• ผู้ประกอบการในธุรกิจคริปโตเคอร์เรนซี (Cryptocurrency) หรือสกุลเงินดิจิทัล คาดกันว่าเงินดิจิทัล จะกลายมาเป็นสกุลเงินแห่งอนาคตใน 5-10 ปีข้างหน้า ที่ทุกสิ่งจะเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่เรียกว่า IoT (Internet of Things) 

  • เพราะต่อไปเงินดิจิทัล จะเข้ามามีบทบาทในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และบริการระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน การซื้อสินค้าทางออนไลน์ รวมไปถึงบริการเทคโนโลยีทางด้านการเงิน (ฟินเทค) จะมาเปลี่ยนธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน ชนิดหน้ามือ เป็นหลังมือ โดยเฉพาะการโอนเงินข้ามประเทศ การลงทุน การกู้เงิน ฯลฯ

  • ข้อดี คือ ธุรกรรมต่างๆ เหล่านี้จะทำได้ง่าย สะดวกรวดเร็วขึ้นผ่านสมาร์ทโฟนเพียงปลายนิ้วสัมผัส มีค่าบริการถูกลง และแลกกลับมาเป็นเงินบาทได้ด้วย โดยในไทยต้องซื้อขายแลกเปลี่ยนผ่านผู้ให้บริการที่ได้รับใบอนุญาต จากสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)

บริการดังกล่าวก็มาพร้อมกับข้อเสีย หรือความเสี่ยงที่น่ากังวลไม่น้อย หากผู้ใช้บริการไม่มีความรู้ ไม่เข้าใจ กดลิงก์ผิดถูกแฮกข้อมูลเงินดิจิทัล ก็พร้อมจะหายวับไปกับตา ล่องหนในโลกออนไลน์ได้ทันทีเช่นกัน ซึ่งความเสียหายลักษณะนี้มีมูลค่าไม่น้อย เห็นได้จากหน้าสื่อมาอย่างต่อเนื่อง จึงเกิดคำถามว่าสังคมไทยพร้อมแค่ไหนกับเงินดิจิทัล แล้วมันจะได้รับความนิยมในวงกว้างได้จริงหรือไม่

...

หากพิจารณาจากจำนวนสกุลเงินในปัจจุบัน มีประมาณ 6,363 สกุล มูลค่าตลาดรวมทั้งหมดราว 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ ประมาณ 63.38 ล้านล้านบาท (คิดอัตราแลกเปลี่ยนถัวเฉลี่ยถ่วงน้ำหนักระหว่างธนาคาร จากธนาคารแห่งประเทศไทยที่ 33.36 บาท/ 1 ดอลลาร์สหรัฐฯ) ยังนับว่าน้อยกว่า เมื่อเทียบกับมูลค่าเงินฝากทั่วโลกกว่า 500 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ

แต่มูลค่าดังกล่าวสูงกว่ามูลค่าจีดีพีไทยปี 2564 ที่ราว 16 ล้านล้านบาท และปริมาณเงินฝากทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยที่ 16 ล้านล้านบาท ไปไกลลิบแล้ว แถมยังมีโอกาสเติบโตได้อีก
น่าสังเกตว่าการมาของคริปโตฯ และเทคโนโลยีเริ่มมีบทบาทกับธุรกิจในไทยมากขึ้น

SCBx ยานแม่ฟินเทค ไม่ใช่แบงก์เดิมๆ อีกต่อไป

เมื่อดูจากสัญญาณการปรับตัวของธุรกิจธนาคารพาณิชย์รายใหญ่ เพราะไม่อย่างนั้นธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) คงไม่ประกาศปรับแผนธุรกิจขนานใหญ่ ให้ธนาคารเป็นแค่โหมดหนึ่งใน SCBx ซึ่งเป็นโครงสร้างธุรกิจใหม่ หรือยานแม่ในการออกไปลุยธุรกิจแนวฟินเทคเต็มตัว มองข้ามธุรกิจธนาคารในประเทศไปอีกก้าว เพื่อขยับไปแข่งขันกับ "เทค คอมพานี" ในระดับภูมิภาคเลย

แผนนี้หวังจะเห็นผลในระยะ 3-5 ปี สะท้อนถึงการเตรียมทำมาหารายได้ในรูปแบบใหม่ๆ ที่ไม่ได้พึ่งพา แค่การปล่อยกู้กินส่วนต่างดอกเบี้ยเงินกู้ กับเงินฝาก และค่าธรรมเนียมแบบเดิม
เพราะ SCBx อาจมองขาดแล้วว่าหลังโควิด อะไรๆ คงไม่เหมือนเดิม เนื่องจากระบบนิเวศ (Ecosystem) หรือองค์ประกอบต่างๆ ของสังคม ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว

ต่อไปการลงทุนของ SCBx ยังจะจับมือกับเครือเจริญโภคภัณฑ์ หรือ ซีพีกรุ๊ป ลงขันกันตั้งกองทุนธุรกิจเงินร่วมลงทุน หรือ Venture Capital (VC) อีกฝ่ายละ 100 ล้านดอลลาร์ (ราว 3,000 กว่าล้านบาท) เพื่อนำเงินไปลงทุนในธุรกิจใหม่ หรือสตาร์ทอัพทั่วโลก ที่มีเทคโนโลยีที่จะเติบโตมาดิสรัปธุรกิจเดิม ทั้ง Blockchain, Digital Assets, FinTech กระทั่งคริปโตฯ หรือใดๆ ที่มีศักยภาพในการเติบโตสูง

ทำให้กองทุนนี้ มีมูลค่าระดับ 600-800 ล้านดอลลาร์ (ราว 1.9-2.5 หมื่นล้านบาท) ในอนาคตตามเป้าหมาย เพื่อตั้งโจทย์การทำมาหารายได้ใหม่มาตอบแทนผู้ถือหุ้น สำคัญ คือ ผู้ถือหุ้นหรือนักลงทุนตอบรับในเชิงบวกต่อแผนการใหม่นี้ เห็นได้จากราคาหุ้น SCB ปิดตลาดวานนี้ (23 ก.ย.) พุ่งขึ้นไปถึง 18.72% หรือ 20.50 บาท/หุ้น ปิดที่ 130 บาท/หุ้น แถมราคาซื้อขายระหว่างวันยังพุ่งปรี๊ดขึ้นไปสูงสุดของราคาหุ้นในกลุ่มธนาคารที่ 137 บาท/หุ้นอีกด้วย

...

โลกคริปโตฯ ลงทุนได้หลากหลาย ทั้งวงแชร์-หวย

“ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์” Co-founder & CEO แห่ง Siametrics และกรรมการผู้จัดการ สถาบันอนาคตไทยศึกษา (Thailand Future) ยอมรับว่า อนาคตคริปโตฯ และ DeFi (Decentralized Finance) หรือระบบการเงินไร้ตัวกลางมาแล้ว และได้รับความนิยมค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในคนรุ่นใหม่ที่เข้าใจและชอบ

ส่วนหนึ่งอาจเพราะมีเรื่องอุดมการณ์แฝงอยู่ในความชอบด้วย เพราะไปเกี่ยวกับเรื่องอิสรภาพ และการมีส่วนรวมที่เด็กไทยขาดแคลนเรื่องเหล่านี้ จากปัจจุบันที่เป็นอยู่มันไม่ตอบโจทย์บริการทางการเงินที่พวกเขาเจอ อย่าง เงินกู้ ผลิตภัณฑ์ทางการเงิน ที่มักมีเงื่อนไขจำกัดไม่ให้เข้าถึงได้ง่ายๆ ต้องรอมีงานทำ มีเงินเดือนในระยะหนึ่งก่อนจะกู้ได้

จากการที่สถาบัน Thailand Future ศึกษา พบว่า การเข้าถึงตลาดทุน ที่ได้ถามถึงความสนใจในการเข้าลงทุนซึ่งส่วนใหญ่ตอบว่าอยากได้รีเทิร์นใน 3-6 เดือน ซึ่งถือว่าเร็ว และไม่แน่ไม่นอน ส่วนหนึ่งอาจเพราะอยู่ในช่วงโควิดระบาด จึงทำให้ต้องการเงิน

...

แต่เมื่อมาดูรีเทิร์นในโลกคริปโตฯ มันเร็วกว่านั้นอีก และยังสามารถลงทุนในรูปแบบที่หลากหลายด้วย ทั้งอนุพันธ์ (Derivative) หรือสัญญาทางการเงิน เพื่อให้สิทธิในการซื้อหรือขายสินค้าที่อ้างอิง, Margin (การกู้ยืมเงินเพื่อซื้อขายก่อนได้), วงแชร์, หวย และอื่นๆ ที่เป็นธุรกิจเถื่อนไม่ถูกกฎหมายอีกมาก

คริปโตฯ เรื่องเล็กของโจ๋ไทย ในทางธุรกิจ เกิดได้เร็ว

แต่มันเป็นเรื่องเล็กของเด็กไทย เพราะเขาต้องการออกจากข้อจำกัด โดยการกู้ส่วนใหญ่มีระยะเวลาที่สั้นราว 30 วัน ทำให้ไม่รู้ว่ากู้ไปทำอะไรได้มากนัก เพราะเทอมมันสั้น ซึ่งดูเหมือนบริการมันยังไม่สมบูรณ์ แต่สามารถทำได้ถ้าจะทำ

ผลของคริปโตฯ ต่อเศรษฐกิจไทย คงใช้เวลาอีกนาน แต่สำหรับผลทางธุรกิจน่าจะเกิดได้เร็วกว่า โดยโลกของ DeFi มีการเอาเงินไปฝากและไปกู้ ซึ่งการให้กู้ไม่สนใจว่าคุณเป็นใคร ไม่สนใจว่าเป็นลูกใคร ไม่สนใจ Credit Score (คะแนนเครดิตจากการประเมินของผู้ขอกู้) เพียงแค่มีสเตเบิลคอยน์ (สินทรัพย์ดิจิทัลที่จะคงมูลค่า มีมูลค่าอ้างอิงตามสินทรัพย์อื่น อาทิ เงินดอลลาร์สหรัฐฯ ทองคำ) หรือลิงก์กับสกุลเงินจริง

...

ทำให้การใช้คริปโตฯ มักจะอยู่ในกลุ่มวัยรุ่น ในเว็บพนัน การเก็งกำไรระยะสั้นๆ แม้ในโลกของความจริงจะมีการพนันอยู่แล้ว ถึงจะมีหรือไม่มีคริปโตฯ ก็ตาม กระทั่งการลงทุนแบบแวลู ก็สามารถหาช่องโหว่ในตลาดที่หลากหลายได้เช่นกัน แต่เรื่องนี้คงอธิบายให้เห็นภาพไม่ได้ง่ายๆ ส่วนหนึ่งอาจเพราะคนไทยมี awareness หรือความตระหนักมาก และใจถึงมากด้วย

เพราะอาจคุ้นกับการพนัน บวกกับสิ่งที่มีตอนนี้ไม่ตอบโจทย์ ขณะเดียวกันนวัตกรรมของคริปโตฯ ก็น่าสนใจมาก อาทิ มีลอตเตอรี่ที่มีความเสี่ยง มีสถาบันการเงินที่ไม่มีตัวตน ฯลฯ ซึ่งเรื่องเหล่านี้เป็นการทดลอง มันสอนกันไม่ได้ แต่ไม่เรียนรู้ ไม่ระมัดระวัง ไม่ศึกษาเลยก็ไม่ได้

“ทุกวันนี้ไม่มีรูปแบบการวัดปริมาณคนที่ใช้ที่ชัดเจนว่า มีจำนวนเท่าใดแน่ แต่พอคาดคะเนได้ว่า กลุ่มที่เข้าถึง มีหลากหลาย และไม่จำเป็นต้องรู้เทคโนโลยี แต่เขาสนใจเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ซึ่งพฤติกรรมการเก็งกำไรในตลาดปกติก็มีอยู่แล้ว ไม่ได้มีแค่การพนัน หรือมาจากนวัตกรรม ดังนั้น จึงอยู่ที่การกำกับว่าจะคุมหางเสือไปในทางไหน ซึ่งเห็นธปท.เตรียมตัวออกคริปโตฯ แบบ B2B ที่จะทำให้ธุรกรรมหลายๆ อย่าง ไม่ต้องรอวันทำการปกติ ไม่ต้องรอจนวันจันทร์ที่เรตเปลี่ยน ในระยะสั้นคงเห็นคอร์ปอเรททำก่อน เพื่อการลดต้นทุน” ดร.ณภัทร กล่าว

บาทดิจิทัล ทดลองไตรมาส 2 ปี 65 ใช้แทนเงินสด

ถ้าดูจากปริมาณการซื้อขายในกระดานคริปโตฯ ที่อนุญาตอย่างถูกต้องในไทย จะพบว่ามีทรัพย์สินซึ่งฝากไว้กับเว็บเทรดเฉพาะที่ถูกต้องตามกฎหมาย เพิ่มขึ้นกว่า 4 หมื่นล้านบาท และมีจำนวนผู้ลงทุนที่ขยายตัวสูง โดยข้อมูลในปี 2564 มีไม่น้อยกว่า 1 แสนราย

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่าสกุลเงินดิจิทัลที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น Ethereum, Litecoin, Bitcoin Cash, Ripple, Binance Coin, Cardano, Ripple (XRP) และ Dogecoin ฯลฯ ยังมีคุณสมบัติที่ไม่เหมาะสมกับการใช้ลงทุน หรือใช้แทนเงินในไทย จึงไม่สนับสนุนและไม่ยอมรับ เนื่องจากความเสี่ยงสูง และสกุลเงินเหล่านี้ไร้ศูนย์กลาง หรือ Decentralized Finance (DeFi) ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การควบคุมโดยหน่วยงานใด

นอกจากนี้ ยังมีคุณสมบัติของความเป็นเงินไม่สมบูรณ์ หากดูจาก 1.ความเป็น Store of value (เครื่องรักษามูลค่า) จากราคาหวือหวาผันผวนมาก 2. ความเป็น Medium of exchange (สื่อกลางในการแลกเปลี่ยน) คนใช้จริงๆ ยังไม่เยอะ และ 3. ความเป็น Unit of account (หน่วยวัดมูลค่า) ยังไม่ชัดเจน

ธปท.ออกสกุลเงินดิจิทัลสำหรับรายย่อย (retail central bank digital currency: retail CBDC) เพื่อจะเพิ่มทางเลือกให้ประชาชนเข้าถึงสกุลเงินดิจิทัลที่มีความน่าเชื่อถือ และปลอดภัยสูง มีธปท.เป็นศูนย์กลางในการกำกับดูแลเหมือนเงินบาท จะได้ใช้แทนเงินสดและเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-money) บางส่วน ที่ออกโดยเอกชน อาจมีข้อจำกัดในการใช้จ่ายและยังเน้นหากำไร จึงอาจใช้ได้ไม่กว้างขวาง ไม่เหมือนธปท.ออกเองที่มุ่งใช้ประโยชน์ เพื่อส่วนรวมที่หวังกำไร

สกุลเงินดิจิทัลสำหรับรายย่อย จะเริ่มทดลองใช้ไตรมาส 2 ปี 2565 แต่แรกๆ จะยังจำกัดการใช้งานแค่ให้ซื้อสินค้า เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ใช้เหมือน e-money และยังจำกัดปริมาณการถือครองในแต่ละคน โดยยังให้แลกเปลี่ยนผ่านระบบธนาคารพาณิชย์เท่านั้น รวมทั้งจะไม่จ่ายดอกเบี้ยให้กับคนที่ถือลงทุน เพื่อดูข้อดีข้อเสียและปรับปรุงให้เหมาะก่อนให้ใช้โดยทั่วไป

จับอาการที่ธปท.ออกโรง ทำเงินดิจิทัลเองพอคาดคะเนได้ว่า ความทันสมัยของเงินดิจิทัลในตลาด อาจไม่เหมาะกับสังคมไทยไปเสียหมด เพราะคนไทยส่วนใหญ่โดยเฉพาะคนสูงวัย และคนในต่างจังหวัด ยังขาดความรู้ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ และความรู้ด้านการเงิน เมื่อไม่มีความรู้ในสิ่งที่ไม่เข้าใจ อาจเสี่ยงทำให้เกิดความเสียหายสูงได้

ดังนั้นแม้จะอยากไปทดลองลงทุน เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าปกติได้จริง แต่ก็ควรต้องระมัดระวังอยู่ เพราะอาจต้องใช้เวลานานกว่าคนไทยเราจะคุ้นเคย แต่ครั้นจะเลี่ยงไม่สนใจเลยก็คงไม่ได้ เพราะโลกวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป.