คำว่า “ทรชน” ไม่ว่าใคร ชนชาติไหน ก็ล้วนเป็นคนเลวได้

เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา “ตำรวจ” ไล่ล่าชายอเมริกัน ที่ก่อเหตุสะเทือนขวัญ ข่มขืนหมอนวดหญิงไทย วัย 45 ปี ที่ จ.ขอนแก่น ทำร้ายร่างกายจนบาดเจ็บสาหัส

หลังจากนั้นก็ขี่มอเตอร์ไซค์ไปก่อเหตุลวนลามเด็กผู้หญิง อายุ 12 ปี อีก ยังเคราะห์ดีที่เด็กพยายามร้องให้คนช่วย คนที่ขับรถผ่านจึงบีบแตรดังลั่น ก่อนที่จะหนีฝรั่งชั่วคนนี้ยังชกเด็กผู้หญิงอีก

ชายโฉดชาวอเมริกันคนนี้ ชื่อ นายโรเบิร์ต แอนดริว (Mr.Robert Andrew) ตำรวจสามารถจับกุมได้ หลังก่อเหตุแล้ว 6 วัน หลังหลบซ่อนตัวภายในคอนโดฯ แห่งหนึ่ง ในซอยนานาเหนือ กรุงเทพฯ

เบื้องหลังไล่ล่า “โรเบิร์ต” อเมริกันชนคนอันตราย ข่มขืน ทำร้ายหมอนวด เด็กก็ไม่เว้น

“เราพบว่าเขาทำผิดเมื่อวันที่ 27 ก.ย. กว่าเราจะจับเขาได้ในวันที่ 2 ต.ค. ซึ่งผ่านมาแล้ว 6 วัน ถามว่า 6 วัน “ช้าหรือเร็ว” คำตอบ คือ “ช้า” ถ้าหากเรามีฐานข้อมูลที่ดีกว่านี้ เราจะต้องจับเขาได้ภายใน 1-2 วัน ช้าที่สุดคือ 3 วัน”

...

นี่คือคำพูดของ พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ สัจจพันธุ์ ผู้บัญชาการตำรวจตรวจคนเข้าเมือง หรือ ผบช.สตม. ที่เพิ่งเข้ามารับตำแหน่งสดๆ ร้อนๆ เมื่อกลางเดือนที่แล้ว และเพียงไม่นาน ชายชาวอเมริกันคนดังกล่าวก็ก่อคดีสะเทือนขวัญในไทยเลย

“เรารู้ว่าเขาอยู่ที่ไหน มีเมียเป็นคนไทย ชื่อว่าอะไร เราก็แกะรอยตามทาง เราได้ภาพกล้องวงจรปิด ก็เอาใบหน้ามาเปรียบเทียบกับภาพใบหน้าของบุคคลต่างชาติที่ถูกเก็บระหว่างเดินทางเข้าออก จากนั้นก็เข้ามาตรวจสอบรูปที่ใกล้เคียงที่สุด กระทั่งยืนยันว่าเป็นบุคคลคนเดียวกัน จึงมีการเก็บข้อมูล หาเบาะแสติดตามจับกุมได้”

การจับกุมฝรั่งโฉดรายนี้ได้ ส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับ สตม. เพราะมีระบบตรวจสอบที่ดีระดับหนึ่ง แต่...มันยังไม่เพียงพอ เวลานี้สิ่งที่จะทำคือ การพัฒนาระบบ Database ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อที่เราจะจับกุมคนร้ายที่เป็นชาวต่างชาติมากระทำผิดในประเทศไทยได้เร็วขึ้น

คนต่างชาติทุกคน ต้องกรอกที่อยู่ในเอกสาร “ตม.6”

พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ กล่าวกับผู้เขียน การเชื่อมต่อระบบ Information ต้องสมบูรณ์กว่านี้ หากทั้ง 2 อย่างดี ทุกอย่างจะทำได้เร็ว แต่...ปัญหาคือ บางครั้งเจ้าหน้าที่ก็บกพร่องอยู่บ้าง เช่น มีการใส่รายละเอียด เอกสาร “ตม.6” ไม่ครบถ้วน ซึ่งการกรอกเอกสารนี้คือหัวใจสำคัญ ทำให้เราช่วยเหลือคนต่างชาติที่ได้รับความเดือดร้อน หรือจับกุมคนกระทำผิดได้เร็ว

ในความเป็นจริง เราไม่สามารถรู้ได้ว่าใคร..ที่เข้ามาแล้วมาก่อเหตุร้าย เรารู้อย่างเดียวคือ เขาเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้องถามกฎหมาย เราจึงต้องคัดกรองด้วยการให้คนต่างชาติกรอกข้อมูลตามเอกสาร “ตม.6” บันทึกว่าเข้ามาแล้วจะอยู่ที่ไหน ตรงนี้เป็นสิ่งสำคัญ เราต้องบันทึกให้ละเอียดที่สุด เพราะหากเกิดเหตุอะไรขึ้น เราจะได้ตามตัวเขาได้ นอกจากนี้ ยังมีระบบติดตาม ด้วยการให้เขารายงานตัวภายใน 90 วัน เพราะบางครั้งเขาเข้ามาแล้ว ก็เปลี่ยนที่อยู่ หรือจะเปลี่ยนวีซ่าเข้าประเทศ

“ปัญหาคือ บางครั้งเจ้าหน้าที่ของเรา ก็มีการลงข้อมูลตรงนี้ไม่ละเอียด จึงมีปัญหาเรื่องการติดตาม เป็นที่มาของการจับกุมที่ล่าช้า ถามว่า การจับกุมคนต่างชาติที่มาก่อเหตุในบ้านเรายากไหม คำตอบคือ ไม่ยาก...แต่ถ้ากรอกไม่ละเอียด มันก็เสียเวลาและโอกาส” ผบช.สตม. กล่าวอย่างตรงไปตรงมา

พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ กล่าวอย่างหนักแน่นว่า ต่อไปนี้ สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองจะต้อง “ติดกระดุมเม็ดแรก” ให้ถูก ด้วยการให้เจ้าหน้าที่ลงบันทึกข้อมูลให้ครบถ้วนสมบูรณ์ หากพบว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้อง หรือ ไม่สมบูรณ์ ประมาทเลินเลิ่อ เราก็ต้องตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือหากพบว่ามีเจตนาไม่ลงบันทึกข้อมูล ก็จะมีการลงโทษอย่างหนัก เพราะถือว่ามีส่วนทำให้ประเทศชาติเสียหาย

...

ดำเนินคดี รับโทษถีงที่สุด ขึ้นบัญชีดำ ผลักดันกลับ เข้าประเทศไทยไม่ได้ตลอดชีวิต

สำหรับขั้นตอนการดำเนินคดีนายโรเบิร์ต นั้น พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ เผยว่า จะมีการดำเนินคดี ตามกฎหมายไทย เมื่อศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดแล้ว จะจำคุกกี่ปี ก็ต้องมีการลงโทษให้เสร็จสิ้นในประเทศไทยเสียก่อน หลังจากนั้นก็จะถูกส่งตัวมาที่ สตม. ทาง สตม.ก็จะบันทึกข้อมูล “บุคคลต้องห้ามเข้าประเทศ” เพราะถือว่าเป็นผู้ที่มีคดีอาญาในประเทศไทย จากนั้นก็ผลักดันกลับประเทศ โดยไม่สามารถกลับเข้าเมืองไทยได้อีกเลย

“เขากระทำความผิดอาญาแล้ว จะไม่สามารถกลับมาประเทศไทยตลอด หากเขาเดินทางมา ใช้พาสปอร์ต ชื่อนามสกุลเดิม เขาจะถูกส่งกลับทันที”

ผบช.สตม. เผยว่า เวลานี้เรามีระบบการตรวจผู้โดยสารล่วงหน้า โดยเริ่มตรวจรายชื่อตั้งแต่ผู้โดยสารจองตั๋วเครื่องบิน ทางสายการบินจะยิงข้อมูลมายัง สตม. ทาง สตม. ก็จะเข้าสู่ระบบการเฝ้าดูบุคคลต้องห้าม หากพบว่าเป็นบุคคลต้องห้าม เราก็จะปฏิเสธการเดินทางของเขาตั้งแต่ต้นทาง... เราจะได้ไม่ต้องรับภาระ

...

ยาเสพติด หลอกลวงออนไลน์ 2 เรื่องชวนปวดหัว ทรชนต่างชาติ เข้ามาทำผิดในไทย

สำหรับการสร้างปัญหา ก่อคดีอาญากรรมของชาวต่างชาติ พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ เผยว่า อันดับที่ 1 คือ ปัญหายาเสพติด ซึ่งเราก็มีกลุ่มประเทศที่เราเฝ้าระวังอยู่ ส่วนรองลงมาคือปัญหาที่เกิดขึ้นในเวลา คือ การโกงออนไลน์ SMS และโทรหลอกลวง ซึ่งถือเป็นภัยสังคม ส่วนปัญหาอาชญากรรม เช่น การทำร้ายร่างกาย ก็มีจำนวนหนึ่ง แต่..ไม่ค่อยเป็นเรื่องใหญ่ เพราะมักจะจบลงด้วยการเคลียร์กันได้

แต่...เรื่องที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ คือ กลุ่มที่จะเข้ามาก่อการร้ายในเมืองไทย ซึ่งเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน เราก็กำลังทำงานร่วมกัน ทั้งสันติบาล สภาความมั่นคงแห่งชาติ และ สตม. เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ และคนต่างชาติที่เข้ามาก่อเหตุก็มักเดินทางเข้ามาอย่างถูกต้อง ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องมีข้อมูลภายในที่ดี มีการประสานกับ “ตำรวจสากล” หรือ สถานทูต มันก็จะช่วยป้องปรามได้ หากเราเจอตัวแล้วรู้สึกว่าอาจจะสร้างปัญหา ก็อาจจะผลักดันกลับได้ทันที โดยไม่ให้เข้าประเทศ

...

ไทยแลนด์ยังเป็นแดนสวรรค์ อาชญากรต่างชาติ?

กับคำถามจั่วหัวดังกล่าว ผบช.สตม. เชื่อมั่นว่า “น้อยลงกว่าเมื่อก่อนแล้ว” เราจะทำได้ดีกว่านี้ หากเรามีเวลาคัดกรองมากกว่านี้ แต่ส่วนหนี่งเพราะประเทศไทยอาศัยรายได้หลักจากการท่องเที่ยว ดังนั้นเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้ามามาก โอกาสในการกระทำผิดจึงมากขึ้น แต่เราพยายามลดช่องว่างตรงนี้ลงให้ได้

บางครั้งเจ้าหน้าที่เองก็ทำงานลำบาก อยากจะใช้เวลาในการคัดกรองคนเข้าประเทศ บางครั้งมีคนต่างชาติเข้ามามากๆ เจอแถวยาวๆ ติดตรง ตม.6 เราก็ถูกร้องเรียนว่า ล่าช้า ซึ่งบางครั้งก็ต้องเข้าใจถึงความสมดุล ถึงความจำเป็นในการจัดการเรื่องข้อมูลให้ถูกต้อง แม้จะเสียเวลาบ้าง

“สตม.ไม่ใช่หมอดู เราไม่รู้ว่าใครจะเป็นโจร หรือ อาชญากร เขาเดินทางเข้ามาด้วยเอกสารที่ถูกต้อง เราก็ห้ามเขาไม่ได้ แต่สิ่งที่ สตม. ต้องทำ คือ ระบบติดตาม ต้องดี 100% เมื่อทำผิด มีการแจ้งความ ระบุตัวตนชัดเจน เราต้องจับกุมให้ได้เร็วที่สุด เพราะถ้าทำได้ คนที่คิดจะเข้าประเทศเราก็จะเริ่มเกรงกลัว เราต้องสร้างบริบทนี้ให้เกิดขึ้น”

ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำสั่งให้ฝ่ายสืบสวนไปคิดหาค่าเฉลี่ย การจับกุมคนกระทำผิด ต้องได้เร็ว ซึ่งฝ่ายสืบสวนก็เสนอมา 7 วัน หากเป็นคดีทั่วไป ไม่ใช่คดีใหญ่ แต่ถ้าเป็นคดีใหญ่ ภัยสังคม เป็นที่สนใจของประชาชน แบบนี้ไม่ควรเกิน 5 วัน

เปิดประเทศ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติ สกัดอาชญากร

ใกล้เปิดประเทศแล้ว สตม. พร้อมขนาดไหน พล.ต.ท.ภาคภูมิภิภัทฒ์ กล่าวว่า ตอนนี้มีความพร้อมรับนักท่องเที่ยวอยู่แล้ว แต่ก็ต้องเร่งพัฒนาระบบให้พร้อมยิ่งขึ้น โดยเฉพาะการกรองคนเข้าประเทศ และให้มีความเสถียรมากยิ่งขึ้น โดยมีหลัก 3 S คือ 1. Synchronize station คือ เชื่อมต่อได้หมด 2. stably มีความเสถียร มั่นคง และ 3. Speed คือ ตอบสนองกับผู้ปฏิบัติได้

“สิ่งที่สำคัญคือ การร่วมมือร่วมใจกันทำงานระหว่างองค์กร ต้องเปิดข้อมูลต่อกัน ที่ผ่านมา อาจจะจับมือกันหลวมๆ ในการทำงาน แต่เวลานี้เราต้องร่วมมือกัน ประสานข้อมูลข่าวกรอง สภาความมั่นคง และ สตม. เพื่อเป็น Database ด้านความมั่นคงของประเทศ”

ผู้เขียน : อาสาม

อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ