เดินทางมาถึงโค้งท้ายปี 2564 แต่วิกฤติโควิด-19 ยังไม่คลี่คลายเสียทีเดียว แม้ยอดติดเชื้อรายใหม่เฉลี่ยรอบ 7 วันจะยังทะลุหลักหมื่นอยู่ แต่ก็มีคนมองว่า นี่น่าจะเป็นช่วง "ขาลง" แล้ว เมื่อเทียบกับก่อนหน้านั้น
ขณะเดียวกัน ยอดเสียชีวิตเฉลี่ยรอบ 7 วัน ก็ต่ำกว่าหลักร้อย ซึ่งก็ถือเป็น "สัญญาณดี" ที่อาจนับได้ว่าน่าจะเป็นผลจากการเข้ารับการรักษาได้ทันท่วงที เพราะสถานการณ์เตียงเริ่มผ่อนคลาย ประกอบกับอัตราการฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่มากขึ้น
นั่นจึงทำให้พอมองเห็น "โอกาส" ความเป็นไปได้ที่ยอดการเสียชีวิตจากโควิด-19 น่าจะกลายเป็น "ศูนย์!"
ศาสตราจารย์คลินิกเกียรติคุณ นายแพทย์อำนาจ กุสลานันท์ กรรมการแพทยสภา ได้ให้ความเห็นต่อประเด็นนี้ไว้ว่า ถึงระยะหนึ่ง ถ้าไทยฉีดวัคซีนโควิด-19 ได้เต็มที่ ประกอบกับการมียาใหม่อย่าง "โมลนูพิราเวียร์" ก็คิดว่า วันหนึ่งยอดเสียชีวิตจากโควิด-19 อาจจะไปถึงศูนย์ แต่จะช้าหรือเร็วประเมินยาก
สถานการณ์ที่มีการเสียชีวิตต่ำกว่าร้อย ติดเชื้อต่ำกว่าหมื่น ในส่วนตัว... "พอใจระดับหนึ่ง ผมพอใจที่ตัวเลขติดเชื้อ 5,000 ราย และเสียชีวิต 50 ราย ไม่เกินนั้น ถึงจะเป็นจุดที่มั่นใจขึ้น เมื่อถึงจุดที่พอใจเรื่อยๆ จนกระทั่งเสียชีวิตเป็น 0 แต่ติดเชื้อคงไม่ 0 ยังไงก็ต้องมีเรื่อยๆ เพราะต่อไปคงจะเป็นโรคประจำถิ่น เพียงแต่ความรุนแรงอาจจะลดลงได้"
เมื่อได้ความแน่ชัดแล้วว่า ยอดติดเชื้อโควิด-19 ไม่มีทางเป็นศูนย์ ดังนั้น "เศรษฐกิจ" จึงต้องเดินต่อให้ได้!
ไตรมาส 4/2564 การเมือง-เศรษฐกิจ วิกฤติหรือโอกาส
...
ตลอดปีเศษที่ผ่านมาก็เห็นได้ว่า จากที่ปกติคนไทยจะใช้เงินประมาณวันละ 2.2 หมื่นล้านบาท พอ "ล็อกดาวน์" ทั่วประเทศ เงินก็หายไปประมาณ 1.5 หมื่นล้านบาทเป็นอย่างน้อย ด้วยความกลัวทำให้คนไม่กล้าออกไปไหนมาไหน ไม่กล้าจับจ่าย แถมเมื่อ "ปิดประเทศ" ก็ทำให้รายได้จากนักท่องเที่ยวที่เคยได้ 2 ล้านล้านบาท หายสนิท
"ภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยว เช่น สายการบิน โรงแรม รถทัวร์ โดนล็อกดาวน์ ทำให้เศรษฐกิจหายไป น็อกกันหมด ซึ่งเป็นปัญหาจากโควิด-19 ที่เกิดทั่วโลก แต่โควิดที่เกิดในประเทศไทย เราพยายามอย่าให้มีการล็อกดาวน์บริการในส่วนที่เกี่ยวกับคนไทย ทำให้รายได้ของส่วนกลางไปถึงรากหญ้าหายไปหมด" ดร.พจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ให้ความเห็น
ปีนี้ (2564) ผ่านมา 9 เดือน เม็ดเงินหายไปประมาณ 5-8 แสนล้านบาท นั่นจึงเป็นเหตุผลที่รัฐบาลจำเป็นต้องเปิดเพดานเงินกู้เพิ่มเติม
รศ.ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย อธิบายวิกฤติโควิด-19 ให้เห็นภาพว่า การที่คนไทยรู้สึกว่าเจอปัญหาหนักที่สุดในประวัติศาสตร์ ทั้งๆ ที่ประเทศมีความมั่นคงทางการเงินสูง ไม่ล้มละลายทางเศรษฐกิจ NPL ก็ต่ำ เหมือนเช่นวิกฤติต้มยำกุ้ง นั่นก็เพราะว่า เจอกันทุกหย่อมหญ้า ตั้งแต่นักธุรกิจขนาดใหญ่ส่งออกไม่ได้ โลกไม่มีกำลังซื้อ นักธุรกิจขนาดกลางหยุดทำธุรกิจ แรงงานถูกลดเงินเดือน ขายของไม่ได้ คนระดับฐานรากไม่มีงานทำ ลูกจ้างรายวันโดนปลด ขณะเดียวกัน เกษตรกรเอง แม้ราคาพืชผลจะกลับมาดี แต่ไม่มีสินค้า เพราะเจอภัยแล้ง น้ำท่วม ความเดือดร้อนเป็นวงกว้าง
"เราต้องทำความเข้าใจตรงกันว่า เราจะอยู่กับโควิด-19 อย่างไร ในต่างประเทศเราจะเริ่มเห็นคนกลับมาใช้ชีวิตปกติในกรอบที่เหมาะสม หากว่าวันนี้ถ้าคนไทยกลัวการอยู่กับมัน อยู่กับมันไม่ได้ อันนี้น่ากลัวกว่า ซึ่งโจทย์สำคัญคือ จะอยู่กับโควิดอย่างไรที่คนไทยรู้สึกปลอดภัย ในอัตราที่เหมาะสม แล้วเศรษฐกิจเดินได้ เพราะเศรษฐกิจฟื้นลำบาก ถ้าคนกลัว แต่ถ้าคนเข้าใจและอยู่กับโควิดได้ด้วยความเหมาะสม ผมว่าเศรษฐกิจไทยฟื้นแน่ๆ"
แต่การฟื้นเศรษฐกิจในเวลานี้นั้น เหมือนจะทำกันไม่ถูกจุด!?
ต้องยอมรับว่า วิกฤติโควิด-19 นี้ คนที่เจ็บหนักและเจ็บเยอะคงหนีไม่พ้นบรรดาตัวเล็กตัวน้อยที่เป็น "เศรษฐกิจฐานราก"
และก็ต้องยอมรับอีกว่า การเยียวยาที่รัฐบาลจัดให้ มีลักษณะปูพรม มีกลุ่มได้ บางกลุ่มไม่ได้ บางกลุ่มต้องปิดกิจการนานกว่า หลายคนต้องสูญเสียอาชีพไป จนนำไปสู่การให้ "ความสำคัญ" ที่ไม่เท่ากัน เห็นได้ชัดมากๆ คือ ธุรกิจกลางวันและธุรกิจกลางคืน
"จริงๆ ธุรกิจกลางวันกับธุรกิจกลางคืนสำคัญไม่แพ้กัน เพราะนักท่องเที่ยวเวลามาไทย ไม่ได้ไปวัดไปวาตอนกลางวันอย่างเดียว แต่ก็ไปเข้าร้านอาหาร ฟังเพลง ในตอนกลางคืนด้วย เราต้องบาลานซ์กัน"
นายปริญญ์ พานิชภักดิ์ รองหัวหน้าพรรคและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจทันสมัย พรรคประชาธิปัตย์ ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า จริงที่ตอนแรกสาธารณสุขต้องนำเศรษฐกิจ แต่ถ้าเราปรับตัว แล้วมีวัคซีนมากพอ คุณภาพที่ดี ก็ต้องบาลานซ์ให้ดีระหว่างสาธารณสุขและเศรษฐกิจ ในการเยียวยากิจการที่ปิดนานที่สุดที่ไม่ได้รับการเหลียวแล บางคนได้รับ แต่ก็น้อยมากๆ ไม่เพียงพอ
...
"รอบนี้ การบริหารนโยบายการคลังเชิงรุกน้อยไปหน่อย บ้านเราไม่มีปัญหาในเรื่องหนี้สิน ซึ่งในสถานการณ์ที่ดอกเบี้ยน้อย ถ้าเราไม่กู้เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจตอนนี้ แล้วเราจะทำตอนไหน เราไปกู้ตอนที่ดอกเบี้ย 3-5% หรือเราจะรอให้อเมริกาไล่ขึ้นดอกเบี้ยไปก่อน ตอนนี้ก็เริ่มส่งสัญญาณแล้ว เพราะเงินเฟ้อกลับมา"
สรุปแล้ว "วิกฤติหรือโอกาส?"
"วิกฤติมาพร้อมโอกาสเสมอ"
นายปริญญ์ อธิบายว่า ซากปัญหาหรือโครงกระดูกต่างๆ ที่เริ่มเปิด จะทำให้เราเห็นสิ่งที่เราไม่สามารถปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงต่างๆ ได้ โดยจริงๆ แล้ว ก่อนที่จะเกิดโควิด-19 โลกก็เข้ามาใช้เทคโนโลยีทันสมัยในการขับเคลื่อนเพื่อลดต้นทุนและเพิ่มรายได้ในอุตสาหกรรมแล้ว มีทั้งลดตำแหน่งงานและเพิ่มตำแหน่งงานในหลายอุตสาหกรรม แต่ก็ต้องถามกลับว่า... ภาครัฐได้มีการเตรียมอาวุธยุทโธปกรณ์ อาวุธทางองค์ความรู้ให้กับประชาชนหรือยัง
"ระบบรัฐราชการต้องไม่ทำตัวเป็นพ่อแสนรู้ แม่แสนรู้ แบบในปัจจุบัน"
...
ตัวอย่างหนึ่งในความเห็นของนายปริญญ์ คือ อุตสาหกรรมหนัง
หลายๆ ประเทศอิจฉาที่เราได้เป็น "ฮับ" ใครๆ ก็อยากมาถ่ายหนังในบ้านเรา แต่สิ่งที่ทำให้เราไปได้ไม่เต็มที่ คือ "รัฐราชการ" เริ่มที่กระบวนการขออนุญาต กระบวนการกฎระเบียบต่างๆ ต้องกรอกใบขออนุญาตในระบบดิจิทัล แต่มาถึงต้องเป็นเอกสารออกมา กว่าจะมาถ่ายหนังได้ต้องกักตัว 14 วัน หรือแม้กระทั่งการกักตัวคนเดียวก็ห้ามเสิร์ฟเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ซึ่งค่อนข้างล้าหลัง การบูรณาการของ "รัฐราชการ" ไม่เอื้อต่อธุรกิจที่อยากเติบโต
"การเมือง" ตัวแปรสำคัญ!
"ณ วันนี้ ประเทศไทยจะขับเคลื่อนได้ขึ้นอยู่กับฝั่งการเมือง เพราะว่าเศรษฐกิจไทยจะขึ้นหรือไม่ขึ้น จะช้าหรือไม่ช้า วนไปวนมา ล้วนอยู่ที่การตัดสินใจด้วยนโยบายทางการเมือง"
รศ.ดร.ธนวรรธน์ เสริมว่า รัฐบาลชุดนี้มีหน้าที่ตามรัฐธรรมนูญ คือ ทำให้เศรษฐกิจไทยโต 5% ต่อปี ซึ่งตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นมา ไม่เคยโตถึง 5% เลย และหลุดปีที่แล้ว -6% นั่นหมายถึงว่า การดึงเศรษฐกิจไทยให้ฟื้นกลับมาเร็วที่สุดย่อมถือเป็นเรื่องที่ดี โดยรัฐบาลตั้งเป้าว่า ปีหน้า (2565) จะโต 5% แต่ กกร. บอกว่าอยากให้เศรษฐกิจไทยโตถึง 6% นี่คือ "โจทย์!"
...
แต่ที่ย้ำมาตลอด คือ การให้คนไทยเคลื่อนย้ายทำกิจกรรมระหว่างจังหวัด ไปเที่ยว ไปพักผ่อน เพื่อทำให้คนใช้จ่าย หากถามว่า "ใครพร้อมใช้?"
รศ.ดร.ธนวรรธน์ ให้คำตอบว่า ก็คือ "คนที่มีเงินเก็บอยู่!" เพราะฉะนั้นจึงสนับสนุนแนวคิดของเอกชน และย้ำว่า ทำไมไม่เอา "คนละครึ่ง" ออกมาใช้ ซึ่งเป็นนโยบายอันดับ 1 ในใจประชาชน ยกเว้นนโยบายบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ
"นโยบายคนละครึ่ง นักธุรกิจและเอสเอ็มอีได้ประโยชน์เต็ม เพราะฉะนั้นการที่รัฐบาลอั้นคนละครึ่งทีละ 1,500 บาท จึงอยากให้เติมไปเลยคนละ 3,000 บาท หากเติมไป 9 หมื่นล้านบาท ประชาชนที่พอมีเงินเก็บ อีก 9 หมื่นล้านบาท ก็จะถูกเอามาใช้ เบ็ดเสร็จรวมกันเป็น 1.8 แสนล้านบาท เศรษฐกิจปีนี้ยังไงก็ขึ้น 1.5% ถ้าใช้ออกมาอย่างชาญฉลาดและตรงเวลา"
ขณะที่อีกนโยบายอย่าง "ช้อปดีมีคืน" ทาง รศ.ดร.ธนวรรธน์ ก็สนับสนุน โดยให้เหตุผลว่า ตอนแรกที่ออกมาตรการมา เราคิดว่า "ยิ่งใช้ยิ่งได้" ไม่เวิร์ก ซับซ้อน ทำไมไม่เอา "ช้อปดีมีคืน" มาใช้ และไม่ต้องเอาเงินมาเติมใส่มือประชาชนด้วย เพียงแต่ชะลอการรับรายได้
"ตรงนี้ก็เป็นเรื่องที่กระทรวงการคลังต้องมองมา เขาจะสูญเสียรายได้จากการประมาณการงบปี 2564 หรือเปล่า แต่ถ้าขยายไปเป็นปีหน้า (2565) ลากไปตรุษจีน จะสะท้อนว่า รัฐบาลต้องไปคำนวณประมาณการรายได้งบปี 2565 แทน ซึ่งน่าจะชอบด้วยหลักการ และมาตรการอื่นๆ ที่อัดฉีดในการจ้างงานต่างๆ จะเป็นมาตรการในการกระตุ้นเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ทุกอย่างขึ้นอยู่กับการเมืองล้วนๆ"
รศ.ดร.ธนวรรธน์ เสริมอีกว่า ณ ตอนนี้เป็นช่วงการใช้เงินที่ถูกที่สุดของต้นทุนทางการเงิน การที่เราโอนเงินไป หรือกระตุ้นการซื้อกลับมาได้ แล้ว VAT ก็จะกลับมา นิติบุคคล หรือบุคคลธรรมดา ก็จะกลับมา ตรงนี้... กระทรวงการคลังคำนวณได้
จากที่ว่ามานั้น หลายๆ โจทย์คงต้องใช้เวลาในการแก้ไข เช่น ความเป็น "รัฐราชการ" ที่หากจะรื้อคงต้องสังคายนาใหม่เกือบทั้งหมด แต่ช่องทางง่ายๆ อย่างการใช้มาตรการ "คนละครึ่ง" หรือ "ช้อปดีมีคืน" ในโค้งท้ายปีที่ทำได้ง่ายๆ เพียงแค่ใช้ให้ชาญฉลาดและตรงเวลา ก็น่าจะพอฟื้นเศรษฐกิจไทยได้ในระดับหนึ่ง เพื่อเติมแรงก่อนจะแก้ใหม่ทั้งระบบ.
ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: Theerapong C.
ข่าวน่าสนใจ:
- อีกมุมมอง "ต่างชาติซื้อบ้าน" ได้ กรณีศึกษาแนวทาง-ข้อกังวล
- ในวันที่ "ทัวร์จีน" หาย ทำไมไทยเลือกดึง "นักท่องเที่ยวรัสเซีย"
- อีสานได้อะไรจาก "ไฮสปีดเทรนจีน-ลาว" เตรียมตัวให้พร้อม ลุยเปิดเมือง!
- อัปเดตสูตร "วัคซีนไขว้" ที่แต่ละชาติใช้ ประสิทธิภาพดีจริงหรือ?
- เจาะภาวะ MIS-C (มิสซี) เช็กอาการเด็กหลังหายโควิด ถึงมือหมอเร็วยิ่งดี