เหลือไม่ถึงเดือนก็จะถึงช่วงเวลาครบกำหนด 120 วัน "เปิดประเทศ" ของไทยแล้ว หลังจากที่วอร์มอัปกับ "ภูเก็ต แซนด์บอกซ์" และ "สมุย พลัส โมเดล" มาได้สักพัก

หลังจากที่ผ่านมา "ท่องเที่ยวไทย" เรียกได้ว่าเหือดแห้ง เหมือนตกอยู่ในภาวะไร้ฝน จากเมืองท่องเที่ยวเด่นๆ เป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของโลก กลับเงียบเหงา...ไร้การมาเยือน ที่ทั้งหมดทั้งมวลนั้นเป็นเพราะวิกฤติโควิด-19

ถ้าว่ากันตามจริง ท่องเที่ยวไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากวิกฤตินี้ ชนิดที่เรียกว่าเป็น "ศูนย์" ก็เริ่มตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นมา

จากเดิมปี 2562 การท่องเที่ยวไทยเคยมีผู้มาเยี่ยมเยือนมากถึง 39,797,406 คน ก็ลดลงอย่างน่าใจหาย เมื่อมีการประกาศ "ปิดน่านฟ้า!"

มาวันนี้... แม้วิกฤติโควิด-19 จะยังไม่คลี่คลายซะทีเดียว ยอดติดเชื้อรายใหม่ในรอบ 7 วัน เฉลี่ยที่หลักหมื่น แต่ก็มีแนวโน้มลดลง อีกทั้งหากจะว่ากันอย่างตรงไปตรงมา ก็ต้องยอมรับว่า หากไม่เปิดประเทศในยามนี้ ก็มีแววว่าจะเสียโอกาสให้กับเพื่อนบ้านหรือประเทศอื่นๆ ไปอย่างน่าเสียดาย เพราะ 3 เดือนโค้งท้ายปี (ต.ค.-ธ.ค.) ถือได้ว่าเป็นไฮซีซันของท่องเที่ยวไทยเลยก็ว่าได้

...

และต่อให้ไม่มีการนำร่องด้วย "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" ในวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 เดิมทีทาง จ.ภูเก็ต เองก็มีแผนจะสตาร์ตโครงการ Phuket First October อยู่แล้ว

ทีนี้เมื่อไทยจะ "เปิดประเทศ" ที่น่าสนใจ คือ นักท่องเที่ยวชาติใดที่จะเข้ามาหลังจากนี้?

ในยามปกติแล้ว ถึงไม่บอก "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" ก็น่าจะพอทราบกันอยู่แล้วว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาไทยมากที่สุด คือ "นักท่องเที่ยวจีน!"

ช่วงพีกๆ ของการท่องเที่ยวไทย ปี 2562 มี "นักท่องเที่ยวจีน" มาเที่ยวเมืองไทยเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า (2561) ถึง +4.39% รวมทั้งหมด 10,997,338 คน และยังสร้างรายได้สูงถึง 531,576.65 ล้านบาท เพิ่มขึ้น (+1.78%) จากปีก่อนหน้า (2561) เช่นกัน

ต่อมาปี 2563 ที่เกิดวิกฤติโควิด-19 แม้ "นักท่องเที่ยวจีน" จะยังมาเยือนเมืองไทยมากที่สุดในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมด แต่ก็ลดหายไปถึง -88.63% เหลือแค่ 1,249,910 คนเท่านั้น

ส่วนปีนี้ (2564) "คุณผู้อ่านไทยรัฐออนไลน์" คิดว่า นักท่องเที่ยวจีนนั้นเหลือจำนวนเท่าใด?

4,023 คน นี่คือตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนที่มาเมืองไทย นับตั้งแต่เดือนมกราคม-กรกฎาคม 2564 นี้ ซึ่งลดลงจากปีก่อน (2563) หน้าถึง -99.68%!

หากปัดเศษก็แทบเรียกได้ว่าลดหายเกือบ 100%!!

ทั้งนี้ทั้งนั้น... ก็ไม่ใช่แค่นักท่องเที่ยวจีนหรอกที่หายไปเท่านี้ เรียกว่าเกือบทุกประเทศเลยก็ว่าได้ รวมๆ กันแล้ว ทั้งปี 2564 นักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนไทยลดหายไปกว่า -99.13%

และจากวี่แววล่าสุด มีความเป็นไปได้ว่า การเดินทางเป็นหมู่คณะ กรุ๊ปทัวร์ หรือที่เรียกกันจนชินปากว่า "ทัวร์จีน" จะยังไม่กลับมาโดยสมบูรณ์ในเร็ววัน อาจจะมีบ้างประปรายในลักษณะการเดินทางแบบ F.I.T (Free Independent Travelers) หรือการท่องเที่ยวส่วนบุคคล

อ้างอิงคำแนะนำขององค์กรควบคุมการบินของจีน เกี่ยวกับการเดินทางระหว่างประเทศในช่วงวันหยุดประจำชาติที่จะมาถึงปลายเดือนนี้ (ก.ย.) และเดือนตุลาคม โดยยังกังวลถึงการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่เกิดขึ้นในต่างประเทศ อีกทั้งจำนวนเที่ยวบินระหว่างประเทศก็ยังมีน้อย

...

ผนวกกับความกังวลถึง "เศรษฐกิจจีน" ที่มีแนวโน้มว่าจะทรุดตัว โดยจากเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา หลังรัฐบาลจีนมีการบังคับใช้มาตรการจำกัดการแพร่ระบาดโควิด-19 อย่างเข้มงวดแล้ว ก็ส่งผลให้การบริโภคและการจับจ่ายภายในประเทศลดน้อยลง ชาวจีนมีความระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น รวมถึงการบังคับใช้บทลงโทษขั้นรุนแรงในส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์และบริการการศึกษาช่วงที่ผ่านมา ก็มีบทบาทสำคัญต่อความเชื่อมั่นผู้บริโภคภายในจีนด้วย

ณ ปัจจุบัน รัฐบาลจีนจำกัดการเดินทางไม่ให้ชาวจีนไปต่างประเทศ กรณีการท่องเที่ยว

เมื่อเป็นแบบนี้... แล้วนักท่องเที่ยวชาติไหนที่พอจะชดเชยได้?

ย้อนรีเช็กช่วงปี 2562-2563 และจนถึงปัจจุบัน อีกสักครั้งว่า นอกจากนักท่องเที่ยวจีนแล้ว ชาติไหนกันที่เป็นขาประจำท่องเที่ยวไทย

ปี 2562
1) จีน 10,997,338 คน, 2) มาเลเซีย 4,265,574 คน, 3) อินเดีย 1,996,842 คน, 4) เกาหลีใต้ 1,890,973 คน, 5) ลาว 1,854,792 คน, 6) ญี่ปุ่น 1,806,438 คน, 7) รัสเซีย 1,483,337 คน, 8) สหรัฐอเมริกา 1,165,950 คน, 9) สิงคโปร์ 1,059,484 คน และ 10) เวียดนาม 1,048,181 คน

...

ปี 2563
1) จีน 1,249,910 คน, 2) มาเลเซีย 619,451 คน, 3) รัสเซีย 587,167 คน, 4) ลาว 380,917 คน, 5) ญี่ปุ่น 320,331 คน, 6) อินเดีย 261,778 คน, 7) เกาหลีใต้ 260,228 คน, 8) ฝรั่งเศส 236,527 คน, 9) เยอรมนี 230,598 คน และ 10) สหราชอาณาจักร 231,392 คน

และปี 2564 (*สิ้นสุด ก.ค.)
1) สหรัฐอเมริกา 7,838 คน, 2) สหราชอาณาจักร 5,461 คน, 3) เยอรมนี 4,516 คน, 4) จีน 4,023 คน, 5) ฝรั่งเศส, 6) เกาหลีใต้ 2,270 คน, 7) ญี่ปุ่น 2,028 คน, 8) รัสเซีย 1,889 คน, 9) อิสราเอล 1,746 คน และ 10) เมียนมา 1,718 คน

จากตัวเลขล่าสุดปีนี้ (2564) เห็นได้ว่า นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาในไทยช่วงเดือนกรกฎาคมสูงกว่าเดือนก่อนหน้าเกือบ 3 เท่าตัว ซึ่งเป็นผลจาก "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" และ "สมุย พลัส" แต่ทั้งนี้ก็ยังเข้ามาด้วยวัตถุประสงค์หลักๆ เฉพาะ เช่น ธุรกิจ, การศึกษา และการรักษาพยาบาล เป็นต้น

โดยจากการประเมินของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) (*เทียบยอดติดเชื้อเฉลี่ยรายวัน ส.ค. กับ ก.ค.) คาดว่า กลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มดีขึ้น คือ อินโดนีเซีย, อินเดีย, สหราชอาณาจักร, รัสเซีย, อิสราเอล, สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และแอฟริกาใต้ ส่วนกลุ่มประเทศที่มีแนวโน้มแย่ลง คือ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลีใต้, เวียดนาม, มาเลเซีย, ลาว, ออสเตรเลีย, ฝรั่งเศส, เยอรมนี และสหรัฐอเมริกา

...

และความน่าสนใจนั้นอยู่ตรงนี้!

ในเมื่อไม่มี "ทัวร์จีน" เข้ามาในไทยเท่ากับที่เคยเป็น ก็ทำให้เห็นชัดว่า กลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติที่จะเข้ามาทดแทนได้ และมีศักยภาพในการจับจ่ายไม่น้อย คือ "นักท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกา!"

หากสังเกตจากตัวเลขที่ไล่เรียงด้านบน ก็น่าจะเห็นได้ว่า ปีนี้ (2564) ไทยได้ "นักท่องเที่ยวสหรัฐอเมริกา" มาเป็นหัวหอกปั๊มเงินให้กับภาคการท่องเที่ยวอย่างมีนัยสำคัญ

ดังนั้น แน่ๆ แล้วว่า ตลาดสหรัฐฯ มีความน่าสนใจและน่าดึงดูด เหตุผลก็เพราะชาวอเมริกันฉีดวัคซีนกันมากพอจนสามารถเดินทางไปท่องเที่ยวประเทศต่างๆ ได้แล้ว และนั่นทำให้ประเทศปลายทางมีความอุ่นใจว่าจะไม่นำพาเชื้อเข้าสู่ประเทศ

สำหรับประเทศไทยนั้น จากการคาดการณ์ของงานวิเคราะห์ตลาดต่างประเทศ กกต. ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2564 ชี้ว่า จะได้รับความนิยมสูงสุดในฐานะแหล่งท่องเที่ยวหาดชายทะเล ช่วงฤดูร้อน

แต่แล้ว "ฤดูหนาว" ใครที่จะสนใจมาไทยอีก?

คำตอบ คือ "นักท่องเที่ยวรัสเซีย!"

เมื่อเร็วๆ นี้ 1-2 สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการเอ่ยถึงกันมากถึงการผลักดันให้ดึง "นักท่องเที่ยวรัสเซีย" เข้ามาท่องเที่ยวภายในประเทศ โดยก่อนหน้านี้ ทาง จ.ภูเก็ต เองก็พยายามย้ำถึงกลุ่มนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้ ซึ่งมองว่าเป็นกลุ่มที่จะสร้างรายได้ได้ดีไม่แพ้กับนักท่องเที่ยวชาติอื่นๆ

และล่าสุด จากการเปิดเผยของ ททท. สำนักงานมอสโก ซึ่งอ้างอิงถึงข้อมูลสถานทูตไทย ที่ระบุว่า นับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน 2564 เป็นต้นมา ชาวรัสเซียแห่แหนเข้ายื่นขอใบอนุญาตการเดินทางเข้าประเทศไทย หรือที่เรียกว่า COE เฉลี่ยวันละ 100 คน (เดิมเฉลี่ย 10 คนต่อวัน) หลังไทยรับรองให้นักท่องเที่ยวจากรัสเซียที่ฉีดวัคซีนสปุตนิก วี (Sputnik V) เดินทางเข้าประเทศได้ โดยส่วนใหญ่มุ่งไปยัง "ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์" และ "สมุย พลัส"

ถามว่า ทำไม "นักท่องเที่ยวรัสเซีย" ถึงเลือกจะมาไทยในช่วงนี้?

นั่นก็เพราะนับตั้งแต่เดือนกันยายนเป็นต้นไป รัสเซียจะเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวแล้ว ดังนั้น บรรดาชาวรัสเซียที่พร้อมออกเดินทางก็จะหาสถานที่พักผ่อนในต่างแดน เน้นกลุ่มประเทศที่มีอากาศอบอุ่นเป็นหลัก และไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

หากย้อนกลับไปช่วงที่ "ท่องเที่ยวไทย" บูมๆ อย่างปี 2562 เห็นได้ว่า แม้ "นักท่องเที่ยวรัสเซีย" จะเดินทางเข้ามาไทยเป็นอันดับ 7 แต่สร้างรายได้มากเป็นอันดับ 3 รวมทั้งหมด 102,895 ล้านบาท

จากข้อมูลที่ผ่านๆ มา ก็จะพบอีกว่า ในช่วงเดือนที่มีอากาศหนาว นับตั้งแต่เดือนกันยายนลากไปถึงกุมภาพันธ์ จะมีนักท่องเที่ยวรัสเซียเข้ามาท่องเที่ยวในไทยจำนวนมาก ก่อนจะค่อยๆ แผ่วลงในช่วงเดือนมีนาคม และเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม ก็จะค่อนข้างเงียบ

ดังนั้น นี่จึงถือเป็นโอกาสดีที่ไทยจะดึง "นักท่องเที่ยวรัสเซีย" เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ แต่ "ปัญหาสำคัญ" คือ การเข้าไทยสำหรับชาวรัสเซียในเวลานี้นั้นแสนยุ่งยาก!

"ขนิษฐา พันธุ์วรวัฒน์" ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานมอสโก, รัสเซีย เปิดเผยข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัญหาติดขัด คือ "ข้อจำกัดด้านการบิน" ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการคลายล็อกเส้นทางบินระหว่างไทย-รัสเซีย มีเพียงแค่สายการบินแอโรฟลอต (Aeroflot) เส้นทางกรุงเทพฯ-มอสโก และยังเป็นแค่รูปแบบเที่ยวบินกึ่งพาณิชย์ 2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์เท่านั้น

ปัจจุบัน (17 ก.ย. 64) ที่สามารถเข้าไทยได้ มี 16 เส้นทางบิน ใน 13 สายการบิน โดยนับตั้งแต่วันที่ 21 ตุลาคม 2564 สายการบิน Thai Vietjet Air จะเปิดเพิ่มอีก 1 เส้นทาง คือ สิงคโปร์-ภูเก็ต และไตรมาส 4 (ต.ค.-ธ.ค.) จะอนุญาตเพิ่มอีก 5 สายการบิน คือ เกาหลีใต้ : โคเรียนแอร์ (Korean Air), เกาหลีใต้ : จินแอร์ (Jin Air), เกาหลีใต้ : เอเชียนา (Asiana), ฮ่องกง : ไทยสมายล์ (Thai Smile) และสวีเดน : ฟินน์แอร์ (Finnair)

ผลจาก "ข้อจำกัด" นี้ ทำให้ "นักท่องเที่ยวรัสเซีย" ที่จะเดินทางเข้าไทย ต้องเลือกใช้สายการบินอื่นๆ อีกทั้งยังต้องต่อเครื่อง นี่จึงเป็นหนึ่งในข้อกังวลของ ททท. สำนักงานมอสโก ที่หวั่นว่า หากไม่รีบดำเนินการจะทำให้ไทยเสียโอกาส ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่นักท่องเที่ยวจะเลือกหันไปท่องเที่ยวที่ประเทศอื่นๆ แทน ภายใต้เงื่อนไขที่ไม่ยุ่งยากและค่าใช้จ่ายไม่แพงมาก

ทั้งนี้ "คู่แข่งเอเชีย" ที่น่าสนใจว่าจะเป็นจุดหมายปลายทางตัวเลือก หลังมีนโยบาย "เปิดประเทศ" ในช่วงครึ่งปีหลัง 2564 เหมือนกันกับไทย คือ สิงคโปร์, เวียดนาม, มาเลเซีย และไต้หวัน

หากประเมินข้อมูลช่วงปกติ (ปี 2561-2562) จุดหมายปลายทางในเอเชียที่ดึงดูดชาวรัสเซียมากลำดับต้นๆ คือ "จีน" รองลงมาเป็น "ไทย" และเวียดนาม

โดยเป้าหมายปี 2565 ที่ ททท. ตั้งเป้าไว้ คือ จะต้องดึง "นักท่องเที่ยวรัสเซีย" มาไทยให้ได้ประมาณ 500,000-700,000 คน หรือเทียบเท่าปี 2563

ฉะนั้น นาทีทองช่วงไฮซีซัน "ฤดูหนาว" นี้ "เวียดนาม" ถือเป็นคู่แข่งสำคัญตัวฉกาจ ที่หากใครเปิดรับได้ก่อน มีโอกาสที่จะคว้าตัว "นักท่องเที่ยวรัสเซีย" ที่มีความพร้อมในการเดินทางและการจับจ่ายได้ก่อน.

ผู้เขียน: เหมือนพระอาทิตย์
กราฟิก: sathit chuephanngam

ข่าวน่าสนใจ:

อ้างอิง:

  • กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา. สถิตินักท่องเที่ยว [ออนไลน์]. 2562-2564, แหล่งที่มา : www.mots.go.th [16 ก.ย. 2564]
  • ศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว (TAT). สถิตินักท่องเที่ยว [ออนไลน์]. 2562, แหล่งที่มา : https://intelligencecenter.tat.or.th [16 ก.ย. 2564]
  • Bloomberg. China warns on overseas travel, India shot exports, Virus update [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา : www.bloomberg.com [15 ก.ย. 2564]
  • ศูนย์วิจัยด้านตลาดการท่องเที่ยว (TAT). วิเคราะห์สถานการณ์ Covid-19 สิงหาคม 2564 [ออนไลน์]. 2564, แหล่งที่มา : https://intelligencecenter.tat.or.th [17 ก.ย. 2564]