักการจะมีการพิจารณาจาก 2 ข้อ
1. ประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำในเชิงอัตราการติดเชื้อ และความครอบคลุมของวัคซีน
2. มิติเศรษฐกิจ อาจย้อนดูอัตราการท่องเที่ยวในปี 2562 โดยควบคู่ไปกับนโยบายการอนุมัติออกนอกประเทศ

...

เมื่อถามว่า ท่านนายกฯ พูดถึงประเทศจีน ด้วย แต่ขณะนี้ประเทศจีน ยังไม่ให้คนของตัวเองไปต่างประเทศ ผู้ว่า ททท. กล่าวว่า น่าจะเป็นการทอดไมตรีมากกว่า เพราะประเทศจีน ถือเป็นประเทศที่สำคัญกับการท่องเที่ยว ในปี 2562 มีนักท่องเที่ยวจีนมากกว่า 11 ล้านคน จาก 40 ล้านคนที่มาประเทศไทย

“หากวันหนึ่งจีนเขาอนุญาตให้คนของเขาออกไปเที่ยวต่างประเทศได้ ก็จะเป็นผลดีกับไทย ซึ่งไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่ทำลักษณะนี้ ประเทศอื่นๆ เช่น สิงคโปร์ ก็เคยทำ ส่วนตัวเชื่อว่าเขาจะมาเที่ยวแน่ แต่จะมาเมื่อไหร่”

เมื่อถามว่า 1 พ.ย. อาจจะยังมีเคอร์ฟิว หรือ ผับบาร์ยังปิด มีผลแค่ไหน นายยุทธศักดิ์ กล่าวว่า เราต้องมองภาพการท่องเที่ยวใหม่ ให้ลืมภาพการท่องเที่ยวเดิมที่เป็นกลุ่มคนเยอะๆ เพราะตอนภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ ก็ยังปิดอยู่

“เราอาจจะต้องปรับกลุ่มเป้าหมายการท่องเที่ยว เป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการจ่ายสูงขึ้น หรือมาเป็นครอบครัว แต่สิ่งที่เราพยายามพูดคุยคือการผ่อนปรน ซึ่งภูเก็ตเองก็สามารถดื่มในร้านอาหารได้ เพราะสำหรับคนต่างชาติ การดื่มอาจเป็นวัฒนธรรมการกิน”

...

10 ประเทศที่คาดว่า มีการติดต่อทางการทูตก่อนหรือไม่ ผู้ว่า ททท. ระบุว่า ในส่วนของ ททท. ไม่ได้มีการติดต่อ แต่ในส่วนกระทรวงการต่างประเทศ ก็คงมีการประสานกันต่อไป

ATTA เชื่อ นักท่องเที่ยวน้อย อย่าเพิ่งรีบลงทุน

ด้าน นายศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว หรือ ATTA เชื่อว่าเปิดประเทศแล้ว ก็ยังไม่มีนักท่องเที่ยวมามากมาย แต่จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนเดินทางเข้ามาอย่างสะดวกสบายมากขึ้น โดยเฉพาะนักธุรกิจ หรือ บุคคลที่ต้องการมาเยี่ยมบ้าน เยี่ยมญาติ หรือเป็นนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ชอบประเทศไทยจริงๆ แง่ความพร้อมเอกชนหลายๆ แห่ง หยุด หรือ พักไปเกือบ 2 ปี ฉะนั้นหากจะกลับมาเปิดให้บริการ ก็คงต้องเริ่มต้นนับ 1 ใหม่ อาจจะต้องเรียกพนักงานเก่าเข้ามา หรือหาใหม่ เพราะการหายไป 2 ปี เท่ากับเหลือศูนย์

“ประเด็นสำคัญของการรับนักท่องเที่ยวคือ เงื่อนไขต่างๆ ต้องมีความชัดเจน โดยเฉพาะเรื่องการการกักตัว มาแล้วต้องกักตัวอย่างไร สามารถไปเที่ยวที่ไหนได้บ้าง ซึ่งถ้าตรงนี้ชัดเจนแล้ว จะทำให้ผู้ประกอบการสามารถสื่อสารกับคู่ค้าของเราได้ หรือหากนักท่องเที่ยวเดินทางมาประเทศไทยเอง เขาก็ต้องได้รับข้อมูลข่าวสารจากหน่วยงานรัฐและเอกชนได้ นี่คือสิ่งที่สำคัญที่สุด เรียกว่าการสื่อสารและการตลาด”

ส่วนการช่วยเหลือจากภาครัฐ นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว บอกว่าพูดไปเยอะแล้ว พูดไปหมดแล้ว แต่หลักๆ ภาคเอกชนคงอยากได้การช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ หรือ เงินกู้ soft loan เพื่อให้บริษัทเอกชนเหล่านี้สามารถตั้งตัวได้ ซึ่งถึงวันนี้ก็ยังรอข่าวกันต่อไป

ในช่วงท้าย นายศิษฎิวัชร ยังเตือนไปถึงผู้ประกอบการ ที่คิดจะลงทุนเรื่องการท่องเที่ยวในเวลานี้ว่า แม้รัฐบาลจะประกาศเปิดประเทศ อาจทำให้รู้สึกเริ่มมีความหวังบ้าง แต่ความหวังมันยังริบหรี่ เพราะการเปิดรับนักท่องเที่ยว ใช่ว่าจะมีคนมาเที่ยว เขาเองก็ต้องดูสถานการณ์ในเมืองไทยด้วย เราเองก็ยังมีคนติดเชื้อระดับหนึ่ง ตัวเลขก็ไม่ได้ต่ำมาก ฉะนั้น การที่เขาตัดสินใจเดินทางมาเที่ยวเขาก็ต้องคิด หากมาเที่ยวแล้ว กลับไปจะต้องเจอมาตรการในประเทศตัวเองอีก

ฉะนั้น การคาดหวังว่าเปิดประเทศแล้วจะมีเงินเข้าแบบเดิม..มันยาก ผู้ประกอบการด้านการท่องเที่ยวเวลานี้ก็ควรดูสถานการณ์ไปก่อน อย่าเพิ่งไปลงทุน เชื่อว่าโอกาสจะกลับมาเหมือนเดิม น่าจะใช้เวลาเป็นปี หรือ 2-3 ปี ซึ่งทุกอย่างมันขึ้นอยู่กับทางวิทยาศาสตร์ด้วย และเศรษฐกิจโลก เพราะเวลานี้ทุกประเทศกำลังลำบากเช่นเดียวกัน

ผู้เขียน : อาสาม 

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ