เคยโดนกันบ้างไหม จู่ๆ ก็มีเสียงโทรศัพท์โทรหาคุณ และบอกว่า จะให้เงินกู้คุณภายใน 5 วินาที...
หรือบางที ก็มีการส่ง SMS มาชวนเล่นพนันออนไลน์ พนันฟุตบอล ปล่อยเงินกู้ ทั้งที่เบอร์เราก็ไม่เคยไปให้ไว้กับใคร “ยกเว้น” ค่ายมือถือ ธนาคาร บัตรเครดิต และโครงการของรัฐ
ล่าสุด มีผู้ร้องเรียนผ่านมูลนิธิเพื่อผู้บริโภคว่า ขณะนี้พบปัญหาเรื่องเว็บพนันและสินเชื่อออนไลน์ระบาดในโทรศัพท์มือถือเป็นจำนวนมาก และใช้วิธีการที่หลากหลาย โดยรูปแบบที่พบบ่อย คือ ข้อความ SMS มักจะเขียนข้อความหลอกลวงให้เข้าใจผิด เพื่อให้ผู้บริโภคกดลิงก์ที่แนบมาต่อท้ายข้อความ เช่น “เงินเดือน 1,000 บาท โอนเข้าบัญชีเรียบร้อย” “คุณถอนเงินสำเร็จแล้ว 1,000 บาท” “เครดิตของคุณดีและคุณมีสิทธิ์ได้รับ 300,000”
และยังพบในลักษณะของการโทรศัพท์เข้ามาแบบผู้ร้องเรียนข้างต้น ทำให้ผู้บริโภคจำนวนมากเดือดร้อนรำคาญกับมิจฉาชีพในลักษณะนี้ ซึ่งอาจจะถูกแฮกข้อมูลในโทรศัพท์และสูญเสียทรัพย์ได้
ในประเด็นนี้ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ นายสุทธิศักดิ์ ตันตะโยธิน รองเลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และ ดร.โกเมน พิบูลย์โรจน์ ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยคอมพิวเตอร์
...
ขู่ลงดาบ โอเปอเรเตอร์ ปล่อยปละละเลย จะถือว่า “เป็นผู้ร่วมกระทำผิด” โทษหนัก!
รองเลขาธิการ กสทช. เผยว่า วานนี้ (22 ก.ย.) เราได้หารือกับ โอเปอเรเตอร์ ทั้ง 5 ราย ได้แก่ AIS TRUE DTAC NT (โทรคมนาคมแห่งชาติ) และ 3BB ซึ่งสามารถส่ง SMS ได้ เพื่อมากำชับทุกค่าย ให้เร่งเคลียร์ปัญหาและทำการบล็อก ผู้ให้บริการด้านเนื้อหา (Content Provider) ที่มีการส่ง SMS หลอกลวงต่างๆ สร้างความเดือดร้อนรำคาญ หรือการหลอกลวง โดยต้องไปตรวจสอบว่า มีใคร บริษัทใด กระทำการแบบนี้บ้าง จากนั้นก็ให้ไปรื้อสัญญาที่เคยทำด้วยกันไว้ และให้ยุติสัญญากันทันที
“เนื้อหาโดยมากจะเป็นพวกเชิญชวนเล่นพนันออนไลน์ หลอกลวงโอนเงิน ต่อมา มีการหลอกว่ามีสินเชื่อออนไลน์ หลอกว่ามีเงินโอนเข้ามาซึ่งรูปแบบการหลอกลวงถือว่าเปลี่ยนไปค่อนข้างมาก”
มิจฉาชีพเหล่านี้อยู่ที่ไหน นายสุทธิศักดิ์ เผยว่า มีทั้งคนในประเทศ และอยู่ต่างประเทศ โดยหากเป็นการโทร.หลอกลวง ก็จะอาศัยการโรมมิง หรือ VoIP (Voice over IP) เข้ามา (เทคโนโลยีโทร.ฟรีผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตจากต่างประเทศ) หากเป็นการส่ง SMS ผู้บริการด้านเนื้อหา จะซื้อบริการผ่านโอเปอเรเตอร์
รองเลขาธิการ กสทช. ยอมรับว่า เมื่อก่อน โอเปอเรเตอร์ เขาอาจจะกลัวเรื่องการฟ้องร้อง เพราะถือว่าให้สัญญาการส่ง SMS กับบริษัทเหล่านั้นไปแล้ว แต่..เราบอกว่า ถ้าเกิดกรณีว่ามีการส่ง SMS เข้าข่ายหลอกลวงประชาชน หรือฉ้อโกงประชาชน แล้วยังนิ่งเฉย แบบนี้จะถือว่า “เป็นผู้ร่วมกระทำความผิด” กสทช. อาจจะดำเนินการยุติใบอนุญาตในฐานะโอเปอเรเตอร์ได้ ทั้งนี้ จากการพูดคุยกับทั้ง 5 ค่าย เรามีข้อตกลงร่วมกันว่า จะต้องร่วม “แชร์ข้อมูล” บริษัทที่ทำผิด
มาตรการลงโทษ หากปล่อยปละละเลย นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า จะเริ่มจากเบาไปหาหนัก ตั้งแต่การตักเตือน สั่งปรับ หากปรับแล้วยังทำผิด ก็อาจจะไปสู่การเพิกถอนใบอนุญาต จนถึงยึดใบอนุญาตคืน ส่วนการเอาผิดผู้กระทำผิด เราจะนำเรื่องส่งไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติเพื่อเอาผิดต่อไป
เบื้องหลังการส่ง SMS ส่งเยอะต้นทุนยิ่งต่ำ
ดร.โกเมน ผู้เชี่ยวชาญด้านการรักษาความมั่นคงปลอดภัยคอมพิวเตอร์ กล่าวว่า ไม่ว่าจะเป็นการโทรศัพท์ หรือ SMS ใครก็สามารถโทร.หรือส่ง SMS มาป่วนคุณได้
...
ส่วนการส่ง SMS จำนวนมากๆ นั้น จะต้องมีการซื้อบริการผ่านโอเปอเรเตอร์ เช่น ระบบ SMS Modem ซึ่งอาจจะส่ง SMS ทีละเป็นร้อย หรือเป็นพันเบอร์ ซึ่งค่าบริการก็จะถูกกว่าที่เราส่งกันเองมาก เช่น ข้อความละ 3 บาท แต่การซื้อระบบส่ง SMS ส่งครั้งละมากๆ อาจจะอยู่ที่ราคาข้อความละ 10-20 สตางค์เท่านั้น โดยราคาขึ้นอยู่กับจำนวนที่ซื้อ ยิ่งซื้อมากก็ยิ่งราคาถูก
“สิ่งที่เกิดขึ้น โอเปอเรเตอร์ไม่สามารถตรวจสอบได้หมดว่า ผู้ให้บริการด้านเนื้อหา ซื้อแล้ว เอาไปทำอะไรบ้าง แต่แน่นอน...ก่อนที่จะซื้อ ทางโอเปอเรเตอร์จะต้องมีเอกสารให้กับเอกชนรับทราบ เช่น ห้ามนำไปใช้ในทางผิดกฎหมาย หรือก่อความเดือดร้อนรำคาญผู้อื่น...เหมือนเราไปสอบใบขับขี่ ว่าห้ามทำผิดกฎจราจร แต่พอขับจริงก็อาจจะเป็นอีกเรื่อง นี่ก็เช่นเดียวกัน”
การซื้อแพ็กเกจ SMS ก็มีอีกแบบ คือ ผู้ให้บริการด้านเนื้อหา ซื้อแพ็กเกจไปแล้ว แล้วไปปล่อยให้คนอื่นเช่าต่ออีกทอด ซึ่งการให้เช่าต่อนี่แหละ อาจจะเป็นบริษัทต่างประเทศ มาเช่าเพื่อทำอะไรไม่ชอบมาพากลก็ได้
...
ดร.โกเมน ยังได้ยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดเจนว่า สมมติว่า มีบริษัทต่างประเทศแห่งหนึ่ง อยากจะส่ง SMS ให้คนไทยแบบ Junkmail เรื่องนี้เป็นสิ่งที่โอเปอเรเตอร์ต้องเข้าไปดูแลอย่างเข้มงวด ในความเป็นจริง หากไม่มีลูกค้าโวยวาย และมีหลักฐาน โอเปอเรเตอร์ จะทำการตรวจสอบลำบากมาก
“การร้องเรียนก็จำเป็นต้องมีหลักฐานที่ชัดเจน เช่น วัน เวลา แม้แต่สถานที่ที่รับ SMS รวมไปถึงที่มาของผู้ส่ง เพื่อให้หน่วยงานที่คุ้มครองผู้บริโภคนำสิ่งเหล่านี้ไปให้โอเปอเรเตอร์แก้ปัญหา ซึ่งเรื่องนี้ กสทช. จึงจำเป็นต้องกำกับดูแลให้ดี ควรจะกดดันไปยังผู้ให้บริการให้ได้ว่าอย่าทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อน”
ตรวจสอบเนื้อหาก่อนส่งไม่ได้ เพราะเป็นความลับส่วนบุคคล แต่ตรวจสอบเส้นทางได้
ดร.โกเมน เผยต่อไปว่า สิ่งที่โอเปอเรเตอร์ทำได้ คือ การตรวจสอบหากมีการส่ง SMS มารบกวน สร้างความรำคาญ เพราะเขาถือเป็นผู้ให้บริการ เพราะการส่ง SMS ออกไป ทุกอย่างจะถูกเก็บสถิติในระบบอยู่แล้ว
ซึ่งสิ่งที่ ดร.โกเมน ให้ความเห็น สอดคล้องกับ นายสุทธิศักดิ์ รอง เลขาฯ กสทช. ระบุว่า โอเปอเรเตอร์ ไม่สามารถตรวจดูเนื้อหาก่อนส่ง SMS ได้ เนื่องจากเกี่ยวข้องกับข้อมูลส่วนบุคคล แต่ในระหว่างทาง เช่นมีการส่งข้อมูลไปแล้ว และมีการร้องเรียนให้มาตรวจสอบ แบบนี้ถึงจะทำได้ จากนั้นเขาก็จะไปตรวจสอบต้นทางได้ ว่าต้นทาง SMS คือมาจากบริษัทใดเป็นผู้ส่ง แต่ก็จะยังไม่เห็นเนื้อหา ยกเว้นประชาชนส่งให้กับโอเปอเรเตอร์
...
เมื่อถามว่า มีบริษัทที่ทำผิดในลักษณะ SMS หลอกลวง หรือเข้าข่ายมิจฉาชีพมากน้อยแค่ไหน ทาง กสทช. ยอมรับว่า ยังมีข้อมูลนี้ไม่เพียงพอ อาจจะต้องถามไปยังโอเปอเรเตอร์อีกครั้ง เพราะว่าเรื่องนี้มันเกี่ยวข้องกับสัญญาการซื้อ อย่างไรก็ตาม ซึ่งในสัญญาเองก็จะระบุไว้ว่าอนุญาตส่งข้อความประเภทไหน และห้ามส่งข้อความประเภทไหน แต่สุดท้ายมันก็มีลักลอบส่งกัน
แล้วทำไมช่วงหลังถึงมีการระบาดจำนวนมาก นายสุทธิศักดิ์ คาดการณ์ว่า อาจจะเป็นช่องทางหนึ่งที่แอบมาหากินกับประชาชน ส่วนเบอร์ที่ส่ง เชื่อว่าน่าจะเป็นการหว่านแห เพราะเบอร์โทร.มันสุ่มกันได้ ซึ่งสิ่งสำคัญคือ การต้องรู้เท่าทัน
เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน กสทช. ช่วยประสานช่วยเหลือเหยื่อได้
กรณีประชาชนตกเป็นเหยื่อแล้วเกิดความเสียหาย นายสุทธิศักดิ์ กล่าวว่า เมื่อก่อนเคยเกิดกรณีแบบนี้ คือ มีประชาชนกดลิงก์เข้าไป แล้วหลอกให้โอนเงิน ซึ่งทางเราได้ประสานไปยังแบงก์ชาติ ซึ่งก็มีการประสานไปยังแบงก์พาณิชย์ และทำการอายัดเงินก่อนส่งคืนให้ประชาชน
รองเลขาฯ กสทช. ยอมรับว่า ปัญหาของการโทรศัพท์หรือ SMS หลอกลวง อาจเกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน ขึ้นอยู่กับเนื้อหาที่จะส่ง เช่น การหลอกลวงเรื่องยา และอาหาร ก็จะเป็นฝ่าย อย. หรือถ้าเป็นสินค้าปลอม ก็จะเป็นหน่วยงานที่ดูแลเรื่องลิขสิทธิ์ ส่วนเรื่องเงิน ก็อาจจะเกี่ยวข้องกับแบงก์ชาติ แต่โดยรวมคือ ถ้าเนื้อหาเหล่านี้ถูกส่งผ่านระบบ SMS ทาง กสทช. ก็จะช่วยดูและประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เบอร์โทรศัพท์หลุด เปิดช่องมิจฉาชีพฉวยโอกาส ประชาชนต้องรู้ทัน
สำหรับประเด็นปัญหาเบอร์หลุดรอดไปถึงมิจฉาชีพ ดร.โกเมน เผยว่า มันอาจจะมาจากหลายกรณี เช่น ลงทะเบียนอะไรสักอย่าง การขายข้อมูลบนอินเทอร์เน็ต และการส่งเบอร์มั่ว ซึ่งการส่ง SMS เหล่านี้เป็นการส่งเหวี่ยง ฉะนั้น บางทีเขาก็ไม่รู้ว่าคุณเป็นใคร ส่งทีเป็นหมื่นหรือแสนข้อความ เพราะข้อความละ 10 สตางค์ 1 แสนข้อความ เขาลงทุนแค่ 1 หมื่นบาทเอง
“การส่ง SMS เข้ามา อาจจะสร้างความรำคาญ แต่สำหรับการโทร.เข้ามา พูดเรื่องอนุมัติเงินกู้ แบบนี้อาจจะ “เข้าข่ายหลอกลวง” หรือ Romance Scam ซึ่งเป็นการล่อลวงหลอกโอนเงิน ซึ่งเรื่องนี้ตำรวจก็มีการดำเนินคดีอยู่ตลอด” ดร.โกเมน กล่าว
ขณะที่ รองเลขาธิการ กสทช. กล่าวทิ้งท้ายว่า อยากให้ประชาชนทุกคนรู้ และเท่าทันกลลวงของมิจฉาชีพ เพราะเดี๋ยวนี้เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วมาก วันนี้เราเองอาจจะบล็อกเบอร์ SMS ได้ แต่มิจฉาชีพเหล่านี้อาจจะแฝงตัวมาได้อีก หาช่องทางใหม่มาส่งใหม่ เพราะเทคโนโลยีในปัจจุบันค่อนข้างอำนวยความสะดวก ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ ประชาชนต้องรู้เท่าทัน อะไรแปลกปลอมมา หรือมีข้อสงสัยก็โทร.มาที่สายด่วน กสทช. ได้ 1200 หรือแจ้งไปที่โอเปอเรเตอร์ก็ได้ ก่อนคลิก ต้องดูให้ชัวร์ก่อน.
ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ