ยอมรับตรงๆ เลยว่า รู้สึกงง และคาดไม่ถึง ว่าจะได้เห็นข่าวเยาวชนหญิง นักเรียนชั้น ม.6 วัย 17 ปี ก่อเหตุบุกเดี่ยวชิงทองในห้างแห่งหนึ่ง ในพื้นที่ปริมณฑลของกรุงเทพฯ แต่เธอก็หนีไม่รอด โดนจับกุมหน้าห้าง และในเวลาต่อมา ผู้อำนวยการโรงเรียนก็ใช้เงินส่วนตัวมาช่วยเหลือด้วยการประกันตัวออกไป และยืนยันว่าเธอเป็นเด็กเรียนเก่ง กระทำลงไปเพราะขาดความยั้งคิด...
การหลงผิด ทำอะไรไม่ยั้งคิด สามารถเกิดได้กับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้ชาย หรือผู้หญิง แต่...สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เราแทบไม่เคยเจอมาก่อน ว่า นักเรียนหญิงชั้น ม.6 จะบุกเดี่ยวมาก่อเหตุ โดยหมายประสงค์ต่อทรัพย์
นี่คือ เหตุผลที่ ทีมข่าวเฉพาะกิจไทยรัฐออนไลน์ ได้พูดคุยกับ พล.ต.ท.พิศาล มุขแจ้ง หัวหน้าอาจารย์วิชาอาชญาวิทยาโรงเรียนนายร้อยสามพราน โดยวิเคราะห์ว่า การก่อเหตุอาชญากรรมในทุกวันนี้เปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก โดยเฉพาะประเด็นเรื่องความรุนแรง และการสลับซับซ้อนของรูปคดี ที่สำคัญคือ คนร้าย...หรืออาชญากร อายุน้อยลง เป็นเด็กก็มีจำนวนมาก ที่สำคัญคือ เพศหญิง ซึ่งสังคมไทยมองว่าเป็นเพศแม่ เป็นเพศที่อ่อนแอ และสังคมไทยมองว่าผู้หญิงไม่ควรเป็นอาชญากร
...
นักอาชญาวิทยายอมรับว่า สังคมเปลี่ยน อาชญากรในสังคมก็เปลี่ยนไป และอายุเฉลี่ยก็ลดน้อยลงเรื่อยๆ
“จากที่ผมได้ศึกษาคดีอาชญากรรมของเด็กมากมาย รวมถึงเด็กและเยาวชนผู้หญิง น้อยมากที่เป็นคดีเกี่ยวกับทรัพย์ ส่วนใหญ่คดีที่เกิดจากผู้หญิง จะเกี่ยวข้องกับ “ชีวิตและร่างกาย” เช่น คดีหึงหวง ฆาตกรรมสามีตัวเอง ส่วนคดีที่เกี่ยวกับทรัพย์สิน น้อยมากที่จะเป็นผู้หญิงกระทำเพียงคนเดียว ส่วนมากจะมีผู้ชายเข้ามาเกี่ยวข้อง”
มองทฤษฎี “อาชญาวิทยา” กับคดี “นักเรียนหญิงชิงทอง”
พล.ต.ท.พิศาล วิเคราะห์คดี เยาวชนหญิงชิงทอง ที่เกิดขึ้นเมื่อเร็วๆ นี้ว่า ส่วนตัวเชื่อว่า คดีนี้มีการวางแผน เพราะมีการเตรียมสิ่งของที่จะใช้ มีการเลือกสถานที่ลงมือ และจากข่าวที่ระบุไว้ว่า ก่อนก่อเหตุผู้ต้องหาได้ไปอยู่ในห้องน้ำนาน 1 ชั่วโมง...เหมือนกับทำใจ
ส่วนตัวเชื่อว่า เยาวชนคนนี้น่าจะมีแรงจูงใจในการกระทำความผิดพอสมควร...
คำถามคือ...ทำไมถึงเชื่อ...สื่อสังคมออนไลน์ ว่าการลงทุนเล่นแชร์ออนไลน์ถึงจะได้เงินเยอะ ทำไมถึงเชื่อและกล้าเอาเงินมากมายไปลงทุน
และทำไมถึงกล้า กระทำความผิดรุนแรงเช่นนี้
หากมองในมุม “อาชญาวิทยา” ก็มีทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเหตุคนร้ายชิงทรัพย์ 2 ทฤษฎี ได้แก่ ทฤษฎี “เจตจำนงอิสระ” และ “การเลือก”
ทฤษฎี “เจตจำนงอิสระ” หรือ Free Will ระบุไว้ว่า “อาชญากร” จะมีความคิดอิสระ มีอิสระที่เลือกจะก่อเหตุ หรือ ไม่ก่อเหตุ ก็ได้ แต่กรณีที่เกิดขึ้น ผู้ก่อเหตุเลือกที่จะกระทำ เพราะคิดว่าทำแล้วจะได้ประโยชน์อย่างง่ายๆ และคิดว่าโอกาสที่จะถูกจับ...มีน้อย
ส่วนทฤษฎี “การเลือก” หรือ “Choice” จะมองว่า คนที่จะก่อเหตุอาชญากรรม โดยเฉพาะคดีชิงทรัพย์ มักจะมีแรงจูงใจมาจากเหตุผลส่วนตัว เช่น อยากได้ อยากมี เมื่อถึงเวลาตัดสินใจ จะถึงเวลาที่ “เลือก” ชั่งน้ำหนัก ระหว่าง “ผลประโยชน์ที่ได้รับ” กับ “ผลที่จะตามมา” ซึ่งการตัดสินใจนั้น มักจะมีเหตุผลในของตัวเอง ถ้าคิดว่าทำได้ก็จะทำ
การก่อเหตุเกี่ยวกับทรัพย์ จะมีการเลือก 3 ประการตามมา ประกอบด้วย
1. เลือกสถานที่ประกอบอาชญากรรม
2. เลือกเป้าหมาย
3. เลือกที่จะเรียนรู้เทคนิคการเป็น “อาชญากร”
พล.ต.ท.พิศาล กล่าวว่า หากเราสังเกตพฤติกรรม จากคดีดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เยาวชนหญิงคนนี้ ได้เขียนข้อความใส่กระดาษ และยื่นให้คนขายทองเพื่อข่มขู่ ซึ่งอาจจะประเมินได้ว่า มีการเรียนรู้มาแล้ว และประเมินว่า การก่อเหตุชิงทรัพย์ร้านทองในห้างมีโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะพนักงานจะไม่ขัดขืน เนื่องจากพนักงานไม่ใช่เจ้าของร้านทอง
...
“เราไม่ทราบว่าเด็กก่อเหตุอาชญากรรม จะรู้หรือไม่ว่า หากเป็นเด็กจะได้รับโทษไม่เหมือนผู้ใหญ่ หากเด็กคนนั้นรู้ ก็อาจจะเป็นเหตุผลเพิ่มเติมให้เขาตัดสินใจที่จะกระทำความผิด ซึ่งก็ถือเป็นทางเลือกทางหนึ่งในการช่วยให้ตัดสินใจที่จะทำ”
อาจารย์วิชาอาชญาวิทยาโรงเรียนนายร้อยสามพราน บอกว่า คนบางคนเลือกที่จะไม่กระทำความผิด เพราะทำผิดแล้วมันไม่คุ้ม ถ้าถูกจับกุม ดำเนินคดี ซึ่งส่วนหนึ่งที่จะทำให้คนที่คิดจะเป็นอาชญากรยับยั้งชั่งใจ คือ “บทลงโทษ” โทษที่มีความรุนแรง ในความความรู้สึกของผู้ที่จะกระทำผิด มันจะบอกว่า “ไม่คุ้ม” ที่จะเสี่ยง...
ความต่างทางความคิด “เด็กชาย” และ “เด็กหญิง” กับเหตุอาชญากรรม
อาจารย์วิชาอาชญาวิทยา ระบุว่า เด็กผู้ชายกับผู้หญิงจะมีความแตกต่างกัน สำหรับเด็กผู้ชายมักจะยึดติดกับวัฒนธรรม “ลอง” ซึ่งเป็นสิ่งตรงข้ามกับวัฒนธรรมหลัก
วัฒนธรรมหลัก หมายความว่า เป็นสิ่งที่คนในสังคมควรยึดถือและปฏิบัติ เช่น เคารพกฎหมาย อยากรวยก็ต้องขยัน อดออม
...
แต่สำหรับเด็กผู้ชายบางคนจะยึดถือวัฒนธรรม “ลอง” และ “เลียนแบบ” โดยมีความคิดในแบบของตัวเอง หรือ กลุ่มของตัวเอง เช่น เด็กวัยรุ่นรวมตัวเป็นแก๊ง การก่อเหตุยกพวกตีกัน กลุ่มเด็กแว้น หรือชอบใช้ความรุนแรงหรือกำลังในการแก้ไขปัญหา ยอมกระทำผิดเพื่อให้กลุ่มเพื่อนยอมรับ เป็นต้น
แต่สำหรับเด็กผู้หญิง จะไม่ค่อยมีการเบี่ยงเบนไปจากสังคมมากนัก ส่วนมากจะคล้อยตามสังคม เพราะเหตุนี้เอง เด็กผู้หญิงจึงไม่ค่อยมีการก่อเหตุอาชญากรรมมากนัก
Social Control Theory ของ เฮอร์ชิ
พล.ต.ท.พิศาล อธิบายถึงทฤษฎีคอนโทรลของเฮอร์ชิ ว่า ทฤษฎีว่าด้วยการที่เด็กไม่ก่ออาชญากรรม เพราะมีความรักความผูกพันกับครอบครัว ครู สังคม จากทฤษฎีนี้เชื่อว่าเด็กจะไม่กล้าทำความผิด เพราะกลัวคนที่ผูกพันเสียใจ กลัวเพื่อนไม่ยอมรับ แต่สำหรับบางคน เมื่อขาดความรักความผูกพัน ก็จะกระทำอะไรโดยไม่คำนึงถึงคนใกล้ชิด หรือ แม้แต่ตัวเองก็ไม่สนใจ
นี่คือคำตอบจากทฤษฎีอาชญาวิทยา ว่า ทำไมเด็กบางคนเลือกที่จะกระทำความผิด หรือไม่กระทำความผิด
...
“เคสนี้ถือเป็นบทเรียนของสังคม โดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ อย่าเชื่อ หรือ หมกมุ่น กับสื่อสังคมออนไลน์มากเกินไป อย่าเชื่อโดยไร้เหตุผล สิ่งสำคัญคือการเลือกในการรับสื่อ เพราะสื่อที่ดีก็ดี ไม่ดีก็มาก ฉะนั้น พ่อแม่ ผู้ปกครอง รวมไปถึงหน่วยงานภาครัฐต้องช่วยดูแล อีกส่วนคือ “ค่านิยม” ในการลงทุน หากจะทำอาชีพอะไร ลงทุนอะไร ก็อยากให้ศึกษาอย่างจริงจังก่อน ถึงเวลาแล้ว ที่หน่วยงานของรัฐ จะจัดการกับ “อาชญากร” ในสื่อสังคมออนไลน์ อย่างจริงจัง อย่าปล่อยให้มาหลอกชาวบ้าน ต้องป้องปรามให้ได้”
เพราะ “เด็ก” ที่ก่ออาชญากรรม บางทีเป็นความคิดชั่ววูบ วิจารณญาณในการรับรู้ผิดชอบชั่วดีแตกต่างกับผู้ใหญ่ อ่อนประสบการณ์ ขาดความรู้ ขาดคนชี้แนะ ฉะนั้น หากเด็กคนไหนมีปัญหาอะไรก็ตาม ก็อยากให้หา “คนที่ไว้ใจได้” ปรึกษาผู้ใหญ่นิดหนึ่ง
ผู้เขียน. : อาสาม
กราฟิก : Chonticha Pinijrob
อ่านสกู๊ปที่น่าสนใจ